Skip to main content
sharethis

สวรส.เผยผลวิจัย 10 ปีกระจายอำนาจสุขภาพไม่คืบหน้า สะท้อนความล้มเหลวการบังคับใช้กฎหมายกับภาครัฐย้ำต้องกระจายอำนาจเพื่อความเข้มแข็งของท้องถิ่นและชุมชนฐานราก

1 ธ.ค. 53 - นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส.ได้สนับสนุนการทำงานวิจัยเรื่องการกระจายอำนาจด้านสุขภาพรวมประมาณ 10 เรื่อง ผลวิจัยสะท้อนภาพรวมว่าการกระจายอำนาจด้านสุขภาพไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับเวลา 10 ปีที่ผ่านไป ดังนั้นในวาระที่กำลังจะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ 3 สวรส. จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันพระปกเกล้า และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีวิชาการสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ครั้งที่ 1 ขึ้น ในหัวข้อ “10 ปี การกระจายอำนาจด้านสุขภาพ: สังเคราะห์บทเรียนเพื่อหาทางออกร่วมกัน” ในวันพุธที่ 1 ธันวาคม ณ ห้องอบรมสถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ

ผอ.สวรส.กล่าวอีกว่า การกระจายอำนาจด้านสุขภาพต้องบรรลุเป้าหมายทั้งสองด้านอย่างสมดุล คือ ต้องเกิดการกระจายความรับผิดชอบและอำนาจการตัดสินไปไปยังท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม โดยที่ยังคงรักษามาตรฐานคุณภาพ ประสิทธิภาพ ของงานสาธารณสุขเอาไว้ได้และเชื่อว่าในระยะยาวระบบบริการสุขภาพจะตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนได้ดีกว่าเดิม

“ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขห่วงว่าท้องถิ่นขาดความเชี่ยวชาญในวิชาชีพทางด้านสุขภาพ แต่การไม่กระจายออกไปก็เป็นการขัดต่อกฎหมาย ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจและมีเป้าหมายหรืออุดมการณ์ต่อทิศทางการพัฒนาสังคมที่ชัดเจนร่วมกัน ว่าเราจำเป็นต้องกระจายอำนาจออกไปเพื่อความเข้มแข็งของท้องถิ่น และเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและการพึ่งตนเองได้ของชุมชนและประชาชนในระยะยาว เราก็จะหันมาคิดหารูปแบบที่กระทรวงสาธารณสุขจะสามารถถ่ายโอนภารกิจออกไป แล้วก็ช่วยสนับสนุนให้ระบบยังคงมีคุณภาพตามมาตรฐานสาธารณสุขเอาไว้ได้” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ นักวิชาการผู้ศึกษารูปแบบการกระจายอำนาจด้านสุขภาพในบริบทปัจจุบัน กล่าวว่าความไม่คืบหน้าในการกระจายอำนาจนี้ เป็นกรณีที่เห็นสะท้อนให้เห็นได้ชัดถึงความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายกับภาครัฐ สาเหตุหลักคือความแตกต่างในทางความคิด ที่ต่างยึดติดอยู่เพียงประเด็นเดียวว่าควรถ่ายโอนสถานบริการไปสังกัดอปท.หรือไม่ ทั้งๆ ที่ยังมีอีกหลายแนวคิดที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ โดยการถ่ายโอนเป็นรูปแบบหนึ่งแต่ปัญหาคือที่ผ่านมามีการถ่ายโอนแบบแยกส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่องานสาธารณสุขมากกกว่าผลดี

“การให้อปท.ขนาดเล็กดำเนินการโดยเฉพาะด้านรักษาพยาบาลโดยลำพัง จะมีผลด้านลบมากทั้งเรื่องความคุ้มค่าในการดำเนินงาน ภาระค่าใช้จ่าย การพัฒนาศักยภาพ การประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ และหากแยกส่วนกันทำในลักษณะ 1 สอ. 1 อบต. ก็ยิ่งจะเกิดการกระจายสังกัดมากถึงกว่า 6 – 7 พันแห่ง เกิดช่องว่างว่าใครดูแลพื้นที่ใดแค่ไหน และหากไม่ประสานกันจะเกิดปัญหาการควบคุมโรคระบาดร้ายแรง ปัญหาการส่งต่อข้ามเขต ปัญหาการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ เป็นต้น” นพ.ปรีดา กล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องการกระจายอำนาจสุขภาพในปัจจุบัน คือ การถ่ายโอน สอ.ไม่ครบตามเป้าหมาย ที่ตั้งเป้านำร่องภายในสิ้นปี 2553 จำนวน 35 แห่ง ถ่ายโอนได้สำเร็จ 28 แห่ง อีก 7 แห่งขอยกเลิกการถ่ายโอน ในขณะที่ อปท. หลายแห่งที่ไม่อยากรอก็ตั้งสถานบริการขึ้นเองแล้วกว่า 600 แห่ง บุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน ข้อเสนอทางออกที่ฝ่ายวิชาการเสนอไว้ ประเด็นสำคัญ ๆ คือ หากจะเดินหน้าถ่ายโอนสถานีอนามัย ควรถ่ายโอนทั้งจังหวัดเป็นอย่างน้อย ควรหลีกเลี่ยงการตั้งสถานบริการขึ้นมาซ้ำซ้อนกัน และควรพิจารณารูปแบบการจัดการหรือกลไกการทำงานร่วมกันของท้องถิ่น สาธารณสุข และชุมชน นำมาใช้ให้เหมาะกับพื้นที่ เช่น รูปแบบสหการ รูปแบบองค์การมหาชน และรูปแบบคณะกรรมการเขตสุขภาพ เป็นต้น และที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การตัดสินใจทิศทางการพัฒนาคืบหน้าไปได้ จำเป็นต้องมีการจัดกระบวนการสานเสวนาทำความเข้าใจและหาฉันทามติร่วมกันก่อน รวมทั้งต้องจัดให้มีสำนักงานพัฒนาการกระจายอำนาจด้านสุขภาพที่ขึ้นตรงกับสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจ ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยบริหารจัดการที่มีอำนาจดำเนินการตามแผนที่ตกลงร่วมกันไว้ได้จริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net