Skip to main content
sharethis

รายงาน SEA ของ “คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง” ชี้ประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างควรชะลอการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำสายหลักออกไปอีก 10 ปี เผยไฟฟ้าร้อยละ 95 จากโครงการทั้งหมด ขายให้แค่ไทย-เวียดนาม แถมไฟฟ้าจากทุกโครงการรวมกัน ไม่ได้ประกันการเติบโตภาคพลังงานในภูมิภาค แต่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพอย่างถาวร

 
 
 
เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2553 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) เสนอผลรายงานสุดท้าย ของ “การเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” (Strategic Environmental Assessment [SEA]) เกี่ยวกับเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลักทางเว็บไซต์ โดยจากการที่การศึกษา SEA ดังกล่าวได้เสนอในท้ายที่สุดว่า ประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างควรจะชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงสายหลักออกไปอีก 10 ปี (ดูรายงานฉบับสรุปย่อภาษาไทยที่ http://www.mrcmekong.org/ish/SEA/SEA-Summary-final-report-Thai-18-Oct-10.pdf)
 
เปรมฤดี ระบุด้วยว่า SEA เสนอข้อเท็จจริงหลายประการ รวมทั้งในประเด็นบทบาทของประเทศไทยในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดจากโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลัก ที่กำลังมีการผลักดันให้สร้างทั้ง 12 โครงการ โดยบริษัทเอกชนจากประเทศจีน ไทย เวียดนาม รัสเซีย ฝรั่งเศส และมาเลเซีย โดยจะสร้าง 8 โครงการในประเทศลาว มี 2 โครงการระหว่างไทยและลาว และอีก 2 โครงการในกัมพูชา โดยโครงการที่กำลังมีการผลักดันที่ชัดเจนที่สุดในปัจจุบัน คือโครงการเขื่อนไซยะบุรี ทางตอนเหนือของลาว ซึ่งทางรัฐบาลไทย โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีมติในวันที่ 13 มี.ค.2553 เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปดำเนินการเจรจาความตกลงซื้อ-ขายไฟฟ้า กับบริษัท ช.การช่าง ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานไปแล้ว
 
ขณะที่ประเทศลาว ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลลาวได้ยื่นขอใช้กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement [PNPCA]) ในการเสนอสร้างเขื่อนไซยะบุรีไปแล้ว แม้ในขณะนั้นรายงาน SEA ที่ถือว่าเป็นข้อมูลหลักและข้อเสนอสุดท้ายของรายงาน ยังไม่มีการเสนอออกมาในสาธารณะ ซึ่งทำให้เกิดคำถามมากมายทั้งในเรื่องของขั้นตอน กระบวนการ และความจริงใจของรัฐบาลแต่ละประเทศกับการดำเนินโครงการในแม่น้ำโขง อีกทั้งมีองค์กรที่มาแสดงส่งเสียงตอบรับข้อเสนอของรายงาน SEA เช่นองค์การ World Wildlife Fund (WWF) และธนาคารโลก ที่ออกมาบอกว่าจะไม่ให้เงินทุนสนับสนุนโครงการในแม่น้ำโขงสายหลัก ก็ยิ่งทำให้เกิดการจับตามองท่าทีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และรัฐบาลประเทศต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลไทยและลาว
 
รายงาน SEA ระบุว่า เนื่องจากไฟฟ้าร้อยละ 95 จากโครงการบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้งหมด จะขายให้แก่ประเทศไทยและเวียดนามเท่านั้น หากไทยและเวียดนามไม่ซื้อ โครงการที่สร้างขึ้นเพื่อการส่งออกไฟฟ้าเหล่านี้ก็ย่อมไม่ได้รับการผลักดัน อีกทั้งยังให้ข้อมูลว่า โดยแท้จริงแล้ว ไฟฟ้าจากทุกโครงการรวมกัน ไม่อาจประกันการเติบโตของภาคพลังงานในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่างได้แต่อย่างใด เฉพาะประเทศไทย หากอ้างอิงจากความต้องการพลังงานของไทยถึงปี 2568 ไฟฟ้าจากโครงการทั้งหมดรวมกัน จะตอบสนองความต้องการพลังงานของไทยได้เพียงร้อยละ 11.6 เท่านั้น ในขณะที่ผลประโยชน์ร้อยละ 70 จากการสร้างเขื่อน จะตกอยู่กับบริษัทเอกชนที่ลงทุนอยู่ในประเทศลาว ซึ่งเป็นประเทศที่มีแผนโครงการสร้างเขื่อนถึง 8 โครงการ
 
สำหรับในประเด็นวิถีชีวิตของประชาชน รายงาน SEA ชี้ว่า เขื่อนทั้ง 12 โครงการ จะนำมาซึ่งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำและบนบกที่มีความสำคัญในระดับโลกอย่างถาวร ทำให้เกิดความเสื่อมทางนิเวศต่อแม่น้ำโขงที่ไม่มีทางแก้ไขกลับคืน บรรเทา หรือจ่ายค่าทดแทน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่มขึ้นกับผู้คนหลายล้านคนที่อยู่ในชุมชนทั้งในชนบทและเมือง โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในรัศมี15 กิโลเมตรจากริมฝั่งแม่น้ำโขงที่จะจับปลาได้น้อยลง ในภาพรวม มูลค่าการประมงจะสูญเสียไปถึงปีละ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ15,000 ล้านบาท) และการประมงตามแนวแม่น้ำโขงที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำยาว 55 กิโลเมตร ก็จะสามารถทดแทนได้เพียงร้อยละ 10 ของการสูญเสียของการจับปลาตามธรรมชาติ ยังไม่นับการสูญเสียการเกษตรแบบยังชีพ และสวนริมฝั่งน้ำโขงอย่างถาวร และร้อยละ 17 ของพื้นที่ชุ่มน้ำตามลำน้ำโขงที่จะเสื่อมสูญไป 
 
รายงานนี้ชี้ชัดว่า โครงการเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงสายหลัก จะยิ่งซ้ำเติมความไม่เท่าเทียมกันในการใช้ทรัพยากรในภูมิภาคที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ สิ่งที่จะปรากฏในทันที คือจะทำให้ปัญหาความยากจนเลวร้ายลง
 
“สิ่งที่จำเป็นคือ คนไทยจะต้องได้โอกาสในการรับรู้ความจริงว่า เพราะฉะนั้น ที่เราได้รับการบอกกล่าวว่า บริษัทไทยไปลงทุนสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้เราได้ไฟ เขาได้พัฒนา หายยากจน เป็นเรื่องที่ต้องมองดูใหม่ ว่าแท้ที่จริงแล้ว เป็นเรื่องที่ประชาชนไทยต้องควักเงินจากกระเป๋าไปอุปการะบริษัทเอกชน และยังเป็นตัวการทำให้ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านของเราเองเดือดร้อนใช่หรือไม่”  ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติกล่าว
 
ทั้งนี้ สำหรับในประเทศไทย ที่ผ่านมาคำถามส่วนใหญ่ในเรื่องการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงโดยภาคประชาสังคมถูกส่งผ่านไปยังรัฐบาลไทย เช่น เมื่อเดือนตุลาคม 2552 ประชาชน 23,110 คนจากทั่วโลก ได้ประกาศเจตนารมณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง โดยทางพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างกลุ่มภาคประชาสังคมทั้งในภูมิภาคและนานาชาติเป็นผู้รวบรวมและส่งมอบให้กับนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่รัฐสภาไทย จนกระทั่งวันที่ 9 ก.ย.2553 เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง 50 องค์กร และเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ระงับการซื้อไฟฟ้า และยกเลิกเขื่อนไซยะบุรี เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนผู้ได้รับสัมปทานสร้างเขื่อน รวมทั้งบริษัท ช. การช่าง ยังคงไม่มีท่าทีสนองตอบต่อการเรียกร้องของภาคประชาชนแต่อย่างใด รวมทั้งในส่วนของทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ยังคงเดินหน้าทำสัญญาการซื้อไฟและลงทุนในฐานะบริษัทสร้างเขื่อนในโครงการทั้งในแม่น้ำโขงและสาละวินต่อไป
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net