Skip to main content
sharethis

 

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)   จับมือกระทรวงสาธารณสุข และภาคี เตรียมจัดเวทีวิชาการสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ครั้งที่ 1 “10 ปีกระจายอำนาจด้านสุขภาพ สังเคราะห์บทเรียนเพื่อหาทางออกร่วมกัน” ชี้ต้องการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายร่วมถกประเด็นอุปสรรค หวังคลายปมคิดที่ติดขัดเกี่ยวกับกระจายอำนาจด้านสุขภาพ พร้อมยกร่างข้อเสนอจากฝ่ายวิชาการ ดันเข้าสู่แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ 3
 
สวรส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันพระปกเกล้า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนดจัดเวทีวิชาการสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ครั้งที่ 1 ขึ้น ในหัวข้อ 10 ปี การกระจายอำนาจด้านสุขภาพ : สังเคราะห์บทเรียนเพื่อหาทางออกร่วมกัน   ในวันพุธที่ 1 ธันวาคม 2553   ณ ห้องประชุมศักดิ์ดิเดชน์ สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ อาคารบี ชั้น 5 โดยจะมี รศ.วุฒิสาร ตันไชย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวปาฐกถาพิเศษ “กระจายอำนาจกับความเป็นธรรมด้านสุขภาพ”   พร้อมการนำเสนอข้อมูลจากงานวิจัย กรณีศึกษา และข้อเสนอเชิงนโยบายจากฝ่ายวิชาการและเปิดอภิปรายรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคลากรจากสถานีอนามัย เป็นต้น
 
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวถึงการจัดเวทีวิชาการในครั้งนี้ ว่าเป็นการเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้มีพื้นที่ในการสื่อสารสองทาง ได้พูดคุย ทำความเข้าใจ และหาทางออกร่วมกัน โดยนำข้อมูลทางวิชาการจากงานวิจัยมาเป็นจุดตั้งต้นในการพูดคุย ซึ่งผลงานวิจัยเหล่านี้มาจากศาสตร์และความรู้หลากหลายสาขา ทั้งรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สาธารณสุข จึงทำให้มองเห็นถึงความเชื่อมโยงกันในทุกมิติของสังคมที่จะได้รับผลจากการกระจายอำนาจ   และหวังว่าข้อเสนอที่ได้มาจากการวิจัยเหล่านี้ จะเป็นวิถีทางที่สามารถปลดเงื่อนตายคลายปมคิดเกี่ยวกับการกระจายอำนาจด้านสุขภาพในสังคมไทยได้
 
ผศ. เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทสรุปจากงานวิจัยเรื่อง “กระบวนการทางการเมืองในการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข: ศึกษากรณีการถ่ายโอนสถานีอนามัย” ที่ชี้ให้เห็นถึงโจทย์ใหญ่ที่ต้องทบทวนเกี่ยวกับการกระจายอำนาจด้านสุขภาพในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าอุปสรรคสำคัญเกี่ยวข้องกับหลายระดับด้วยกัน ประการแรกคือปัญหาความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมาย ประการที่สอง คือการยึดถือความชำนาญเฉพาะด้านมากกว่าหลักการกระจายอำนาจซึ่งรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมแต่เมื่อใช้หลักเหตุผลด้านความชำนาญนำหน้าทำให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องถ่ายโอนอำนาจ   อุปสรรคประการที่สาม คือความไม่เป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งได้รับงบประมาณจากการจัดสรรจากส่วนกลาง โดยพบว่าผลงานพัฒนาด้านสาธารณสุขสามารถใช้เป็นเครื่องมือสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองให้กับนักการเมืองท้องถิ่นได้ แต่ท้องถิ่นยังไม่สามารถตัดสินใจโดยอิสระว่าจะพัฒนางานสุขภาพไปในทางใด
 
ทางด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์   นักวิชาการผู้ศึกษาทางเลือกการกระจายอำนาจ เสริมในประเด็นดังกล่าวว่า ผลจากงานวิจัยยังทำให้ทราบถึงความเข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจในสังคมไทย ที่ยังยึดติดอยู่แค่รูปแบบเดียว คือการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้ท้องถิ่น ทั้งๆ ที่การกระจายอำนาจนั้นยังมีอีกหลายรูปแบบที่สามารถทำได้

“ วิธีคิด มุมมองและความเข้าใจของฝ่ายต่าง ๆต่อนิยาม ขอบเขต รูปแบบ ของการกระจายอำนาจ ที่คิดเพียงมิติของการยกสถานีอนามัยไปให้อยู่ในสังกัดหรือเป็นของท้องถิ่น กลายเป็นเงื่อนไขหลัก ที่ทำให้การกระจายอำนาจด้านสุขภาพกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากจะขยับทำอะไร ผมคิดว่า ข้อเสนอทางนโยบายที่จะเสนอในครั้งนี้ ต้องเป็นข้อเสนอที่สามารถปลดล็อคอันนี้ได้จึงจะเป็นข้อเสนอที่ทุกฝ่ายรับได้และเดินหน้าไปด้วยกัน” นพ.ปรีดา กล่าว
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net