Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความดีในจินตนาการของชาวพุทธไทยคืออะไร? ทำไมชาวพุทธไทยจึงนิยมทำความดีตามเทศกาล ทำไมความดีจึงผูกพันอยู่กับวัด อยู่กับพิธีกรรม หรือมีรูปแบบเฉพาะ และมีความหมายพิเศษ เช่น จะทำความดีต้องไปนุ่งขาวห่มขาว ต้องไปนั่งหลับตา ต้องไปบริจาคให้พระ บริจาคมากได้บุญมาก แล้วความดีหรือบุญนั้นก็มีอานุภาพวิเศษหลายอย่าง

เช่น ดลบันดาลให้ถูกหวยก็ได้ (แต่พระบอกว่า หวยเป็นอบายมุข ผมเคยได้ยินมหาเปรียญ 9 อธิบายว่า การถูกหวยเป็นเพราะกรรมดีในอดีตส่งผล) ให้ร่ำรวยทำมาค้าขึ้นก็ได้ ให้ได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคนก็ได้ ให้ไปเกิดในสวรรค์มีนางฟ้าห้าร้อยเป็นบริวารก็ได้ (แต่ไม่เห็นมีเทพบุตรห้าร้อยเป็นบริวาร) ให้ไปนิพพานก็ได้ แต่แทบไม่เห็นสอนกันว่า ความดีหรือบุญทำให้สังคมมีความเป็นธรรมอย่างไร มีเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพอย่างไร หรือแม้แต่ด้วยการทำบุญหรือความดีนั้นทำให้เราเคารพ ความเป็นคน ของตนเองและเพื่อนมนุษย์อย่างไร

ผมเลยลองไปหาดูจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาว่า ความดีตามที่บันทึกในพระไตรปิฎกเหมือนกับความดีตามจินตนาการของชาวพุทธไทยไหม ก็พบประเด็นที่อยากนำมาแลกเปลี่ยน คือ

1. ความดี (ตามที่พุทธศาสนาสอนจริงๆ) เป็นวิถีชีวิตไม่ได้ผูกพันอยู่กับวัดกับรูปแบบพิธีกรรมใดๆ ตัวอย่างเช่น การทำความดีที่คลาสสิกมากๆ คือ การทำความดีของพระโพธิสัตว์ใน ทศชาติชาดก ที่เรียกกันว่าเป็นความดีสูงส่งในระดับของ การบำเพ็ญบารมี ที่ส่งผลต่อมาให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น สาระสำคัญจริงๆ แล้ว คือการทำความดีในวิถีชีวิต ในบริบทที่เราดำรงชีวิตอยู่จริง และการทำความดีบางอย่างหมายถึง การต่อสู้เพื่อให้รอดชีวิต

เช่น การทำความเพียรของพระมหาชนก ก็คือการใช้ความพยายามว่ายน้ำในมหาสมุทร 7 วัน 7 คืน เพื่อให้มีชีวิตรอด นี่หมายความว่าพุทธศาสนายกย่องความเพียรพยายามเพื่อให้ตนเองมีชีวิตรอดว่าเป็น การบำเพ็ญบารมี อย่างหนึ่งเลยทีเดียว

ชาวพุทธอาจอธิบายว่า ที่การทำความเพียรเพื่อรอดชีวิตของพระมหาชนกเป็นการ บำเพ็ญบารมี เพราะเป็นความเพียรของพระโพธิสัตว์ที่อธิษฐานมาก่อนว่าจะบำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต (วิริยบารมีเป็นหนึ่งในบารมี 10 ข้อ) แต่ประเด็นคือ เนื้อหา ของ ความเพียรพยายามเพื่อให้มีชีวิตรอด ถ้ามีคุณค่าเป็นความดีภายใต้ความจำเป็นในบริบทชีวิตจริง (กรณีพระมหาชนก บริบทคือเรือแตกในมหาสมุทร จำเป็นต้องเพียรพยายามเพื่อให้รอดชีวิต และความเพียรพยายามนั้นเป็น ความดีที่ได้รับการสรรเสริญ) แต่ทำไมการสอนเรื่อง ความดี ในสังคมพุทธไทย จึงไม่ค่อยให้คุณค่ากับการทำความดีในบริบทของชีวิตจริงอย่างที่ให้คุณค่าอย่างสูงยิ่งแก่การกระทำของพระมหาชนก

มีคนจำนวนมากในสังคมที่พยายามต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอด เช่น รอดจากความยากจน จากการถูกละเมิดสิทธิ แต่ชาวพุทธไทยไม่ได้ให้การยกย่อง คือไม่ได้ยกย่องผ่านคำอธิบายด้วยหลักคิดทางพุทธศาสนา เช่น กรณียายไฮ ขันจันทา ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองเกือบ 30 ปี เรายกย่องผ่านหลักคิดของประชาธิปไตย ไม่ได้ยกย่องว่าเป็นความดีตามหลักพุทธศาสนา เพราะความเพียรของยายไฮ ไม่ใช่การทำบุญกับวัด ไม่ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาใช่หรือไม่? (แต่ก็เป็นการทำความดีเพื่อความอยู่รอดในบริบทชีวิตจริงเช่นเดียวกับพระมหาชนกมิใช่หรือ?)

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ สุวรรณสามชาดก การทำความดีก็คือการมีความกตัญญูเลี้ยงดูบิดามารดาที่ตาบอด นี่ก็คือการทำความดีตามบทบาทหน้าที่ในครอบครัว ซึ่งคนในยุคปัจจุบันก็ทำแบบนี้อยู่ไม่น้อย (เช่น เรื่องราวของเด็กหญิงวัลลีย์ ฯลฯ) แต่ชาวพุทธไทยไม่ได้โปรโมทความดีในวิถีชีวิตจริงแบบนี้เท่ากับครึ่งเสี้ยวหนึ่งของการโปรโมทการทำดีด้วยการบริจาคเงินให้วัด หรือการทำความดีในรูปแบบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งมี อานิสงส์ หรือ รางวัลตอบแทนเป็นสวรรค์ นิพพาน โชคลาภ ความมั่งคั่งร่ำรวย ฯลฯ (ต่อให้คุณทำความดีอื่นๆ ในวิถีชีวิตมากพียงใด แต่คุณไม่เคยเข้าวัดปฏิบัติธรรมคุณอาจไม่ใช่คนดีในมิติพุทธ)

ที่ยกมาเป็นตัวอย่างการทำความดีเฉพาะตัว หรือเป็นจริยธรรมเชิงปัจเจก ส่วนความดีเชิงสังคม เช่น กรณีของพระเวสสันดร การบริจาคช้างคู่บ้านคู่เมืองของตนเอง แก่ชาวเมืองอื่นที่เดือดร้อน เสียสละลูกเมียไปเป็นทาสของคนอื่น ถือเป็นการทำความดีเพื่อสังคม เพื่อผู้อื่นโดยยอมเจ็บปวดที่ต้องถูกเนรเทศออกจากเมือง ที่ต้องสูญเสียลูกเมียอันเป็นที่รัก

แต่ดูเหมือนการเรียนรู้เวสสันดรชาดกในบ้านเราไม่ได้เน้นคุณค่าของ การเสียสละตนเองเพื่อสังคม เพื่อเพื่อนมนุษย์ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการยอมเจ็บปวดเพื่อเพื่อนมนุษย์ แต่ให้ความสำคัญกับ มิติจริยธรรมเชิงปัจเจก ว่า ที่พระเวสสันดรทำเช่นนั้นต้องถือเป็นคุณลักษณะเฉพาะตัวของพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งประสงค์ต่อพระโพธิญาณ

ฉะนั้น มิติของความดีในจินตนาการของชาวพุทธไทย จึงไม่มีมติทางสังคม ถ้าสังคมพุทธไทยมองมิติทางสังคมของการทำความดี (เช่นกรณีพระเวสสันดร) สังคมพุทธไทยย่อมมีวัฒนธรรมย่องย่องการทำความดีเพื่อสังคม เช่น การใช้ความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด การเสียสละตัวเองของคนอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ เพื่อต่อสู้เปลี่ยนแปลงระบบสังคมการเมืองที่ไม่เป็นธรรม สร้างระบบสังคมการเมืองที่เป็นธรรม แต่กลับไม่ปรากฏว่าชาวพุทธยกย่องการเสียสละเช่นนี้ รวมถึงการเสียสละชีวิตต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนักศึกษา ประชาชนในยุคต่างๆ ที่ผ่านมา

นอกจากไม่ให้คุณค่าแก่การเสียสละ (ความหมายสำคัญคือ การเสียสละเพื่อสังคม ต่างกันที่บริบท เช่น พระเวสสันดรกระทำการเสียสละในบริบทหนึ่ง จิตรฯ และคนอื่นๆ ในยุคปัจจุบันกระทำการเสียสละในบริบทหนึ่ง แม้อาจจะด้วยอุดมการณ์ที่ต่างกัน แต่การเสียสละตัวเอง ยอมเจ็บปวดฯลฯ เป็นการทำความดีในวิถีชีวิตในบริบทสังคมที่เป็นจริงเช่นกัน) ของคนทั่วไปในปัจจุบันดังกล่าวว่ามีความหมายเป็น ความดี ที่ควรยกย่องแล้ว ดูเหมือนว่าชาวพุทธไทยมองความเสียสละเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นธรรมเป็นเรื่องทางโลก ไม่เกี่ยวกับทางธรรม เป็นเรื่องของพวกหัวรุนแรง เป็นเรื่องของความวุ่นวาย ไม่นำไปสู่บุญกุศลและความสงบ กระทั่งไม่แคร์ต่อการที่คนเหล่านี้ถูกฆ่าด้วยซ้ำ (อย่างที่มีพระบอกว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ฯลฯ)

ฉะนั้น การทำความดีของชาวพุทธที่เห็นเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน จึงหมายถึงการระดมคนไปทำบุญไปปฏิบัติธรรมที่วัดมากๆ ถ้าคนสนใจปฏิบัติธรรม เข้าวัดทำบุญกันมากๆ พุทธศาสนาก็มั่นคง สังคมก็จะมีความสงบสุข (ไม่สนใจรับรู้ว่าสังคมจะเป็นธรรมไม่เป็นธรรม ฯลฯ)

2. การปฏิบัติธรรมที่ว่างเปล่า ผมพยายามเปิดหาในพระไตรปิฎกว่ามีไหมที่เวลาคนมีความทุกข์เมื่อไปหาพระพุทธเจ้าแล้วพระองค์แนะนำให้ไปนั่งหลับตากำหนดลมหายใจเข้า-ออกพร้อมกับบริกรรม (ท่องในใจ) คำอะไรสักอย่าง ที่ไม่มีความหมายต่อการทำความเข้าใจความทุกข์หรือปัญหาที่คนๆนั้น กำลังประสบอยู่ ปรากฏว่าผมหาไม่เจอว่าพระพุทธเจ้าเคยแนะนำแบบนี้เลย

มีตัวอย่างที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ สตรีคนหนึ่งที่ลูกคนเดียวของเธอเสียชีวิตกะทันหัน เธอเสียใจมากอุ้มศพลูกไปเที่ยวหาหมอวิเศษเพื่อให้ชุบชีวิตลูกเธอให้ฟื้น จนไปพบพระพุทธเจ้าแล้วพระองค์ก็ออกอุบายว่าให้เธอไปหาเมล็ดผักกาดในบ้านของใครก็ได้ที่ไม่เคยมีคนตายเลย เมื่อหามาได้แล้วพระองค์จะช่วยชุบชีวิตลูกให้ เธอไปเที่ยวหาทั้งวันก็ไม่มีบ้านไหนที่ไม่เคยมีคนตาย ในที่สุดก็ตั้งสติได้ จัดการศพลูกเรียบร้อยแล้วก็มาพบพระพุทธเจ้า พระองค์ก็แสดงธรรมให้ฟังแล้วเธอก็บรรลุธรรม

เรื่องราวในพระไตรปิฎกจะเป็นแบบนี้แทบทั้งนั้น ส่วนใหญ่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมในลักษณะการสนทนาโต้ตอบปัญหาต่างๆ กับผู้ฟัง มีผู้ฟังจำนวนไม่น้อยที่บรรลุธรรมขณะสนทนาโต้ตอบกันจบลง หรือฟังธรรมจบลง หรือไม่ก็นำสิ่งที่ฟังนั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิต ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมของคนในยุคนั้นจึงหมายถึงการสนทนาแลกเปลี่ยน การฟัง การนำหลักธรรมที่มี เนื้อหา ที่สามารถตอบปัญหาหรือความทุกข์ที่เขาประสบอยู่มา apply กับการใช้ชีวิตจริง

ไม่ปรากฏว่ามีการจัดโครงการปฏิบัติธรรม ขนคนไปมากๆ แล้วไปนั่งหลับตาบริกรรม คำที่ไม่มีเนื้อหา ที่ทำให้เข้าใจชีวิตเลย หรือจัดทัวร์สวรรค์ทัวร์นิพพาน จองสถานที่ปฏิบัติธรรมเพื่อเอาบุญเอากุศลข้ามเป็นปีๆ อย่างที่นิยมทำกันเป็นล่ำเป็นสันในบ้านเรา ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการปฏิบัติธรรมที่ว่างเปล่าจากความหมายที่จะทำให้ชีวิตมีคุณค่ามากขึ้นและสังคมดีขึ้น

และที่ผมรู้สึกสะเทือนใจมากคือ เมื่อได้เห็น ชาวพุทธคุณภาพระดับแถวหน้า ในบ้านเรา คนหนึ่งไม่กินเนื้อสัตว์ คนหนึ่งเป็นเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานและเป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ เรียกร้องให้รัฐบาลและทหารใช้มาตรการเด็ดขาดสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ผมงงมากว่า ความดี และ การปฏิบัติธรรม ในจินตนาการของชาวพุทธบ้าเราคืออะไร?

ทำไมคนที่อ้างความดี อ้างการปฏิบัติธรรมจึงไม่ให้ความสำคัญแก่การปกป้องชีวิตของเพื่อนมนุษย์เลย!?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net