“สันติ-อหิงสา” บนเส้นทางการต่อสู้ของสองหญิงแห่งเอเซียเพื่อยุติความรุนแรง: อองซาน ซูจี และ อิรอม ชาร์มีลา ชานุ

เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ให้ยุติความรุนแรงต่อสตรีทั่วโลก อย่างไรก็ตาม บทความนี้มิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะเน้นย้ำถึงความรุนแรงต่อสตรีในวาระดังกล่าว หากแต่ต้องการเล่าถึง ความมุ่งมั่นและบทบาทของผู้หญิงสองคนในการที่จะยุติความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนในแผ่นดินเกิดของพวกเธอ

หญิงหนึ่งยอมถูกจองจำเสรีภาพนานกว่า 20 ปีเพื่อย้ำเตือนให้โลกไม่ลืม การไร้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการจับกุมคุมขังนักโทษการเมืองภายใต้ระบอบเผด็จการทหารในแผ่นดินพม่า

หญิงหนึ่งเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการประท้วงต่อต้านการใช้กฎหมายคุกคามเข่นฆ่าประชาชนต่างชาติพันธุ์ในอินเดีย


ที่มาภาพ: http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/burmamyanmar/5341187/Trial-of-Aung-San-Suu-Kyi-begins-amid-lockdown.html

 

อองซาน ซูจี อายุ 43 ปีเมื่อเธอเริ่มต้นชีวิตทางการเมืองในปี 1988 และเลือกใช้วิถีทางสันติ-อหิงสาในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารที่คุกคามสิทธิเสรีภาพและชีวิตประชาชนในพม่า แม้ไม่มีอาวุธสักชิ้นอยู่ในมือ แต่การต่อสู้ในวิถีทางของเธอตลอด 22 ปีที่ผ่านมาได้สร้างความหวั่นเกรงให้กับรัฐบาลทหารเสียยิ่งกว่าการที่ต้องต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

แม้จะอยู่ภายใต้การจองจำ แต่นามของ “อองซาน ซูจี” ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารพม่าในเวทีโลกกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมานั้นเปรอะเปื้อนมากขึ้นไปทุกที ประชาคมโลกต่างกังขากับ “Road Map to Democracy” ในแบบของเผด็จการทหารพม่า

ตราบที่อองซาน ซูจี ยังถูกจำกัดอิสรภาพในแผ่นดินเกิดของเธอเอง ไม่มีใครเชื่อว่า “การเลือกตั้งทั่วไป” ที่รัฐบาลทหารพม่ากำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ คือการเลือกตั้งที่เป็นการเปลี่ยนผ่านประเทศพม่าไปสู่ประชาธิปไตยตามที่รัฐบาลทหารประกาศไว้

อองซาน ซูจี กลายเป็นสัญญลักษณ์ของการต่อสู้แบบสันติวิธีที่ประชาคมโลกกล่าวขวัญถึง เช่นเดียวกับมหาตมะ คานธี แห่งอินเดีย และประธานาธิบดีเนลสัน เมนเดลลา แห่งแอฟริกาใต้

คนจำนวนมากเรียกอองซาน ซูจีว่า “สตรีเหล็กแห่งพม่า”
 

ห่างออกไปไม่ไกลนักจากเขตแดนพม่า

ที่รัฐมณีปูร์ ภาคตะวันออกฉียงเหนือของอินเดีย มีอีกหญิงหนึ่งที่ถูกเรียกขานว่า “สตรีเหล็กแห่งมณีปูร์”

ที่มาภาพ: http://word.world-citizenship.org/wp-archive/1626
 

 

อิรอม ชาร์มีลา ชานุ (Irom Sharmila Chanu) อายุเพียง 28 ปีเมื่อเธอประกาศแผนรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลอินเดียด้วยการอดอาหารในเดือนพฤศจิกายน ปี 2000

ชาร์มีลาเป็นทั้งนักเขียนและนักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชน เธอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษกับกองทัพในการกดขี่ปราบปรามประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ใน 7 รัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย [2] รวมทั้งรัฐมณีปูร์ บ้านเกิดของเธอ

กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 1958 ให้อำนาจพิเศษกับกองทัพในการจับกุม คุมขัง หรือสังหารใครก็ตามที่ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาล ซึ่งมีการใช้อำนาจพิเศษของกองทัพภายใต้กฎหมายนี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน รวมทั้งการสังหารหมู่ประชาชนในเขตที่รัฐประกาศว่าเป็น “พื้นที่ที่ไม่สงบ” ของรัฐทั้งเจ็ดอยู่บ่อยครั้ง

เหตุการณ์ที่ทหารกราดยิงสังหารประชาชนที่ป้ายรถเมล์เมืองมาลอมในรัฐมณีปูร์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2000 เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ชาร์มีลาประกาศอดอาหารเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกกฎหมายที่เปรียบเสมือนเป็น “ใบอนุญาตฆ่า” ฉบับนี้

แม้ว่าการต่อสู้ของชาร์มีลาจะยังไม่เป็นที่รับรู้กว้างไกลออกไปเท่ากับการต่อสู้ของอองซาน ซูจี แต่วิถีการต่อสู้ของชาร์มีลาโดยการอดอาหารยาวนานถึง 10 ปี ก็ทำให้โลกภายนอกได้รับรู้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิมนุษชนที่รัฐบาลกระทำต่อประชาชนในรัฐมณีปูร์ของเธอ

นามของ “อิรอม ชาร์มีลา ชานุ” กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลอินเดีย และรัฐบาลไม่สามารถปล่อยให้เธอตายได้

ตอนที่ชาร์มีลาเริ่มต้นอดอาหารนั้น ไม่เพียงแต่รัฐบาลเท่านั้นที่วางเฉย แต่แทบจะไม่มีใครสนใจเธอเลย รวมทั้งสื่อมวลชน ไม่มีใครเชื่อหรือคาดคิดเลยว่าชาร์มีลาจะอดอาหารประท้วงได้ยาวนานมาครบ 10 ปีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่เพิ่งผ่านมา และเธอยังมีชีวิตอยู่ด้วยการถูกบังคับให้รับสารอาหารผ่านท่อต่อเข้าไปในโพรงจมูกของเธอ

รัฐบาลอินเดียเริ่มต้นจัดการกับการประท้วงของชาร์มีลามาตั้งแต่ปี 2000 ด้วยการให้ตำรวจจับกุมเธอในข้อหา “พยายามฆ่าตัวตาย” โดยความผิดฐาน “พยายามฆ่าตัวตาย”นั้นมีโทษปรับและจำคุกสูงสุด 1 ปี ชาร์มีลาถูกนำตัวไปคุมขังไว้แต่เธอยังยืนยันที่จะอดอาหารจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกกฎหมาย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถทำอะไรเธอได้นอกจากการจองจำร่างกายที่ทรุดโทรมจากการอดอาหาร ชาร์มีลาจึงถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่โรงพยาบาลในกรุงนิวเดลฮีโดยที่เธอถูกบังคับให้รับสารอาหารผ่านท่อที่ต่อเข้าทางโพรงจมูกของเธอ
แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัว ชาร์มีลายังคงอดอาหารต่อ

ชีวิตของชาร์มีลาวนเวียนอยู่ในวงจรของการถูกจับกุมในข้อหา “พยายามฆ่าตัวตาย” ต้องโทษจองจำ และได้รับอิสรภาพมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ครั้งใดที่ถูกจับกุมฐาน “พยายามฆ่าตัวตาย” เธอก็จะถูกนำตัวไปคุมขังในโรงพยาบาล ถูกบังคับให้รับสารอาหารผ่านท่อในระหว่างต้องโทษคุมขัง แต่เมื่อพ้นโทษ ชาร์มีลาจะดึงท่ออาหารออกทันที และอดอาหารประท้วงรอบใหม่ ชาร์มีลาถูกจับกุมและปล่อยตัวเป็นวงจรแบบนี้มานับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2000 จนถึงทุกวันนี้ และเธอยังยืนยันที่จะต่อสู้ด้วยวิธีนี้ต่อไปจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษกับกองทัพในการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเข่นฆ่าประชาชนต่างชาติพันธุ์

เมื่อได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูในปี 2007 ชาร์มีลามอบเงินรางวัลทั้งหมดให้กับเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐมณีปูร์

ชาร์มีลาบอกว่าเธอไม่ต้องการชื่อเสียง เกียรติยศใด เธอเพียงต้องการยุติความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน และเธอกำลังใช้ร่างกายและจิตวิญญานของเธอเป็นอาวุธในการต่อสู้ความรุนแรง

ภูมิหลังทางครอบครัวของชาร์มีลานั้นแตกต่างจากอองซาน ซูจี มาก ชาร์มีลาเป็นลูกสาวคนสุดท้องในจำนวนลูก 9 คนของครอบครัวคนงานในโรงพยาบาลสัตว์ มีบิดาที่ไม่รู้หนังสือ ประวัติทางการศึกษาของเธอนั้นไม่ปรากฎชัด แต่ ดร.ทิพยติ ปรียา (Dr. Deepti Priya Mehrotra) ผู้บันทึกเรื่องของชาร์มีลาในหนังสือชื่อ “Burning Bright: Irom Sharmila and the Struggle for Peace in Manipur” [3] เล่าว่าในห้องของชาร์มีลานั้นมีหนังสือเกี่ยวกับนิยายพื้นบ้านญี่ปุ่น หนังสือโยคะ หนังสือเกี่ยวกับเนลสัน เมนดาลา, เช กูวาร่า และ คานธี

“การตอบโต้ด้วยอาวุธไม่อาจยุติความรุนแรงได้ ร่างกายของฉันคืออาวุธ การอดอาหารคืออาวุธเดียวที่ฉันมี ฉันจะไม่ยุติการอดอาหารจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกกฎหมายนี้” เธอประกาศ


ที่มาภาพ: http://www.thehindu.com/news/national/article627268.ece
 

เวลา 10 ปีของชาร์มีลา และ 22 ปีของอองซาน ซูจี บนวิถีทางการต่อสู้ที่พวกเธอเชื่อมั่นนั้นผ่านไปพร้อมๆ กับความรับรู้ที่เพิ่มขึ้นของโลกภายนอกต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่าและรัฐมณีปูร์

ปัจจุบัน อองซาน ซูจี อายุ 65 ปี และชาร์มีลา อายุ 38 ปี

สตรีทั้งสองต่างยังคงมีความมุ่งมั่นเดียวกันที่จะต่อสู้ต่อไปบนวิถีทาง“สันติ-อหิงสา” เพื่อยุติความรุนแรงที่อำนาจรัฐกระทำต่อประชาชน

 

แหล่งข้อมูล
http://www.bbc.co.uk/news/world-south-asia-11685044
http://www.imow.org/wpp/stories/viewStory?storyId=1084
http://www.independent.co.uk/news/world/asia/one-womans-silent-quest-for-peace-on-indias-wild-frontier-1962571.html
http://www.youtube.com/watch?v=5xw5vSrRkjE
http://www.tehelka.com/story_main23.asp?filename=Ne120906The_unlikely_CS.asp

[1] นักเขียนอิสระ/ ปัจจุบันได้รับทุน “ปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเซีย” จากมูลนิธินิปปอน กำลังทำวิจัยหัวข้อ “ผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่สาธารณะ..จากบันทึกประวัติศาสตร์ถึงบทบาทในศตวรรษที่ 21” ที่ประเทศอินโดนิเซีย
[2] เจ็ดรัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่เป็นเขตปกครองตัวเอง คือ อัสสัม, อรุณราจาลประเทศ, มณีปูร์, มิโซรัม, เมฆขลา, นากาแลนด์ และตรีปุระ (Assam, Arunachal Pradesh, Manipur, Mizoram, Meghalaya, Nagaland and Tripura).
[3] พิมพ์เดือนกรกฎาคม 2009 (Penguin Books)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท