ฉันมีรองเท้าเป็นอาวุธ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

เมื่อเย็นวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ชวนคิด แม่ค้าขายสินค้าเกี่ยวกับกลุ่มคนเสื้อแดงคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ที่จังหวัดอยุธยาขณะขายสินค้าในกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง เธอถูกตั้งข้อหาว่ารองเท้าแตะพื้นลายคล้ายหน้านายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงพร้อมข้อความ “ราชประสงค์มีคนตาย” ที่เธอขายฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (แม้ไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ในจังหวัดอยุธยา) เธอถูกควบคุมตัวไปดำเนินคดีที่โรงพักก่อนจะได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี เดิมทีเธอประสงค์ไม่ขอประกันตัว เพราะเห็นว่าการขายรองเท้าที่มีรูปคล้ายหน้าบุคคลทั้งสองดังกล่าวไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ข้อความที่ว่าราชประสงค์มีคนตายก็ไม่ได้เป็นเท็จ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเธอแย้งว่ารองเท้าเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาวุธแต่อย่างใด

ข้อโต้แย้งของแม่ค้าเสื้อแดงที่ว่ารองเท้าที่มีพื้นเป็นรูปคล้ายหน้านายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ ไม่ได้เป็นอาวุธทำให้ผมนึกถึงหนังสือขึ้นหิ้งเล่มหนึ่งในแวดวงที่ศึกษา เรื่องอำนาจ คือ Weapons of the Weak: Everyday Forms of Peasant Resistance (อาวุธของผู้อ่อนแอ: รูปแบบการต่อต้านในชีวิตประจำวันของชาวนา) ของ James C. Scott ซึ่งโต้แย้งกับกลุ่มที่เห็นว่าไม่มีการเคลื่อนไหวของชาวนาในระดับที่กว้างขวางพอที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้ โดยเขาเสนอว่า การอู้งาน การแกล้งโง่ การแสร้งจำนน การนินทาด่าว่า รวมไปถึงการเล็กเล็กขโมยน้อย และการก่อวินาศกรรม ฯลฯ ของคนจนโดยเฉพาะชาวนา ที่มักถูกมองว่าไม่ใช่การต่อต้านที่แท้จริง เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนบุคคลและมีนัยเพียงเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในลักษณะรวมหมู่ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐและกฎหมายได้ ทว่าในความเป็นจริงการกระทำเหล่านี้คือการต่อต้านในชีวิตประจำวันของผู้อ่อนแอ เพราะภายใต้ความสัมพันธ์ทางชนชั้นที่มีลักษณะกดขี่ครอบงำ การต่อต้านโครงสร้างอำนาจอย่างเปิดเผยมีต้นทุนสูงและมีโอกาสสำเร็จน้อย การแปรโครงสร้างอำนาจที่กดขี่ครอบงำให้อยู่ในรูปของบุคคลเช่นเจ้าที่นาเปิดโอกาสให้ผู้อ่อนแอสามารถท้าทายได้มากกว่า และหากสามารถเชื่อมโยงกันได้ การต่อต้านในชีวิตประจำวันของผู้อ่อนแอแต่ละคนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างและกฎหมายได้ในที่สุด

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 และได้รับความสนใจจากคนในแวดวงอย่างล้นหลาม เพราะเป็นการชี้ชวนให้พิจารณาวิธีการเผชิญกับอำนาจของผู้คนส่วนใหญ่ในแง่มุม ที่ถูกละเลยโดยทฤษฎีมาร์กซิสม์จารีตและทฤษฎีอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาแม้แวดวงการศึกษาอำนาจจะพัฒนาไปในระดับที่ทำให้ต้องพิจารณาอำนาจ ในลักษณะที่ซับซ้อนกว่าตรรกะการกดขี่ครอบงำและการต่อต้านขัดขืนที่ Scott เสนอ รวมทั้ง Scott เองในตอนหลังก็เขียนงานที่ให้ความสำคัญกับชีวิตและการทำงานของรัฐมากกว่าการต่อสู้ดิ้นรนของคนธรรมดา (เช่น Seeing Like a State หรือแม้แต่ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา The Art of Not Being Governed ที่พิจารณาว่าผู้คนบนที่สูงกลุ่มต่างๆ หลีกหนีการควบคุมของรัฐอย่างไรก็เป็นการประมวลผลการศึกษามากกว่าการศึกษาภาคสนาม) แต่หนังสือเล่มนี้ของเขาก็ยังคงเป็นหลักหมายสำคัญของแวดวงการศึกษาอำนาจ รวมทั้งแนวทางในการพิจารณาอำนาจของเขาในหนังสือเล่มนี้ก็ยังคงมีคุณูปการในการทำความเข้าใจการเผชิญกับอำนาจในบางแง่มุมของผู้อ่อนแอในสังคมร่วมสมัย รองเท้าแตะพื้นลายใบหน้าคล้ายนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ รวมทั้งกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อื่นๆ ของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นตัวอย่างของการเผชิญหน้ากับอำนาจในลักษณะเช่นนี้

การล้อมปราบที่ราชประสงค์เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายต่างๆ ที่ต่อเนื่องตามมาส่งผลให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงต้องปรับเปลี่ยนไป ในแง่หนึ่งเกิดการทบทวนว่าการปักหลักชุมนุมขนาดใหญ่อย่างยืดเยื้อในลักษณะเผชิญหน้ามีราคาแพงและมีโอกาสสำเร็จต่ำภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองปัจจุบัน ขณะเดียวกันมาตรการทางกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไม่เปิดโอกาสให้กับการเคลื่อนไหวในลักษณะเดิมได้ การฟื้นตัวของขบวนการเสื้อแดงในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาจึงไม่ได้มีลักษณะเผชิญหน้าหรือท้าทายอย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นการอาศัยการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่การบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถกระทำได้โดยง่าย แต่สามารถสื่อความหมายทางการเมืองชนิดเดียวกันไปยังผู้ที่อยู่ในอำนาจและ สังคมโดยรวมได้ เช่น การผูกผ้าแดงที่ป้ายราชประสงค์ การรำลึกผู้เสียชีวิตจากการล้อมปราบ การร่วมรับประทานอาหารและปั่นจักรยานในสวนสาธารณะ ฯลฯ สร้างความยุ่งยากให้กับการตีความและการบังคับใช้กฎหมาย เพราะไม่ใช่กิจกรรมหรือการชุมนุมทางการเมืองในความหมายปกติ แต่ขณะเดียวกันกิจกรรมเหล่านี้ก็มีนัยทางการเมืองอย่างสำคัญ อีกทั้งยังสามารถสื่อความหมายไปยังสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมในลักษณะเช่นนี้จึงขยายตัวมากขึ้นและมีผู้เข้าร่วมที่หลากหลายและกว้างขวางยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี “การต่อต้านในชีวิตประจำวัน” ของกลุ่มคนเสื้อแดงมีลักษณะต่างจากชาวนาในหมู่บ้าน Sedaka ในมาเลเซียที่ Scott ศึกษา เพราะการต่อต้านของชาวนาเหล่านั้นหลายกรณีเกิดขึ้นในที่ลับตาหรือข้างหลัง จึงไม่เป็นที่รับรู้ของผู้ถูกต่อต้าน หรือบางกรณีแม้จะเป็นที่รับรู้แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ต่อต้านคือใคร และบางกรณีผู้ต่อต้านและผู้ถูกต่อต้านให้ความหมายกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ตรงกัน แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เกิดในที่สาธารณะและเป็นที่จับตามองของผู้อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ต้น เพราะพวกเขาเข้าใจดีว่ากิจกรรมเหล่านี้มีความหมายอะไร การเคลื่อนไหวจึงไม่เป็นเพียงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ก่อให้เกิดผลสะเทือนในอีกชั้น แต่เป็นการเจรจาต่อรองที่ส่งผลต่อการจัดความสัมพันธ์ระหว่างกันในทันที โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงกับผู้บังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ การที่กิจกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เกิดขึ้นในลักษณะรวมหมู่ก็ยังผลให้นัยของกิจกรรมมีผลในวงกว้างมาตั้งแต่ต้น ไม่จำเป็นต้องรอให้กิจกรรมของคนเสื้อแดงแต่ละคนมาเชื่อมโยงกันเพื่อก่อให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเช่นในกรณีของชาวนาใน Sedaka

นอกจากนี้ ข้อโต้แย้งของแม่ค้าเสื้อแดงที่ว่ารองเท้าแตะพื้นลายใบหน้าคล้ายนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ ไม่ได้เป็นอาวุธ เป็นการขยับ “การต่อต้านในชีวิตประจำวัน” ขึ้นไปอีกขั้น เพราะแม่ค้าเสื้อแดงอาศัยความกำกวมของสัญลักษณ์บนรองเท้าแตะเป็นทั้งอาวุธ และเกราะกำบังในเวลาเดียวกัน เธอใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นอาวุธเมื่อต้องการท้าทายผู้อยู่ในอำนาจในสภาวะที่การเผชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมาไม่สามารถกระทำได้ การเหยียบใบหน้าบุคคลเป็นรูปแบบการดูถูกเหยียดหยามอย่างที่สุดรูปแบบหนึ่งในบริบทวัฒนธรรมไทย แต่เมื่อสถานะความเป็นอาวุธของสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นที่ตระหนักและผู้อยู่ในอำนาจไม่สามารถอดทนได้จนต้องออกคำสั่งให้จับกุมและดำเนินคดีกับเธอ เธอก็ทำให้มันกลายเป็นเกราะกำบังโดยตัดความหมายดังกล่าวทิ้งเสียให้เหลือเพียงแค่คุณสมบัติทางกายกาพของรองเท้าซึ่งไม่สามารถจะใช้เป็นอาวุธอะไรได้

ทั้งนี้ ไม่ว่าผลการต่อสู้ทางคดีจะออกมาในรูปใด แม่ค้าเสื้อแดงท่านนี้ได้แสดงให้เห็นว่า “การต่อต้านในชีวิตประจำวัน” อย่างเปิดเผยและมีพลังสามารถกระทำได้ เพียงแต่ต้องมีทักษะและความเชี่ยวชาญในการใช้ “อาวุธ” ในเชิงสัญลักษณ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมีความกล้าหาญที่จะทำให้ “อาวุธ” นั้นเป็นที่ประจักษ์ ไม่ว่าสิ่งที่กำลังต่อต้านอยู่นั้นจะมีอำนาจเพียงใดก็ตาม

 

....................................................
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ คิดอย่างคน ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 (8-14 ตุลาคม 2553)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท