น้ำท่วม (ปาก) ธรรมชาติ (ไม่ได้) ลงโทษ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
ปีนี้น้ำนอง (ล้น) เต็มตลิ่ง มาก่อนวันเพ็ญเดือนสิบสองไปกว่าหนึ่งเดือน สถานการณ์น้ำท่วมมีจังหวัดประสบภัย 39 จังหวัด 381 อำเภอ 2,803 ตำบล 24,294 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,786,804 ครัวเรือน 5,961,812 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 4,128,373 ไร่ พบผู้เสียชีวิต 116 ราย (1) น้ำท่วมครั้งนี้ได้เกิดกระแสวาทกรรมซ้ำซากว่าทุกข์ภัยความเสียหายที่ชาวไทยได้รับกันอยู่นี้เป็นเพราะ “ธรรมชาติลงโทษ” 
 
ที่ธรรมชาติลงโทษเนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่า ใช้ชีวิตอย่างรังแกวิถีทางธรรมชาติทำให้เกิดความผันผวนปรวนแปรของฤดูกาล ส่งผลให้ฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานานทำให้ขาดแนวกั้นกระแสน้ำหลาก ดินดูดซับไม่ทัน น้ำฝนไหลลงพื้นราบอย่างรวดเร็ว ความแรงของน้ำทำลายต้นไม้ อาคารบ้านเรือน ถนน สะพาน ทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล บางพื้นที่น้ำท่วมขังและเอ่อนอง เกิดจากน้ำล้นตลิ่งมีระดับสูงกว่าปกติ ทำให้การคมนาคมชะงัก เกิดโรคระบาด ทำลายสาธารณูปโภคและพืชผลการเกษตร 
 
อันที่จริง “ธรรมชาติไม่ได้ลงโทษ” เพียงแต่มันเป็นวัฏจักรของธรรมชาติ ที่ต้องปรับสมดุลอยู่เสมอสิ่งใดมากไปหรือน้อยไป ก็จะปรับให้พอดี เป็นการทำให้เหมาะสม ให้พอดีกับธรรมชาติ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างคือธรรมชาติ อาทิ การมีฤดูน้ำหลากนั้นแท้จริงแล้วเป็นเรื่องดี เป็นการปรับสมดุลช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนแผ่นดิน ทำให้ดินได้รับตะกอน หลังน้ำลดการปลูกพืชจะงอกงาม ต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิมจะได้แร่ธาตุสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
 
แต่จากภาพที่ปรากฏดูยังไงก็ไม่ใช่ “น้ำหลาก” การไหล่บ่าตั้งแต่เหนือจรดใต้ครั้งนี้ไม่มีใครเรียกน้ำหลากกันเลย มีแต่เรียกว่า “น้ำท่วม” เพราะกระแสน้ำรุนแรงเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ น้ำได้พัดพาเอาก้อนหิน ต้นไม้ ท่อนซุง เศษไม้ วัชพืช โคลนตม และเลนลงไปท่วมทับที่อยู่อาศัย โรงเรือนและพืชสวน ความเสียหายของพื้นที่การเกษตรและปศุสัตว์อาจทำให้ชาวบ้านอยู่ในสภาพหมดตัว พื้นที่เศรษฐกิจอย่างอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาสินค้าจำพวกเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ เสียหายย่อยยับ
 
สาเหตุของน้ำท่วมครั้งนี้นอกจากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ร่องมรสุมกำลังแรงเป็นเหตุให้ฝนตกชุกหนาแน่นแล้ว ปัจจัยหลักยังอยู่ที่มนุษย์เราทำให้มันเกิดขึ้น อาทิ การขยายตัวของเขตชุมชนและการทำลายระบบระบายน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นชุมชน แหล่งอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย โรงแรมและรีสอร์ตมีการถมดินปรับพื้นที่ สร้างถนน สิ่งก่อสร้างต่างๆ ขยายตัวออกไปเป็นบริเวณกว้าง เป็นเหตุให้แอ่งน้ำ หนอง บึง และลำคลองธรรมชาติทั้งหลายถูกทำลายหมดไป ที่สำคัญภายในเขตชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่มักไม่ได้สร้างระบบการระบายน้ำที่เหมาะสม โดยเฉพาะแถวนครราชสีมามีการรุกล้ำลำน้ำลำตะคองและลำพระเพลิง ทำให้พื้นที่ไม่สามารถเก็บกักน้ำเอาไว้ได้ เมื่อฝนตกหนักจึงทำให้เกิดน้ำท่วมขังนาน ความเสียหายย่อมตามมา
 
ยิ่งปัจจุบันเกษตรกรหันมาให้ความสำคัญการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวอาทิ ปลูกยางพารา ขิง ข้าวโพด มันสำประหลัง กระเทียม เกษตรกรมักจะโค่นไม้ยืนต้นในสวนในป่าเพราะกิ่งใบจะไปบดบังการรับแสงอาทิตย์ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชสวน แม้แต่พืชคุมดินจำพวกหญ้าก็ถูกแผ้วถางและพ่นยากำจัดเมื่อพืชหญ้าเหล่านี้แห้งก็จุดไฟเผาทำลายไม่เหลือซาก สร้างมลพิษก่อเหตุรำคราญตามมาอีก
 
โดยหลงลืมไปว่าป่าไม้เป็นแหล่งกำบังภัยช่วยลดภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากช่วยซับน้ำชะลอการไหลรุนแรงแล้ว ยังช่วยปะทะแรงฝน และแรงลมพายุให้อ่อนตัวลง ต้นไม้ยังช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์และปรับปรุงคุณภาพของดิน รากไม้ช่วยยึดดินเอาไว้จึงชะลอการทรุดตัวถล่ม ช่วยการชะล้างและสูญเสียหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ ข้อมูลจากองค์การ UNESCO (2) พบว่าถ้ามีป่าไม้ดินจะดูดซับน้ำได้ถึงร้อยละ 98 และปล่อยน้ำฝนออกมาร้อยละ 2 ถ้าไม่มีป่าไม้ดินจะดูดซับน้ำได้เพียงร้อยละ 3 และปล่อยน้ำฝนออกมาร้อยละ 97
 
จึงควรหันกลับมาให้ควรสำคัญกับการปลูกพืชผสมผสาน บริเวณไหนต้องการรักษาดินไม่ให้ถูกกัดเซาะ ก็ปลูกไผ่ ปลูกน้ำเต้าคลุมไว้ พืชจำพวกนี้เพาะง่ายแถมโตไว หากเป็นดินใหม่หรืออยู่ริมอ่างเก็บน้ำก็ใช้หญ้าแฝกปลูกยึดไว้เป็นแนวกันตะกอนสักสามชั้น ถึงฤดูฝนแฝกจะคอยดักตะกอนที่ลอยมากับน้ำให้เป็นปุ๋ย ช่วยสร้างอินทรียวัตถุให้กับพื้นดินแบบง่ายๆ อีกทั้งยังป้องกันการตื้นเขินของแหล่งน้ำได้ด้วย
 
พื้นที่ใดอยู่ติดริมน้ำปลูกพืชชายเลนน้ำจืด น้ำท่วมไม่ตาย เช่น ไผ่หนาม ไผ่นา ก้านเหลือง ไม้พุ่มหรือตะกูน้ำ ต้นไคร้ใบขาว เหมืองฝายแถบอีสานจะชอบปลูกพืชจำพวกนี้เพราะรากเป็นพังผืดแผ่รากฝอยให้น้ำได้ ปลูกง่ายยึดกับดินได้ดี แค่ตัดกิ่งเสียบ บริเวณไหนน้ำท่วมถึงก็ปลูกไม้ทนน้ำประเภทยางนา มะกอกน้ำ ต้นมันปลา ฯลฯ 
 
พื้นที่ที่มีหินทรายหรือหินแผ่นใหญ่หนาต้องปลูกพืชที่รากจะอยู่ข้างบนไม่ต้องมีรากแก้ว เช่น นิโครธ โพธิ์ ไทร ไผ่ จันผา จะเน้นการปลูกตามเชิงเขา ริมถนน ซอกหิน ริมรั้ว เพิ่มความงดงามให้ทัศนียภาพอีกทางหนึ่ง ไม้ยืนต้นหรือไม้ป่าอยู่กลุ่มที่สังเกตได้ว่าเป็นไม้ไม่กลัวร่ม แม้จะมีไม้อื่นปกคลุมมันก็สามารถเจริญเติบโตแทรกซอนแทงยอดขึ้นไปได้และทนความแห้งแล้งได้ดี ฤดูร้อนก็ไม่ผลัดใบคือปรับตัวเข้าได้กับธรรมชาติฤดูกาล ได้แก่ ไม้ตะเคียน เป็นไม้เนื้อแข็งไม่ผลัดใบ รูปทรงสูงเหมือนสน กิ่งก้านไม่รกไม่กาง
 
นอกจากอาศัยธรรมชาติแล้ว ภูมิปัญญาท้องถิ่นการปลูกบ้านในลักษณะยกพื้นสูงให้มีใต้ถุน เป็นการเปิดพื้นที่ให้น้ำผ่านมาผ่านไปได้ เป็นประสบการณ์ตรงที่ชุมชนอาศัยใกล้น้ำเขาเตรียมไว้รับฤดูน้ำหลากที่มักมาเยี่ยมทุกปี
 
ในระยะหลังผู้คนจำนวนไม่น้อยแม้รู้ว่าอยู่ในทำเลที่ลุ่ม แต่พอสร้างที่อยู่อาศัยหรือโรงเรือนกลับไม่ยกพื้นสูง มักง่ายไม่ยอมแบ่งพื้นที่ให้กับธรรมชาติบ้างเลย เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก จะไม่ให้ประสบผลเป็นทุกข์ได้อย่างไร 
 
หลังน้ำท่วมครั้งนี้ การฟื้นฟูซ่อมแซมคงต้องใช้งบประมาณอย่างมหาศาล การชดเชยของภาพรัฐแก่เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกน้ำท่วมคงไม่พอบรรเทากับสิ่งที่ต้องสูญไปในด้านมูลค่า ยิ่งด้านสภาพจิตใจยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง โศกนาฏกรรมครั้งนี้จึงอาจเป็นแค่เสียงเตือนจากธรรมชาติให้พร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเป็นความวินาศครั้งใหญ่อันใกล้มาถึง
 
น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นน้ำใจไมตรีของพี่น้องชาวไทยร่วมบริจาคข้าวของและเงินจำนวนมากช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติผ่านหน่วยงานต่างๆ แม้ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปภาพรวม แต่ดูจากที่ผ่านมากรณีชาวไทยระดมเงินช่วยเหลือชาวเฮติที่ประสบภัยแผ่นดินไหว ถึงขั้นโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ หรือ WFP ประจำภูมิภาคเอเชีย ได้มีหนังสือแสดงความชื่นชมและขอบคุณชาวไทย ที่ประเทศไทยโดยรัฐบาลไทย บริจาคเงินและข้าวสารจำนวนมากให้ความช่วยเหลือ จึงคาดว่าความช่วยเหลือน้ำท่วมภายในประเทศครั้งนี้ ต้องมียอดที่น่าบันทึกจดจำ และต้องขอยินดีในน้ำใจไมตรีเหล่านั้น
 
ในอีกด้านหนึ่งเราได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ สื่อมวลชนของไทยได้ทำหน้าที่มีบทบาทเป็นสื่อกลางในการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างน่าประทับใจ เรียกได้ว่าทำเอารัฐบาลซึ่งมีเครื่องไม้เครื่องมือมายมากต้องม้วนอายไปตามตามกัน และยังได้เห็นช่องทางที่ผู้คนและองค์กรต่างๆ สบโอกาสได้โชว์ความเป็นผู้ “ใจบุญ” ผสานเหตุการณ์น้ำท่วมเข้ากับการตลาด กอปรกับรัฐบาลส่งสัญญาณให้ผู้ใจบุญทราบว่าสามารถนำเงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ เราจึงเห็นการหลั่งไหลเข้าไป “ยกป้าย” ออกสื่อทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์อย่างมากมาย (ต้องขออภัยสำหรับผู้ที่ไม่มีเจตนาอย่างนั้น) 
 
วิลเลอร์ และแพต บาร์เคลย์ (3) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ทำการวิจัยพฤติกรรม “การแข่งกันทำเพื่อคนอื่น” ตีพิมพ์ในวารสารพรีซีดดิงส์ ออฟ เดอะ รอยัล โซไซตี้ ออฟ ลอนดอน: ไบโอโลจิคัล ไซนส์ แสดงให้เห็นนัยสำคัญของความเข้าใจของเราที่มีต่อการร่วมมือกันในชีวิตประจำวัน
 
"คนเราให้ความสำคัญกับเงินและทรัพย์สิน รวมถึงชื่อเสียง และเต็มใจที่จะลงทุนเพื่อรักษาชื่อเสียงของตัวเอง เราคิดว่าคนเป็นแบบนี้กัน แต่ไม่เคยมีใครกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้สามารถระบุได้ว่า นี่ล่ะคือการแข่งกันทำเพื่อคนอื่น" วิลเลอร์กล่าว
 
วิลเลอร์อธิบายว่า คนเราชอบให้เพื่อเข้าถึงบุคคลที่สาม โดยมักใจกว้างขึ้นถ้ารู้ว่าตัวเองกำลังถูกจับตาอยู่ การกระทำนี้อาจเพื่อเอาชนะใจว่าที่แฟน หรือเพื่อสร้างมิตรภาพ ความใจกว้างอย่างน่าสงสัยเป็นลักษณะหนึ่งของการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้นส่วนทางสังคม เพราะทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างให้ความสำคัญกับการมีน้ำใจโอบอ้อมอารี
 
งานวิจัยนี้ยังอาจครอบคลุมถึงการบริจาคเงินก้อนใหญ่ของนักธุรกิจ ดังกรณีของบิลล์ เกตส์ ประธานบริหารไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลก ที่มอบเงิน 30,000 ล้านดอลลาร์ให้กับโครงการต่อสู้กับโรคติดต่อในประเทศกำลังพัฒนา และวอร์เรน บัฟเฟตต์ อภิมหาเศรษฐีลำดับที่ 2 (ตอนนี้หล่นมาอยู่ลำดับ 3) ที่กลายเป็นผู้บริจาคเงินมูลค่ามหาศาลที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยการสมทบเงิน 31,000 ล้านดอลลาร์เข้ากองทุนบิลล์ และเมลินดา เกตส์
 
วิลเลอร์ตั้งข้อสังเกตว่า ยุคทองของการบริจาคเงินของนักธุรกิจเกิดขึ้นประจวบกับการแจ้งเกิดของมหาเศรษฐีมหาโจร "ผมไม่ได้จะบอกว่า เกตส์และบัฟเฟตต์ไม่จริงใจ แต่ตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์, แวนเดอร์บิลต์ และคาร์เนอกี้ต่างถูกกล่าวหาว่าเห็นแก่ตัวในประเด็นต่อต้านการผูกขาด"
 
เหตุการณ์น้ำท่วมและการบริจาคเงินเพื่อการกุศล ทำให้นึกถึงข่าวฮือฮาเมื่อไม่กี่วันมานี้ที่มีคนเคยเชื่อว่ามีเงินแล้วอาจเจอทางตัน จึงมีความเห็นตรงข้ามกับ “คนที่มองว่าเงินเป็นเป้าหมายสูงสุด ความสุขทั้งหมดของชีวิตอยู่ที่เงิน พอหมดเงินก็หมดความสุข” เอาเข้าจริง ครั้นบริจาคเงินให้พระไปแล้ว พอมีเรื่องกินแหนงแคลงใจภายหลัง เที่ยวประกาศขอเงินบริจาคคืนกว่า 4 ล้านบาท 
 
ในคำร้องยังระบุว่า (4)..... ผู้ร้องจะใช้ พยานทุกคน หลักฐานทั้งหมด ในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งทางแพ่งและทางอาญาดำเนินการกับผู้ละเมิดเป็นรายบุคคล ในกรอบของศีลธรรมและกฎหมายจนถึงที่สุด 
 
การบริจาคช่วยแหลือผู้ประสบภัยเป็นเรื่องที่น่ายินดีหากทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และผมเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น สำหรับบุคคลหรือองค์กรที่บริจาคแล้วหวังจะนำไปลดหย่อนภาษีนั้น ขอบอก..ครับ..ขอบอก สามารถนำเงินบริจาคนั้นหักลดหย่อนได้ตามจริง (รวมกับเงินบริจาคอื่นๆ ด้วย) แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว อย่ามือเติบแล้วมาโวยวายเหมือนรายที่เพิ่งกล่าวถึงนะครับ
 
น้ำท่วมหนักครั้งนี้ นอกจากเห็นน้ำจิตน้ำใจเอื้ออารีของคนร่วมชาติ ยังได้เห็นการแย่งชิงพื้นที่สื่อ การแย่งชิงประชาชนของหลายคนหลายองค์กร ภาพบางภาพ เหตุการณ์บางเหตุการณ์ หากนึกตรองให้ดี.....
อื้อ..หือ..น้ำท่วมปาก..ครับ
 
...............................................................................................................................
 
(1) อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553 จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(2) http://pirun.ku.ac.th/~fagisvtc/buddhism/activity/jungle1.htm
(3) ผู้จัดการออนไลน์ จาก http://board.palungjit.com/f11/%E0%.. 99-64831.html
(4) มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1284099089&grpid=10&catid=17
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท