Skip to main content
sharethis

 


สภาพบ้านของนางสาวหวามีนะห์ พันสะและหมัน
 

 


บริเวณวงเวียนน้ำพุกลางเมืองหาดใหญ่ กลายเป็นตลาดสดไปแล้วเมื่อพ่อค้าแม่ค้านำของมาขาย
ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ท่ามกลางกลิ่นเหม็นของกองขยะจากน้ำท่วมที่มีกลาดเกลื่อนทั่วตัวเมืองหาดใหญ่
เช่นเดียวกับพวกที่น้ำสินค้าที่ถูกน้ำท่วมมาขายในราคาถูก

 

 


บุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ช่วยกันทำความสะอาดอุปกรณ์การเรียนของโรงเรียนบ้านบางศาลา ตำบลโคกม่วง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนแถบชานเมืองหาดใหญ่ที่ถูกน้ำท่วมจนมิดหลังคาอาคารเรียน

 0 0 0

นางสาวหวามีนะห์ พันสะและหมัน อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 118 หมู่ที่ 6 บ้านเกาะแต้ว ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มมีน้ำท่วมหลายแห่งในจังหวัดสงขลา ตนพร้อมกับนางรอฝี้ยะ บินรัตแก้ว อายุ 65 ปี มารดาอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว ขณะเกิดฝนตกหนักและมีลมพัดแรง

จนกระทั่งเวลาประมาณ 21.00 น. ไฟดับไปทั้งหมู่บ้าน และฝนยิ่งตกหนักและลมพัดแรงขึ้น ได้ยินเสียงต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มหน้าบ้าน จากนั้นต้นไม้อีกต้นล้มหลังบ้าน จากนั้นได้ยินเสียงต้นไม้อีกหลายต้น จนรู้สึกตกใจกลัวมาก

“จากนั้นมีต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มทับบนหลังคาเสียงดังมากจนตกใจ แต่โชคดีที่ต้นไม้ต้นดังกล่าว ซึ่งเป็นต้นยางพาราล้มทับต้นไม้อีกต้น ทำให้ลำต้นขนาดใหญ่ไม่ฟาดลงกลางบ้าน เพียงแต่มีกิ่งขาดใหญ่ฟาดบนหลังคาสังกะสีจนทำให้ไม้คาดหักไปท่อนหนึ่ง ทำให้ทั้งสองถึงกับร้องกรี๊ดและกอดกันกลม” นางสาวหวามีนะห์ กล่าว

เมื่อตั้งสติได้ จึงตัดลงจากบ้าน ซึ่งเป็นบ้านไม้มีใต้ถุน เมื่อลงไปใต้ถุนบ้านแล้ว ประกฎว่า ไม่สามารถหาทางหนีไปได้ เพราะเต็มไปด้วยต้นไม้ที่ล้มระเนระนาด จึงพยายามแทรกตัวไปตามกิ่งไม้จนพบทางออกไปบ้านเพื่อนบ้านข้างๆ ปรากฏว่ามีต้นขนุนขนาดใหญ่หักล้มลงตามหลัง ยิ่งตกใจกลัวสุดขีด เพราะไม่รู้จะหนีไปทางไหนแล้ว

จนกระทั่งเวลาประมาณ 23.00 น.เศษ ลมเริ่มสงบและฝนหยุดตก จึงเดินไปที่บ้านญาติเพื่ออาศัยหลับนอนชั่วคราว เพราะกลัวที่จะนอนในบ้านของตนเองแล้ว ปรากฏว่าในบ้านญาติเองหลังคาก็หลุดลุ่ยเหมือนกัน เพราะแรงลม ส่วนในบ้านก็มีแต่น้ำ ระหว่างเดินไปบ้านญาติมีแต่ต้นไม้ล้มระเนระนาด ส่วนใหญ่เป็นต้นยางพารา ทับสายไฟฟ้าจนขาดหลายสาย

“เหตุการณ์ครั้งนี้หนักที่สุดเท่าที่เคยเจอมา และในหมู่บ้านก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้มาก่อน ภัยธรรมธรรมชาติครั้งนี้รุนแรงเหลือเกิน เหตุการณ์ผ่านไป 4 วันแล้ว ยังผวาไม่หาย” นางสาวหวามีนะห์ กล่าว

นั่นเป็นเพียงเสียงส่วนหนึ่งของผู้ประสบเหตุวาตภัยในพื้นที่แถบใกล้ชายฝั่งอ่าวไทย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับน้ำเข้าท่วมทะลักตัวเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาจนสร้างความเสียหายอย่างหนัก

แม้ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอหาดใหญ่ได้คลี่คลายลงแล้ว แต่ความช่วยเหลือต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงมุ่งตรงไปที่ตัวเมืองหาดใหญ่ ส่วนในเขตรอบนอกซึ่งได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ

นายทัศนัย แก้วสมบูรณ์ นายกเทศมนตรี ตำบลทุ่งลาน อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ซึ่งมีคลองอู่ตะเภาไหลผ่านกล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ถือว่าหนักที่สุดในรอบ 40 ปี

ขณะที่นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้ มีความรุนแรงมาก ความเสียหายน่าจะไม่ใช่หมื่นล้าน แต่เป็นแสนล้านแล้ว

นายชัยยศ สินเจริญกุล ประธานสภาธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา คาดว่าความเสียหายจากน้ำท่วมในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา น่าจะมีกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจที่มีความเสียหายมากที่สุดคือธุรกิจการท่องเที่ยว

นายครรชิต เหมะรักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในเขตเทศบาลตำบลบ่อตรุ ซึ่งอยู่ติดชายฝั่งอ่าวไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน ความเสียหายส่วนใหญ่มากจากลมแรงที่พัดทำลายบ้านเรือนหรือถูกต้นไม้ลมทับ ขณะนี้ในตำบลบ่อตรุไม่ได้ขาดแคลนอาหาร แต่ต้องการกระเบื้องมุงหลังคาประมาณ 100,000 แผ่น เพื่อนำมาให้ชาวบ้านใช้ซ่อมแซมหลังคาที่ถูกลมพัดหลุด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net