Skip to main content
sharethis

ทีดีอาร์ไอชี้ "เหลื่อมล้ำ" แก้ได้ด้วยโอกาสการศึกษา-ฝึกอบรม แนะจัดสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า ค่าใช้จ่ายไม่ใช่ปัญหา แต่อยู่ที่การจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม จวกรัฐกันผู้ประกันตนออมกองทุนชราภาพ จะเพิ่มความเสี่ยงของคนรายได้ต่ำ

(29 พ.ย.53) โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกล่าวในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 เรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า เศรษฐกิจไทยในระยะกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาได้รุดหน้าไปอย่างมาก โดยประเทศไทยมีความมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้น และจำนวนคนยากจนก็ลดลงมากกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่เรื่องความยากจนอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาด้านคุณภาพของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา และเป็นสาเหตุหลักหนึ่งของความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง ซึ่งสั่นคลอนระบอบประชาธิปไตยไทยทุกวันนี้

เขากล่าวว่า ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ มีอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ หนึ่ง นโยบายภาครัฐในอดีต โดยเฉพาะสิทธิพิเศษหรือประโยชน์ที่มิควรได้ที่ให้แก่ภาคธุรกิจและการคอร์รัปชั่นทางการเมือง สอง การจ้างงานที่มีคุณภาพปริมาณไม่มากพอ ทำให้โครงสร้างแรงงานประกอบด้วยแรงงานนอกระบบจำนวนมาก ขณะที่การสร้างงานที่ใช้ความรู้และฝีมือซึ่งให้ผลตอบแทนสูงพอที่จะมีชีวิตในฐานะชนชั้นกลางได้เพิ่มขึ้นน้อย ส่งผลให้จำนวนผู้เสียภาษีน้อยและฐานภาษีแคบ นอกจากนี้ โครงสร้างภาษีปัจจุบันยังมีการเก็บภาษีหรือลดหย่อนยกเว้นภาษีที่ไม่เป็นธรรม

สาม โครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าความเจริญของไทยในอดีตไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นการพัฒนาที่จะเพิ่มงานประเภทที่มีชนชั้นกลางมากขึ้น  และสี่ การขาดระบบสวัสดิการพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ เช่น แรงงานไทยส่วนใหญ่ยังอยู่นอกระบบ ขณะที่รายจ่ายของรัฐยังไม่ถึงมือผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และผู้ที่ควรได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง โดยในอนาคตจะต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษาและฝึกอบรมที่ต้องปรับปรุงให้ได้ผล

 

ย้ำชัดคนไทยต้องการสวัสดิการถ้วนหน้า

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ "การสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐาน: ค่าใช้จ่ายระบบสวัสดิการสังคมที่คน ไทยต้องการ" ว่า จากการสำรวจ 2 วิธีการ ได้แก่ หนึ่ง สำรวจประชากรทั่วประเทศจำนวน 3,680 คนในเดือนเมษายน 2553 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชาชนทุกภาคเกินกว่าร้อยละ 60 ต้องการสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ขณะที่ภาคใต้ ประชาชนครึ่งหนึ่งต้องการสวัสดิการถ้วนหน้า อีกครึ่งหนึ่งต้องการให้ช่วยเฉพาะ คนจน ในสวัสดิการสองประเภทคือ การให้เงินช่วยเหลือเด็ก และการเรียนฟรีระดับมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ มีบริบทคือ ขณะทำสำรวจนี้ ราคายางในภาคใต้ กิโลกรัมละ 100 บาท เมื่อถามถึงสวัสดิการ 500 บาท เขาจึงมองว่าควรใช้ช่วยเหลือคนจนก่อน

ขณะที่การสำรวจวิธีที่สอง คือ การทำประชาเสวนาปี 2552-53 จำนวน 14 จังหวัด จากผู้เข้าร่วม 692 คน โดยความร่วมมือของ สสส. สช. และสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ส่วนใหญ่เห็นว่าการให้สวัสดิการสังคมตั้งแต่เกิดจนตายควรเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้าเช่นกัน โดยให้ความสำคัญกับสวัสดิการด้านการศึกษา (เรียนฟรีอนุบาล-มหาวิทยาลัย) เป็นอันดับแรก ตามด้วยสวัสดิการด้านการรักษา พยาบาล (รักษาฟรี-มีคุณภาพ) และสวัสดิการด้านอาชีพ (จัดฝึกอาชีพ-หางานให้คนจบใหม่ คนว่างงาน คนต้องการเปลี่ยนงาน) ตามลำดับ ด้านการดำเนินการจัดสวัสดิการ ส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลกลางเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากเชื่อว่าจะมีมาตรฐานระดับเดียวกันทั้งประเทศ และยังไม่ค่อยไว้ใจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

วรวรรณ ระบุว่า สำหรับค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคมในปี 2552 ที่ไปถึงมือประชาชนเป็นจำนวน 3 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ไปกับเรื่องสุขภาพและผู้สูงอายุ ซึ่งหลักๆ เป็นเรื่องเบี้ยยังชีพ โดยแบ่งเป็นค่ารักษาพยาบาล บำเหน็จบำนาญข้าราชการและสมบทเข้า กบข.ร้อยละ 53 ค่ารักษาพยาบาลและเบี้ยยังชีพร้อยละ 36 และค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยให้กับลูกจ้างเอกชน ร้อยละ 11 โดยในอนาคต หากสามารถจัดสรรสัดส่วนให้กระจายได้กว่านี้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี

 

ชี้ระบบประกันสุขภาพไม่เสมอภาค

นอกจากนี้ วรวรรณกล่าวถึงระบบสวัสดิการสังคมของไทย 3 ระบบได้แก่ ระบบของข้าราชการ ลูกจ้าง และอาชีพอื่นๆ ว่ายังมีฐานที่ไม่สอดคล้องกัน โดยไม่มีใครกำกับความเสมอภาคของสวัสดิการทั้งสามระบบ และยกตัวอย่างความล้มเหลวในการเป็นผู้กำกับของกระทรวงสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพว่า กระทรวงสาธารณสุขที่ควรเป็นผู้กำกับกลไกสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน กลับเป็นเจ้าของสถานพยาบาล ซึ่งเป็นคู่ค้ากับ สปสช. สปส. และกรมบัญชีกลางเสียเอง ทำให้หน้าที่กำกับดูแลนั้นเบลอไป กลายเป็นเจรจาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสถานพยาบาล

ด้านหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ วรวรรณวิจารณ์ว่า การสนับสนุนจากรัฐสำหรับผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มนั้นขาดความโปร่งใสและความน่าไว้วางใจ โดยอ้างถึงการแก้มาตรา 46 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม ในปี 2542 ที่ปรับลดให้รัฐจ่ายสมทบกรณีสงเคราะห์ บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน น้อยกว่านายจ้างและลูกจ้าง จากเดิมที่สมทบฝ่ายละเท่าๆ กัน โดยชี้ว่า นอกจากรัฐจะจ่ายสมทบน้อยกว่าแล้ว ยังเป็นการแก้ลดสิทธิผู้ประกันตน ที่ไม่ชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจน ทั้งนี้ แม้จะอ้างวิกฤตเศรษฐกิจ แต่พบว่า ในปีเดียวกัน มีการจ่ายสมทบเข้า กบข.ประมาณ 10,000 ล้านบาทด้วย

นักวิชาการทีดีอาร์ไอกล่าวต่อถึงประเด็นความไม่เป็นธรรมของรัฐ โดยยกกรณีร่าง พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งไม่ยอมให้ผู้ประกันตนเข้าร่วมการ ออมในกองทุนนี้ เพราะรัฐต้องสมทบด้วยว่า รัฐมองข้ามไปว่า ร้อยละ 77 ของลูกจ้างในระบบประกันสังคม มีค่าจ้างน้อยกว่า 10,000 บาท และเปลี่ยนงานอยู่เสมอ การตัดสิทธิออมเงินใน กอช. จะเพิ่มความเสี่ยงให้คนที่มีรายได้ต่ำเหล่านี้ เพราะหากเขาเกษียณอายุ อาจถูกตัดสิทธิบำนาญประกันสังคม เพราะการสมทบไม่คงที่ และจะไม่มีเงินออมใน กอช. อีก

นอกจากนี้ การสมทบของรัฐตามที่ระบุในร่าง พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ จะทำให้การกระจายรายได้แย่ลงด้วย โดยเมื่อลองแบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่มตามรายได้ และสมทบแบบที่ระบุไว้ในร่าง คือ "ยิ่งออมมาก รัฐยิ่งสมทบมาก" จะพบว่า ช่องว่างระหว่างกลุ่มรวยสุดกับกลุ่มจนสุดห่างกันถึง 6.47 ต่อ 1 ขณะที่หากรัฐสมทบในสัดส่วนเท่ากันทั้งหมด ช่องว่างของรายได้จะอยู่ที่ 2.33 ต่อ 1

วรวรรณ สรุปว่าประเทศไทยยังขาดกลไกสำคัญที่จะให้หลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุเป็นระบบที่มีความเป็นธรรม และดูแลเรื่องบำนาญพื้นฐานว่าควรเป็นอย่างไร บำนาญของประชาชนกลุ่มต่างๆ ควรปรับตามอัตราเงินเฟ้อหรือไม่ อายุเกษียณสำหรับคนไทยควรเป็นเท่าใด กติกาการย้ายกองทุนควรเป็นอย่างไร จะติดตามความมั่นคงของกองทุนต่างๆ อย่างไร การบริหารจัดการบางอย่างร่วมกันของแต่ละกองทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบจะทำได้หรือไม่ และกองทุนต่างๆ จะต่อรองกับรัฐบาลเพื่ออกพันธบัตรผลตอบแทนสูงแก่ประชาชนได้หรือไม่

"สวัสดิการสังคมของไทยกำลังพัฒนาไปตามแบบไทยๆ" เธอกล่าวและว่า ค่าใช้จ่ายในอนาคตจะสูงมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับทางเลือกของสวัสดิการที่ต้องการ ทั้งนี้ ปัญหาจะไม่ได้อยู่ที่ค่าใช้จ่าย แต่จะเป็นปัญหาของการจัดการระบบให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม และเป็นระบบที่ประชาชนไว้ใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net