Skip to main content
sharethis

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน และสมาคมสื่อพม่า เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักข่าวญี่ปุ่น และนักข่าวพม่าที่ถูกทางการพม่าจับกุมตัว จากการที่พวกเขาทำข่าวการเลือกตั้งในพม่า 7 พ.ย.ที่ผ่านมา

 
วานนี้ (8 พ.ย. 2553) องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน และสมาคมสื่อพม่า เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักข่าวชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ โทรุ ยามาจิ ผู้อำนวยการสำนักข่าว AFP สาขากรุงโตเกียว ที่ถูกทางการพม่าจับกุมตัวที่เมืองชายแดนทางฝั่งตะวันออกของเมียวดี ในช่วงที่มีการเลือกตั้งวานนี้ หลังจากที่เขาเข้าประเทศพม่าผ่านไทย มีรายงานว่าเขาถูกส่งตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังเมืองหลวงใหม่ของพม่า กรุงเนปิดอว์ เพื่อรับการไต่สวนโดยหน่วยข่าวทหารพม่า
 
ทั้ง 2 องค์กรกล่าวว่า จากการที่รัฐบาลทหารห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้าไปในพม่า จึงเป็นเรื่องปกติที่มีบางคนพยายามเข้าไปโดยไม่มีวีซ่านักข่าว นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่าพวกเขาสนับสนุนโทรุ ยามาจิ จากการที่พยายามเข้าไปรายงานข่าวแม้จะมีการปิดกั้น โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เน้นให้เห็นถึงความยากลำบากในการที่สื่อนานาชาติจะเข้าไปรายงานข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพม่า
 
หลังจากถูกตำรวจจับกุมตัวที่เมียวดีเช้าวานนี้ (7 พ.ย.) แล้ว ยามาจิ ถูกส่งตัวไปเนปิดอว์เนื่องจากมีเหตุปะทะเกิดขึ้นในเมียวดีระหว่างกองทัพกับกลุ่มกองกำลังกะเหรี่ยง โดยเชื่อว่าเขาจะไม่ถูกปฏิบัติอย่างทารุณ
 
ยามาจิเคยโพสท์ในทวิตเตอร์เมื่อวานซืน (6 พ.ย.) ว่าเขาวางแผนจะข้ามชายแดนไปในพม่าเนื่องจากนักข่าวควรมีหน้าที่รายงานสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่นั่น หลังจากเข้าไปในเขตเมียวดี มีรายงานว่าเขาได้ถ่ายรูปโรงเรียนซึ่งถูกใช้เป็นสถานีเลือกตั้ง
 
รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับยามาจิ โดยก่อนหน้านี้มีช่างภาพข่าววิดิโอที่อยู่สำนักข่าวเดียวกับยามาจิชื่อ เคนจิ นากาอิ ถูกทหารพม่ายิงเสียชีวิตในการประท้วงบนท้องถนนที่กรุงย่างกุ้งในปี 2550 ไม่มีทหารรายใดเลยถูกดำเนินคดีหรือลงโทษ และรัฐบาลพม่าก็ไม่เคยคืนกล้องวิดิโอให้กับครอบครัวเขา
 
นอกจากนี้ยังมี นักข่าวหญิงอีก 2 รายจากสื่อเอกชนของพม่า True News ที่ถูกจับกุมตัววานนี้ โดยผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในเมืองใกล้กับย่างกุ้ง ที่มีนายกเทศมนตรีรายหนึ่งของย่างกุ้ง ออง เทียน ลินน์ สมัครเป็น ส.ส. ทางผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนและสมาคมสื่อพม่าขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอทั้ง 2 คน
 
ผู้สื่อข่าวชาวพม่าที่ถูกสื่อต่างชาติจ้างวานก็ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดโดยทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบในช่วงที่มีการลงคะแนนเลือกตั้งและช่วงที่มีการหาเสียงก่อนหน้านี้
 
"เพื่อนร่วมงานฉันถูกติดตามตัวและบางครั้งก็ถูกค้นตัว ขณะที่ตำรวจใช้เวลาถ่ายภาพพวกเราในทันทีที่พวกเราพยายามทำข่าวที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง" ผู้สื่อข่าวชาวพม่าที่ได้รับการจ้างวานโดยสื่อญี่ปุ่นกล่าวกับผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนและสมาคมสื่อพม่า "พวกเขาติดตามฉันไปทุกที่" ผู้สื่อข่าวที่ทำงานให้สื่อต่างประเทศอีกรายกล่าว
 
มีกรณีหนึ่งที่เมืองทามแว (Tamwe) ผู้สื่อข่าวชาวพม่า 2 รายที่ทำงานให้สื่อต่างชาติถูกข่มขู่โดยกลุ่มผู้สนับสนุน ส.ส. พรรค USDP ของรัฐบาลทหาร 
 
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้สั่งการไม่ให้สื่อเอกชนอย่าง Eleven Media รายงานความเคลื่อนไหวในส่วน"การเลือกตั้ง" ทั้งบนเว็บไซต์และหน้าเฟสบุ๊ค
 
 
http://en.rsf.org/birmanie-japanese-journalist-two-burmese-08-11-2010,38772.html
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net