Skip to main content
sharethis

(13 พฤศจิกายน 2553) แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์แสดงความยินดีที่มีการปล่อยตัวนางอองซานซูจี แต่เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกในประเทศทุกคนโดยทันที

ทั้งนี้ นางอองซานซูจีเป็นนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากสุดในพม่า ในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา เธอถูกกักบริเวณในบ้านกว่า 15 ปี เธอเคยเป็นหนึ่งในนักโทษการเมืองกว่า 2,200 คน รวมทั้งนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังในสภาพที่เลวร้าย

“แม้ว่าเราจะยินดีกับการปล่อยตัวนางอองซานซูจี แต่ก็เป็นเพียงการสิ้นสุดของคำสั่งลงโทษที่ไม่เป็นธรรมที่มีการใช้กฎหมายเพื่อขยายการบังคับใช้ก่อนหน้านี้ และไม่อาจถือเป็นความริเริ่มของทางการได้เลย” ซาลิล เชตตี (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว “ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า ทางการไม่ควรจับกุมเธอหรือนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกคนอื่น ๆ อีกมากในพม่าตั้งแต่แรก ทั้งไม่ควรกีดกันพวกเขาจากการเข้าร่วมในการเมือง”

ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพผู้นี้ ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2546 หลังจากกลุ่มอันธพาลที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ โจมตีทำร้ายขบวนรถของเธอที่เมืองเดปายิน ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปจำนวนหนึ่งและบาดเจ็บอีกมาก ครั้งนั้นถือเป็นครั้งที่สามที่เธอถูกกักบริเวณในบ้าน หลังจากเคยถูกควบคุมตัวเช่นนี้มาก่อนระหว่างปี 2532 - 2538 และ 2543 - 2545

“ในครั้งนี้ ทางการต้องรับประกันความปลอดภัยให้กับนางอองซานซูจีด้วย” ซาลิล กล่าว

“เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่รัฐบาลพม่าต้องยุติความไม่เป็นธรรมเนื่องจากการคุมขังนักโทษการเมืองในประเทศ ในขณะที่ประชาคมนานาชาติ ทั้งจีน อินเดีย อาเซียน และองค์การสหประชาชาติ ต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกันไม่ให้ทางการพม่าใช้ระบบกฎหมายอย่างมิชอบเพื่อลงโทษผู้ประท้วงอย่างสงบและสันติ การปล่อยตัวนางอองซานซูจีต้องไม่ทำให้พวกเขาลืมนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกคนอื่น ๆ”

ปัจจุบันยังมีนักโทษการเมืองกว่า 2,200 คนที่ถูกคุมขังเนื่องจากตัวบทกฎหมายที่คลุมเครือ ที่รัฐบาลใช้เพื่อเอาผิดกับฝ่ายต่อต้านอย่างสันติ พวกเขาถูกจองจำในสภาพที่ยากลำบาก ขาดแคลนทั้งอาหารและสุขอนามัย นักโทษหลายคนมีสุขภาพไม่ดีและไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม หลายคนถูกทรมานระหว่างการสอบสวนและควบคุมตัวในเบื้องต้น และเมื่อถูกส่งเข้าเรือนจำก็เสี่ยงจะถูกทรมานและถูกลงโทษจากเจ้าหน้าที่ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าผู้ที่ถูกจองจำส่วนใหญ่เป็นนักโทษด้านมโนธรรมสำนึก ซึ่งถูกลงโทษเพียงเพราะใช้สิทธิในการแสดงความเห็น การชุมนุมและการรวมตัวอย่างเสรีและสันติ

ผู้ต้องขังหลายคนถูกจับกุมเพราะเข้าร่วมในการปฏิวัติชายจีวรเมื่อปี 2550 ซึ่งเป็นการประท้วงซึ่งเริ่มต้นจากการขึ้นราคาเชื้อเพลิงและโภคภัณฑ์อย่างขูดรีด ในช่วงสามปีที่ผ่านมา นักโทษการเมืองหลายร้อยคนได้ถูกโยกย้ายไปอยู่ในเรือนจำที่ห่างไกลมาก ทำให้ญาติและทนายความมาเยี่ยมได้ลำบากและทำให้ยากต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ทั้งยังมีรายงานการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างอื่นอีกมากมาย คณะกรรมการกาชาดสากล (International Committee of the Red Cross) ก็ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยมเรือนจำในพม่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548

แถลงการณ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลายปีก่อน เพียงสองสัปดาห์ก่อนที่คำสั่งควบคุมตัวจะหมดอายุลงในปี 2552 ทางการก็ได้จับกุมตัวนางอองซานซูจีและตั้งข้อหาเธออีกครั้งว่าละเมิดเงื่อนไขการกักบริเวณในบ้าน ในวันที่ 11 สิงหาคม 2552 ภายหลังการไต่สวนที่ได้รับการประณามอย่างกว้างขวางจากประชาคมนานาชาติ เธอก็ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลาสามปี แต่มีการเปลี่ยนโทษเป็นการกักบริเวณในบ้าน 18 เดือน

การปล่อยตัวของเธอเกิดขึ้นเพียงหกวันหลังการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีของพม่า ในขณะที่การปราบปรามทางการเมืองยังดำเนินอยู่ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางอองซานซูจี ได้รับที่นั่งเป็นส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 แต่ผู้นำทหารที่ปกครองประเทศเป็นเวลาหลายทศวรรษ กลับไม่ยอมให้พรรคของเธอเข้าบริหารประเทศ

ทั้งนี้ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกทุกคน รวมทั้ง

* มินโกนาย อดีตผู้นำนักศึกษาและผู้เรียกร้องประชาธิปไตย อายุ 47 ปี ต้องโทษจำคุก 65 ปีฐานเข้าร่วมการประท้วงเมื่อปี 2550
* พระคัมภีร์ จากกลุ่มพันธมิตรพระภิกษุแห่งพม่า (All Burma Monks Alliance - ABMA) ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุก 63 ปี ฐานเข้าร่วมการประท้วงที่นำโดยพระภิกษุเมื่อปี 2550
* อู ขุนตุนอู่ อายุ 67 ปี ประธานพรรคสันนิบาตชาติพันธุ์ไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (Shan Nationalities League for Democracy - SNLD) ต้องโทษจำคุก 93 ปีเพราะไม่เห็นด้วยกับแผนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของรัฐบาล เขาป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

อนึ่ง นางอองซานซูจีได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2534 แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2520

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net