ผู้นำกองทัพรัฐฉานชี้ดีเคบีเอรบพม่ามาจากปัญหาที่มีนานแล้ว

“พล.ท.เจ้ายอดศึก” ระบุกรณีกะเหรี่ยงดีเคบีเอรบพม่าเกิดจากปัญหาที่มีนาน ไม่ได้เกิดเพราะการเลือกตั้ง ชี้รัฐบาลที่ตั้งหลังเลือกตั้งยังเป็นรัฐบาลทหาร และปัญหายังคงเดิม และผู้นำชนกลุ่มน้อยต่างรอดูท่าทีรัฐบาลพม่าหลังเลือกตั้ง เชื่อในอนาคตจะเกิดการสู้รบ ยืนยันแนวทางกองทัพรัฐฉานต้องการเอกราชคืน


แฟ้มภาพ พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน และผู้นำกองทัพรัฐฉาน ระหว่างพิธีวันกองทัพรัฐฉานปีที่ 52 เมื่อ 21 พ.ค. 53 ที่ดอยไตแลง ฐานที่มั่นของ SSA ทางตอนใต้ของรัฐฉาน สหภาพพม่า (ที่มา: ประชาไท)

 

ผู้นำกองทัพรัฐฉานชี้ดีเคบีเอรบพม่ารากฐานมาจากปัญหาที่มีมานานแล้ว

วันนี้ (11 พ.ย.) พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State - RCSS) และผู้บัญชาการกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army – SSA) ซึ่งเป็นกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉานที่ต่อสู้กับรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปี 2539 ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวประชาไท ต่อกรณีที่กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (Democratic Buddhist Karen Army) หรือ DKBA กองพลน้อยที่ 5 เข้าโจมตีทหารพม่าที่เมืองเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา

โดย พล.ท.เจ้ายอดศึก กล่าวว่า การที่กลุ่ม DKBA ที่บุกยึดเมียวดีครั้งนี้ ยังไม่รู้รายละเอียดแท้จริง เพียงแต่ตนคิดว่าเป็นอุบัติเหตุภายในของเขา เพราะดีเคบีเออยู่ร่วมกับพม่ามาเป็นระยะเวลานาน แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพม่าไม่ซื่อสัตย์ต่อเขา “บังเอิญเขามาปะทะกันช่วงเวลาการเลือกตั้ง มันเหมือนเป็นเรื่องการเมือง แต่จริงๆ แล้วปัญหาระหว่างชนกลุ่มน้อยกับพม่ามีมานานตั้งแต่ยังไม่มีการเลือกตั้ง” พล.ท.เจ้ายอดศึกกล่าว

ส่วนการที่กองทัพรัฐฉานและสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 9 พ.ย. พล.ท.เจ้ายอดศึก กล่าวว่า เพื่อแสดงความเห็นสนับสนุนที่กลุ่มดีเคบีเอ กองพลน้อยที่ 5 ที่ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในการต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า

 

การเลือกตั้งพม่าไม่โปร่งใส ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลที่ตั้งขึ้นจะเป็นรัฐบาลทหาร

พล.ท.เจ้ายอดศึก กล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งในพม่าไม่ใช่ประชาธิปไตย เป็นเพียงใช้การเลือกตั้งบังหน้า  แต่ปัญหายังเหมือนเดิม รัฐบาลที่ตั้งขึ้นก็เป็นรัฐบาลทหาร มีการตั้งคนของเขาเข้าไปในสภาอยู่แล้ว และการเลือกตั้งมีความไม่โปร่งใส และไม่เป็นประชาธิปไตย

ต่อคำถามที่ว่า หลังการเลือกตั้งจะมีสถานการณ์ใดเกิดขึ้น ผู้นำกองทัพรัฐฉานกล่าวว่า ชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มต้องรอดูว่า เมื่อเขาตั้งรัฐบาลเสร็จแล้ว จะทำอะไรขึ้นอยู่ที่ทหารพม่า ถ้าทหารพม่าเปิดการเจรจาทุกกลุ่ม เราก็พร้อมเจรจาเพื่อแก้ปัญหาแบบสันติวิธี เพียงแต่ว่าที่เรารอการแก้ปัญหาแบบสันติวิธีนั้น เรารอมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีแล้ว แต่ยังไม่เกิดขึ้น “คาดว่าอนาคตข้างหน้านี้ การสู้รบน่าจะเกิดขึ้น ความวุ่นวายน่าจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ”

 

ยืนยันรัฐฉานต้องการเอกราชคืน

ต่อนโยบายของกองทัพรัฐฉาน ผู้นำกองทัพรัฐฉานยืนยันว่า “ทั้งนี้ SSA (กองทัพรัฐฉาน) และ RCSS (สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน) ยังยืนยันนโยบายเหมือนเดิม คือการยึดมั่นเรื่องความรักชาติ และประเทศของเราเป็นพื้นฐาน เราต้องการมีรัฐปกครองเป็นของตนเอง”

โดย พล.ท.เจ้ายอดศึก กล่าวถึงว่านโยบายของกองทัพรัฐฉาน ที่ดำเนินการขณะนี้มี 6 ประการ คือ หนึ่ง พยายามให้คนทุกเผ่าในรัฐฉานปรองดอง สามัคคีกัน สอง ต้องเอาเอกราชคืนมา เพราะเป็นสิทธิของเรา เป็นประเทศของเรา เรามีประวัติศาสตร์ยาวนาน สาม ถ้าเราปกครองตัวเองได้ เราจะสนับสนุนประชาธิปไตย นำประชาธิปไตยมาใช้ในประเทศของเรา

สี่ ประชาชนของเรายากจน ลำบากจากการสู้รบมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราอยากพัฒนาประเทศ พัฒนาประชาชนให้อยู่ดีกินดี ห้า ปัญหายาเสพย์ติดในพื้นที่สามเหลี่ยมคำมีปัญหามานาน พม่ามาส่งเสริมสนับสนุนพ่อค้ายาเสพย์ติด ยาเสพย์ติดขยายไปเยอะ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานคิดว่าถ้าได้เอกราชคืนมา เราจะขจัดยาเสพย์ติดให้หมดสิ้น และหก เราส่งเสริมประชาชนของเราให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และสงบสุข เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมอาเซียน และประชาคมโลก อย่างสงบสุขและร่มเย็น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ กองทัพรัฐฉาน หรือ SSA เป็นหนึ่งในกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับกองทัพพม่ามาอย่างยาวนาน โดยแยกออกมาตั้งกลุ่มใหม่ หลังจากที่ขุนส่า นำกองทัพเมืองไต (Mong Tai Army หรือ MTA) วางอาวุธแก่รัฐบาลพม่าในเดือนมกราคมปี พ.ศ.2539 โดยกองทัพรัฐฉาน มีพื้นที่อิทธิพลในเขตรัฐฉานตอนใต้ ขนานชายแดนไทย-พม่าตั้งแต่ด้านตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ผ่าน อ.เวียงแหง และ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ไปจนถึงชายแดนไทยพม่าด้านตรงข้าม อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

โดยเมื่อ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ในเว็บไซต์ Taifreedom ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานและกองทัพรัฐฉาน ลงวันที่ 9 พ.ย. "กรณีสงครามปะทะกันระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธและกองทัพรัฐบาลเผด็จการ ทหารพม่าในพื้นที่ อ.เมียวดี และพื้นที่ อ.พญาโตงสู่" โดยมีเนื้อหาสนับสนุนกะเหรี่ยงพุทธดีเคบีเอ

ส่วนกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย หรือ DKBA เป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่แยกออกมาจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) หรือ KNU ซึ่งเป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลพม่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 โดยกองกำลัง DKBA แยกออกจาก KNU ในปี พ.ศ. 2537 และทำสัญญาหยุดยิงและร่วมมือกับรัฐบาลทหารพม่าปราบกลุ่ม KNU กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว กลุ่ม DKBA ถูกรัฐบาลทหารพม่ากดดันให้เปลี่ยนสถานะจากกลุ่มหยุดยิง มาเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force) หรือ BGF ภายใต้การบัญชาการของกองทัพพม่า

โดยในเดือนสิงหาคมปีนี้ ส่วนใหญ่ของกลุ่ม DKBA นำโดย พ.อ.ซอว์ ชิด ตู่ ผู้นำ DKBA ยอมเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลัง BGF ขณะที่กลุ่ม DKBA กองพลน้อยที่ 5 นำโดย พ.อ.ซอว์ ละ เพว หรือ นะคะมวย ได้ปฏิเสธแผนเปลี่ยนสถานะ และต่อมาได้ตัดสินใจบุกโจมตีทหารพม่าที่เมืองเมียวดีดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท