Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 
ที่มา: Thailand’s Silence on Burma Poll is Deafening โดย Emily Hong & Kriangsak Teerakowitkajorn ใน Bangkok Post วันที่ 8 พ.ย.2553
 

 

 
สื่อไทยและต่างประเทศต่างจับตามองแบบตาแทบไม่กระพริบเมื่อนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบยี่สิบปีของพม่า การเดินทางครั้งนั้นกลับไม่ได้เป็นอะไรนอกไปจากการคุยธุรกิจที่นายกฯ สนใจเพียงการเซ็นสัญญาโครงการท่าเรือน้ำลึกในดาเวย (หรือชื่อเดิมว่าตาวอย) ที่มีมูลค่า 13 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (390 ล้านล้านบาท) มากกว่าที่จะถกเรื่องการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น
 
การไม่พูดเรื่องเลือกตั้งของคุณอภิสิทธิ์ในช่วงเวลาที่สำคัญเช่นนี้มีแต่จะส่งผลดีต่อแผนการของผู้นำเผด็จการทหารที่ต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบของตนภายใต้เปลือกนอกจอมปลอมของพลเรือน คงจะไร้เดียงสาเกินไปหากจะคิดว่ารัฐบาลไทยนั้นไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบของนโยบายรูปแบบนี้ อันที่จริง ไม่ใช่รัฐบาลไทยเท่านั้นที่ใช้นโยบายนิ่งเงียบ จีน อินเดียและบางประเทศสมาชิกของอาเซียนที่ไม่สนใจว่าการเลือกตั้งจะเป็นการจัดฉากต่างก็เล็งเห็นว่าการเลือกตั้งจะเป็นโอกาสทองที่แต่ละประเทศจะทำให้การค้าและการลงทุนของตนที่เพิ่มขึ้นในพม่านั้นดูถูกต้องชอบธรรม
 
ทั้งนี้ อาจมีเหตุผลที่เป็นไปได้ 2 เรื่องที่ทำให้อภิสิทธิ์นิ่งเงียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพม่า เรื่องแรกคือสถานะของรัฐบาลอภิสิทธิ์เองที่ระส่ำระส่ายมาตั้งแต่การล้อมปราบผู้ชุมนุมเสื้อแดงเมื่อช่วงต้นปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาอภิสิทธิ์ต้องเจอกับคำวิจารณ์อย่างรุนแรงเรื่องการตาย 92 ศพ ซึ่งทั้งหมดเป็นประชาชนมือเปล่าปราศจากอาวุธ เหตุการณ์นี้คงทำให้อภิสิทธิ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่บ้างที่จะพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออกและการปล่อยนักโทษการเมืองในพม่า อีกเหตุผลที่น่าจะสำคัญต่ออภิสิทธิ์มากกว่าก็คือ ผลประโยชน์ของไทยในพม่าที่เข้าทำนอง “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” เพราะไทยนั้นยังถือเป็นคู่ค้าทั้งด้านการค้าและการลงทุนอันดับหนึ่งของพม่าอยู่
 
การให้ความสำคัญกับประโยชน์ทางธุรกิจเป็นอันดับแรกของรัฐบาลไทยนั้น ไม่เพียงแต่ก่อปัญหาให้กับประชาชนในพม่าเท่านั้น แต่ยังเป็นผลเสียกับประเทศไทยเองด้วย อันที่จริง เป็นที่ยอมรับกันว่าโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติยาดานา (Yadana) ที่ ปตท.สผ.เข้าไปมีส่วนอย่างสำคัญนั้น ถือว่าเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดอันหนึ่งของรัฐบาลทหารพม่า นอกจากนี้ โครงการนี้ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังกรณีการสังหารประชาชนและบังคับใช้แรงงานโดยทหารของพม่าที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับท่อก๊าซ ประชาชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงที่อยู่รอบท่อส่งก๊าซเองต้องอพยพย้ายถิ่นฐานและเพิ่มจำนวนให้กับผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่กว่า 2-3 ล้านคนในประเทศไทย นอกจากนี้ ชาวบ้านในพื้นที่มักไม่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ถูกเรียกว่าโครงการพัฒาเหล่านี้ และในหลายกรณี ชาวบ้านที่เดือดร้อนแสดงออกถึงความไม่พอใจโดยพุ่งเป้าโจมตีโครงการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ตัวอย่างของระเบิดที่เกิดขึ้นหลายครั้งบริเวณเขื่อนของจีนในรัฐคะฉิ่นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา 
 
การเผชิญหน้าที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทหารพม่าและกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ปฏิเสธจะวางอาวุธก่อนหน้าการเลือกตั้งจึงอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพตามแนวชายแดนในอนาคต ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ทางธุรกิจก่อนการเมืองนั้น นอกจากจะทำให้ช่วยซ้ำเติมปัญหาพม่าต่อเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคแล้ว ยังสร้างความเสี่ยงให้กับโครงการลงทุนของไทยเอง
 
ก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้ตอบสนองต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ของพม่าใน 2 รูปแบบใหญ่ๆ กลุ่มหนึ่งแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าการเลือกตั้งนี้จะไม่มีทางขาวสะอาดและยุติธรรมได้ ขณะที่อีกกลุ่มเลือกวิธีการรอดูไปก่อน ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยเองกลับส่งสัญญาณที่ชัดเจนโดยผ่านการเดินทางเยือนพม่าของอภิสิทธิ์ว่าไทยยินดีที่จะรับการเลือกตั้งว่าเป็นก้าวขยับของประชาธิปไตย ถึงแม้มันจะห่างไกลจากความเป็นจริงก็ตาม
 
ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ฮานอยเมื่อเดือนที่ผ่านมา มีเพียงรัฐบาลอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เท่านั้นที่กล้าวิจารณ์ปัญหาการเลือกตั้งที่เห็นกันอยู่ตรงหน้า ขณะที่นายกอภิสิทธิ์เลือกที่จะไม่พูดเรื่องนี้ ทั้งที่เพื่อนบ้านที่เป็นประชาธิปไตยทั้งสองทำ แน่นอนว่ามันเป็นประจักษ์พยานถึงความตกต่ำของประชาธิปไตยของไทยและพิสูจน์ว่าไทยกำลังสูญเสียจุดยืนในฐานะแรงขับเคลื่อนที่ก้าวหน้าในภูมิภาคไป
 
ถ้าหากรัฐบาลไทยต้องการจะพิสูจน์ว่าต้องการข้ามให้พ้นนโยบายแบบสายตาสั้นต่อพม่าแล้ว มีสองเรื่องที่รัฐบาลไทยสามาถทำได้และควรจะทำ ข้อแรก รัฐบาลไทยสามารถสนับสนุนกลุ่มต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกพม่าที่ได้วิจารณ์การเลือกตั้งครั้งนี้มาตั้งแต่ต้นว่า เพียงการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยปราศจากกระบวนการสมานฉันท์ภายในประเทศนั้น จะไม่มีทางนำไปสู่สันติภาพและความมั่นคงอย่างแท้จริงในพม่าได้ ข้อสอง ในฐานะที่ไทยกำลังรั้งตำแหน่งประธานของสภาสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) รัฐบาลไทยอาจสนับสนุนข้อเรียกร้องจากนานาชาติให้จัดตั้งคณะกรรมการของสหประชาชาติเพื่อไต่สวนอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (UN Commission of Inquiry into war crimes and crimes against humanity) ซึ่งอาชญากรรมเหล่านี้น่าจะเพิ่มขึ้นหลังการเลือกตั้งเพราะรัฐบาลทหารมีแนวโน้มที่จะกระชับอำนาจของตนโดยจัดการกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ
 
ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่สามารถเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและรัฐบาลไทยไม่อาจปฏิเสธอิทธิพลของตนในทางธุรกิจกับพม่าได้ แต่เราก็เชื่อว่ารัฐบาลไทยจะปฏิเสธที่จะทำทุกอย่างที่ได้เสนอไปข้างต้น
 
 
หมายเหตุ: Emily Hong เป็นนักเขียนอิสระและนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยและขบวนการของกลุ่มชาติพันธุ์ เธอมีส่วนร่วมในหนังสือ Nowhere to Be Home: Narrators from Survivors of Burma's Military Regime ที่กำลังจะเผยแพร่ในอนาคต ส่วน Kriangsak Teerakowitkajorn (เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร) เป็นอาจารย์ประจำของวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net