TDRI ศึกษาการใช้แรงงานเด็กใน อก.แปรรูปกุ้งแช่แข็ง ป้องกันถูกยกเป็นข้ออ้างกีดกันการค้าเสรี

ทีดีอาร์ไอเผยยังมีการใช้แรงงานเด็กในขั้นตอนก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตแท้จริงในบางอุตสาหกรรม นำร่องศึกษาโครงสร้างการส่งออกกุ้งแช่แข็งทั้งระบบ เป็นตัวอย่างกำหนดอาชีพและการคุ้มครองแรงงานเด็กให้เหมาะสม ป้องกันไม่ให้ถูกยกเป็นข้ออ้างกีดกันการค้าเสรี

 
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีดีอาร์ไอกำลังศึกษาการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมการแปรรูปกุ้งและอาหารทะเลซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญและมีมูลค่ามากกว่า 9 หมื่นล้านบาท แต่จากในการสำรวจแรงงานต่างด้าวใน 5 จังหวัด พบว่าในจำนวนแรงานต่างด้าว 600 คน ที่ตอบแบบสอบถาม เป็นแรงงานเด็กกว่า 20 ราย โดยในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 15 -18 ปี อีกครึ่งอายุต่ำกว่า 15 ปี ในกลุ่มอายุ 15-18 ปี บางคนทำงานถึงวันละ 10 -12 ชั่วโมง ซึ่งเกินกฎหมายกำหนด และรัฐยังดูแลไม่ถึง จึงเน้นการศึกษาตั้งแต่กระบวนการแรกของอุตสาหกรรมก่อนจะส่งเข้าโรงงาน ซึ่งมีแรงงานเข้าไปเกี่ยวข้องมากทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว 
 
การศึกษานี้จะทำให้เกิดความชัดเจนในการใช้แรงงานเด็ก เพื่อดูว่าเด็กซึ่งควรอยู่ในโรงเรียน (ตามกฎหมายมีนโยบายเรียนฟรี) แต่ตกหล่นไม่ได้เรียน และต้องมาสู่การใช้แรงงานนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องในส่วนไหน ด้วยเหตุผลใด มีสภาพการทำงานเป็นอย่างไร  ซึ่งในส่วนของคนไทย ทุกปีจะมีแรงงานในระดับ ม.ต้น และม.ปลายซึ่งตกหล่นจากระบบโรงเรียนราว 1.3 แสนคน  ส่วนหนึ่งอาจย้อนกลับไปเรียนต่อได้ แต่มีบางส่วนที่มาเข้าสู่ตลาดแรงงาน เริ่มจากทำงานเล็กๆ น้อยๆ และบางคนอาจเข้าไปทำงานที่ไม่ค่อยเหมาะสม 
 
การศึกษาครั้งนี้เน้นกรณีแรงงานเด็กต่างด้าว 20 คนจากผลการสำรวจ และลงศึกษาเชิงลึกใน 5 จังหวัด เช่นสมุทรสาคร นครศรีธรรมราช เป็นต้น ซึ่งจัดเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบไม่ได้อยู่ในโครงสร้างที่จะได้รับการคุ้มครองใดๆ ส่วนใหญ่ทำงานกับนายจ้างรายย่อยในขั้นต้นกระบวนการของอุตสาหกรรม เช่น “ล้ง” ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายย่อย ทำหน้าที่ในการตัดหัว แกะเปลือก ทำความสะอาดกุ้ง ก่อนส่งเข้าสู่โรงงาน แรงงานเด็กก็จะมีส่วนมาทำงานตรงนี้ การสำรวจที่ครอบคุมแรงงานไทยของหน่วยราชการจึงยังไม่พบว่ามีสถานประกอบการรายใดใช้แรงงานเด็ก ข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาเพิ่มเติมจะนำไปสู่การกำหนดกรอบการศึกษาภาพรวมทั้งประเทศอีกครั้งหนึ่ง มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กที่จำเป็นต้องเข้าสู่การทำงานได้รับการคุ้มครองดูแลในการทำงานที่เหมาะสม และไม่ถูกเอาเปรียบและเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ก็ควรจะอยู่ในโรงเรียน 
 
ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า นายจ้างรายย่อยอย่าง “ล้ง” อาจจะรู้หรือไม่รู้ว่าเมื่อใช้แรงงานเด็กก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย ดังนั้นการมีบัญชีอาชีพที่เด็กทำได้ทำไม่ได้จะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองแรงงานเด็ก และผู้ประกอบการจะได้ตระหนักและปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะการใช้แรงงานเด็กยังเป็นปัญหาอ่อนไหวที่อาจถูกนำไปใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้ากับบางประเทศได้ เช่น สหรัฐฯ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท