เลือกตั้งพม่า: มุมมองและการวิเคราะห์ก่อนการเลือกตั้ง

เวทีเสวนาวิชาการ “การเลือกตั้งในพม่ากับหลักการแสดงออกทางความคิดเห็นของประชาชน” เตรียมพร้อมก่อน 7 พ.ย.53 กับการเลือกตั้งครั้งใหม่ในรอบ 20 ปี ของพม่า ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ชนวนการต่อสู้ครั้งใหม่ ที่ทหารยังคงอยู่ ในการปกครองพม่า

 

สิ่งที่เกิดขึ้น... เพื่อเป็นการเตรียมการสู่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2553 ในช่วง 18 ก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลทหารพม่าสั่งจำคุกผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้ารัฐบาล 477 คน โดยมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 104 ปี (รวมทั้งกักขัง กีดกันนางออง ซาน ซูจีให้พ้นจากสนามแข่งขันเลือกตั้ง) การปราบปรามในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้มียอดผู้ต้องหาทางการเมืองสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ถึง 2,177 คน ในขณะเดียวกันก็มีการปราบปรามทำสงครามกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยสงครามหลายแสนคน ...

ที่มา: เนื้อหาบางส่วนจากโปสเตอร์ที่เผยแพร่ในงานเสวนา

 

วานนี้ (3 พ.ย.53) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) จัดเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “การเลือกตั้งในพม่ากับหลักการแสดงออกทางความคิดเห็นของประชาชน” ณ ห้องสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งในประเทศพม่า รวมไปถึงทิศทางการเมืองในประเทศพม่า และผลักดันประชาคมอาเซียนและชุมชนระหว่างประเทศให้เข้าไปมีบทบาทในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น รวมทั้ง เสริมสร้างหลักการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน

 
 
 

นับจากการเลือกตั้งในพม่า เมื่อปี 2533 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) นำโดยนางออง ซาน ซูจี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลทหารพม่า และได้ทำการควบคุมตัวและจับกุมคุมขัง ปราบปราม นักการเมือง นักกิจกรรมและประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ล่าสุด รัฐบาลทหารพม่าประกาศให้มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 7 พ.ย.53 ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งที่ผ่านการพิจารณาเมื่อเดือนมีนาคม 2553

ท่ามกลางการจับตาว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่ในรอบ 20 ปีนี้จะซ้ำรอยการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ รวมถึงข้อห่วงใยต่อกระบวนการการเลือกตั้งที่สื่อให้เห็นว่าพม่ากำลังเดินทางสู่ระบบประชาธิปไตยก็ถูกตั้งคำถามถึงความโปรงใส และเป็นธรรม ถึงวันนี้ อนาคตของประชาชนในพม่าและชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ภายหลังการเลือกตั้งก็เป็นประเด็นสำคัญที่ควรต้องให้ความสนใจความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์ ประชาธิปไตย ความยากจน ปัญหาหลักพม่าภายใต้เผด็จการทหาร

โกวินเหล่ง (Ko win hlaing) อดีต ส.ส.จากพรรค NLD กล่าวใน เวทีเสวนาโดยระบุว่า การแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม และไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยจะเห็นว่าช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งก็ยังมีการบุกใช้กำลังของทหารพม่าเข้าโจมตีชนกลุ่มน้อยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และเชื่อแน่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีวันยุติได้หลังมีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างเด็ดขาด หากไม่มีการเจรจาอย่างเปิดเผย จริงใจอย่างแท้จริงการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่าจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้

โกวินเหล่่งกล่าวด้วยว่า ทั้งสถานการณ์ในปัจจุบันและหลังการเลือกตั้ง ตราบใดที่พม่ายังอยู่ใต้เผด็จการเขาไม่อยากจะคาดหวังมากว่าคนเหล่านั้นจะสนใจความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งนี้ เขาได้กล่าวถึงปัญหา 3 ข้อ ซึ่งหากไม่สามารถหาทางออกที่แท้จริงของปัญหาเหล่านี้ได้ ไม่ว่าพม่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์ใดๆ ก็ไม่สามารถพัฒนาพม่าให้มีเสรีภาพและเสถียรภาพได้ นั่นคือ หนึ่งปัญหาความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์ ซึ่งนับตั้งแต่ได้รับเอกราชมากกว่า 60 ปี ปัญหานี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข และแม้ผู้นำฝ่ายการเมืองต่างๆ ได้ตกลงกันว่าจะเดินไปด้วยกันในแนวทางสหพันธรัฐ แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น

“ปัญหาช่องว่างระหว่างคนพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า เราจะหาความเข้าใจร่วมได้อย่างไร เพื่อให้เราใจร่วมกันว่าเราต่างอยู่ใต้เผด็จการทหารพม่า” Ko win haling กล่าว โดยระบุว่า คนพม่าเองก็ได้รับผลกระทบจากการปกครองโดยเผด็จการทหารพม่าเช่นกัน

ปัญหาข้อต่อมา โกวินเหล่ง กล่าวถึงการลุกฮือประท้วงรัฐบาลทหารพม่าเมื่อปี 1988 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนไม่ว่าชาติพันธุ์ไหนต่างก็ต้องการประชาธิปไตย ดังนั้นพม่าจะต้องพัฒนาประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และปัญหาข้อสุดท้ายคือเรื่องความยากจน ซึ่งที่ผ่านมาพม่าถูกระบุว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาต่ำ ล้าหลัง สำหรับเขาตอนนี้ไม่เพียงแค่ล้าหลัง แต่อยู่ภายใต้ท็อปบูตทหาร ซึ่งนำไปสู่สภาวะเลวร้ายทางเศรษฐกิจและสังคม

 

การเลือกตั้งรอบใหม่ใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ชนวนการต่อสู้ครั้งใหม่

โกวินเหล่ง กล่าวถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ว่า ที่ผ่านมาผู้นำทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยพยายามเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่า ให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง เพื่อสร้างบรรยากาศในการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลพม่าไม่ยินยอม นี่แสดงถึงการต่อสู้ทางการเมืองที่จะต้องดำเนินต่อไปอีก แต่ก็ถือว่ายังดีกว่าการยอมรับที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร

นอกจากนั้นในส่วนของประเทศอาเซียนที่พยายามจะผลักดันความคิด “มีการเลือกตั้งดีกว่าไม่มี” แต่สำหรับในพม่า ส่วนตัว โกวินเหล่งเชื่อว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่สงคราม หรืออย่างน้อยที่สุดก็นำไปสู่เผด็จการนอกเครื่องแบบ และการต่อสู้เพื่อต่อต้านรัฐบาลและรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีประโยชน์จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนในอนาคต ดังนั้นจึงรับได้ลำบากว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นทางออกของประเทศ

ขณะที่คืนใส ใจเย็น บรรณาธิการสำนักข่าวฉาน (S.H.A.N) ที่ประเมินว่า 6 เดือนแรกภายหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงอาจยังไม่มีการต่อสู้กลางเมือง อาจจะมีการปะทะกันบ้างเล็กน้อยตางเขตชายแดน แต่หลังจากนั้นเชื่อได้ว่าจะมีการเคลื่อนกำลังโดยรัฐบาลพม่าเข้าโจมตีชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกล และมีกองกำลังไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลใหม่จะวางความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างไร ยกตัวอย่างข้อเสนอของจีนที่ไม่ต้องการให้มีการสู้รบในเขตชายแดนที่ติดกับจีน ซึ่งจะทำให้การปะทะบริเวณดังกล่าวลดลง และในส่วนไทยเองก็อาจมีข้อเสนอเช่นเดียวกันนี้ด้วย หลังจากที่มีการไปเยือนพม่าของนายกรัฐมนตรีไทย 

บรรณาธิการสำนักข่าวฉาน กล่าวในส่วนการเปลี่ยนแปลงกลุ่มกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของพม่าได้กำหนดให้พม่ามีกองกำลังเดียวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพม่าได้ประกาศให้กองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ ต้องแจ้งภายในวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมาว่าจะปรับเปลี่ยนให้เป็นกองกำลังปกป้องชายแดน (Border Guard Force: BGF) โดยภายหลังจากนั้นจะถูกประกาศจากรัฐบาลให้เป็นกองกำลังเถื่อน หากไม่ยอมรับก็ต้องต่อสู้ต่อ ทั้งนี้ ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ในพม่าต่อสู้เพราะต้องการ “ข้อตกลงปางโหลง” ซึ่งมีหลักประกันสิทธิ 3 ประการ คือสิทธิในการปกครองตนเอง ประชาธิปไตย และการมีสิทธิเสรีภาพ หากรัฐบาลไม่ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว กลุ่มชนกลุ่มน้อยต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องรับข้อตกลงจากสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (The State Peace and Development Council: SPDC) หรือรัฐบาลทหารพม่า

