Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

color:#993300">
อยู่เมืองไทยมาตลอดทั้งชีวิต แต่พระเอกหนุ่มเลือดออสเตรเลียน-ลาว 'อนันดา เอเวอริ่งแฮม' เพิ่งจะได้สัญชาติไทยมาไม่นานนี้
 
โดยทุกปีที่ผ่านมาเขาต้องต่อวีซ่าเพื่อทำงานในไทย และเมื่อ 7 ปี ก่อนได้เปิดบริษัท เฮโล โปรดักชั่น จำกัด เพื่ออยู่เมืองไทย
 
- เห็นว่าเพิ่งได้ทำบัตรประชาชน?
 
อนันดา - "ครับ จริงๆ ผมเกิดที่เมืองไทย แต่พอดีทั้งพ่อและแม่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยตอนผมเกิด พ่อผมเป็นออสเตรเลียน แม่เป็นลาว แต่ก็ถือพาสปอร์ตออสเตรเลียนทั้งคู่ เขาเลยไม่ได้ให้สัญชาติ พอผมอายุ 20 ปี ผมจะขอวีซ่าตามพ่อไม่ได้แล้ว เพราะถือว่าเป็นผู้ใหญ่ ผมเลยต้องเปิดบริษัทคือเฮโล โปรดักชั่น"
 
- แล้วถ้าไม่เปิดบริษัทล่ะ จะทำอย่างไร?
 
อนันดา - "ก็ให้ค่ายหนังทำวีซ่าให้ เพราะผมไม่มีบัตรประชาชน ต้องทำเป็นวีซ่าออกจากประเทศทุก 4 เดือน คือตั้งแต่เกิดจนถึงปีนี้ ก่อนที่จะได้บัตรประชาชน ผมทำวีซ่ามาตลอด วุ่นวายมาก เลยเปิดบริษัทเหมือนเป็นลูกจ้างบริษัทตัวเอง ทำงานอะไรก็เข้าบริษัท ทำมา 7 ปีแล้ว"
 
- แล้วทำยังไงถึงได้เป็นคนไทยแล้ว?
 
อนันดา - "มันบังเอิญมาก จ้างบริษัททนายมาดูเรื่องวีซ่าโน่นนี่นั่น แล้วเขาไปเจอกฎหมายอะไรสักอย่างไม่รู้ เหมือนเป็นกฎหมายอย่างถ้ามีพวกกะเหรี่ยงข้ามเผ่ามาไม่มีสัญชาติกัน แล้วเขามีลูกในไทย ลูกเกิดที่นี่ แต่พ่อแม่ไม่มีสัญชาติ แต่ลูกเนี่ยต้องได้สัญชาติ เขามีกฎหมายรองรับ ผมเลยไปเช็กดูว่าผมเข้าข่ายมั้ย ปรากฏผมขอได้"
 
"แล้วมันง่ายมากด้วย ใน 1 อาทิตย์ได้สัญชาติไทยเลย (หยิบบัตรประชาชนอวดด้วยความ ภูมิใจ) นี่ไง ใหม่เอี่ยม ก็เลยไม่ได้เป็นกะเหรี่ยง ต่อไป"
 
"เชื่อมั้ยขอวีซ่าแค่ 1 ปีเนี่ยซับซ้อนมาก แค่ขอวีซ่าเวิร์กเพอร์มิต ต้องมีเอกสารเป็นกะตั้ก พอผมเจอกฎหมายนี้ ผมไปทำสัญชาติไทยมีเอกสารอยู่แค่ 10 แผ่น เขียนนี่เซ็นนั่นกรอกนี่จบ เดี๋ยวอาทิตย์หน้ามารับบัตรประชาชน"
 
- รู้สึกอย่างไรเป็นคนไทย 100% แล้ว?
 
อนันดา - "ก็สบายใจนะ จริงๆ เราทำอะไรอะไรให้ประเทศมาเยอะแล้ว เราก็อยากเป็นคนไทยเต็มตัวมานานแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาผมคิดว่าผมเป็นคนไทยมาตลอด ตอนนี้เป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นเจ้าของบ้านตัวเองแล้ว โดยเขาออกบัตรประชาชนให้วันที่ 9 เม.ย.2553 ที่ผ่านมา"
 
color:black">บางส่วนจาก 'อนันดา'ปฏิวัติมายา โละดารา'แท็บลอยด์' โดย สมรัก บรรลังก์ นสพ.ข่าวสดรายวัน ฉบับวันที่ 3 ต.ค.53
 

.......................................................

 
ดาราดัง อนันดา เอเวอริงแฮม เป็นดาราคนหนึ่งที่พี่น้องชาติพันธุ์หลายคนชื่นชอบ เพราะนิสัยความตรงไปตรงมาและความหล่อ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีฉันหนึ่งคนแล้วล่ะ แต่ตอนนี้กลายเป็นเคยชอบแล้วล่ะ (อดีต) น่ายินดีที่เขาได้สัญชาติไทยไปเรียบร้อยแล้ว
 
แต่น่าเศร้าใจที่รู้ว่า คนคนหนึ่งซึ่งมีฐานะเป็นคนสาธารณะและเป็นคนที่เคยร่วมเผชิญกับความรู้สึกจากการไม่มีสัญชาติไทย แต่กลับไม่ได้ขอบคุณหรือสนใจต่อความทุกข์ยากของผู้คนอีกจำนวนมากมาย
 
นายอนันดา ได้บรรยายถึงความง่ายของการได้สัญชาติไทย แต่ไม่รู้เลยว่า ได้สัญชาติโดยกฎหมายอะไรและได้มาอย่างไร โดยเฉพาะที่บอกว่า “แล้วมันง่ายมากด้วยใน 1 อาทิตย์ได้สัญชาติไทยเลย...” นั้น ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงได้ง่ายอย่างนั้น ในขณะที่ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนนับหมื่นคนที่ยื่นคำร้องไปแล้วรอเป็นเดือน เป็นปี บางคนรอจนตายก็ยังไม่ได้
 
นอกจากนี้ยังได้พูดถึงพี่น้องชาติพันธ์เผ่ากะเหรี่ยงว่า “เหมือนเป็นกฎหมาย อย่างถ้ามีพวกกะเหรี่ยงข้ามเผ่ามาไม่มีสัญชาติกัน แล้วเขามีลูกในไทย ลูกเกิดที่นี่ แต่พ่อแม่ไม่มีสัญชาติ แต่ลูกเนี่ยต้องได้สัญชาติ เขามีกฎหมายรองรับ ผมเลยไปเช็กดูว่า ผมเข้าข่ายมั้ย ปรากฏผมขอได้” ซึ่งอันที่จริงเขาต้องขอบคุณพี่น้องชาติพันธ์กระเหรี่ยง ซึ่งเป็นเป็นเผ่าที่ได้ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยก่อนที่นายอนันดาจะเกิดด้วย ซ้ำ ที่ทำให้เขาได้รับอานิสงส์ด้วย
 
แต่ก็ต้องบอกอีกครั้งว่าคนกะเหรี่ยงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจำนวนคนไร้ สัญชาตินับล้านคนเท่านั้น แล้วนายอนันดาจะรู้ไหมนะ????ว่า...ที่เขาได้สัญชาติไทยมาโดยง่ายนั้น อยู่บนความยากลำบากของใครบ้าง??? อย่างไร???
 
เขาสรุปสถานะบุคคลของตนเองว่า“ก็เลยไม่ได้เป็นกะเหรี่ยง ต่อไป” พี่น้อง เพื่อนมนุษยชาติจะดูถูกเหยียดกันไปถึงไหน??? เราจะยอมรับได้ไหมถ้าเราเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำ???
 
color:black">บางส่วนจาก เส้นทาง พ.ร.บ.สัญชาติ กับดาราดัง อนันดา เอเวอริ่งแฮม โดย ดอกหญ้า สาละวิน, มติชนออนไลน์, 11 ตุลาคม 53
 

 

หลังจากที่มีบทสัมภาษณ์ของคุณอนันดา เอเวอริ่งแฮม ภายหลังจากได้รับสัญชาติไทย (คลิกเพื่ออ่านบทสัมภาษณ์) และได้มีบทความถ่ายถอดความรู้สึกโดย ดอกหญ้า สาละวิน อดีตคนไร้สัญชาติ (คลิกเพื่ออ่านบทความ) ออกมาแสดงความเห็นต่อคำพูด ความเห็นในบทสัมภาษณ์ นอกจากนี้ในแวดวงของคนทำงานด้านสถานะบุคคลและสิทธิก็ยังเป็นประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างต่อเนื่องในเฟซบุ๊ก

ในฐานะของคนที่ทำงานด้านสถานะบุคคลและสิทธิและทำงานด้านการสื่อสารสาธารณะคนหนึ่งเห็นว่าการแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นยังมีประเด็นที่ชวนพูดคุยต่อดังนี้

สื่อกับอคติทางชาติพันธุ์ ความเป็นอื่นที่ไม่ได้ตั้งใจ (หรือการถูกมองข้าม)
ถ้ามองย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ การนำเสนอทางสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ โฆษณา ในบ้านเรามักจะมีภาพของการนำเสนอภาพลักษณ์ เรื่องราวของของกลุ่มชาติพันธุ์ ออกมาในลักษณะของคนที่มีความแตกต่างจากคนเมือง เช่น การแต่งกาย ที่มักจะมีการดัดแปลง โดยอาจจะทำให้ดูสวยงาม น่าสนใจ สะดุดตา ซึ่งอันนี้ก็พอจะมองอย่างเข้าใจได้ว่าการแสดงเป็นเพียงการสมมติ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็แน่นอนว่ามันได้สื่อสารออกไปสู่คนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจถึงแง่มุมที่เป็นจริง ดังนั้นหากไม่ใช่ความตั้งใจที่จะทำให้เกิดการรับรู้ที่ผิดๆ ผู้จัดควรจะใส่ใจสักนิด เช่น มีการระบุข้อความให้ชัดเจนว่าการแต่งกายเป็นลักษณะการดัดแปลง หากไม่มีเจตนาดังกล่าวก็จะดีไม่น้อย

หรือการพูดจา ภาพลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่มักมีการนำเสนอในลักษณะที่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์มักจะพูดจาไม่ชัด พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือออกไปในลักษณะคนด้อยพัฒนา เจตนาที่สื่อเป็นไปเพื่อสร้างความขบขันนั้น ในประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่าเจตนาเช่นนี้เป็นแง่มุมที่ควรตำหนิ เพราะนี่คือการตีตราให้คนกลุ่มหนึ่งเป็นอื่น และด้อยกว่าอย่างชัดเจน ซึ่งควรจะมีการสื่อสารถึงสื่อต่างๆ ที่ยังมีการผลิตสื่อลักษณะนี้ออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ล่าสุดกรณีของคำสัมภาษณ์ของคุณอนันดา จึงเป็นอีกครั้งที่คำพูดที่ว่า... “ก็เลยไม่ได้เป็นกะเหรี่ยงต่อไป” จึงอาจไปกระแทกใจอย่างแรง สำหรับคนที่เป็นชาติพันธุ์ เพราะคุณอนันดานั้นเป็นดาราดัง เป็นบุคคลสาธารณะ มีคนที่คอยติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหว ซึ่งผู้เขียนเองเห็นว่าคุณอนันดาคงไม่ได้มีเจตนาที่จะดูถูกเหยียดหยามพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพราะหากอ่านการให้สัมภาษณ์นี่คือความเข้าใจที่เขาได้รับ (อาจจะมาจากทนายความ) ที่ให้ข้อมูลถึงที่มาของการได้สัญชาติของเขาเปรียบเทียบตัวเขาเป็นเหมือนกะเหรี่ยง ความเข้าใจที่เขาสื่อออกมาก็คือสภาพที่ตกอยู่ในความเป็นคนสัญชาติอื่น ความยุ่งยากในการดำเนินชีวิตที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่ง ณ ตอนนี้เขาพ้นจากสภาพนั้นแล้ว

ในกรณีนี้หากมองแบบไม่ใจร้ายกับคุณอนันดามากนัก ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับความเห็นของอาจารย์แหวว (รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ที่ว่าคุณดอกหญ้า (หรือท่านอื่นๆ) น่าจะเขียนจดหมายหรือส่งข้อความถึงสื่อมวลชนรวมทั้งคุณอนันดาให้มีความเข้าใจในรายละเอียดที่ตกหล่นไป และหากเขามีความรับรู้มากขึ้นในอนาคตในฐานะที่เคยยุ่งยากกับการใช้ชีวิตในประเทศไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทย ก็คงจะดีไม่น้อยที่คนสาธารณะจะมีส่วนในการเป็นกระบอกเสียงให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติ แม้จะเป็นเพียงความคาดหวังก็ตามเพราะการเรียกร้องในประเด็นนี้ก็ดูเหมือนจะมากมายเกินไป

แต่ในครั้งนี้ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตามสิ่งที่คุณอนันดาควรรับรู้คือนี่เป็นอีกครั้งที่ความไม่ตั้งใจ (หรือการถูกมองข้าม) ของคนสาธารณะในบ้านเราได้สร้างบาดแผลลงในใจให้เป็นอื่นอีกครั้งอย่างน้อยก็ในความรู้สึกของใครต่อใครหลายคนที่เป็นชาติพันธุ์ซึ่งเป็นพี่น้องที่อยู่ร่วมกับเราในบ้านเมืองนี้

การได้สัญชาติ...สองมาตรฐาน อยู่ที่ใด (อยู่ที่ใคร)
อีกประเด็นที่ดูเหมือนว่าจะมีการตั้งคำถามต่อการได้มาซึ่งสัญชาติไทยของคุณอนันดา คือการบอกเล่าของคุณอนันดาที่ว่า “แล้วมันง่ายมากด้วยใน 1 อาทิตย์ได้สัญชาติไทยเลย...” นั้น จากประสบการณ์ในด้านสถานะบุคคลมาอย่างน้อยช่วงระยะเวลาหนึ่งหลายปีมานี้ ข้าพเจ้าก็พอจะรับรู้ว่ามีคนอีกนับหมื่นที่ยังประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ และจำนวนไม่น้อยที่ต้องอยู่ในภาวะเช่นนี้ยาวนานหลายปี หรือกระทั่งไม่มีคำตอบด้วยซ้ำว่าต้องรอคอยอีกนานเท่าใด การได้รับสัญชาติไทยอย่างรวดเร็ว (นับจากไปดำเนินการ) ก็ย่อมสะเทือนความรู้สึกใครหลายคนอีก

แต่หากมองอย่างไม่อคตินักและพิจารณารายละเอียดสักนิด ก็ดูเหมือนว่าคุณอนันดาก็ไม่ต่างจากคนไร้รัฐไร้สัญชาติอีกจำนวนไม่น้อยที่มีสิทธิได้รับสัญชาติไทยแต่ไม่ทราบไม่รับรู้ช่องทาง แต่คุณอนันดาโชคดีตรงที่มีเงินจ้างทนายความ ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่น่าจะเป็นความผิดของเขา หากข้อเท็จจริงคุณอนันดามีคุณสมบัติตามมาตรา 23 มีเอกสารครบถ้วน ไปดำเนินการในเขตท้องที่ที่มีผู้ประสบปัญหาจำนวนน้อยก็ไม่แปลกหากจะได้รับการดำเนินการโดยรวดเร็ว

จากข้อเท็จจริงที่สื่อสารเพียงน้อยนิดผ่านสื่อในประเด็นนี้ การตั้งคำถามในเชิงต่อว่าคุณอนันดา (แม้ว่าความเป็นดาราคนดัง อาจจะมีผลอยู่ด้วย) ก็ดูจะใจร้ายไปสักนิด และที่หลงลืมไป คนที่ทำงานด้านสถานะฯรวมทั้งคนที่ประสบปัญหาด้านนี้หลายๆคน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า กลไก หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการดำเนินการคือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องก็ควรจะถูกตั้งคำถามต่อประเด็นนี้ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติยังค้างคาเนิ่นนานอยู่จำนวนมาก

ที่สำคัญในการเขียนบทความนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าการตั้งคำถามหรือแลกเปลี่ยนความเห็นที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหวังให้สังคมมีความเข้าใจในประเด็นปัญหาชีวิตของคนไร้รัฐไร้สัญชาตินั้นมีความจำเป็นมากมายและคาดหวังว่าจะเป็นแรงผลักดันหนึ่งที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ

แต่ที่เราอาจจะหลงลืมกันไปสักนิดคือ หากเราเองก็กล่าวถึงคนอื่นด้วยท่าทีแห่งความไม่เข้าใจ ตัดสินเรื่องราวจากข้อมูลเพียงส่วนหนึ่ง แม้ว่าจะไม่เจตนาก็ตาม มันก็จะเป็นอีกครั้งที่ทำให้ความเป็นอื่นและความแตกต่างเกิดขึ้น และความเข้าใจที่คาดหวังก็จะยิ่งถอยห่างออกไป (อีกครั้ง)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net