Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเพื่อนหญิงและองค์กรเครือข่ายร่วมจัดงาน ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ที่ จ.ลำพุน สร้างเครือข่ายคนงาน-ชุมชน ลด ละ เลิกเหล้า สร้างครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนมีสุข

 

25 .. 53 – เวลา 09.00 น. ที่วัดศรีบุญยืน ต.เหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิรักษ์ไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เทศบาลตำบลเหมืองง่า เครือข่ายประชาคมงดเหล้า จ.ลำพูน และองค์กรเครือข่าย ร่วมกันจัดงาน “แถลงผลการดำเนินงาน โครงการ ชุมชนต้นแบบ ลด ละ เลิกเหล้า: ครอบครัวเข้มแข้ง ชุมชนมีสุข ตำบลเหมืองง่า และ รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี”

จากข้อมูลของผู้จัดงาน พบว่าสถิติงานสาธารณะสุข จ.ลำพูน ในปี พ.. 2548 อันดับโรคผู้ป่วยนอก 5 อันดับแรกนั้น ปัญหาจากการบริโภคแอลกอฮอล์อยู่ในอันดับที่ 3 และจากการสำรวจข้อมูลการดื่มสุราในชุมชนตำบลเหมืองง่า ในปี พ.. 2551 พบว่ามีผู้ดื่มสุราสูงถึง 9,627 คนจากจำนวนประชากร 14,631 คน คิดเป็นร้อยละ 65.80

การสำรวจร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใน ต.เหมืองง่า อ.เมืองลำพูน (ซึ่งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมลำพูน) พบว่ามีร้านจำหน่ายสุราจำนวน 134 ร้าน ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับจำนวนหลังคาเรือน 6,990 หลังคาเรือน เฉลี่ยแล้วทุก 52 หลังคาเรือน จะมีร้านค้าสุราปลีก 1 ร้าน

ทั้งนี้ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน เช่นต่อตัวผู้ดื่มเอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว การว่างงาน การตกงาน ปัญหาสุขภาพเกิดโรคแทรกซ้อนทางร่างกายและจิตใจที่เรื้อรังและรุนแรง ผลกระทบต่อครอบครัวเช่น เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การหย่าร้าง ครอบครัวแตกแยก ทะเลาะวิวาท ปัญหาสังคมละเศรษฐกิจ ได้แก่ การว่างงาน การทะเลาะวิวาทในชุมชน

โดยในปี พ..2549 – 2552 มีผู้ติดสุราที่มีภาวะซึมเศร้าและพยายามฆ่าตัวตายจำนวน 56 ราย คิดเป็นอัตรา 382.75 ต่อแสนประชากร ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการพยายามฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตายสำเร็จของตำบลเหมืองง่า และ จ.ลำพูน สูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี

จากปัญหาที่กล่าวมา มูลนิเพื่อนหญิง ร่วมกับสถานีอนามัยบ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการท้องถิ่นที่ให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน และทำหน้าที่ส่งเสริมและสร้างความเข็มแข็งด้านสุขภาพแก่ชุมชนในพื้นที่ ได้เล้งเห็นความสำคัญของผลกระทบอันเนื่องมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงได้จัดทำโครงการชุมชนต้นแบบลด ละ เลิกเหล้า : ครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนมีสุข ตำบลเหมืองง่าขึ้น โดยดำเนินงานในหมู่บ้านที่ 3 บ้านศรีบุญยืน และหมู่ที่ 8 บ้านหลุก เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบด้วยกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่ติดสุราและผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการในพื้นที่ให้เป็นบุคคลต้นแบบเลิกเหล้า ครอบครัวเข้มแข็ง ลดความรุนแรงในครอบครัว เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของคนในชุมชนและขยายผลจากคนต้นแบบไปสู่การสร้างชุมชนมีสุข ลด ละ เลิก เหล้า ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลเหมืองง่า

วิสุทธิ์ มโนวงศ์ มูลนิธิเพื่อนหญิงกล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นความพยายามสร้างเครือข่ายระหว่างคนงานและชุมชน ในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาต่างๆ ที่ตามมาในชุมชน โดยกิจกรรมในวันนี้วิสุทธิ์กล่าวว่ามีความคาดหวังที่จะเป็นการร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้หันมารณรงค์ลด ละเลิก เหล้า ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกับแรงงานโดยตรง เพราะว่าในชุมชน ต.เหมืองง่านั้นมีประชากรแฝงที่เป็นคนงานโรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้วิสุทธิ์เห็นว่าในการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตนิคมสำคัญๆ ต่างๆ ควรมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนควบคู่กันไปด้วย

 

ผลการดำเนินงานของโครงการชุมชนต้นแบบ ลด ละ เลิกเหล้า : ครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนมีสุข ตำบลเหมืองง่า

 

สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ดังนี้

 

1.     ผู้เข้าร่วมโครงการ 11 ราย สามารถหยุดการดื่มเหล้าลงได้ และจำนวน 22 รายสามารถลดการดื่มเหล้าลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัย {โดยการตรวจทางพยาธิวิทยา (ระดับฮอร์โมนและสมรรถภาพตับ) และจากการประเมินผลของกลุ่มแกนนำ}

2.     ครอบครัวของผู้ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถหยุดการดื่มเหล้าลงได้จำนวน 11 ราย มีความสุข และความอบอุ่นภายในครอบครัวมากขึ้นจากเดิม เช่น กรณีของลุงกองเงิน สุรินธรรม ครอบครัวเล่าให้ฟังว่า “เมื่อก่อนคนในครอบครัวไม่เคยกินข้าวเย็นกันพร้อมหน้า พอคุณพ่อเข้าร่วมโครงการก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น กลับบ้านตรงเวลา ได้กินข้าวเย็นพร้อมหน้ากัน ไม่มีเสียงเอะอะเอ็ดตะโร ถ้วยโถโอชามอยู่ปกติดี” ลุงกองเงินบอกว่า “ผมไม่ดื่มเหล้าแล้วครับ ชีวิตที่ผ่านมาเสียดายจริงๆ” กรณีลุงอินสม สินธุศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า “หลังจากที่เข้าโครงการสักระยะหนึ่งตนรู้สึกดีขึ้นมาก ได้รับการตอบรับจากครอบครัวดีมากขึ้น เช่นภรรยากลับมาหุงหาอาหารให้รับประทาน พูดคุยด้วย ลูกสาวซื้อเสื้อให้ใหม่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ตรงกันข้ามกับที่ตอนตนเองดื่มเหล้า ที่ต้องนอนโดดเดี่ยว มีลูกเหมือนไม่มี ไม่กล้าออกงานสังคม ไม่กล้าไปช่วยเหลือใคร แต่พอมาเข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการ ทุกอย่างในชีวิตเริ่มดีขึ้น มีแกนนำมาพูดให้กำลังใจ มีคุณหมอจากสถานีอนามัยมาให้กำลังใจ จนสามารถชนะใจตนเองและเลิกเหล้าได้” กรณีคุณภากร ยะมณี บอกว่า “หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการ ทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น ภรรยากลับมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ยอมซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซต์ ยอมไปไหนมาไหนด้วย ครอบครัวอบอุ่นขึ้นจริงๆ สุขภาพก็ดีขึ้นด้วย” กรณีลุงแสง สันโรงพิน บอกว่า “ขณะนี้มีความสุขมาก ไปไหนมาไหนไม่อายใครอีกแล้ว ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ ได้รับการตอบรับจากลูกๆ หลานๆ หากับข้าวมาส่งให้ ดูแลเรื่องความสะอาดเสื้อผ้าให้” กรณีคุณตาถวิล สุริยวงศ์ เล่าให้ฟังว่า “กว่าจะรู้ตัวก็เกือบสายเสียแล้ว สุขภาพไม่ค่อยดี ผิวพรรณไม่แจ่มใส ขณะนี้อายุ 74 ปีแล้ว ยังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นความดีเลย เมื่อสมัครใจเข้าร่วมโครงการจึงรู้สึกว่ายังไม่สายเกินแก้ จึงตั้งใจพยายามอดทนเพื่อสุขภาพ เพื่อจะได้เป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกหลาน และพร้อมที่จะบอกว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกอย่างทำลายสุขภาพ บั่นทอนเศรษฐกิจของครอบครัวตัวจริง หลังจากเลิกดื่มได้ ก็ได้ชีวิตใหม่ เพื่อนใหม่และมีความสุขขึ้นจริงๆ” นี่คือตัวอย่างเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมโครงการ

3.     ทำให้สถิติผู้ติดสุราที่มีภาวะซึมเศร้าและผู้พยายามฆ่าตัวตายในตำบลเหมืองง่าลดลงจากเดิม โดยในปีงบประมาณ 2553 จำนวนผู้พยายามฆ่าตัวตายลดลงเหลือ 4 ราย จำนวนผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเหลือเพียง 1 ราย และที่สำคัญ ในหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ ไม่มีผู้ติดสุราที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าและมีการพยายามฆ่าตัวตายแม้แต่รายเดียว

4.     ชุมชนมีความสุขมากขึ้น ปัญหาการทะเลาะวิวาท ความรุนแรงในครอบครัวลดลงจากเดิมเป็นอันมาก จากการสำรวจดัชนีความสุขของคนในหมู่บ้านที่ 3 บ้านศรีบุญยืนและหมูที่ 8 บ้านหลุก พบว่าชาวบ้านมีความสุขมากกว่าคนทั่วไป 40.27 มีความสุขเท่ากับคนทั่วไป ร้อยละ 38.34 มีความสุขน้อยกว่าคนทั่วไปร้อยละ 21.39

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net