 

ประเมินพรรคฝ่ายหนุนทหารมาวินชนะการเลือกตั้ง แบ่งเค้กเก้าอี้ฝ่ายนิติบัญญัติ

ด้าน สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น กล่าวในมุมมองของสื่อมวลชนต่อการเลือกตั้งในพม่าว่า ในส่วนตัวการเลือกตั้งครั้งนี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นอยู่เรื่องเดียวคือ 20 ปีมีครั้ง และมองว่าเป็นเพียงการจัดสรรเก้าอี้ฝ่ายนิติบัญญัติ ระหว่างพรรคที่สนับสนุนทหารฝ่ายต่างๆ โดยที่พรรคอย่าง NLD และ SNLD (พรรคสันนิบาตแห่งชาติฉานเพื่อประชาธิปไตย -Shan National League for Democracy: SNLD) ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย 

สุภลักษณ์ ให้ข้อมูลต่อมาว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีเพียง 42 พรรคที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้ แต่ในจำนวนนี้มี 5 พรรค ที่ส่งผู้ส่งสมัครไม่ครบตามกำหนดขั้นต่ำ คือ 3 คน จึงถูกยุบไป และในจำนวนพรรคที่เหลือมีพรรคที่ส่งผู้สมัครเกิน 100 คน เพียง 4 พรรค เท่านั้น คือ พรรคสหภาพเพื่อเอกภาพและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party: USDP) ซึ่งเดิมดำเนินการในรูปสมาคมสหภาพเพื่อเอกภาพและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Association: USDA) ที่มีสมาชิกกว่า 25 ล้านคน และคาดว่าเป็นพรรคที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งมากที่สุด เพราะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งมากที่สุด

พรรคที่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันมากเป็นอันดับต่อมาคือ พรรคเอกภาพแห่งชาติ  (National Unity Party: NUP) ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า ของนายพลเนวิน ที่เคยแพ้การเลือกตั้งปี 2533 ได้ที่นั่งเพียง 10 ที่นั่ง ทั้งนี้ บทเรียนจากการพ่ายแพ้ทางการเมืองในครั้งนั้นทำให้รัฐบาลทหารพม่า ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง โดยเขียนป้องกันไม่ให้คู่แข่งทางการเมืองอย่างนางอองซาน ซู จี ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้

ทั้งนี้ พรรค USDP และ พรรค NUP ถือเป็นคู่แข่งกันในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะนิยมทหารเหมือนๆ กันแต่ก็เป็นทหารคนละกลุ่ม แนวโน้นจึงนำไปสู่การจัดสรรอำนาจระหว่างพรรคที่นิยมทหาร ฝ่ายไหนที่หนุนทหารที่กำลังอยู่ในอำนาจก็มีแนวโน้มจะมีที่นั่งมากกว่า

ส่วนพรรคที่สุภลักษณ์ คาดว่าจะเข้ามาเป็นฝ่ายค้านคือ พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่  (Shan Nationalities Democratic Party: SNDP) ซึ่งส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งมากเป็นอันดับ 4 โดยสาเหตุที่ไม่ใช่พรรคการเมืองอันดับ 3 ที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง อย่างพรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Force: NDF) เพราะพรรค NDF ตั้งอยู่ในเขตเมือง จึงโดนพรรคใหญ่ประกบ ในขณะที่พรรค SNDP เป็นพรรคที่อยู่ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นจุดบอดของพรรคฝ่ายรัฐบาล อย่างไรก็ตาม จากรายงานข่าวที่ผ่านมา ทางการพม่าได้ประกาศพื้นที่ปลอดการเลือกตั้งในรัฐฉาน โดยให้เหตุผลว่าไม่ปลอดภัย ทำให้ผู้สนับสนุนพรรค SNDP บางส่วนไม่มีโอกาสออกเสียงเลือกตั้ง

ทั้งนี้ จากรายงานข่าวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศจะไม่จัดการเลือกตั้ง ในพื้นที่ 33 อำเภอ ของรัฐคะฉิ่น, คะเรนนี, กะเหรี่ยง, มอญ และรัฐฉาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,400 หมู่บ้าน และประชากรกว่า 1.5 ล้านคน โดยให้เหตุผลว่าความไม่สงบในพื้นที่ จะทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างโปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม

 

ทหารยังคงอยู่ ในการปกครองพม่า

สุภลักษณ์ กล่าวว่า จากจำนวนที่นั่งในสภาพม่า ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.สภาประชาชน 2.สภาแห่งชาติ และ 3. สภาท้องถิ่น มีการระบุโควตาโดยรัฐธรรมนูญให้ผู้ที่มานั่นในสภาไม่ต้องจากการเลือกตั้งราว 25 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกฝ่ายนิติบัญญัติที่แทบไม่มีความสัมพันธ์กับฝ่ายบริหาร และผู้ที่จะปกครองอำนาจทั้งหมดในพม่า คือประธานาธิบดี ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการเลือกของสมาชิกสภา โดยมีอำนาจในการปกครอง การทำข้อตกลงระหว่างประเทศ เป็นประธานสภาความมั่นคง และไม่รับผิดชอบต่อสภาและศาลใดๆ ซึ่งเป็นผลให้ไม่สามารถตรวจสอบการทำงาน ยกเว้นกรณีที่ถูกปลดออกจากสภาโดยเสียง 2 ใน 3 ส่วน

นักข่าวอาวุโส แสดงความเห็นว่า การเลือกตั้งไม่ได้เปลี่ยนการเมืองพม่า เพียงแต่ปรับรูปโฉมการปกครองของทหารให้เสียงบางส่วนมาจากการเลือกตั้ง โดยสภามีอำนาจหน้าที่เพียงออกกฎหมายและลงชื่อรับรอง ส่วนการแต่งตั้งรัฐมนตรีนั้นมาจากการเลือกของประธานาธิบดีซึ่งอาจเป็นผู้ที่มาจากสภา (ได้รับการเลือกตั้ง) หรือไม่ก็ได้ อีกทั้งยังกำหนดให้รัฐมนตรีต้องอายุ 40 ปีขึ้นไป ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสเข้าร่วม

ต่อคำถามเรื่องผลของความพยายามคว่ำบาตรการเลือกตั้ง สุภลักษณ์ วิเคราะห์ว่า การคว่ำบาตรนั้นปัจจุบันมีผลในทางจิตวิทยา โดยทำให้หลายประเทศเห็นว่าการเลือกตั้งมีความไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมแต่ผลของมันไม่สามารถทำลายการเลือกตั้งลงได้จริง และในวันเลือกตั้งหากรัฐบาลสามารถเกณฑ์คนมาลงคะแนนได้มาก ฝ่ายที่ต่อต้านการเลือกตั้งจะตอบคำถามได้ลำบากในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน

ส่วนบทบาทของประชาคมอาเซียนต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ สุภลักษณ์กล่าวว่า อาเซียนไม่มีการสังเกตการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกระบวนการสำรวจก่อนการเลือกตั้งซึ่งสำคัญยิ่งกว่าวันเลือกตั้ง ทั้งนี้ มีการพูดถึงข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจมีความไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย ทั้งนี้ ชุมชนระหว่างประเทศทั้งอาเซียน และยูเอ็น ต่างมองพม่าด้วยความเป็นห่วง แต่ก็ไม่มีปฏิบัติการเพื่อให้พม่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

สุภลักษณ์กล่าวด้วยว่า หลังการเลือกตั้ง หากชาติต่างๆ ยอมรับรับรอง รัฐบาลใหม่ของพม่าจะมีการติดต่อกับต่างชาติมากขึ้น และมีความมั่นใจมากขึ้นในการติดต่อกับชาติต่างๆ เชื่อว่าจะไม่มีการปิดประเทศมากไปกว่านี้

 
 
 
โปสเตอร์ที่เผยแพร่ในงานเสวนา: This poster is a result of the Regional Strategy Meeting attended by activists from 20 countries. Photo courtesy of Thierry Falise

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท