Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมชาวพม่า เผยรายงานผลกระทบเขื่อนหลงเจียงของจีนต่อชุมชนไทใหญ่ในรัฐฉาน ย้ำชาวบ้านไม่เคยรับรู้ถึงโครงการจากทั้งรัฐบาลจีนและรัฐบาลพม่าจนเมื่อผลกระทบมาเยือน พร้อมเรียกร้องการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม-สังคมตลอดช่วงความยาวแม่น้ำ ชี้ผลกระทบไม่ได้สิ้นสุดแค่ที่เขตแดนประเทศ

 
ขณะที่นานาชาติกำลังมุ่งให้ความสนใจกับผลกระทบในระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างเขื่อนบนลำน้ำโขงสายหลัก แต่ผลกระทบข้ามพรมแดนจากการสร้างเขื่อน ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเพียงลำน้ำสายใดสายหนึ่ง และความเปลี่ยนแปรที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำหลงเจียงหลังการสร้างเขื่อน คืออีกตัวอย่างหนึ่ง
 
แม่น้ำหลงเจียง หรือ แม่น้ำมังกร ตามคำแปลในภาษาจีน มีต้นกำเนิดจากทางทางตอนเหนือของอำเภอเถิงชง เขตป่าซาน มณฑลยูนนาน ประเทศจีน และเป็นแม่น้ำสายหลักในมณฑลยูนนาน จากนั้นทางน้ำได้ไหลผ่านลงมาเป็นพรมแดนระหว่างจีน-พม่า ก่อนเข้าสู่ตอนเหนือของรัฐฉานแล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำอิระวดี 
 
วันนี้ (14 ธ.ค.) เครือข่ายปฏิบัติงานผู้หญิงไทใหญ่ (SWAN) องค์กรสภาวะเพื่อสิ่งแวดล้อมไทใหญ่ (SAPAWA) และโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) ร่วมกับ กลุ่มรักษ์เชียงของ จัดการสัมมนาเปิดตัวรายงาน “ความผันแปรที่ท้ายน้ำ: ผลกระทบจากเขื่อนหลงเจียงของจีนต่อชุมชนไทใหญ่” ขึ้นที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน เพื่อเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการเขื่อนบนแม่น้ำนานาชาติ และร่วมสนับสนุนการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในระดับภูมิภาค รวมทั้งผลักดันการแก้ปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในเชิงนโยบาย
 
รายงานดังกล่าวระบุว่า เขื่อนที่เพิ่งสร้างบนแม่น้ำหลงเจียง ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งถูกเรียกว่า “น้ำมาว” ตามภาษาไทใหญ่ และ “ฉ่วยหลี่” ในภาษาพม่า เมื่ออยู่ในพรมแดนประเทศพม่า ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการดำรงชีพของชาวบ้านราว 16,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในหุบเขาแม่น้ำมาวทางตอนเหนือ บริเวณแนวพรมแดนจีน-พม่า ในรัฐฉานของพม่า ซึ่งเป็นชาวไทใหญ่เชื้อสายไตมาว รวมทั้งส่งผลกระทบต่อประชาชนอีก 30,000 คน ในเมืองหมู่แจ้ที่ฝากชีวิตไว้กับการค้าตามแนวพรมแดน โดยที่ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่เคยรับรู้ถึงโครงการเขื่อนและผลกระทบที่จะตามมาจากทั้งรัฐบาลจีนและรัฐบาลพม่า
 
“เราอยากให้รัฐบาลทหารรู้ถึงความทุกข์ยากของเรา ทางการจีนก็ต้องเดินทางมาที่นี่เพื่อให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งที่พวกเขาทำกับน้ำมาวจะทำให้ชาวบ้านยิ่งทุกข์ยากมากขึ้น” หนึ่งในบทสัมภาษณ์ชาวบ้าน เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 จากรายงานฉบับย่อ
 
 
จ๋ามตอง เครือข่ายปฏิบัติงานผู้หญิงไทใหญ่ (SWAN) กล่าวในงานสัมมนาว่า รายงานฉบับดังกล่าวศึกษาถึงผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนหลงเจียง ด้วยการสัมภาษณ์ชาวบ้านในชุมชนริมน้ำที่ได้รับผลกระทบราว 20 หมู่บ้าน ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2553 โดยให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อการเดินเรือและระบบขนส่ง ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่ผลกระทบ ส่วนปัญหาร้ายแรงอย่างน้ำแห้งขอดที่ส่งผลกระทบในด้านอื่นๆ เช่น การประมง และการเกษตร ควรจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
 
จ๋ามตอง กล่าวต่อมาว่า พรมแดนเมืองหมู่แจ้-รุ่ยลี่ ทางตอนเหนือของรัฐฉาน เป็นช่องทางการค้าสำคัญระหว่างจีนกับพม่า โดยสินค้าออกที่สำคัญของพม่าคือสินค้าเกษตร ส่วนสินค้าที่นำเข้าจากจีน ได้แก่ เหล็ก วัสดุก่อสร้าง และเครื่องจักรกล สำหรับการขนส่งสินค้าจะผ่านทางเรือยนต์ขนาดเล็กระหว่างหมู่บ้านต่างๆ ริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งจากการสำรวจแต่ละหมู่บ้านจะมีเรือขนส่งสินค้าราว 2-8 ลำต่อหมู่บ้าน โดยการเดินเรือจะมีการดำเนินการในรูปแบบของสหกรณ์
 
 
 
เมื่อปี 2553 หลังจากที่เขื่อนหลงเจียงเริ่มมีการกักเก็บน้ำ ได้ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำมาว (ชื่อแม่น้ำหลงเจียงในพรมแดนพม่า) ลดต่ำลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ลำน้ำในบางช่วงน้ำแห้งถึงแค่ระดับเข่า เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ไม่สามารถเดินเรือได้ ใช้ได้เพียงเรือลำเล็กๆ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการขนส่งสินค้า และพบปัญหาระดับน้ำที่ผันผวน โดยจ๋ามตองยกตัวอย่างกรณีที่เรือสินค้าล่องไปติดเนินทรายกลางน้ำ แล้วเกิดน้ำขึ้นกะทันหัน ทำให้น้ำเข้าท่วมสินค้าในเรือเสียหาย นอกจากนั้นยังมีปัญหาการกัดเซาะริมตลิ่งซึ่งสร้างความเสียหายกับพื้นที่เกษตร และชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ
 
จ๋ามตอง ให้ข้อมูลด้วยว่า โครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำหลงเจียง ก่อสร้างโดยบริษัทชิโนไฮโดร ของจีน ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองเต๋อหง มณฑลยูนนาน มีความสูง 110 เมตร กำลังผลิตติดตั้ง 240 เมกกะวัตต์ อย่างไรก็ตามเขื่อนแห่งแรกที่สร้างบนแม่น้ำหลงเจียงคือเขื่อนยูนนาน-เต๋อหง-หนงหลิง ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนหลงเจียงขึ้นไปอีก แต่ชาวบ้านไม่เคยได้รู้ข้อมูลการสร้างเขื่อนดังกล่าว จนเมื่อเกิดการผันแปรของลำน้ำ ซึ่งนำมาสู่การศึกษาผลกระทบจากเขื่อน ทำให้ชาวบ้านได้ทราบว่ามีเขื่อนอีกแห่งหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้ โดยเขื่อนดังกล่าวสร้างเสร็จตั้งแต่เมื่อปี 2551
 
ในส่วนข้อเสนอของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ จ๋ามตองย้ำถึงปัญหาของโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม การไม่ให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านชุมชนท้ายน้ำ และเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าศึกษาผลกระทบย้อนหลัง ส่วนปัญหาระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติชาวบ้านต้องการรู้ว่าในหนึ่งวันระดับน้ำจะขึ้นลงกี่ครั้ง ในเวลาไหนบ้าง โดยพวกเขาต้องการมาตรการเร่งด่วนที่จะช่วยให้สามารถเดินเรือได้ หากเป็นไปได้พวกเขาต้องการให้แม่น้ำกลับคือสู่สภาพธรรมชาติ ไหลอย่างเป็นปกติที่สุด
 
จ๋ามตอง กล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์ในประเทศพม่าที่ปกครองภายใต้รัฐบาลทหารพม่า ทำให้ที่ผ่านมาไม่มีวิธีการที่จะบอกเล่าให้ใครฟังถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่การเก็บข้อมูลนี้จะช่วยสื่อสารให้คนภายนอกรับรู้ได้ โดยเฉพาะในส่วนของทางการจีน ตรงนี้ทำให้ชาวบ้านมีความหวัง จากกลุ่มคนในพื้นที่ซึ่งคิดว่าตนเองจัดการอะไรไม่ได้ กลับมารู้สึกว่าพวกเขาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หากรวมตัวกัน 
 
ส่วนการเคลื่อนไหวต่อไป จ๋ามตองกล่าวว่า จะมีการส่งหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการให้รัฐบาลจีนอีกครั้งหนึ่ง
 
  
 
ด้าน จาย จาย องค์กรสภาวะเพื่อสิ่งแวดล้อมไทใหญ่ (SAPAWA) กล่าวถึงสถานการณ์ของแม่น้ำต่างๆ ในพม่า ว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนบนลำน้ำสายหลักต่างๆ ในประเทศจีน ทั้งแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบต่อประเทศท้ายน้ำอย่างพม่า ลาว และไทย ในเรื่องระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดปกติ และเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินที่มีการเคลื่อนไหวให้ทบทวนและลดจำนวนโครงการก่อสร้างเขื่อน 13 แห่งในประเทศจีน ก็มีผลกระทบกับประชาชนหลายล้านคนในรัฐฉาน รัฐคะเรนนี และรัฐมอญของพม่า เหล่านี้แสดงให้เห็นผลกระทบของการสร้างเขื่อนที่ข้ามพรมแดน
 
นักกิจกรรมจากองค์กรสภาวะเพื่อสิ่งแวดล้อมไทใหญ่ แสดงความเห็นว่า โครงการเขื่อนกระทบทั้งวิถีชีวิตของผู้คน กระทบกับระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำทั้งสาย ไม่เฉพาะบริเวณที่มีการก่อสร้าง และผลกระทบไม่ได้สิ้นสุดแค่ที่พรมแดนประเทศ ดังนั้น โครงการเขื่อนในจีนควรคำนึงถึงผลกระทบต่อคนท้ายน้ำ และควรมีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตลอดแม่น้ำทั้งสายโดยการมีส่วนร่วมของคนที่ร่วมให้ประโยชน์จากลำน้ำ นอกจากนั้นโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ควรมีความโปรงใส สามารถตรวจสอบได้
 
“เมื่อเราใช้สายน้ำร่วมกัน ก็ควรมีสิทธิที่จะปกป้องแม่น้ำทั้งสายร่วมกัน” จาย จาย กล่าว
 
จาย จาย ให้ข้อมูลด้วยว่า ในปัจจุบันบริษัทจากจีนอยู่ระหว่างการวางแผนและกำลังดำเนินการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อีกกว่า 25 แห่งในพม่า โดยบนแม่น้ำอิระวดี มีโครงการก่อสร้างเขื่อน 7 แห่ง ในภาคกลางของพม่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ระบบนิเวศน์ และการทำอาชีพประมง ส่วนในเขตชายแดนไทย-พม่านั้นมีโครงการก่อสร้างเขื่อนถึง 7 แห่ง โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมารัฐบาลจีนและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ทำข้อตกลงเพิ่มเงินลงทุนในการก่อสร้างเขื่อนท่าซางจาก 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
     
 
ขณะที่ เปรมฤดี ดาวเรือง โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) กล่าวตั้งข้อสังเกตว่า ความเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำหลังการสร้างเขื่อนส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งในจีนและพม่า แต่คำถามคือผู้นำทั้ง 2 ประเทศทราบเรื่องนี้หรือไม่ ยกตัวอย่าง ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนซึ่งเกิดขึ้นในมณฑลยูนนานของจีน แต่รัฐบาลกลางจีนกลับไม่ได้รับทราบ ทั้งที่ควรทราบเพราะเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน นอกจากนั้นการที่จีนไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ยังแสดงให้เห็นความต้องที่จะสร้างมาตรการในการจัดการน้ำของตนเอง 
 
“จีนต้องทบทวนตนเอง ต่อการตั้งคำถามที่ผ่านมาในเรื่องการสร้างเขื่อนบนลำน้ำสายหลักในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศที่อยู่ท้ายน้ำ” เปรมฤดีกล่าว
 
เปรมฤดี กล่าวต่อมาว่า ประเด็นเรื่องแม่น้ำนานาชาติซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันในหลายประเทศ ควรมีการพูดถึงอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาความเป็นภูมิภาคของอาเซียนในเรื่องนี้ไม่มี แต่ละประเทศต่างแยกส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และต่างสร้างมาตรฐานในการจัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้อาณาเขตประเทศ โดยมีวิธีการ และมาตรฐานของตนเอง 
 
กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมารัฐบาลอาเซียนขาดการคิดแบบองค์รวมในการบริหารจัดการทรัพยากรของภูมิภาค การมาตรฐานจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นของภูมิภาคจึงยังไม่เกิด ส่งผลให้ไม่มีอะไรมารับประกันความมั่นคงของในชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค
 
เปรมฤดี กล่าวทิ้งท้ายถึงการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในพม่าว่า ทั้งโครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ การขุดเจาะน้ำมัน การทำเหมืองแร่ และโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ จากการลงทุนของนักลงทุนทั่วโลกรวมทั้งนักลงทุนจากประเทศในอาเซียน ส่งผลกระทบวิถีชีวิตของผู้คนและความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศพม่า ดังนั้นจึงควรมีการพูดถึงเรื่องการลงทุนเหล่านี้ให้มากขึ้นโดยมองข้ามเรื่องการเมืองในพม่า
 
ทั้งนี้ จาก "แถลงการณ์ถึงอาเซียน ทุนข้ามชาติในพม่า: ภัยคุกคาม ความรับรู้และการแก้ปัญหาในกรอบอาเซียน" โดยองค์กรภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมในอาเซียน ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ระบุว่า ปัจจุบันประเทศที่มีการลงทุนในประเทศพม่าในลำดับต้นๆ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ จีน และอังกฤษ กล่าวคือ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2531-2551 ภาคเอกชนไทยลงทุนในพม่ารวมทั้งสิ้น 59 โครงการ มูลค่าการลงทุนสะสม คิดเป็น 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 47 ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดของพม่า โดยไทยมีมูลค่าการลงทุนในพม่าสูงเป็นอันดับที่ 1 
 
รองลงมา คือ สหราชอาณาจักร จำนวน 50 โครงการ มูลค่า 1,861 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 3 คือ สิงคโปร์ จำนวน 71 โครงการ มูลค่า 1,520.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน ประเทศจีนก็กำลังมีบทบาทที่น่าจับตามองสำหรับการลงทุนในพม่า โดยในเดือนมกราคมปี 2552 มีรายงานว่าการลงทุนของจีนมีมูลค่าถึง 1,800 ล้านดอลลาร์  (คลิกที่นี่เพื่ออ่านแถลงการณ์ )
 
 
000
 
 
แถลงการณ์
วันที่ 14 ธันวาคม 2553
เขื่อนใหม่ในจีนทำลายการค้าทางน้ำบริเวณพรมแดนหลักติดต่อเขตพม่า
 
เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่เพิ่งสร้างเสร็จในแม่น้ำหลงเจียง มณฑลยูนาน ประเทศจีน สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชาวบ้านหลายพันคน ซึ่งพึ่งพาการค้าทางน้ำบริเวณพรมแดนตอนเหนือของรัฐฉานในพม่า ตามข้อมูลของรายงานฉบับใหม่ของนักวิจัยไทใหญ่ในพื้นที่
 
รายงาน ความผันแปรที่ท้ายน้า: ผลกระทบจากเขื่อนหลงเจียงของจีนต่อชุมชนไทใหญ่ โดยองค์กรสภาวะสิ่งแวดล้อมไทใหญ่ (Shan Sapawa Environmental Organization) และเครือข่ายปฏิบัติงานผู้หญิงไทใหญ่ (Shan Women’s Action Network - SWAN) เผยให้เห็นว่าระดับน้ำขึ้นลงที่ผันผวนจนไม่อาจหยั่งคำนวณภายหลังการก่อสร้างเขื่อนหลงเจียง ที่มีความความสูง 110 เมตร ประมาณเหนือน้ำขึ้นไป 30 กิโลเมตรเมื่อกลางปี 2553 ส่งผลกระทบต่อการค้าขายและการเดินทางในพื้นที่ข้ามแม่น้ำฉ่วยหลี่ ใกล้กับจุดข้ามแดนหมู่แจ้และน้ำค้าอย่างไร (ฉ่วยหลี่เป็นชื่อของแม่น้ำหลงเจียงในภาษาพม่า)
 
ชาวบ้านประมาณ 16,000 คนพึ่งพารายได้จากการขนถ่ายสินค้าข้ามแม่น้ำบริเวณใกล้จุดผ่านแดนหมู่แจ้ ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนด้านการค้าหลักระหว่างจีน-พม่า รายได้ของพวกเขาลดลงอย่างมากเนื่องจากระดับน้ำที่ขึ้นและลงอย่างฉับพลันและต่อเนื่อง ส่งผลให้เรือขนถ่ายสินค้าบางครั้งก็ติดอยู่กับท้องน้ำ บางครั้งก็ถูกน้ำท่วม
 
“ชาวบ้านที่นี่มีชีวิต กิน และทางานกับแม่น้าสายนี้...ชาวบ้านไม่สามารถทางานได้เมื่อน้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและลดลงแบบนี้” ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบรายหนึ่งกล่าว
 
ชาวบ้านเรียกร้องให้ทางการจีนสอบสวนสาเหตุและหาทางลดผลกระทบที่ร้ายแรงของเขื่อนโดยทันที ผู้เขียนรายงานก็เรียกร้องให้มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนส้าหรับเขื่อนที่จะสร้างในอนาคตในจีน
 
“ควรมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการเหล่านี้ ที่มีต่อตลอดช่วงความยาวแม่น้ำ ไม่ว่าจะอยู่ในพรมแดนประเทศใด ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำหลงเจียง แม่น้ำโขง หรือสาละวิน ประเทศจีนควรให้ความสำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำที่ใช้ร่วมกัน รวมทั้งชุมชนที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำ” จาย จาย โฆษกกลุ่มสภาวะกล่าว
 
ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ในระดับนานาชาติมากขึ้นถึงผลกระทบด้านใต้น้ำของเขื่อนที่ประเทศจีนสร้างในแม่น้ำโขง ในเวลาเดียวกันจีนยังมีแผนสร้างเขื่อน 13 แห่งในแม่น้ำสาละวิน
 
 
ท่านสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.shanwomen.org
 
 
 
องค์กรสภาวะสิ่งแวดล้อมไทใหญ่                             เครือข่ายปฏิบัติงานผู้หญิงไทใหญ่
 
 
 
ที่มาภาพ: รายงาน “ความผันแปรที่ท้ายน้ำ: ผลกระทบจากเขื่อนหลงเจียงของจีนต่อชุมชนไทใหญ่” 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net