Skip to main content
sharethis

ออง ซาน ซูจี” ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีของพม่า ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ “แอมเนสตี มาเลเซีย” ตอบคำถามจากเยาวชนอาเซียน พร้อมฝากคนหนุ่มสาวทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ เพื่อให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองในพม่า ซึ่งในจำนวนนี้มีเยาวชนรวมอยู่ด้วย “ประชาไท” นำเสนอพร้อมเสียงสัมภาษณ์

ไฟล์เสียงสัมภาษณ์พิเศษทางโทรศัพท์กับ “ออง ซาน ซูจี” เมื่อ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา จากคำถามของนักกิจกรรมเยาวชนในอาเซียน ตั้งถามโดยนอรา มูรัต (Nora Murat) ผู้อำนวยการแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล มาเลเซีย [ที่มา: ได้รับการเอื้อเฟื้อจากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล มาเลเซีย (Amnesty International Malaysia)]

 

เมื่อคืนวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่เปตาลิงจายา ประเทศมาเลเซีย แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล มาเลเซีย (Amnesty International Malaysia) หรือเอไอมาเลเซีย ได้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับนางออง ซาน ซูจี ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพปี 2534 และผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของพม่า ซึ่งเพิ่งได้รับอิสรภาพเมื่อวันเสาร์ที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา หลังถูกกักบริเวณในบ้านมาตั้งแต่ปี 2546 โดยการสนทนานี้กินเวลาประมาณ 6 นาทีเศษ

ก่อนหน้านี้เมื่อคืนวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา เอไอมาเลเซีย พยายามจัดการสนทนาทางไกล (teleconference) กับนางออง ซาน ซูจี เช่นกัน โดยกำหนดการในวันดังกล่าวนักกิจกรรมเยาวชนของเอไอมาเลเซีย และนักกิจกรรมเยาวชนของแอมเนสตีอินเตอร์เนชั่นแนลจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ รวมทั้งฮ่องกง อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะเป็นผู้ตั้งคำถาม และนางออง ซาน ซูจีจะเป็นผู้ตอบ อย่างไรก็ตามในวันดังกล่าวไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์เข้าไปในพม่าได้

ต่อมาในวันที่ 24 พ.ย. เอไอมาเลเซีย พยายามติดต่อนางออง ซาน ซูจีอีกครั้ง โดยแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ออสเตรเลีย หรือ เอไอ ออสเตรเลีย ได้ร่วมฟังการสนทนาทางไกลครั้งนี้ด้วย และในครั้งนี้สามารถติดต่อกับนางออง ซาน ซูจีได้ โดยผู้สัมภาษณ์คือ น.ส.นอรา มูรัต (Nora Murat) ผู้อำนวยการเอไอมาเลเซีย เป็นผู้สัมภาษณ์นางออง ซาน ซูจี โดยใช้คำถามที่รวบรวมจากนักกิจกรรมเยาวชนของแอมเนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล และคำถามจากนางนอราเอง

เรากังวลมากว่าสายจะถูกตัด เราทราบมาก่อนว่าการโทรศัพท์เข้าพม่าเป็นเรื่องไม่น่าวางใจ แต่คืนดังกล่าวถือเป็นคืนที่มหัศจรรย์สำหรับพวกเราและบรรดาเยาวชน” นอรากล่าวผ่านคำแถลงในอีเมล์ “สิ่งนี้ทำให้พวกเรามีความสุขและมีแรงบันดาลใจที่จะทำงานของเราต่อไป”

โดยนางออง ซาน ซูจีตอบคำถามทั้งหมด 5 ข้อ โดยนางออง ซาน ซูจี ได้ตอบคำถามของนายไฟซาล อาซิส (Faisal Aziz) เยาวชนจากมาเลเซีย ซึ่งถามปรึกษาว่าเยาวชนจะสามารถดำเนินการรณรงค์ในประเด็นพม่าได้ในด้านใด และกลุ่มใดที่ควรเป็นเป้าหมายของการรณรงค์ โดยนางออง ซาน ซูจีตอบว่า “เพื่อนคนหนุ่มสาว ขอให้พยายามทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ เพื่อให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองในพม่าจำนวนกว่า 2,200 คน ในจำนวนนี้เป็นคนหนุ่มสาวเช่นเดียวกัน จำนวนมากอายุไม่ถึง 20 ปี” นางออง ซาน ซูจีกล่าวด้วยว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือ “สร้างความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์นักโทษการเมืองในพม่า”

ออง ซาน ซูจี ตอบคำถามถึงสถานการณ์ในพม่าหลังจากที่เธอได้รับการปล่อยตัวว่า สิ่งที่ฉันเห็นในวันแรกก็คือ ได้เห็นคนหนุ่มสาวในพม่าจำนวนมากในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นที่เธอกล่าวปราศรัยที่หน้าพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งเธอระบุว่า “เป็นสิ่งที่ทำให้เธอมีกำลังใจมากๆ” และระบุว่าอยากเห็นคนหนุ่มสาวในพม่าได้ติดต่อกับคนหนุ่มสาวทั่วโลก ซึ่งจะช่วยหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับพม่าต่อไป

ต่อคำถามสุดท้ายที่ว่า รัฐบาลประเทศไหนที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดที่คนหนุ่มสาวจะรณรงค์เพื่อสร้างกระแสกดดันต่อรัฐบาลทหารพม่าให้เกิดมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน นางออง ซาน ซูจี ตอบว่า เพื่อให้เกิดสิทธิมนุษยชนในพม่า กล่าวเฉพาะประเทศในอาเซียนทั้งหมด เราต้องการให้พวกเขาทั้งหมดร่วมมือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไทยถือว่าสำคัญเพราะถือเป็นประเทศเพื่อนบ้าน สิงคโปร์ก็เป็นประเทศสำคัญด้านเศรษฐกิจกับพม่า มาเลเซียก็สำคัญเพราะต้องก้าวเดินไปข้างหน้าร่วมกัน รวมทั้งอินโดนีเซียก็มีความสำคัญเพราะเคยเป็นประเทศเผด็จการทหารและปัจจุบันเปลี่ยนเป็นประเทศประชาธิปไตย ซึ่งมีประธานาธิบดีมีท่าทีที่ดีต่อเรา

โอกาสนี้ เอไอมาเลเซียได้เอื้อเฟื้อคลิปเสียงสัมภาษณ์ออง ซาน ซูจีความยาวประมาณ 6 นาทีเศษสำหรับเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net