Skip to main content
sharethis

ชี้ไม่สอดคล้องต่อสภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน เผยผลสำรวจแรงงานหญิงร้อยละ 50 มีบุตรคนเดียว เพราะค่าจ้างที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการที่จะเลี้ยงดูบุตร

7 ธ.ค. 53 - เว็บไซต์นักสื่อสารแรงงานรายงานว่านางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และผู้นำแรงงานจากสหพันธ์แรงงาน ร่วมกันแถลงข่าว “คัดค้านเลขล็อคค่าจ้างขั้นต่ำ ยืนยันค่าจ้างต้องเป็นธรรม”  ณ ห้องปะชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กรุงเทพฯ

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กล่าวถึงการแถลงข่าวครั้งนี้ เพื่อประกาศจุดยืนการปรับค่าจ้างของคณะกรรมการค่าจ้างต้องสอดคล้องกับความ เป็นจริง และความต้องการของผู้ใช้แรงงานที่ได้มีการทำผลสำรวจจากหลายสำนักก็ยังคงเห็น ด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 421 บาท ทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงขอยืนบนหลักการเดิมเสนอต่อคณะ กรรมการค่าจ้างที่จะประชุมปรับค่าจ้างขั้นต่ำในวันที่ 9 ธันวาคม 2553 นั้น การที่จะล็อคปรับค่าจ้างเพียง 10 บาท ตอนนี้ไม่สอดคล้องต่อสภาวะเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานในปัจจุบัน แล้ว ขอให้พิจารณาเสียใหม่ให้เกิดความสอดคล้องต่อความต้องการของผู้ใช้แรงงานด้วย และต่อประเด็นของท่านนายกก็อยากให้รักษาจุดยืนที่เสนอไว้ ที่ 250 บาทต่อวัน เพราะหลักการดังกล่าวนี้แรงงานส่วนใหญ่พอรับได้ ดีกล่าวการกลับคำพูดเสนอปรับเพียง 10-11 บาท

นางสาววิไลวรรณ กล่าวอีกว่า จากการทำผลสำรวจแรงงานหญิงในโรงงาน 300 คน ในโรงงาน 3 แห่ง แถบจังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม พบว่าการทำงานหนัก การทำงานล่วงเวลา เนื่องจากค่าจ้างต่ำ และต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวในการส่งเงินกลับต่างจังหวัดของแรงงานหญิง ส่งผลแรงงานหญิงที่ทำงานในโรงงานอายุ 40 ปีขึ้นไปจำนวน 20%ไม่ยอมแต่งงาน มีแรงงานหญิงที่แต่งงานจำนวนเพียง 50% จะมีบุตรเพียงคนเดียว เหตุเพราะไม่สามารถที่จะดูแลบุตร และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีต่อครอบครัวได้ และบางครอบครัวต้องแตกแยกเลี้ยงลูกเพียงคนเดียว อยากต่อการดูแลบุตรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ส่งกลับต่างจังหวัดให้พ่อแม่เลี้ยงแทน และเพียง 30% ที่มีการแต่งงานแล้วมีลูก 2 คน แต่ส่วนใหญ่ก็ส่งกลับบ้านต่างจังหวัดให้พ่อแม่เลี้ยงเช่นกัน ทำให้คุณภาพชีวิตเด็กต้องขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่ ที่อาจเห็นหน้ากันปีละครั้งเท่านั้น เหตุผลที่มีลูกน้อยเพราะผู้ใช้แรงงานต้องทำงานหนักไม่มีเวลาที่จะสร้างครอบ ครัวที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ฉะนั้น ค่าจ้างที่มีความสำคัญต่อชีวิตของทุกคนที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งอาหารที่ดี มีที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเดินทาง ค่าการศึกษา สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ แต่แรงงานปัจจุบันมีค่าจ้างที่สูงสุด 206 บาทต่อวัน กรุงเทพ สมุทรปราการ และค่าจ้างสุดต่ำ 151 บาทต่อวันที่จังหวัดพิจิตร และแพร่ มีความแตกต่างกันทางรายได้มากถึง 55 บาทต่อวัน ระหว่างกรุงเทพ กับต่างจังหวัด การปรับค่าจ้างที่ผ่านมาไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของแรงงาน และรัฐบาลยังไม่เคยเห็นคุณค่าของแรงงาน นางสาววิไลวรรณ กล่าว

มาตรฐานค่าจ้างในภูมิภาคเอเชีย ความสำคัญในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ นัยยะสำคัญในการกำหนดค่าตอบแทนเพื่อยังชีพ เมื่อปี ค.ศ. 1944 ในแถลงการณ์ฟิลาเดเฟียซึ่งมีนโยบายเรื่องข้อเรียกร้องเกี่ยวกับแรงงานที่ได้ กล่าวถึง “ค่าแรงขั้นต่ำเพื่อการยังชีพ” เป้าหมายคือการนิยามความหมาย เพื่อบรรลุถึงระดับค่าแรงที่เพียงพอในการเลี้ยงชีพของคนงาน และส่วนแบ่งที่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับมูลค่าที่พวกเขาผลิตได้ เพื่อสร้างมาตรฐานเรียกค่าจ้างที่เพียงพอต่อการยังชีพ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานรายได้ที่ต้องการสำหรับคนงานหนึ่งคนเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ที่มีสมาชิกไม่เกิน 4 คน (ผู้ใหญ่ 2 คน และเด็ก 2 คน) โดยใช้เวลาทำงาน 48 ชั้วโมงต่อสัปดาห์

ส่วนนางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานศูนย์แรงงานนอกระบบ กทม.ได้แสดงความเห็นต่อมุมมองรัฐในการพยายามลดความเหลื่อมล่ำว่าในส่วนของ แรงงานนอกระบบที่มีจำนวน 24 ล้านคนประกอบด้วยผู้ประกอบอาชีพอิสระ ค้าขาย รับงานไปทำที่บ้าน คนขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้างเกษตรพันธสัญญา ฯลฯ ท่าทีที่รัฐบาลพูดถึงการสร้างหลักประกันทางสังคม ทั้งรายได้ และระบบประกันสังคม นั้นตนเห็นด้วย แต่หลักการไม่ควรต่างจากแรงงานในระบบ การประกันสังคมที่จะขยายในส่วนของมาตรา 40 เพื่อให้เกิดความคุ้มครองตามความต้องการของแรงงานคือต้องขยายสิทธิประโยชน์ 5 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย และชราภาพจากเดิมมีเพียง 3 กรณี คือ ทุพพลภาพ คลอดบุตร เสียชีวิตรัฐ ควรส่งเงินสมทบในส่วนของรัฐด้วย เพราะปัจจุบันเหมือนว่าจะให้แรงงานนอกระบบเป็นผู้ซื้อประกันจากรัฐ โดยจ่ายน้อยสิทธิประโยชน์ก็น้อยไปด้วย ซึ่งไม่เป็นธรรม และไม่เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ ทำให้ไม่สามารถลดความเหลื่อมล่ำได้

ส่วนกรณีการส่งเงินสมทบนั้นก็ต้องสอดคล้องกับรายได้ จึงสนับสนุนให้รัฐปรับค่าจ้างอย่างเป็นธรรมตามข้อเสนอของขบวนการแรงงาน เพื่อให้ค่าจ้างส่วนของแรงงานนอกระบบได้ถูกปรับขึ้นด้วยเช่นกัน

ที่มาข่าว:

คสรท.แถลงคณะกรรมการค่าจ้างหยุดล็อคเลขปรับขึ้นค่าจ้าง 10 บาท (นักสื่อสารแรงงาน, 7-12-2553)
http://voicelabour.org/?p=1555

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net