ศิลปะ เสรีภาพและประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กรณีการให้เรต ห (ไม่อนุญาติให้ฉายในราชอาณาจักร) แก่ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the backyard ของธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ โดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของกระทรวงวัฒนธรรม ด้วยเหตุผล “มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องและประท้วงมากมายจากทั้งกลุ่มผู้กำกับ ศิลปิน สื่อมวลชนและเครือข่ายภาคประชาชน (ดังเช่น “เครือข่ายคนดูหนัง” ได้รณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อในจดหมายเรียกร้องให้กระทรวงวัฒนธรรมออกมาชี้แจงเหตุผลในการแบนหนังดังกล่าว) และแม้ว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์จากผู้กำกับให้คณะกรรมการฯ ทบทวนการจัดเรตของตนอีกครั้ง คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวยังคงยืนยันคำตัดสินเช่นเดิม เพียงแต่แก้ไขเหตุผลใหม่ด้วยการตัดคำว่า “ความสงบเรียบร้อย” ออก ให้เหลือเพียง “เนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ตกเป็นเหยื่อสังเวยการจัดเรตของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และ วีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 “อย่างเป็นทางการ” (หากไม่นับเรื่อง “บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกัน” ของธัญสก พันสิทธิวรกุลก่อนหน้านี้ที่ถูก “แบน” อย่างไม่เป็นทางการ ด้วยเหตุผลความสับสนของขั้นตอนการดำเนินการยื่นขอจัดเรตภายในหน่วยงานของกระทรวงวัฒนธรรม ทำให้ไม่สามารถเข้าฉายใน “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพมหานคร” ระหว่างวันที่ 6-15 พฤศจิกายน ได้) แม้จะมีความพยายามชี้แจงจากตัวแทนของกระทรวงวัฒนธรรมผ่านสื่อต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถนำเสนอเหตุผล “ที่มีความเป็นเหตุเป็นผล” เพื่อสร้างความน่าเชื่อถ่ือให้แก่การ “แจก” เรต ห ครั้งนี้ได้ นอกเสียจากเหตุผลกว้างๆและตีขลุมอย่างเรื่อง “ศีลธรรมอันดี” และมาตรฐานการตัดสินที่ “ถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย”

กรณีการ “แบน” ภาพยนตร์โดยหน่วยงานภาครัฐผ่าน “อำนาจ” แห่งกฎหมายนี้เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ปลุกเราทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะในฐานะผู้ “ผลิต” หรือผู้ “เสพ” ให้ตื่นขึ้นมาจากสภาพหลับใหลทางมโนสำนึก และร่วมตั้งคำถามดังๆอย่างจริงจังเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง “เสรีภาพของการแสดงออก” ผ่านงานศิลปะ ไม่แต่เฉพาะในแวดวงภาพยนตร์เท่านั้น หากต้องรวมไปถึงวงการศิลปะทุกแขนง เพราะในทางสุนทรียศาสตร์ ภาพยนตร์ถือเป็น “ศิลปะแขนงที่ 7” ในระดับเดียวกับงานวิจิตรศิลป์ (Fine arts) และมโนทัศนศิลป์ (Conceptual arts) อื่นๆอีก 6 แขนง ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ดนตรี นาฏศิลป์และวรรณคดี

ทำไมพื้นที่ทางศิลปะจึงเป็นพื้นที่ที่ไม่ควรยินยอมให้มีการเซ็นเซอร์ควบคุมและตัดสินคุณค่าดี/ชั่วจากอำนาจรัฐ ?

เพราะ ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม “ศิลปะคือพื้นที่แห่งอิสรภาพ par excellence” (โดยสารัตถะและโดยสมบูรณ์) ปริมณฑลของศิลปะครอบคลุมทั้งทางกายภาพและทางมโนทัศน์ ศิลปะคือพื้นที่เดียวในสังคมที่เปิดกว้างให้กับการปะทะของความคิด ข้อเสนอและมุมมองที่ “แตกต่าง” และ “ขัดแย้ง” อย่างแท้จริง  ศิลปะคือพื้นที่ของอาหารทางจิตวิญญาณที่หล่อเลี้ยงสังคมและปูทางไปสู่ความเข้าใจโลกที่ต่างไปจากมุมมองปกติ และที่สำคัญที่สุด ศิลปะคือพื้นที่ของการจุดประกายความคิดที่จะนำไปสู่การถกเถียง วิพากษ์ วิจารณ์และบ่มเพาะ “การยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย” (tolerance of the diversity) ในทุกๆวัฒนธรรม

ในแง่นี้ พื้นที่ทางศิลปะคือพื้นที่แม่แบบของปฏิบัติการทางประชาธิปไตยอย่างไม่มีพื้นที่ใดเทียบเคียงได้ในทางสังคม และในแง่นี้ พื้นที่ทางศิลปะจึงเปรียบได้เป็นป้อมปราการสุดท้ายซึ่งหากถูกทำลายลงเสียแล้ว “เสรีภาพในทางสุนทรียะ” หรือเสรีภาพของอารมณ์ความรู้สึกซึ่งนับว่าเป็นสมบัติสุดท้ายของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามและเป็นสมบัติพื้นฐานหนึ่งเดียวที่มนุษย์ มีร่วมกัน ไม่ว่าเขาจะเกิดมาจนหรือรวย สวยหรือขี้เหร่ ฉลาดหรือโง่ ก็จะพังทลายลงตามไปด้วย โดยยังไม่ต้องกล่าวถึง “เสรีภาพทางความคิด” ที่ได้ถูกบดขยี้ลงไปเสียก่อนแล้ว

ดังนั้น เพื่อให้เสรีภาพ “ภายใน” ศิลปะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง เสรีภาพ “ของ” ศิลปะในโลกภายนอกจำเป็นต้องมี เพราะเสรีภาพของศิลปะคือหลักประกันคุณค่าพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยนั่นเอง

ในแง่นี้ “เรต ห” ในพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ใช้ “กำกับและควบคุม” ภาพยนตร์จึงไม่ใช่การกระทำอันเป็นธรรมดาสามัญที่เราควรมองผ่านเลยไปโดยอาศัยหลักอนิจจังและอุเบกขา  การประทับ “เรต ห” ลงบนแผ่นฟิล์มคือการตัดสินลงโทษงานศิลปะด้วยโทษสูงสุด นั่นคือ “โทษประหารชีวิต” โดยมีคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จากกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งประกอบไปด้วยคนเพียง 7 คนเป็นคณะผู้พิพากษาที่ได้รับอำนาจในการชี้เป็นชี้ตาย ในคดีที่มีผู้ได้รับผลได้ผลเสียถึง 60 กว่าล้านคน โดยไม่จำเป็นต้องมีการเรียกพยานและผู้ได้รับผลกระทบเข้าให้ปากคำ

หากนี่ไม่เรียกว่า “เผด็จการทางวัฒนธรรม” แล้วเราจะเรียกการผูกขาดอำนาจเช่นนี้ว่าอย่างไรได้ ?

แท้จริงแล้ว คณะกรรมการฯ นั้นไม่เข้าใจในธรรมชาติ หน้าที่และการทำงานของงานศิลปะ แต่สถาปนาตัวเองว่าเป็นผู้รู้/ผู้ตัดสิน หามิเช่นนั้นแล้วคณะกรรมการฯ คงจะไม่มีทางประทับตา “เรต ห” ให้สังคมต้องตราหน้าอย่างที่เป็นอยู่นี้อย่างแน่นอน

เนื่องจาก “เรต ห” ของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 สะท้อน “การตัดสินคุณค่า” ที่สับสนและผิดฝาผิดตัวของผู้ที่อ้างตนเองว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” เพราะนี่คือการยัดเยียดของแปลกปลอมซึ่งคือตรรกะทางศีลธรรม (ซึ่งเป็นตรรกะภายนอก) เข้าไปในงานศิลปะซึ่งควรจะถูกตัดสินคุณค่าและความชอบธรรมด้วยตรรกะทางสุนทรียะอันเป็นตรรกะภายในของตัวชิ้นงานเองเป็นอันดับแรกและเหนือสิ่งอื่นใด

ในความเป็นจริงแล้ว การตัดสินคุณค่าเช่นนี้ไม่ได้ผิดในตัวมันเอง (เพราะเราก็ทำการตัดสินคุณค่างานศิลปะด้วยปัจจัยภายนอกเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว) แต่การตัดสินคุณค่าด้วย “เรต ห” ของผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือนี้นำไปสู่ “คำพิพากษา” อันไม่สมควรที่ใครจะยอมรับได้ นั่นคือ การห้ามฉาย/เผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะ​โดยเด็ดขาด ยิ่งคำพิพากษานี้ออกมาจากหน่วยงานซึ่งมีพันธกิจและความรับผิดชอบต่อสังคมในการที่จะส่งเสริมงานศิลปะและความคิดแปลกใหม่สร้างสรรค์ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องนำออกมาอภิปรายและเผยแพร่ในวงกว้างที่สุด

ในสังคมไทยและสังคมโลก ฉันทามติหนึ่งที่มีร่วมกันเกี่ยวกับผลงานทางภาพยนตร์คือ “การปกป้อง” (ไม่ใช่ “การควบคุม”) เยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะและความเข้าใจดีพอที่จะเข้าถึงความซับซ้อนและลึกซึ้งของงานศิลปะที่มีเนื้อหาเฉพาะบางประเภทได้ จึงได้เกิดแนวความคิดใน “การจัดเรตติ้ง” แบ่งภาพยนตร์เป็นประเภทต่างๆไล่ขึ้นเป็นขั้นบรรไดตามความเข้มข้นและความอ่อนไหวของเนื้อหาและภาพที่ปรากฎในภาพยนตร์ เพื่อทำการ “สกรีน” ผู้ชมตามวุฒิภาวะโดยใช้ “อายุ” เป็นเกณฑ์แบ่ง

การร่างพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ในประเทศไทยนี้จึงเกิดขึ้นจากความตั้งใจของทุกภาคส่วน (คนทำ/คนดูภาพยนตร์ ภาครัฐและภาคเอกชน) ในการที่จะทำให้การจัดเรตติ้งมีความเป็นระบบและเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมากขึ้นเพื่อสนองต่อ ฉันทามตินี้ที่สังคมมีร่วมกัน  จากการแบ่งประเภทภาพยนตร์เป็น 6 ประเภท (ตัวเลขนี้นับเฉพาะประเภทที่ควร ถือว่าเป็นเรตติ้งจริงๆ ไม่นับ “เรต ห” ซึ่งเราไม่ควรถือว่าเป็นเรตติ้ง แต่เป็นการ “แบน” ซึ่งนับเป็นประเภทที่ 7) เรตติ้งอันดับที่ 6 ที่มีการกำหนดไว้คือภาพยนตร์ “ประเภทที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู”

คำถามที่เราในฐานะพลเมืองของประเทศที่เรียกตนเองว่าปกครองภายใต้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ควรจะถามทั้งต่อตนเองและต่อสังคมคือ ในขณะที่เยาวชนไทยอายุ 20 ปีบริบูรณ์มีสิทธิ “เลือก” สมาชิกผู้แทนราษฎรเพื่อทำหน้าที่แทนพวกเขาในสภาในการตัดสินใจเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาในระดับประเทศ รวมไปจนถึงเพื่อไปเลือกนายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศ และพวกเขามีสิทธิ์ “เลือก” เข้าสถานที่เริงรมย์ (ที่ผู้ใหญ่มักจะเรียกในแง่ลบว่า “แหล่งอบายมุข”) แล้ว  ด้วยเหตุผลกลลวงอันใดเล่า พวกเขาจึงถูกปฏิเสธ “สิทธิ์” ในการใช้วิจารณญาณ ในฐานะ “พลเมือง” ที่มีเจตจำนงเป็นของ/เหนือตนเองในการ “เลือก” ที่จะรับชมภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือไม่ ?

ข้ออ้างเรื่องการดำรงอยู่ของ “เรต ห” เพื่อเป็นการปกป้องผู้ชม ประชาชนและศีลธรรมอันดีนั้นจึงขัดแย้งในตัวมันเอง สำหรับสังคมที่ใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะภายใต้การปกครองระบอบนี้ “พลเมือง” ควรจะมีสิทธิในการตัดสินใจเลือกเสพงานศิลปะชิ้นหนึึ่งหรือไม่โดยตนเอง

ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่ทุกภาคส่วนของสังคมโอดครวญเรื่อง “วิกฤติการศึกษา”, “วิกฤติเยาวชน” และ “ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมของเยาวชน” ฯลฯ และเรียกร้องให้เยาวชนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ นอกกรอบ มีความเป็นผู้ใหญ่ มีภาวะผู้นำ มีวุฒิภาวะ มีภูมิปัญญา ฯลฯ โดยการเสริมสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์และความคิดสร้างสรรค์ สิ่งที่สังคมทำอยู่คือการผลักภาระและความรับผิดทั้งหมดไปให้กับเยาวชน โดยไม่เคยตั้งคำถามอย่างจริงจังว่าทำไมเยาวชนจึงมีสภาพไร้วุฒิภาวะเช่นนั้นและสังคมมีส่วนอย่างไรบ้างในการทำให้เยาวชนไทยไม่รู้จักโตเสียที

เมื่อมองในแง่นี้ “เรต ห” จึงเป็นการดูถูกไม่เพียงแต่เยาวชนเท่านั้น แต่รวมถึงพลเมืองผู้ใหญ่ของประเทศนี้ เพราะเป็นปฏิบัติการทำลายล้างความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรมการวิจารณ์และจิตสำนึกเรื่องการยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย ซึ่งสวนทางอย่างมีนัยสำคัญต่อเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ฉบับนี้ และฉันทามติโดยรวมของสังคมที่ต้องการมาตรการใน “การปกป้อง” แต่ไม่ใช่การเซ็นเซอร์หรือ “การควบคุม”

“เรต ห” คือการต่อต้านและปฏิเสธงานศิลปะ ศิลปินและผู้เสพงานศิลปะอย่างไม่ไว้หน้า อันเนื่องมาจากความเข้าใจอันอ่อนด้อยในเรื่องตรรกะเชิงสุนทรียะของงานศิลปะในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ 7 คน  ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมทำจึงไม่ใช่การทำนุบำรุงหรือส่งเสริมศิลปะแต่อย่างใด แต่เป็นการทำลายทั้งศิลปะและทั้งศิลปิน และรวมไปถึงชีวิตทางจิตวิญญาณของพลเมืองไทยทั้งประเทศ

“เรต ห” คือเสื้อคลุมอำพรางการผูกขาดอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมของคนเพียงกลุ่มเดียวที่อยู่ใน “อำนาจ” ภายใต้ข้ออ้างลวงเรื่อง “ศีลธรรมอันดีงาม” (ดีงามอันไหน อย่างไร ของใคร ยังคงเป็นคำถามที่รอการถกเถียงอย่างกว้างขวางและเปิดกว้างที่สุด) นี่คือปฏิบัติการเผด็จการทางวัฒนธรรมในพื้นที่ที่ควรเปิดกว้างให้มากที่สุดในสังคม และควรเป็นพื้นที่สุดท้ายที่รัฐจะสามารถเข้ามาควบคุมและเซ็นเซอร์

ท้ายที่สุด “เรต ห” คือการรุกล้ำ ล่วง ละเมิด และกระทำชำเราคุณค่าพื้นฐานทางประชาธิปไตยที่มีศิลปะเป็นแม่แบบที่เปิดกว้างที่สุด  โดยปราศจากเสรีภาพ “ภายใน” และ “ของ” ศิลปะแล้ว ก็ไม่อาจจะมีประชาธิปไตยได้ และหากชนใดปราศจากเสรีภาพในการแสดงออกและเสพสุนทรียะ ชนนั้นไม่ได้แค่ถูกปิดตา ปิดหู ปิดปาก แต่ยังถูกปิดหัวใจและจิตวิญญาณอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องเสรีภาพของงานศิลปะโดยหยิบยื่น “อภิสิทธิ์” บางอย่างให้กับ “พื้นที่ทางศิลปะ” นี้หาใช่เป็นความพยายามในการสถาปนาให้ศิลปะกลายเป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” แต่อย่างใดไม่  เพราะการเรียกร้องพื้นที่แห่งเสรีภาพนี้ก็คือการเรียกร้องพื้นที่แห่งการวิพากษ์วิจารณ์ไปด้วยในเวลาเดียวกันและอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้  โดยธรรมชาติทางสังคมและวัฒนธรรม กลไกในการจัดการและมีส่วนร่วมของมติมหาชน (public opinion) คือหลักประกันว่าศิลปะนั้นไม่ใช่และไม่มีทางกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ลอยอยู่เหนือสังคมและผู้คนไปได้

หากคณะกรรมการฯและกระทรวงวัฒนธรรมยังไม่เข้าใจเรื่อง “เสรีภาพของการแสดงออก” ผ่านงานศิลปะแล้ว ก็จะไม่เห็นว่าการบังคับใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้กำลังนำสังคมเราไปสู่หายนะทางวัฒนธรรม ไปสู่สังคมที่ไม่จำเป็นต้องมี “ศิลปิน” อีกต่อไป มีเพียงแค่ “ช่างฝีมือทางวัฒนธรรม” ที่ผ่านการฝึกฝนทางเทคนิคอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดจนสามารถลอกเลียน “งานโบราณ” ได้อย่างไม่มีที่ติ หากแต่ไร้ซึ่งความสามารถสร้างสรรค์และจิตวิญญาณการวิพากษ์วิจารณ์ และเรา ในฐานะผู้เสพงานศิลปะก็จะได้ชื่มชมงานที่ “ย่ำอยู่กับที่” ตอกย้ำอุดมการณ์ทางสุนทรียะและทางสังคมชุดเดิมซ้ำซากไปมาตราบชั่วฟ้าดินสลาย นี่หรือคือชีวิตทางวัฒนธรรมที่เราคนไทยต้องการจะเห็น ?

ด้วยเหตุนี้เอง องค์กร สถาบัน ภาคส่วนต่างๆที่ทำงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับศิลปะในทุกแขนงนั้น (ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริม การให้การศึกษา งานด้านแหล่งข้อมูลหรือการให้รางวัลยกย่องเชิดชูทั้งหลาย) ยิ่งไม่ควรเพิกเฉยต่อปฏิบัติการ “เผด็จการทางวัฒนธรรม” นี้ เพราะการเพิกเฉยปล่อยเลยตามเลยนั้นเท่ากับเป็นการสนับสนุนไปโดยปริยาย เราคงไม่ต้องการจะให้ประวัติศาสตร์ตราหน้าว่าพวกเรามีส่วนในการส่งเสริมความถดถอยทางวัฒนธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมของประเทศไทย ?

แท้ที่จริงแล้ว การตั้งคำถามต่อ “เรต ห” นี้ควรจะเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งคำถามต่อ “หน้าที่”, “บทบาท” และ “ขอบเขต” การแทรกแซงของรัฐในพื้นที่ทางศิลปะทั้งหมด รัฐควรมีหน้าที่แค่ไหน ? อย่างไร ? หรือแม้กระทั่ง ควรจะมีไหม ? เราจะมีเกณฑ์ใดมาจัดระดับระหว่างการปกป้องและการควบคุมของหน่วยงานรัฐ ? บทบาทของภาคประชาชนและกลุ่ม “ผู้เสพ” งานควรจะมีมากน้อยเพียงใด อย่างไร ​? ฯลฯ

ณ ปัจฉิมบทของบทความนี้ อดไม่ได้ที่จะรู้สึกสมเพชเคล้าน้ำตาที่ในรุ่งอรุณแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ แทนที่เราน่าจะได้อภิปรายถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสุนทรียศาสตร์ร่วมสมัยอันลึกซึ้งซับ ซ้อนและซ่อนเร้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความหยาบโลนในงานศิลปะ, สิ่งต้องห้ามและการล่วงละเมิด, ความไร้รสนิยมแบบ kirsch, ภาพโป๊เปลือยของเด็ก ฯลฯ เรากลับต้องมาพูดพล่ามถึงประเด็นพื้นฐานทางสามัญสำนึกและเรื่องการประเมินคุณค่าดี/เลวซึ่งเป็นวิวาทะที่ล้าหลังโบราณของศตวรรษที่ 18/19 หรือตรงกับปลายสมัยอยุธยาต้นรัตนโกสินทร์ และต้องมาตั้งชื่อบทความด้วยชุดคำอันสุดแสนเชย ว่าด้วยเรื่อง “ศิลปะ เสรีภาพและประชาธิปไตย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท