Skip to main content
sharethis

18 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุม  ร.102 คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 และกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.53(ศปช.) เนื่องในกรณีครบรอบ6เดือน การล้อมปราบประชาชนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นางสาวกฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะกรรมการ ศปช.ได้แถลงว่า ในกรณีที่รัฐบาล โดยกระทรวงยุติธรรม ได้เข้าไปช่วยประกันตัวผู้ที่ถูกคุมขังสืบเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค. 53  โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ที่ถูกคุมขังสืบเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายธีรเดช สังขทัต นายสมหมาย อินทนาคา และนายบุญยฤทธิ์ โสดาคำ โดยกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ยื่นประกันตัวและใช้กองทุนยุติธรรมวางหลักทรัพย์ค้ำประกันให้ ซึ่งต่อมาวันที่ 11 พ.ย. นายกฯ อภิสิทธิ์ก็ได้เชิญนายสมหมายและนายบุญยฤทธิ์เข้าพบที่รัฐสภา

 
ภายหลัง นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ย. 53 ว่า ผู้ที่ถูกคุมขังสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดนั้น เป็นการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย เพียงแต่ว่าจากการสำรวจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกระทรวงยุติธรรม พบว่าปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังอยู่ประมาณ 180 ราย ซึ่งจำนวนหนึ่งมีปัญหา เช่น ปัญหาสุขภาพ ผลกระทบต่อการศึกษา สมควรจะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ และจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการดูแลทางด้านกฎหมายเท่าที่ควร ดังนั้น นายกฯ จึงมอบหมายให้ทางกระทรวงยุติธรรมไปดูรายละเอียดเป็นรายบุคคล หากกรณีไหนเป็นความผิดไม่ร้ายแรง ดูแล้วไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคง ก็จะขอให้มีการยื่นประกันตัวต่อศาล แล้วถ้ากรณีไหนขาดแคลนทุนทรัพย์ กองทุนยุติธรรมสามารถนำเงินกองทุนไปช่วยเหลือได้
 
สำหรับเหตุผลที่ได้เชิญผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากกลไกของกระทรวงยุติธรรมจนได้ประกันตัวออกมา 2 ราย พร้อมครอบครัว ไปพบที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น นายอภิสิทธิ์บอกว่า เนื่องจากการประกันตัวครั้งนี้ดำเนินการโดยกองทุนของรัฐ ซึ่งทำให้เป็นการเพิ่มน้ำหนักเวลาไปขอประกันตัวจากศาล ฉะนั้นจึงขอความร่วมมือว่าเมื่อได้รับการประกันตัวแล้ว ขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการประกันตัวอย่างเคร่งครัด ไม่ทำเช่นนั้น หากไปทำผิดเงื่อนไขของศาลก็จะต้องถูกจับกุมคุมขังอีก และที่สำคัญ ถ้ารายที่ได้ประกันตัวออกมาแล้วมีปัญหา จะส่งผลกระทบต่อรายอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว
 
ทั้งนี้ นายกฯ ยังได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นผลงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการปฏิรูปและการปรองดอง
 
ต่อกรณีดังกล่าว ศปช. มีความเห็นและข้อสังเกต ดังนี้
 
1) นายกฯ อภิสิทธิ์ย้ำตั้งแต่ต้นว่า ผู้ที่ถูกคุมขังทั้งหมดนั้น เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย รัฐบาลเพียงแต่เข้าไปพิจารณาช่วยเหลือเป็นรายกรณีเท่านั้น ตามนโยบายปรองดอง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ ศปช. ลงไปสำรวจ พบว่า หลายกรณีมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าการจับกุมนั้น อาจมีปัญหาละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย รวมทั้งหลักสิทธิมนุษยชนสากล หลายกรณีมีลักษณะการจับกุมแบบเหวี่ยงแห ไม่มีพยานหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอ หรือมีการตั้งข้อหาที่รุนแรงกว่าความเป็นจริง หลายกรณีผู้ที่ถูกจับกุมถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทรมาน ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม ลักษณะวิธีการจับกุมไม่เป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งมีบางกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมหรือหลอกล่อให้ยอมรับสารภาพ ตัวอย่างกรณีของนายวิษณุ กมลแมน ซึ่งถูกจับกุมบริเวณปากซอยรางน้ำตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 53 และเพิ่งจะพ้นโทษอ อกมาเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังต้องจำคุก 6 เดือนว่า ตนเองถูกทหารจับกุมและซ้อมเพื่อให้รับสารภาพว่ามาร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง ปัญหาเหล่านี้มีต้นเหตุสำคัญมาจากการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่กลไกของรัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุมขังนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่สืบเนื่องจากการกระทำของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐเอง รัฐบาลไม่ควรสำคัญผิดว่าเป็นผลงานปรองดองของตน
 
2) สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญก็รับรองไว้ด้วยว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ เมื่อพิจารณาตามหลักการดังกล่าว ประกอบกับปัญหาของการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แล้ว ดังนั้น ผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 ต้องได้สิทธิในการประกันตัวเป็นกรณีทั่วไป การไม่ได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวต้องพิจารณาเป็นกรณียกเว้นเป็นรายๆ ไป มิใช่จะพิจารณาในการช่วยเหลือให้ได้รับการประกันตัวเป็นรายบุคคลเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือการศึกษาในลักษณะสงเคราะห์ดังที่นายกฯ แถลง แม้กระทั่งกรณีที่มีข้อหาร้ายแรงหรือดูแล้วมีอันตรายต่อความมั่นคงในสายตาของรัฐบาลก็สมควรได้รับการประกันตัวด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วเป็นการตั้งข้อหารุนแรงเกินกว่าความเป็นจริง เหวี่ยงแห ขาดพยานหลักฐานที่มีน้ำหนัก
 
3) มีข้อสังเกตว่า นอกจากการที่รัฐบาลจะฉวยโอกาสนำมาเป็นผลงานของตนแล้ว รัฐบาลกำลังใช้การเข้ามาช่วยเหลือให้ได้รับประกันตัวนี้ เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของตนหรือไม่ ในการประกันตัวรัฐบาลมียื่นเงื่อนไขทางการเมืองต่อผู้ถูกคุมขัง นอกเหนือจากเงื่อนไขของศาลหรือไม่ ดังเช่นในวันเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์เรียกนายสมหมายและนายบุญยฤทธิ์เข้าพบ นายเทพไท เสนพงศ์ ในฐานะโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯ ฝากให้ญาติของผู้ที่ได้รับการประกันตัวช่วยดูแลไม่ให้ทำความผิดซ้ำอีก ให้ปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ทำผิดเงื่อนไขประกันตัว รวมไปถึงการไม่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วย หากคนที่ออกมาก่อนทำผิดเงื่อนไข คนที่เหลืออาจเสียสิทธิได้รับการประกันตัวจากกระทรวงยุติธรรม
 
 
ต่อกรณีการแถลงความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวกับการเสียชีวิตของทหาร ตำรวจ และประชาชน ในเหตุการณ์ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นางสาวกฤตยา อาชวนิจกุล กรรมการ ศปช.ได้แถลงว่าเมื่อวันที่ 16 พ.ย. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ได้แถลงถึงผลการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวกับการเสีย ชีวิตของทหาร ตำรวจ และประชาชน 89 ราย ในเหตุการณ์ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 โดยมีสาระสำคัญคือ หลังจากพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายให้ดีเอสไอ พนักงานสอบสวนได้ใช้เวลาสืบสวนมาระยะหนึ่ง ได้ข้อสรุปว่าสามารถแยกคดีได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
 
                 
ประเภทที่สอง คือคดีที่ยังไม่เป็นที่ยุติว่าการเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของกลุ่ม นปช.หรือกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งสมควรดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพตามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 จำนวน 6 ศพ ประกอบด้วย (1) กรณีผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามฯ จำนวน 3 ศพ จากจำนวน 6 ศพได้แก่ นายรพ สุขสถิต นายมงคล เข็มทอง นายสุวัน ศรีรักษา (2) กรณีพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเสียชีวิต บริเวณแยกอนุสรณ์สถานแห่งชาติ จำนวน 1 ศพ(3) กรณีผู้เสียชีวิตบริเวณสวนสัตว์ดุสิต คือ นายมานะ อาจรญ จำนวน1 ศพ และ (4) กรณีผู้สื่อข่าวสัญชาติญี่ปุ่นเสียชีวิต บริเวณถนนดินสอ คือ นายฮิยูกิ มูราโมโต้ จำนวน 1 ศพ
จากกรณีดังกล่าว ศปช. มีความเห็นและข้อสังเกต ดังนี้
 
1)    การแถลงข่าวของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ในลักษณะนี้ เป็นการให้ข่าวที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือ ก่อให้เกิดความสับสน  ศปช. เห็นว่า เราสามารถแบ่งเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 ได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่ (1) เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 53 (2) เหตุการณ์วันที่ 13-18 พ.ค. 53 และ (3) เหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค. 53   ดีเอสไอควรแถลงให้ชัดในแต่ละเหตุการณ์ว่า สำนวนคดีแต่ละเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งจากการแถลงของดีเอสไอจะพบว่า เหตุการณ์ช่วงที่ 2 ซึ่งประชาชนจำนวนมากถูกอาวุธปืนความเร็วสูงหรือสไนเปอร์ยิงเสียชีวิตนั้น หายไป  ขณะที่สไนเปอร์เป็นอาวุธที่มีใช้เฉพาะในกองทัพและหน่วยงานของรัฐบางแห่งเท่านั้น รวมทั้งปรากฎภาพและคลิปวิดีโอชัดว่ามีทหารใช้สไนเปอร์ในปฏิบัติการ “กระชับวงล้อม” จริง ทำไมการพิสูจน์หาพยานหลักฐานในช่วงนี้ถึงหายไป
 
2)    นับตั้งแต่ ศอฉ. ใช้กำลังทหารเข้า “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” การควบคุมดูแลพื้นที่ใน กทม. โดยเฉพาะบริเวณที่ชุมนุมของ นปช. นั้น อยู่ภายใต้ความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฎิบัติราชการตามหน้าที่ทั้งหมด  ดังนั้น ศพทุกศพที่เกิดขึ้นจะต้องทำการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตาย ตาม ป.วิ.อาญา ม. 150  ไม่ใช่เลือกเฉพาะเป็นบางกรณีดังที่ดีเอสไอเสนอ
 
3)    ในคดีประเภทที่ 1 ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ระบุว่ามีพยานหลักฐานตามสมควรว่ามีผู้เสียชีวิตเกิดจากการกระทำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า เป็นใคร กลุ่มไหน ไม่ใช้ระบุแบบเหมารวมโดยไม่แยกแยะ และจำเป็นต้องระบุพฤติกรรมด้วยว่ามีอะไรบ้างที่สามารถระบุได้เช่นนั้น
 
4)    เห็นได้ชัดเจนว่า หลังจากผ่านเหตุการณ์มาถึง 6 เดือนแล้ว ในการสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอ มีความคืบหน้าชัดเจนเฉพาะคดีที่รัฐบาล ศอฉ. และดีเอสไอเอง อ้างมาตลอดว่าเป็นฝีมือของฝ่าย นปช. หรือฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น  แต่คดีที่สาธารณะสงสัยว่าทหารหรือเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำให้ประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากนั้น กลับไม่มีความชัดเจนใดใดเลย  ขณะที่ในการดำเนินคดีกับแกนนำ นปช. ในข้อหาก่อการร้ายนั้น ตามสำนวนฟ้อง แกนนำ นปช. ถูกกล่าวหาโดยเชื่อมโยงว่ามีส่วนทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 90 ศพ   แต่หากการสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอมีความคืบหน้าเพียงแค่นี้ การฟ้องร้องดำเนินคดีกับแกนนำ นปช. ก็น่าจะมีปัญหาในเชิงพยานหลักฐาน
 
5)    ปัญหาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า การทำงานของดีเอสไอเลือกที่จะมุ่งไปที่การสนับสนุนการดำเนินคดีต่อแกนนำ นปช. และหวังสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้แก่รัฐบาล-ศอฉ. เป็นด้านหลัก มากกว่าที่จะดำเนินการอย่างเที่ยงธรรมในทุกกรณีที่มีการเสียชีวิต  
 
6)    ศปช. เห็นว่า บทบาทหน้าที่ของดีเอสไอนั้น ควรเน้นไปที่การสืบสวนสอบสวนอย่างเที่ยงธรรมในเวลาอันเหมาะสม ไม่ใช่บทบาทที่ที่จะมาให้ข่าวที่ก่อให้เกิดความสับสนคลุมเครือและออกมาไต่สวนทางสาธารณะว่าฝ่ายใดหรือใครเป็นผู้กระทำให้เกิดการเสียชีวิตเพื่อหวังผลทางการเมือง หากควรเป็นบทบาทของศาลที่เป็นผู้ไต่สวนและทำคำสั่งแสดงถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย นอกจากนี้ ศปช. ยังเห็นว่าดีเอสไอควรจะต้องทำอย่างยิ่งก็คือ การเปิดเผยรายงานการชันสูตรศพต่อญาติของผู้เสียชีวิต ซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูล
 
7)    อันที่จริง ศปช. ยังมีความสงสัยในความสามารถของดีเอสไอที่จะทำการสืบสวนสอบสวนอย่างสุจริตเที่ยงธรรม เนื่องจากดีเอสไอ โดยเฉพาะอธิบดี เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อกรณีนี้ เนื่องจากอธิบดีดีเอสไอมีบทบาทสำคัญใน ศอฉ. มาโดยตลอด ซึ่งหากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำให้ประชาชนเสียชีวิต ศอฉ. ก็จะตกเป็นจำเลยด้วย
 
8)    สุดท้าย ศปช. เห็นว่า นอกจากเรื่องกรณีผู้เสียชีวิตแล้ว เราต้องไม่ลืมว่ามีประชาชนที่บาดเจ็บ บางกรณีถึงขั้นพิการ อีกจำนวนมาก สืบเนื่องจากเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 53   ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องยังต้องรับผิดชอบทำการสืบสวนสอบสวนว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุด้วยหรือไม่  มีส่วนในการกระทำให้ประชาชนบาดเจ็บนับพันรายหรือไม่  และจะชดใช้ให้กับคนเหล่านั้นอย่างไร  ประเด็นเรื่องการกระทำที่เกินกว่าเหตุนี้ ดีเอสไอจะต้องนำเอาข้อมูลปฏิบัติการของ ศอฉ. และกองทัพมาให้สาธารณะร่วมตรวจสอบว่ามีการใช้กำลังทหารอย่างไรใช้อาวุธเท่าไร อย่างไร สมควรแก่เหตุหรือไม่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net