รายงาน: วสุ สุริยะแก่นทราย “เขาคิดว่าผมตายแล้ว”

“เขาคิดว่าผมตายแล้ว” เสียงจากลุงวสุ สุริยะแก่นทราย ชายไทยวัย 59 ปี เหยื่อจากสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน 2553


 

หลังจากเพื่อนอาสมัครได้พบกับลุงวสุ สุริยะแก่นทราย อายุ 59 ปี เหยื่อจากสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่เดินทางไปยื่นหนังสือที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรม สายของวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 พวกเรา 4 คน ได้เดินทางไปเยี่ยมและเก็บข้อมูลที่ร้านข้าวขาหมู ในพื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเจ้าของเป็นคนเสื้อแดงและคอยช่วยเหลือดูแลซึ่งกันละกันมา

เดิมลุงวสุ และ ป้ากูลกิจ สุริยะแก่นทราย อายุ 58 ปี ภรรยา ทำงานเป็นลูกจ้างโรงงานทอผ้าในย่านนั้น ต่อมาในปี 2543 และ 2544 ลุงและป้าได้ออกจากงานตามลำดับ โดยลุงหันมาทำอาชีพทำยาหม่อง-น้ำมันสำหรับนวด และรับจ้างนวดแผนโบราณตามบ้านต่างๆ ซึ่งมีรายได้พอสมควร ไม่ได้เดือดร้อนอะไรนัก

ป้ากูลกิจเล่าให้ฟังว่า ทั้งสองคนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และบอกกันต่อหน้าศาลพระภูมิ “ถ้ามีการชุมนุมประท้วงคุณลุงไปนะ” นอกจากนั้น ยังไม่พอใจการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำผ้าอนามัยที่ใช้แล้วไปทำพิธีกับพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 และการปิดสนามบิน “คุณไปทำไม นั่นเป็นเศรษฐกิจของชาติ ฉันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรอก ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็เฉพาะคนไทย แต่นี่สุวรรณภูมิ เดือดร้อนกันไปเท่าไหร่” หลังจากนั้น ลุงวสุก็ออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่องเมื่อมีการชุมนุมของคนเสื้อแดงทั้งในกรุงเทพและในจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งช่วงเมษายนปีที่แล้ว ลุงกับเพื่อนเจ้าของร้านขาหมู จะออกไปชุมนุม กลับบ้านและออกไปอีก ในลักษณะนี้โดยตลอด ขณะที่ตัวป้าเองไม่สามารถที่จะเข้าร่วมการชุมนุมได้เพราะเป็นโรคภูมิแพ้อันเนื่องมาจากการทำงาน

ในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงในปีนี้ ลุงวสุและเพื่อนบ้านก็ไปชุมนุมเหมือนกับครั้งที่ผ่านมา โดยจะไปรวมกลุ่มกับผู้ชุมนุมที่มาจากภาคอิสาน (บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ) ที่ตั้งเต็นท์อยู่ใกล้กับสี่แยกคอกวัว  แต่ในวันที่ 8 เมษายน 2553 เมื่อทราบข่าวว่าจะมีการสลายการชุมนุม ป้าก็ได้ตัดสินใจออกไปชุมนุมด้วย แต่เนื่องจากเป็นผู้หญิงจึงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็น “แม่ครัว”

 เหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ขณะที่ป้าทำอาหารอยู่ที่เต็นท์ ลุงวสุและเพื่อนๆในกลุ่มซึ่งได้รู้จักกันระหว่างชุมนุมได้ “ออกไปดูสถานการณ์” ข้างนอก และกลับมาในตอนเที่ยงวัน หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ลุงก็ออกไปแถวโรงเรียนสตรีวิทยาอีก

นี่เป็นการเจอกันสุดท้ายก่อนที่จะพบลุงวสุอีกครั้งที่โรงพยาบาลในสภาพที่ไม่แน่ใจว่าจะมีชีวิตรอดหรือไม่

ก่อนออกไป ลุงยื่นเงินจำนวน 100 บาท ให้เพื่อนผู้ชายในกลุ่มที่มีอายุมากแล้วเช่นเดียวกัน ให้อยู่ที่เต็นท์ คอยดูแลป้าและคนอื่นๆ ซึ่งป้าเพิ่งรู้ภายหลังจากที่ลุงออกไปแล้ว เนื่องจากถามว่า “ทำไมไม่ออกไปเหมือนกับคนอื่น” และลุงคนนั้นเล่าให้ฟัง

ห้าโมงเย็นกว่า ขณะที่สถานการณ์กำลังตึงเครียดมากขึ้นทั้งที่อนุสาวรีย์และสี่แยกคอกวัว เพื่อนที่ไปด้วยกันวิ่งกลับมาที่เต็นท์ ป้าถาม “อ้าวไหนผัวฉันละ ไปด้วยกันทำไม่เอากลับมาด้วย” เพื่อนตอบ “จะเอากลับมาได้อย่างไร พวกฉันต่างคนต่างก็หนีตายมา”  

พวกเราไม่มั่นใจว่าลุงจะสามารถที่พูดคุยมากน้อยขนาดไหน จึงสนทนากับป้าเป็นหลัก แต่เมื่อถึงเหตุการณ์ที่ถูกทำร้าย ลุงวสุก็พยายามเล่าเอง และป้าก็เลยให้ลุงช่วยเล่าให้ฟัง

แม้ลุงวสุจะไม่ได้สามารถระบุสถานที่เกิดเหตุได้อย่างแน่ชัด แต่สามารถจำนาทีนั้นได้ ลุงเดินมือเปล่าเข้าไปหาทหารเพื่อห้ามไม่ให้ใช้ความรุนแรง สลายการชุมนุม เพราะคิดว่าหาก “คนแก่เข้าไปห้าม คิดว่าเขาจะไม่ทำอะไร” และถ้าหากเป็นคนหนุ่มไปเผชิญหน้ากับทหาร จะเกิดปะทะกันได้  “เราแย่แน่ ไม่ปลอดภัย และ (จึง) บอกให้คนหนุ่มหลบไป”  และบอกทหารว่า “ทำอย่างนี้ไม่ดี อย่าทำอย่างนี้ ลุงขอร้องเหอะ เราคนด้วยกัน คนไทยด้วยกัน อย่าทำอย่างนี้... บอกอย่างนี้ มันเล่นเราเลย ทหารนะ อ้าวตีผมทำไม ทีนี้ไม่ฟังแล้ว... ตีตุ๊บตุ๊บตุ๊บ (นึกในใจ) กูตาย กูไม่เหลือแล้ว อนาคตกูแค่นี้”   

ลุงวสุถูกตีที่บริเวณศีรษะและลำตัวจนสลบอยู่กับที่และถูกนำไปส่งถึงโรงพยาบาลกลางเวลาประมาณ 6 โมงเย็น ก่อนจะฟื้นขึ้นมาในอีก 3 วันต่อมา คนที่เห็นเหตุการณ์และจำลุงได้ ได้โทรศัพท์ไปบอกญาติที่ต่างจังหวัดว่า ลุงวสุเสียชีวิตแล้ว แต่เมื่อทราบภายหลังว่ายังไม่เสียชีวิต เขาก็ไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์อีกเลย

ผลจากการ “โดนของแข็ง” ทำให้สมอง (ด้านซ้าย) ได้รับการกระทบกระเทือนและมีเลือดคั่งในสมองต้องทำการผ่าตัด และทำให้แขน-ขาขวาไม่สามารถที่จะใช้งานได้อย่างปกติ โดยจากเอกสารรับรองความพิการ ออกโดยโรงพยาบาลกลาง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2553 ระบุว่า  “การใช้ภาษาพูด” “การเคลื่อนไหว แขน ขา และเท้า (อ่อนแรง แขนขาขยับไม่ได้)” “ลักษณะทั่วไปของร่างกาย” และ “ความสามารถทางการเรียนรู้” “บกพร่อง” และลงความเห็นว่า “ส่งต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมาย”

หลังจากเหตุการณ์ ป้าได้เข้าแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งในวันที่ 18 เมษายน 2553 แต่จนกระทั่งบัดนี้ ยังไม่มีความก้าวหน้า ไม่มีการเรียกสอบปากคำแต่อย่างใด ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาล นางพยาบาลได้บอกกับป้าว่า “ลุงนี่เป็นหลักฐาน ให้รักษาตัวให้ดี” และผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ได้เข้าไปสัมภาษณ์ ได้ให้คำแนะนำว่าให้ “หาที่หลบไปสักพักหนึ่งก่อน”

เมื่อออกจากโรงพยาบาลกลางในปลายเดือนเมษายน ป้าจึงตัดสินใจพาลุงวสุไปอยู่ในสวนซึ่งมีญาติพี่น้องส่วนหนึ่งคอยช่วยกันดูแล และเข้ารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยใช้สิทธิของผู้ประกันสังคม ที่ลุงจ่ายเงินสบทบไว้หลังออกจากงาน แต่ก็ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม แพทย์ท่านหนึ่งพูดกับป้าว่า “เสื้อแดงหรือ ผมไม่รับรักษาหรอก” และมีการแนะนำให้ลาออกจากการเป็นผู้ประกันสังคมเพื่อแลกกับการรับเงินเพียง 40,000 บาท

ปัจจุบัน แม้อาการของลุงจะดีขึ้นบ้าง จะพูดได้บ้างแล้ว แต่แขน-ขาด้านขวา ไม่สามารถใช้งานได้ ป้าต้องประคองหรือนั่งรถเข็นตลอดเวลาเมื่อต้องออกไปไหนมาไหน โดยป้าได้หันไปหาวิธีการรักษาตามแผนโบราณ เช่น ฝังเข็ม การนวด เป็นต้น โดยหวังว่าลุงวสุจะดีขึ้นกว่านี้

แม้จะมีรายได้จากหอพักซึ่งสร้างเสร็จไม่นานมานี้จำนวนหนึ่ง แต่ก็พอๆกับหนี้เงินกู้ที่นำมาก่อสร้างซึ่งต้องจ่ายคืนให้กับธนาคารในแต่ละเดือน การที่ลุงไม่สามารถทำงาน หาเงินได้ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพื่อการรักษาตัว  ทำให้ลุงและป้าประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ป้ายื่นสมุดบัญชีธนาคารให้พวกเราดู มีเงินอยู่ 1400 บาท จากเดิมที่มีอยู่ 400 บาท และมี “คนใจบุญ” 2 คนโอนมาให้คนละ 500 บาท

เพื่อนของเราถามลุงวสุว่า “ยังสู้ไหม” ลุงตอบทันที “สู้ซิ”     

 หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่มีภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเห็นเหตุการณ์ที่ลุงวสุถูกตีจนได้รับบาดเจ็บ กรุณาส่งข้อมูล หรือติดต่อเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการแสวงหาข้อเท็จจริงได้ที่ uchane19@hotmail.com  และสามารถบริจาคช่วยเหลือลุงและครอบครัวโดยตรงได้ที่ นางกูลกิจ สุริยะแก่นทราย เลขที่บัญชี 467-0-40776-7 ออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท