Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 16 .. 53 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิฯ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และติมอร์ เลสเต้ ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

 

คณะกรรมการสิทธิฯ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และติมอร์ เลสเต้

 

ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า

 

ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมแถลงการณ์ กับหัวหน้าคณะผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และติมอร์ เลสเต้ เกี่ยวกับการที่ ออง ซาน ซู จี และสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า ในระหว่างการประชุมประจำปี ครั้งที่ 7 มีสาระสำคัญดังนี้

 

การปล่อยตัว ออง ซาน ซู จี เป็นอิสระถือเป็นชัยชนะเพียงบางส่วนของการต่อสู้อันยาวนานเพื่อประชาธิปไตยในพม่า และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองอื่นๆ

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 5 ประเทศประกาศที่จะร่วมมือกัน เพื่อให้มีการคุ้มครองเสรีภาพของออง ซาน ซู จี อย่างไม่มีเงื่อนไข และเห็นว่า รัฐบาลพม่าควรประกันว่า ไม่ควรมีการจับกุมบุคคล ตามอำเภอใจ กักขัง หรือถูกผลักดันให้ออกนอกประเทศ และควรคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล ชนพื้นเมืองดั้งเดิม และชนกลุ่มน้อย

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 5 ประเทศ สนับสนุนกระบวนการหารือเพื่อสันติภาพ ระหว่างกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างประชาธิปไตยและมีการปกครองโดยหลักนิติธรรม ออง ซาน ซูจี และประชาชนทุกกลุ่มควรได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองที่เป็นธรรม โดยไม่มีการข่มขู่ทำร้าย

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 5 ประเทศหวังว่า พม่าจะมีการจัดให้มีการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นธรรม ตามกำหนดเวลา เพื่อสนองตอบเจตนารมณ์ของประชาชนในพม่า เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน

 

นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเข้าร่วมการประชุมด้วย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้ง 5 ประเทศ ในนามของ SEANF ได้แสดงท่าทีร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพต่อกรณีการปล่อยตัวของ ออง ซาน ซู จี นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตกลงให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในการประชุมเพื่อยกร่างแผนยุทธศาสตร์ ในเดือนมกราคม 2554 ต่อไป

 

16 พฤศจิกายน 2553

 

หมายเหตุ :

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติของไทย (กสม.) มาเลเซีย (SUHAKAM) ฟิลิปปินส์ (CHRP) และอินโดนีเซีย (Komnas HAM) จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันในนามของ The South East Asia National Human Rights Institutions Forum (SEANF) โดยการประชุมครั้งที่ 7 จัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2553

 

ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เข้าร่วมประชุมได้แก่ ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net