Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ความนำ
การไหล่บ่าของวัฒนธรรมในสังคมโลกไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบันเป็นเรื่องธรรมดา ที่มีการข้าม ผสม ดัดแปลง ล้วนเกิดขึ้นอย่างมิอาจคลาดกาลได้ แต่อย่างไรก็ตามการเข้ามาของวัฒนธรรมหนึ่งวัฒนธรรมใดย่อมขึ้นอยู่กับจริต รสนิยมของวัฒนธรรมเดิมบ้างไม่มากก็น้อย พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่าวัฒนธรรมเดิมเป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมใหม่ สิ่งที่เข้ามาต้องไม่เปลี่ยนแปลงหรือทำลายหักล้างวัฒนธรรมเดิมจนเสียขบวน[1]
 
อย่างไรก็ตามเราจะเห็นว่าในสังคมไทยเรามีการรับวัฒนธรรมอื่น เช่น อินเดีย เขมร  จีน ฝรั่ง ฯลฯ จนมาผสม ดัดแปลง แปรค่า จนเป็นสิ่งทีเรียกว่า “วัฒนธรรมไทย” ในปัจจุบัน เราพอจะเห็นได้ว่าสังคมไทยมีการรับ ปรับ เพิ่ม “วัฒนธรรมไทย” อยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ค่อยเกิดปัญหาเลยว่าวัฒนธรรมไทย กำลังถูกกลืน ถูกทำลาย หรือกำลังสูญเสีย “อัตลักษณ์” แต่ประการใด
 
แต่ปัจจุบันทำไมเรามักได้ยินคำว่า “เด็กไทยกำลังถูกกลืนด้วยวัฒนธรรมตะวันตก(วัฒนธรรมบริโภคนิยม วัฒนธรรมเกาหลี วัฒนธรรมญี่ปุ่น ฯลฯ)” “คนไทยกำลังเสียเอกราชด้านวัฒนธรรม” หรือ “คนไทยกำลังถูกกลืนชาติ” อีกมากมาย คำถามเหล่านี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในสังคมไทยก่อนหน้านี้ หรือจะเป็นเพราะสังคมไทยได้สูญเสียความ “สามารถเฉพาะ” ในการดูดกลืน ปรับ แก้ เพิ่ม ลด วัฒนธรรมอื่นที่เข้ามาในสังคมไทย ให้ถูกจริตแก่สังคมไทย หรือปัจจุบันเรารับวัฒนธรรมอื่นมาแบบดาดๆ หรือเป็นแต่อาการวิตกจริตของคนบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนมุ่งที่จะพิจารณา “วัฒนธรรมเกาหลีในสังคมไทย” เพื่อแก้ข้อสงสัยข้างต้น
 
ความตาม
เรา(สังคมไทย)ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความคลั่งไคล้ไหลหลงในวัฒนธรรมเกาหลีแทรกซึมเข้าสู่สังคมไทยแทบทุกอณูไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ วัยกลางคน หรือวัยเหนือคน(ชรา)  ทั้งละครที่คนติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง เช่น แดจังกึม โฮจุน ซอนต๊อก ผู้ชายเลือดกรุ๊ปบี เจ้าชายกาแฟ ฯลฯ หรือเพลงนานาเพลง(โดยนักร้องเกาหลี) อย่างเจป็อป   เคป็อบ   ซูปเปอร์จูเนียร์ เป็นต้น รวมถึง อาหาร การแต่งตัว ฯลฯ
 
สิ่งเหล่านี้มาพร้อมคำถาม และข้อฉงนของหน่วยงานทางวัฒนธรรมว่า เด็ก ผู้ใหญ่ เป็นผู้นิยมยกย่องวัฒนธรรมต่างชาติ    ไม่รักความเป็นไทย? รวมถึงผู้ประกอบการที่ขายงานเชิงวัฒนธรรม เช่น ผู้สร้างหนัง ก็ออกมาเรียกร้องให้คนไทยดูหนังไทย แต่ไฉน หนังไทยจึงชื่อเหมือนเกาหลีอย่างกับแกะและทำรายได้ทะลุร้อยล้าน เช่น “กวนมึนโฮ” หรือแม้แต่ใช้กลวิธี การดำเนินเรื่อง และดาราเกาหลีแสดงอย่าง “เการักที่เกาหลี” อะไรประมาณนี้
 
มาสู่คำตอบว่าทำไมวัฒนธรรมเกาหลีถึงฟีเวอร์ในสังคมไทย ผมหาคำตอบได้ 2-3 ประการ คือ
 
ประการที่ 1 สังคมไทยเป็นสังคม “พหุวัฒนธรรม” แค่เราไม่มีวัฒนธรรมเกาหลีเราก็มีวัฒนธรรม เขมร อินเดีย จีน ลาว ฝรั่ง ฯลฯ รวมถึงวัฒนธรรมคนชายขอบอื่นๆที่พบเห็นได้ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว ไม่นับว่าชื่อคนไทยเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ไม่มีชื่อที่เป็นไทยๆเลยสักคนเดียว และวัฒนธรรมบางอย่างก็อยู่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เช่น ครั้งหนึ่งกระแสหนังฮ่องกง(ฮ่องกงฟีเวอร์)ที่ดังอย่างพลุแตก หรือญี่ปุ่นฟีเวอร์ เก่ากว่านั้นก็ฝรั่งฟีเวอร์ก็เคยมีมาแล้ว 
 
บางอย่างยังมีอิทธิพลตกค้างในสังคมไทย บางอย่างปลาสนาการอย่างไม่มีเค้าเดิม แต่อย่างไรก็ตามความ “ฟีเวอร์” ของวัฒนธรรมต่างๆ สังคมไทยก็มิได้รับมาแบบดาดๆ แต่การปรับแปรเปลี่ยนใช้ให้เข้าจริตกับสังคมไทยอย่างน่าฉงน เช่น พิชซ่ารสลาบ - รสต้มยำกุ้ง หรืออาหารญี่ปุ่นแบบไทยๆ ที่ใส่พริก ใส่เครื่องเทศแบบไทย เก่ากว่านั้นก็อย่าทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองที่รับมาจากโปรตุเกส ก็ไม่เห็นว่านักวัฒนธรรมที่ไหนจะบอกว่าเป็นของฝรั่งสักกี่คน
 
นั้นหมายความว่าภายใต้วัฒนธรรมที่หลากหลาย สังคมไทยรู้จักเลือกปรับใช้วัฒนธรรมที่เข้ามา และเปิดรับวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ในระดับชาวบ้าน ที่ไม่จำเป็นต้องสถาปนาวัฒนธรรมแห่งชาติไทย เหมือนรัฐต้องการทำ
 
ประการที่ 2 ผมคิดว่าหนัง/ละครเกาหลีปรากฏวัฒนธรรม “ไพร่” (เข้ากับสถานการณ์ประเทศไทยเสียยิ่งกระไร) อย่างกว้างขวาง เราพบว่าหนัง/ละครเกาหลี  นำชีวิตสามัญชนคนธรรมดามาถ่ายทอดอย่างน่าอัศจรรย์ และทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยในประวัติศาสตร์ เช่น แม่ครัวอย่างแดจังกึม  หมออย่างโฮจุน พ่อค้าอย่างอิมซังอ๊ก    โจรอย่างฮวามินดัง(ฮงกิวดอง)  แม้แต่เผ่าไปรยาในซอนต๊อก[2] มาโลดแล่นในหน้าประวัติศาสตร์ แม้ว่าเขา(ตัวละคร)เหล่านั้นจะสัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่ใต้สังคมศักดินาราชาธิปไตยอย่างไรก็ตาม ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่ทำให้คนเล็กคนน้อยมีตัวตน หรือมีพื้นที่ในหน้าประวัติศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีประวัติศาสตร์
 
ทำให้สะท้อนมาสู่สังคมไทยว่า เราไม่มีหนัง/ละครเกี่ยวกับชีวิตของสามัญชนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ มิพักต้องกล่าวถึงคนเล็กคนน้อยในสังคม(ยกเว้นละครหลังข่าวแต่ก็ไม่เห็นชีวิตจริงๆของคน)[3] หนัง/ละครบ้านเรามักเป็นเรื่องของเทพธิดานางฟ้าเทพบุตร ที่ตกยาก สุดท้ายบั้นปลายก็ได้ดี ไม่มีชีวิตของคนจริงๆอยู่ในนั้นเลยแม้เศษกระพี้
 
แล้วไม่ต้องเอยอ้างถึงสามัญชน หรือจะเรียกว่าไพร่ เพราะพล็อตเรื่องส่วนใหญ่(หนังที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การสร้างชาติ การปกป้องชาติ) เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ที่ปกป้อง ก่อตั้ง รักษาชาติบ้านเมือง หรือจะเป็นวีรบุรุษอื่นก็เป็นแต่ผู้ทำงานใต้ฝ่าพระบาท กฤษดาภินิหาริย์ของกษัตริย์ ที่คอยปกบ้านคุ้มเมือง ไม่มีหมอ   พ่อค้า เสมียน ชาวนา ทหารเล็กทหารน้อย ควาญช้าง ช่างตีเหล็ก ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเขาเหล่านี้ทำให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน
หนัง/ละคร “ไพร่” อย่างนี้จึงถูกจริต ถูกจังหวะ ในสังคมไทยยุคนี้เสียยิ่งกระไร   
 
ประการสุดท้ายที่ผมพอจะนึกออก คือ หนัง/ละครเกาหลี มันก็ “เน่า”ไม่ต่างจากหนัง/ละครไทย เราจะเห็นพล็อตเรื่องของแม่ผัว ลูกสะใภ้ พระเอกรวยล้นฟ้า นางเอกยาจก พระเอกยาจกนางเอกเศรษฐี ตบตีแย่งสามีเหมือนละคร/หนังไทยอย่างมิผิดเพี้ยน บางครั้งยังมีกลิ่นเศร้าเคล้าน้ำตา/เศร้า/สลดมากกว่าหนังไทยด้วยซ้ำ
 
มิพักต้องกล่าวถึงหนัง/ละครเกาหลีที่มีมุมมองต่อชีวิตมนุษย์ที่มีตัวตน บทบาท จิตวิญญาณ หรือพูดง่ายๆว่า “ความเป็นมนุษย์” มากกว่าหนัง/ละครไทย ที่มีผิดหวัง สมหวัง บางเรื่องนางเอกตาย บางเรื่องพระเอกตาย ต้องทำงานปากกัดตีนถีบกว่าจะรู้ว่าตนเป็นลูกหลานพระยา(เศรษฐี)ตกยากในละคร/หนังไทย   มิพักต้องกล่าวถึงชีวิตของตัวละครอื่นๆที่มันสมจริงมากกว่าละครน้ำเน่าแบบไทยๆ ที่ไม่มีวันที่พระเอก หรือนางเอกตาย หรือแม้ตายก็ฟื้นได้อย่างปาฏิหาริย์
 
“จริต” ข้างต้นจึงไปกันได้อย่างพอดิบพอดีกับนิสัยของคนไทย ทำให้มีคนหลายต่อหลายคนเสียน้ำตาให้ละครเกาหลีมามากต่อมาก
 
จากอิทธิพลของ “วัฒนธรรมเกาหลี” ข้างต้นส่งผลสะเทือนต่อคนไทยอย่างมากทั้งรสนิยมการแต่งกาย การกินอยู่ รวมถึงสไตล์การใช้ชีวิตของคนไทยทั้งเสื้อผ้า/หน้า/ผม จนนำมาสู่คำถาม ข้อสงสัยของคนเลยวัยข้างต้น
 
บทส่งท้าย
แม้ว่าวัฒนธรรมเกาหลีข้างต้น จะแพร่หลายอย่างกว้างขวางในสังคมไทย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าวัฒนธรรมเหล่านั้นกลับไม่ได้รับผลสะเทือนในด้านอื่นๆ เช่น
 
1. การเรียนรู้   เราไม่พบว่าขณะที่คนคลั่งไคล้ไหลหลงกระแสเกาหลี ทำให้ปริมาณคนไทยเรียนภาษาเกาหลีเพิ่ม ทั้งที่ภาษาเกาหลีจะมีความสำคัญในอนาคตแน่นอน เพราะว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีของเกาหลีกว้างขวางขึ้นในโลกปัจจุบัน
 
2. วัฒนธรรมทางการเมือง เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ของนักการเมือง อย่างกรณีของประธานาธิบดีโนห์มูเฮียนของเกาหลีใต้ ถูกกล่าวหาว่ารับสินบน(โดยหลังบ้าน) ก็ฆ่าตัวตาย หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถควบคุมราคาเนื้อวัว และเกิดการประท้วงก็ลาออกรับผิดชอบ รวมถึงการจับกุม/ตัดสิน อดีตประธานาธิบดีที่ทุจริต และเข่นฆ่าประชาชนขังคุกให้รับโทษ ก็เป็นจุดแข็งในวัฒนธรรมเกาหลี รวมถึงการเมืองภาคพลเมืองของเกาหลีก็เข้มแข็งอย่างมาก โดยเฉพาะสหภาพแรงงาน เราเห็นแต่นักการเมือง หรือคนที่ทุจริตในสังคมไทยได้รับการยกย่องในฐานะต่างๆมากมาย
 
เกาหลีใต้เคยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ แต่หลังทศวรรษที่ 1980 เราไม่พบว่าทหารกลับมามีอำนาจ การรัฐประหารไม่อาจเกิดขึ้นในเกาหลีได้อีกต่อไป เพราะภาคพลเมืองเข้มแข็ง รวมถึงประชาชนเกาหลีเจ็บปวดกับการปกครองของเผด็จการจึงไม่พบว่าในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้รัฐประหาร   ซึ่งแตกต่างจากสังคมไทยที่มักแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร และเป็นตลกร้ายยิ่งกว่า คือ คนชั้นกลางในเมืองเป็นผู้สนับสนุนอย่างสำคัญของการให้ความชอบธรรมต่อการรัฐประหาร แม้ว่าการปกครองด้วยระบบเผด็จการจะซ่อนรูปเปิดเผยอย่างไรก็ตาม สร้างความเสียหายต่อสังคมมานักต่อนัก ไม่รวมถึงเลือดเนื้อชีวิตของพี่น้องที่ไม่เห็นพ้อง และไม่ค้อมหัวให้เผด็จการอีกมากต่อมาก แต่สังคมไทยไม่ยักเข็ดขยาดต่อการรัฐประหารเลย
 
3. เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เรามีดารา/นักร้อง(หนุ่ม/สาว)ที่ทำตัวเป็นเกาหลียิ่งกว่าเกาหลีเสียอีก แต่เราไม่มีนักภาษาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญ นักวัฒนธรรมที่ใส่ใจ หรือแม้นักประวัติศาสตร์ที่เข้าใจสังคมเกาหลีอย่างแจ่มแจ้ง นักร้อง/ดารา ที่แต่งตัว ทำผม แต่งหน้า ใส่เสื้อผ้าแบบเกาหลี แต่ไม่รู้อะไรที่เป็นเกาหลีสักอย่างนอกจากการทำผู้หญิงท้องแล้วไม่รับ
เราจึงเป็นเกาหลีแต่เพียงเปลือกที่ไม่ได้สำเหนียกเรียนรู้ หรือทำความเข้าใจสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรารักแต่ประการใด หรือเป็นการสะท้อนความล้มเหลวของระบบการศึกษา และวัฒนธรรมการเรียนรู้ของสังคมไทยอย่างฉกาจฉกรรจ์ เป็นความล้มเหลวอย่างอัศจรรย์ของสังคมไทยที่นิยมการท่องจำมากกว่าการเรียนรู้ เพียงเรียนให้จบๆมีงานทำก็สบายแฮ



[1]ธีรภัท ชัยพิพัฒน์. สังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศในอนุภาคลุ่มน้ำโขง. วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2551, หน้า 2-7.
[2] ดูเพิ่มเติมใน,www.prachatai.com/category/ซอนต๊อก
[3] โปรดดูบทความของ, นิธิ เอียวศรีวงศ์. อุดมคติในละครทีวีไทย. มติชนรายสัปดาห์ประจำวันที่ 10-16 กันยายน 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1568 , หน้า 25-26. ที่ชี้ให้เห็นว่าละครไทยมิได้สะท้อนชีวิตจริงของตัวละคร แต่สะท้อนให้เห็นอุดมคติบางอย่างที่เป็นความคาดหวัง ความใฝ่ฝันร่วมกันของคนในสังคมไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net