Skip to main content
sharethis

สบท. เตือน ชาวสมาร์ทโฟนระวังปัญหาเน็ตรั่ว และเครื่องหายแนะอย่าบันทึกรหัสผ่านไว้บนเครื่อง อาจโดนทำธุรกรรมไม่รู้ตัว ด้านผู้เชี่ยวชาญการใช้ระบุ การเลือกโปรฯต้องอ่านเงื่อนไขให้ละเอียด

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ต.ค. 2553 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ได้จัดงานเสวนา “รู้ใช้ให้ฉลาด(กว่า) สมาร์ทโฟน (Smart-Phone)" ขึ้น

นายประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา ผอ.สบท. กล่าวว่า ผู้บริโภคที่ใช้สมาร์ทโฟน ต้องพิจารณาเรื่องโปรโมชั่นให้ดี เนื่องจากโปรโมชั่นของสมาร์ทโฟนจะมีบริการที่หลากหลายมีมิติที่ซับซ้อน และต้องเท่าทันตัวเครื่องที่จะมีระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้โดยอัตโนมัติ แม้ปัจจุบันผู้ให้บริการจะมีระบบการจำกัดปริมาณการใช้สูงสุดแต่ก็ยังไม่รวมกรณีโรมมิ่ง โดยเฉพาะหากต้องเดินทางไปต่างประเทศ มีหลายคนที่โดนค่าเน็ตผ่านมือถือเป็นแสนบาท ดังนั้นหากต้องเดินทางไปต่างประเทศควรปิดระบบบริการดาต้าที่ตัวเครื่องหรือปิดผ่านศูนย์บริการ ใช้เฉพาะการโทรออกและรับสายเท่านั้น หรือหากจำเป็นต้องใช้ให้ใช้ซิมในต่างประเทศจะมีค่าบริการถูกกว่า

“เราต้องเลือกโปรโมชั่นให้ตรงกับการใช้งานและใช้งานให้ตรงกับโปรโมชั่นที่เลือกไม่งั้นจะจ่ายแพง ผู้บริโภคต้องเท่าทันทั้งตัวเครื่องเพราะสมาร์ทโฟนเหมือนคอมพิวเตอร์ถูกตั้งระบบให้ทำงานบางอย่างได้เอง เช่น อัพเดทอีเมล์ตลอดเวลา  ผู้บริโภคต้องศึกษาว่า ทำอะไรได้หรือไม่ได้ มีประโยชน์และโทษอย่างไร และต้องเท่าทันโปรโมชั่น ใช้อะไรได้ไม่ได้  ใช้เกินจะเป็นอย่างไร ต้องเท่าทันเรื่องสัญญาและการใช้อินเทอร์เน็ต” นายประวิทย์ กล่าว

ผอ.สบท.กล่าวต่อไปว่า อีกประเด็นคือ กรณีเครื่องหาย เพราะสมาร์ทโฟนจะบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ไว้ทั้งหมด และเวลาหายข้อมูลส่วนตัวจะหายไปหมดด้วย ขณะที่สมาร์ทโฟนกลายเป็นตัวแทนในการลงทะเบียนเข้าสู่โลกต่างๆ ของเรา เพราะฉะนั้นถ้าใครนิยมทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์ต้องรู้จักป้องกัน เช่น อย่าให้เครื่องบันทึกรหัสผ่านของเราไว้มิฉะนั้นอาจมีการทำธุรกรรมโดยคนอื่นโดยที่เราไม่รู้

ด้านนายคงเดช  กี่สุขพันธ์  จากทีมงาน App.Review หรือ กาฝาก  กล่าวว่า จากการสำรวจคนจำนวน 197 คนในเฟสบุคและทวิตเตอร์พบว่า 114 คนจะเลือกซื้อมือถือที่ราคา 8,000-14,000 บาท และจำนวน 28 คน จะซื้อมือถือที่ราคา 20,000 กว่าบาท ข้อควรระวังของผู้บริโภคคือ การใช้โปรโมชั่นเพลินจนหมดโปรโมชั่นไม่รู้ตัว หรือการศึกษาเรื่องการโหลดแอพพลิเคชั่นเพื่อปิดเน็ตกันเน็ตรั่ว และเมื่ออินเทอร์เน็ตเข้าสู่มือถือได้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เยาวชน โดยผู้ปกครองควรศึกษาและสนใจเรื่องเทคโนโลยี เพื่อสามารถร่วมกิจกรรมกับบุตรหลานและสามารถป้องกันภัยที่มาจากมือถือให้บุตรหลานได้

นายคงเดชกล่าวอีกว่า ผู้บริโภคไทยต้องให้ความสำคัญกับการพิจารณาเงื่อนไขของโปรโมชั่นเวลาซื้อแพคเกจสิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาเงื่อนไขดอกจันตัวเล็กๆ และต้องอ่านเพราะมีประเด็นหลายๆ ด้านที่สำคัญ เช่น  แพคเกจ 3G ใช้ไม่จำกัดแต่จะมีเงื่อนไขอีกมากที่ผู้ใช้ต้องอ่าน

“ทุกวันนี้ผู้บริโภคทำธุรกรรมอื่นๆ ยังอ่านสัญญา ต่อไปทำธุรกรรมกับโทรศัพท์ก็ต้องอ่านสัญญาและเงื่อนไขต่างๆ เช่นกัน” นายคงเดชกล่าว

นายพีระพล ฉัตรอนันทเวช  จากรายการ ‘แบไต๋ไฮเทค’ กล่าวว่า สมาร์ทโฟน หรือโทรศัพท์ที่มีระบบปฏิบัติการเหมือนคอมพิวเตอร์ตัวแรกนั้นผลิตขึ้นโดยบริษัทโนเกีย ความสามารถในยุคแรกๆ คือ การส่งเอสเอ็มเอส อีเมล มีปฏิทินนัดหมาย จากนั้นก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนเกิดระบบปฏิบัติการบนมือถือมากกว่า 10 ระบบ แต่ที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ แบลคเบอรี่ ซิมเบียน แอนดรอยด์  ไอโอเอสหรือแอปเปิ้ล และวินโดร์โมบาย

นายพีระพลได้กล่าวต่อไปว่า สำหรับระบบปฏิบัติการของแอปเปิ้ล หรือ ไอโอเอส นั้นสนับสนุนหรือทำให้เกิดการคิดค้นแอพพลิเคชั่นใหม่ๆขึ้น โดยปัจจุบันมีมากกว่า 2 แสนแอพพลิเคชั่น และสร้างรายได้ให้กับนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนระบบปฏิบัติการของไอโอเอสกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามระบบปฏิบัติการของแอปเปิ้ลเป็นระบบปิด คือต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นภายใต้ระบบปฏิบัติการของแอปเปิ้ลเท่านั้น  สำหรับแอนดรอยด์ ซึ่งกำเนิดขึ้นโดยกูเกิล ถือเป็นระบบแบบเปิดคือ ให้นักพัฒนาสามารถนำรหัสพื้นฐานของกูเกิลแอนดรอยด์ไปแปลงหน้าตา หรือต่อยอดได้ ดังนั้นแอนดรอยด์โฟนแต่ละยี่ห้อจะมีหน้าตาที่ไม่เหมือนกัน วิธีการนี้จะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของแอนดรอยด์เติบโตได้มากในอนาคต 

นายพีระพลกล่าวอีกว่า ส่วนแบ่งการตลาดของสมาร์ทโฟนขณะนี้เป็นของ ซิมเบี้ยนร้อยละ 41 แบลคเบอรี่ร้อยละ 18 แอนดรอยด์ร้อยละ 17 และแอปเปิ้ลร้อยละ 14 ซึ่งทำนายว่าอีกประมาณ 3 ปี แอนดรอยด์จะแซงหน้าซิมเบี้ยน โดยประโยชน์ที่สำคัญของสมาร์ทโฟนคือ ทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูง คือ อีเมล อินเทอร์เนต โซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟสบุค ทวิตเตอร์ แต่ก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งาน สภาพเศรษฐกิจของตัวเองและวัยด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net