Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมได้แง่คิดในการเขียนบทความนี้จากการติดตามอ่านการถกเถียงท้ายบทความ ชื่อ “ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน: กรณีศึกษาประเทศอาร์เจนตินา” ของ คุณภัควดี ไม่มีนามสกุล (โดยเฉพาะแง่คิดจากความเห็นของ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) ความหมายที่ต้องการให้เข้าใจตรงกันก่อนคือ การอภิปราย “ประเด็นสถาบันกษัตริย์” ในที่นี้ไม่เกี่ยวกับประเด็น “เอา-ไม่เอาสถาบันกษัตริย์”

 
เพราะสำหรับผม ประเด็น “เอา-ไม่เอาสถาบันกษัตริย์” เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงต่อประชาธิปไตย ต่อสังคม และต่อสถาบันกษัตริย์เอง ข้อเท็จจริงที่ยืนยันเรื่องนี้ก็คือ การชูประเด็น “เอา-ไม่เอาสถาบันกษัตริย์” ที่เริ่มโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)ได้นำมาสู่การเกิดรัฐประหาร 49 ความแตกแยกในสังคม การเพิ่มขึ้นมากอย่างผิดปกติของคดีหมิ่นเบื้องสูง ในช่วง 3-4 ปีมานี้ ฯลฯ
 
ฉะนั้น การอภิปราย “ประเด็นสถาบันกษัตริย์” ในที่นี้จึงหมายถึง การอภิปรายในเชิงความคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ว่า ถ้าเราจะ “เปลี่ยนผ่าน” สังคมเราไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างอารยประเทศ เราควรจะกำหนดกติกาเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทหน้าที่ของสถาบันกษัตริย์อย่างไร หรือจะปฏิรูปความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับอำนาจทางการเมือง อำนาจกองทัพอย่างไร หรือภายในขอบเขตแค่ไหนที่หมายถึง “การอยู่เหนือการเมือง” ของสถาบันกษัตริย์ ฯลฯ
 
โดยที่การอภิปรายเป็นกิจกรรมทางวิชาการภายใต้กรอบของการอ้างอิงข้อเท็จจริงและเหตุผล (ไม่ใช่การกล่าวหา ใส่ร้าย ดูถูก ดูหมิ่นแต่อย่างใด) จึงเป็นกิจกรรมที่ต้องทำได้ภายใต้หลักประกัน “การมีเสรีภาพทางวิชาการ” ในสังคมประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าการอภิปราย “ประเด็นสถาบันกษัตริย์” ในความหมายดังกล่าวนี้จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาแก่ประชาธิปไตย แก่สังคม และแก่สถาบันกษัตริย์เอง
 
จะว่าไปแล้ว การเปิดเวทีให้มีการถกเถียงด้วยเหตุผลว่า ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศจะเห็นสมควรว่าสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยควรจะมีสถานะ อำนาจ และบทบาทอย่างไร น่าจะเป็นการดีแก่สถาบันกษัตริย์เอง เพราะ
 
1) จะทำให้ประเด็นสถาบันถูกยกขึ้นมา “บนเวทีของการใช้เหตุผล” ซึ่งอาจช่วยแก้ปัญหาการเขียนข้อความไม่เหมาะสมบนพื้นถนน ผนังห้องน้ำ การเคลื่อนไหวใต้ดิน (ถ้ามี) ฯลฯ
 
2) อาจเป็นทางหนึ่งที่ช่วยปกป้องชาวบ้านจากการทำผิดกฎหมายหมิ่นฯ ที่เพิ่มมากขึ้น
 
3) ที่สำคัญอาจเป็นทางเดียวที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นด้วย “สันติวิธี”
 
ผมคิดว่า ข้อ 3) สำคัญที่สุด ถ้าสังคมเราสามารถนำประเด็นสถาบันขึ้นสู่เวทีการใช้เหตุผลร่วมกันได้ มีคำตอบร่วมกันได้ว่า กติกาที่เหมาะสมสำหรับสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถาบันที่อยู่เหนือการเมืองจริงๆ คืออะไร ก็เท่ากับเราได้สร้างการเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรมเชิงอำนาจต่อรองทางการเมือง และอำนาจต่อรองด้านอื่นๆ ตามมา ด้วย “สันติวิธี”  
 
 

แต่การหลีกเลี่ยงที่จะอภิปราย “ประเด็นสถาบันกษัตริย์” จะทำให้เกิดปัญหาอย่างน้อยต่อไปนี้

 
1) ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า ข้อเสนอให้อภิปราย “ประเด็นสถาบันกษัตริย์” เป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดต่อการเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ปัญหาสำคัญที่สุดอยู่ที่ฝ่ายที่ปฏิเสธประเด็นดังกล่าวนี้ ไม่สามารถแสดงเหตุผลได้ว่า ถ้าไม่อภิปรายประเด็นดังกล่าว จะสามารถสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย และ/หรือความเป็นธรรมในการต่อรองเชิงอำนาจทางการเมืองและทางอื่นๆได้อย่างไร
 
2) การหลีกเลี่ยงที่จะอภิปราย ทั้งที่มีข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ว่ามีการอ้างสถาบันในการต่อสู้ทางการเมือง การทำรัฐประหาร การปราบปรามประชาชน การจำกัดเสรีภาพในการพูดความจริง ฯลฯ แสดง (อย่างน้อยโดย “นัยยะ”) ถึงการ “ยอมรับ” หรือ “รับได้” กับระบบสังคมที่ห้ามใช้เหตุผลกับบางเรื่อง ซึ่งการห้ามใช้เหตุผลกับบางเรื่องย่อมเท่ากับห้ามใช้เสรีภาพ หรือเสรีภาพถูกจำกัด แต่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยประชาชนต้องมีเสรีภาพที่สมบูรณ์ในความหมายสำคัญที่ว่า “เราต้องสามารถใช้เหตุผลได้อย่างเต็มที่กับทุกเรื่อง”
 
3) ฉะนั้น เมื่อยอมรับให้มีการจำกัดการใช้เหตุผล หรือจำกัดการใช้เสรีภาพ การกล่าวอ้างคำว่า “ประชาธิปไตย” ภายใต้การยอมรับเช่นนี้ ย่อมเป็นคำกล่าวอ้างที่ไร้ความหมาย คือเราจะบอกว่าเรากำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ได้ ถ้าไม่ใส่ใจต่อการแก้ปัญหาการจำกัดเสรีภาพ หรือ “การจำกัดการใช้เหตุผล”
 
4) การหลีกเลี่ยงที่จะอภิปราย เท่ากับยอมจำนนต่อความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ที่ความตายของประชาชนฝ่ายที่เรียกร้องเสรีภาพเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นความตายที่หลีกเลียงไม่ได้ และสะท้อนว่าอนาคตก็ต้องหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน (ทั้งที่จริงสามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าสามารถห้ามการใช้สถาบันเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองได้ ฯลฯ)
 
เป็นความจริงว่า มีประเด็นอื่นๆ ต้องอภิปรายกันอีกมากในการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตย และแม้จะสมมติให้เป็นจริงด้วยว่า การอภิปรายประเด็นสถาบันไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนผ่าน แต่ฝ่ายที่ปฏิเสธการอภิปรายประเด็นสถาบันก็ไม่สามารถมี “คำตอบที่ดีกว่า” ทั้งเรื่องจะเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร ประชาธิปไตยที่เราพูดถึงได้ในระบบสังคมที่ห้ามใช้เหตุผลกับบางเรื่องมีหน้าตาอย่างไร และที่สำคัญคำตอบสำหรับป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้คืออะไร
 
ปัญหาที่น่าคิดยิ่งขึ้นไปอีกคือ ทำไมการนำประเด็นสถาบันขึ้นสู่เวทีการใช้เหตุผล หรือเวทีทางวิชาการ ซึ่งได้รับการปกป้องโดยพื้นฐานด้วยหลักเกณฑ์ที่พิเศษกว่าชาวบ้านคือ หลัก “เสรีภาพทางวิชาการ” นักวิชาการ ปัญญาชนซึ่งได้รับการปกป้องด้วยหลักการดังกล่าว และมีบทบาทหน้าที่ในการชี้นำทางความคิดแก่สังคม จึงดูเหมือนไม่เชื่อมั่นในวิถีทางการใช้เหตุผล (ว่าจะปลอดภัย ฯลฯ) หรือไม่สามารถยกประเด็นที่ละเอียดอ่อนล่อแหลมต่อการจะกลายเป็นเงื่อนไขความรุนแรงขึ้นอีกในอนาคตเข้าสู่วิถีทางการใช้เหตุผล ใช้หลักวิชาการเป็นทางออกจากวิกฤต
 
ผมคิดว่าปัญหา “ความไม่พร้อมที่จะเสี่ยงในการใช้เหตุผลอภิปรายประเด็นสถาบัน” เป็นปัญหาที่ไม่สามารถเข้าใจได้ในบริบทการเรียกร้องประชาธิปไตยในปัจจุบัน "
 
 

ยิ่งอ้างความต้องการเปลี่ยนผ่านสังคมโดยสันติวิธี และเรียกร้องต้องการความยุติธรรมด้วยแล้ว แต่ไม่ยอมยกประเด็นดังกล่าวขึ้นสู่เวทีการใช้เหตุผล ปล่อยให้เรื่องละเอียดอ่อนเช่นนี้ตกลงไปใน “กระแสของการใช้อารมณ์” ของประชาชนทั่วไป ยิ่งสะท้อนให้เห็นความมืดมนและน่าหวาดกลัวของอนาคตสังคมไทย!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net