เลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ "การโต้กลับของฝ่ายขวา"

รู้จักกับ “เลือกตั้งกลางเทอม”

สหรัฐเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประธานาธิบดีเป็นประมุขฝ่ายบริหาร และมีรัฐสภาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ การเลือกตั้งประธานาธิบดีมีทุกๆ 4 ปี ซึ่งเพิ่งเลือกตั้งไปเมื่อปี 2008 และชัยชนะเป็นของประธานาธิบดีบารัค โอบามา

ส่วนฝ่ายนิติบัญญัตินั้นแบ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎร (house of representative หรือเรียกสั้นๆ ว่า house) จำนวน 435 คน และวุฒิสภา (senate) อีก 100 คน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระ 2 ปี ส่วนวุฒิสมาชิกมีวาระ 6 ปี การเลือกตั้ง ส.ส. จะเปลี่ยนชุดพร้อมกันหมดทั้ง 435 คน ส่วน ส.ว. จะเลือกตั้งไม่พร้อมกัน ขึ้นกับวาระของสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน

จะเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะเลือกตั้งทุก 2 ปี ตามธรรมเนียมแล้วจะเกิดขึ้นในปีที่ลงท้ายด้วยเลขคู่ การเลือกตั้ง ส.ส. คราวก่อนเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 พร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีนั่นเอง ชัยชนะในครั้งนั้นเป็นของพรรคเดโมแครตซึ่งเกาะกระแสบารัค โอบามาฟีเวอร์ สามารถแย่งเสียงมาจากพรรครีพับลิกันได้อีก 21 ที่นั่ง ทำให้พรรคเดโมแครตมีที่นั่งในสภาล่าง 257 ที่นั่ง เทียบกับรีพับลิกัน 178 ที่นั่ง คิดเป็นสัดส่วน 53.18 ต่อ 42.53

ผลการเลือกตั้ง ส.ส. สหรัฐปี 2008
รัฐที่เป็นสีฟ้าอ่อนคือรัฐที่พรรคเดโมแครตได้คะแนนเพิ่ม
(
ภาพจาก Wikipedia)

เมื่อเวลาผ่านมา 2 ปี ประธานาธิบดีทำงานมาได้ครึ่งวาระ และถึงเวลาสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งใหม่ การเลือกตั้งลักษณะที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประธานาธิบดียังอยู่ในวาระ จึงมีชื่อเรียกว่า “Mid-term Election” หรือ “เลือกตั้งกลางเทอม” นั่นเอง

การเลือกตั้งกลางเทอมประจำปี 2010 ไม่เพียงแต่ประกอบด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เท่านั้น ยังมีการเลือกตั้ง ส.ว. อีก 34 คน และการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ (ซึ่งถือเป็นการเมืองท้องถิ่น ไม่ใช่ระดับประเทศ) อีก 36 รัฐ เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

และการเลือกตั้งกลางเทอมประจำปี 2010 จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ตามเวลาสหรัฐ (อ่านรายละเอียดได้จาก Wikipedia)

ปูมหลังการเลือกตั้ง: ความตกต่ำของรีพับลิกัน

พรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นตัวแทนความคิดสายอนุรักษ์นิยมของสหรัฐ เสื่อมความนิยมลงอย่างมากในช่วงปลายของรัฐบาลบุช (แม้ว่าช่วงแรกจะได้เสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากเหตุการณ์ 9/11 ก็ตาม) ส่วนหนึ่งเพราะสงครามทั้งในอิรักและอัฟกานิสถานที่ยืดเยื้อยาวนาน และเศรษฐกิจที่เริ่มตกต่ำ

กระแสนิยมที่ลดลงของพรรครีพับลิกัน ทำให้บารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต ซึ่งชูนโยบาย Change ที่เน้นการปฏิรูป และภาพลักษณ์ที่สดใหม่ คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2008 ได้อย่างงดงาม

ในการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา พรรคเดโมแครตเองก็ “ตีกิน” ที่นั่งของพรรครีพับลิกันมาเรื่อยๆ จนได้เสียงข้างมากทั้งในสภาสูง สภาล่าง และผู้ว่าการรัฐของสหรัฐ


ตารางแสดงคะแนนเสียงของพรรครีพับลิกัน ณ ปัจจุบัน (ก่อนเลือกตั้ง 2 พ.ย. 2010)
จะเห็นว่าพรรครีพับลิกันเป็นฝ่าย “เสียงข้างน้อย” ในการเมืองทุกระดับของสหรัฐ (ข้อมูลจาก
Wikipedia)

ท่ามกลาง “กระแส Change” อันเชี่ยวกราก พรรครีพับลิกันไม่มีทางเลือกนอกจากทำตัวสงบเสงี่ยม เจียมตัว และรอให้เดโมแครตเป็นฝ่ายพลาดพลั้งเสียก่อน

และโอกาสนั้นของรีพับลิกันก็มาเร็วกว่าที่คาด…

ความล้มเหลวของโอบามา

บารัค โอบามา ขี่กระแส “ความฝันและความหวัง” อันใหม่ของปวงชนชาวอเมริกันในยามที่ประเทศตกต่ำ วิกฤตเศรษฐกิจที่ลากยาวมาตั้งแต่ปลายปี 2008 กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหน่วงที่สุดของอเมริกันในรอบศตวรรษ แม้ว่าสหรัฐจะใช้แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมากเพียงใด ก็ไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเข้มแข็งได้ในระยะเวลาอันสั้น แถมยังมีโอกาสจะเกิดวิกฤตรอบสองด้วยซ้ำ

กราฟแสดงอัตราการว่างงานของประชาชนสหรัฐ เทียบกันระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจรอบต่างๆ ในประวัติศาสตร์
จะเห็นว่ากราฟเส้นสีแดงของวิกฤตรอบล่าสุดนั้นร้ายแรงกว่ามาก (ที่มา –
Business Insider)

แนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลโอบามา ใช้นโยบายแบบเคย์น (Keynesian ตามชื่อของ John Maynard Keynes นักเศรษฐศาสตร์ที่ใช้แนวทางนี้แก้ปัญหา The Great Depression ในปี 1929) ซึ่งใช้งบประมาณภาครัฐจำนวนมหาศาลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อุ้มสถาบันการเงินและบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการจ้างงานเฉพาะหน้า

แต่เมื่อนโยบายของโอบามากลับไม่สามารถแก้ ปัญหาได้เร็วตามที่คาด ทำให้เกิดกระแสตีกลับ และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าโอบามานั้นเอาเงินภาษีของประชาชนไปอุ้มสถาบัน การเงินและบริษัท เมื่อผนวกกับพลวัตรของเศรษฐกิจโลกที่ย้ายภาคการผลิตไปยังประเทศจีน ทำให้ตำแหน่งงานของสหรัฐลดลง เกิดภาวะคนว่างงาน (ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตของประชาชน) อย่างหนัก

ชาวอเมริกันจำนวนมากจึงเริ่มหมดศรัทธากับแนว ทาง “สันติ-สายกลาง” ของโอบามา และหวนไปนึกถึง “ความฝันแบบอเมริกัน” ตามแนวทางของพรรครีพับลิกัน


กราฟแสดงความนิยมของประธานาธิบดีโอบามา (นับจากต้นปี 2009 ถึงปัจจุบัน) ข้อมูลจาก Rasmussen Reports

Tea Party การกำเนิดของ “ฝ่ายขวาใหม่”

ช่วงกลางปี 2009 กลุ่มคนที่ไม่พอใจแนวทางการแก้ปัญหาของโอบามา (รวมถึงนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลบุชช่วงปลาย) เริ่มรวมตัวกันในชื่อกลุ่ม Tea Party ซึ่งตั้งชื่อตามการประท้วงชุมนุมงานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน (Boston Tea Party) ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐสมัยยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี 1773

อุดมการณ์หลักของ Tea Party นั้นต่อต้านการอุ้มสถาบันการเงิน ต่อต้านงบประมาณขาดดุลและการขึ้นภาษี คนกลุ่มนี้เคยหวังกับ “ความเปลี่ยนแปลง” ของโอบามาแต่ก็ต้องผิดหวัง จึงพยายามสร้าง “การเมืองแบบใหม่” ในแบบฉบับของตัวเองที่แตกต่างไปจากโอบามา

จากการสำรวจพบว่ากลุ่ม Tea Party มักเป็นอเมริกันผิวขาวที่มีอายุมากกว่า 45 ปี มีการศึกษาและรายได้ดี มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมและเคยผ่านประสบการณ์ “ยุครุ่งเรืองของอเมริกา” และโหยหาอดีตอันหอมหวนอันนั้น

การประท้วงของกลุ่ม Tea Party ในวอชิงตันดีซี เมื่อเดือนกันยายน 2009 (ภาพจาก Wikipedia)

Tea Party เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยผ่านการรวมตัวแบบหลวมๆ มีแนวทางสนับสนุนพรรครีพับลิกันแต่ไม่ใช่เห็นด้วยกับรีพับลิกันไปเสียทั้ง หมด (เราอาจมองว่าเป็นปีกหนึ่งของอุดมการณ์แบบรีพับลิกัน) กลุ่ม Tea Party ดำเนินการประท้วงหลายครั้งตลอดปี 2009-2010 และสามารถระดมคนมาร่วมประท้วงได้เป็นจำนวนมาก

Tea Party สนับสนุนแนวทางของซาร่าห์ เพ-ลิน ผู้สมัครรองประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันในปี 2008 และต่อต้านนโยบายส่วนมากของโอบามา ข้อเสนอของ Tea Party คือการปฏิรูปภาษี ลดภาษี และงบประมาณแบบสมดุล Tea Party

Judah Sekscinski แกนนำหนุ่มของ Tea Party ในรัฐเดลาแวร์ ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าเข้าร่วมกับ Tea Party ตั้งแต่แรกเพราะรัฐบาลใช้งบประมาณฟุ่มเฟือย ประเทศมีหนี้มหาศาล และต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ในวอชิงตัน เขาบอกว่ามีประชาชนที่ไม่สังกัดพรรคใด และอดีตผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตเข้าร่วมเป็นจำนวนไม่น้อย

กลุ่ม Tea Party บางคนประสบความสำเร็จถึงขนาดลงรับเลือกตั้งในนามพรรครีพับลิกัน เช่น Christine O’Donnell ที่ใช้คะแนนหนุนจากมวลชนเอาชนะนักการเมืองเก่าแก่ของพรรครีพับลิกัน ขึ้นมาเป็นตัวแทนในการชิงวุฒิสภาระดับรัฐได้สำเร็จ

การเกื้อหนุนกันระหว่างขบวนการ Tea Party ที่กำลังสร้างโมเมนตัม และพรรครีพับลิกันที่รอโอกาสนี้มานาน ทำให้เดโมแครตตกอยู่ในที่นั่งลำบาก

ประเมินผลการเลือกตั้ง:รีพับลิกันกำลังกลับมา

สำนักข่าว BBC ได้รวบรวมผลการประเมินจากนักวิเคราะห์การเมืองหลายราย แสดงกราฟคาดการณ์ผลการเลือกตั้งดังภาพ

ที่มา – BBC

จากการคาดการณ์ของ BBC พยากรณ์ว่าพรรครีพับลิกันจะได้คะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นถึง 56 ที่นั่ง (จากทั้งหมด 435) ชิงเสียงข้างมากในสภาล่างได้สำเร็จ แม้ว่าจะเป็นเสียงปริ่มน้ำคือมากกว่าเสียงข้างมาก 18 คะแนนก็ตาม

ส่วนในสภาสูงหรือวุฒิสภา คาดว่ารีพับลิกันจะได้ที่นั่งเพิ่มอีก 7 เสียง แต่เดโมแครตยังสามารถรักษาเสียงข้างมากได้แบบเฉียดฉิว

ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาในทิศทางเดียวกับที่ประเมินเอาไว้ การที่เดโมแครตสูญเสียที่นั่งทั้งในสภาบนสภาล่าง จะทำให้รัฐบาลโอบามาเริ่มประสบอุปสรรคในการดำเนินนโยบายสำคัญๆ โดยเฉพาะนโยบายในประเทศ ที่หลายๆ อย่างต้องอาศัยการสนับสนุนจากรัฐสภา แม้ว่าในระดับนโยบายต่างประเทศ โอบามาจะยังได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรครีพับลิกันอยู่ก็ตาม

ความแตกแยกระหว่างสองขั้วในสังคมอเมริกัน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสลายภาพฝันที่โอบามาสร้างไว้ จะส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจอเมริกันที่ทรุดหนักอยู่แล้วเข้าไปอีก เจ้าโลกอย่างอเมริกาคงยังอยู่ในช่วง “ขาลง” ไปอีกระยะหนึ่ง

การเลือกตั้งที่กำหนดทิศทางของประเทศอเมริกาจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามผลอย่างเป็นทางการในอีกไม่ช้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท