Skip to main content
sharethis

18 พ.ย. 2553 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม แถลงจุดยืนต่อกรณีพบชิ้นส่วนตัวอ่อนมนุษย์ (ซากทารก) ที่วัดไผ่เงิน โดยกล่าวว่า กรณีดังกล่าวควรถือเป็นบทเรียนของสังคมไทยต่อความอ่อนแอของมาตรการป้องกันการท้องและการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม สังคมและสื่อมวลชนจึงไม่ควรมุ่งเป้าไปที่ประเด็นในเชิงศีลธรรมต่อผู้หญิงและผู้ให้บริการเท่านั้น แต่ควรเสนอข่าวให้รอบด้าน เพื่อสร้างความเข้าใจต่อปัญหาและหาทางออกร่วมกัน

และยังได้แสดงจุดยืนต่อเรื่องดังกล่าวว่า สังคมไทยควรมีมุมมองต่อผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมในเชิงเข้าใจมากกว่าการประณาม เพราะทำให้ต้องเผชิญปัญหาอย่างหลบซ่อน ขาดข้อมูล เข้าไม่ถึงบริการ, ควรร่วมการสร้างมาตรการป้องกันให้เข้มแข็งขึ้น, ภาครัฐควรพัฒนาบริการปรึกษาทางเลือกที่เป็นมิตรให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อม, จัดบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยที่สอดคล้องกับกฏหมาย และควรมีบ้านพักรอคลอด และการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งก่อนและหลังคลอด

นอกจากนี้ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม จะมีการจัดงานเสวนาเรื่อง “ทัศนคติของสังคมต่อเรื่องท้องไม่พร้อม” ในวันอังคารที่ 23 พฤศจิกายนนี้ เวลา 14.00 น. ที่โรงแรมเฟิร์ส ซ.เพชรบุรี 15 กรุงเทพฯ โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.เมทินี พงษ์เวช ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี, ตัวแทนแพทย์ (กำลังดำเนินการประสานงาน) และคุณอุษาสินี ริ้วทอง หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ทางสังคม องค์การแพธ

 


จุดยืนของเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม[1]
ต่อกรณีพบชิ้นส่วนตัวอ่อนมนุษย์ (ซากทารก) ที่วัดไผ่เงิน

          กรณีดังกล่าวควรถือเป็นบทเรียนของสังคมไทยต่อความอ่อนแอของมาตรการป้องกันการท้องและการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม สังคมและสื่อมวลชนจึงไม่ควรมุ่งเป้าไปที่ประเด็นในเชิงศีลธรรมต่อผู้หญิงและผู้ให้บริการเท่านั้น แต่ควรเสนอข่าวให้รอบด้าน เพื่อสร้างความเข้าใจต่อปัญหาและหาทางออกร่วมกัน  เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม จึงมีจุดยืนต่อกรณีนี้ ดังต่อไปนี้
1.    สังคมไทยควรมีมุมมองต่อผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมในเชิงเข้าใจมากกว่าการประณาม เพราะทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญปัญหาอย่างหลบซ่อน ขาดข้อมูลและเข้าไม่ถึงบริการ จึงนำไปสู่การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ทำแท้งสูงถึง 300 คนต่อแสนต่อปีหรือราว 1,380 คนจากจำนวนผู้ป่วย 45,990 คนในปี 2542

2.    ภาครัฐ เอกชน และทุกภาคส่วนของสังคมไทย ควรร่วมกันสร้างมาตรการณ์ป้องกันการท้องให้เข้มแข็งขึ้น โดยให้ทั้งชายและหญิงมีบทบาทรับผิดชอบอย่างเสมอกัน

3.    ภาครัฐควรจริงจังต่อการพัฒนาบริการปรึกษาทางเลือกที่เป็นมิตรให้กับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม เพื่อให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหามีทางออกที่เหมาะสมและสอดคล้องกับชีวิต

4.    ควรจัดมีบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยที่สอดคล้องกับข้อกฎหมาย ในกรณี 1) ถูกข่มขืน 2) ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี และ 3) การท้องนั้นส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของผู้หญิง เพราะการขาดบริการที่เข้าถึงได้นี้ ทำให้ผู้หญิงต้องเข้าสู่การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย

5.    ควรมีบ้านพักรอคลอด และการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งก่อนและหลังคลอด ที่เพียงพอ เข้าใจ เข้าถึงได้ และมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมมีความเชื่อมั่นและไม่พบทางตันต่อทางเลือกในการตั้งครรภ์ต่อไป

 


 

 [1] เป็นเครือข่ายขององค์กรภาครัฐและเอกชน 45 องค์กร มีภารกิจทำงานครอบคลุมทุกมิติชีวิตของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ตั้งแต่เรื่องเพศศึกษา การคุมกำเนิด การปรึกษาทางเลือก การดูแลผู้หญิงที่ตัดสินใจท้องต่อตั้งแต่ก่อน-หลังคลอด และการดูแลแม่และเด็กในระยะยาว รวมทั้งการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยมีเป้าหมายสูงสุดที่คุณภาพชีวิตของผู้หญิงที่ประสบปัญหาและเด็กเป็นหลัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net