Skip to main content
sharethis

18 .. 53 – เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล (18 ธ.ค.) ปีนี้ องค์กรแรงงาน, สหภาพแรงงาน และองค์กรภาคประชาชนได้เสนอ “ปฏิญญาความร่วมมือเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ” เพื่อเป็นการวางกรอบและแนวทางการปฏิบัติต่อประเด็นแรงงานข้ามชาติให้ไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ตลอดทั้งปีหน้า (พ.. 2554) องค์กรที่ผลักดันปฏิญญฉบับนี้จะรณรงค์ให้องค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการรับปฏิญญา รวมทั้งผลักดันให้องค์กรที่รับปฏิญญาปฏิบัติตามกรอบที่ได้วางไว้ โดยรายละเอียดของปฏิญญามีดังนี้
 
 

ปฏิญญาความร่วมมือเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

ยุคสมัยปัจจุบัน การเคลื่อนย้ายเงินทุน แรงงาน การติดต่อสื่อสาร อุดมการณ์และเทคโนโลยี เป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายด้าน รูปแบบการผลิตที่เปลี่ยนแปลง รูปแบบการจ้างแรงงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น แต่การละเลยต่อชีวิตและสิทธิของแรงงานก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ใช้แรงงานยังต้องต่อสู้และเผชิญกับปัญหาสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมและปัญหาคุณภาพชีวิตของตนอย่างต่อเนื่อง

การย้ายถิ่นจากประเทศตนเองเพื่อไปทำงานในประเทศอื่น ของผู้ใช้แรงงาน เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน และส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาไม่ต่างกัน เช่น ถูกกีดกันการเข้าถึงบริการทางสังคม ไม่สามารถเข้าถึงการปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ได้ เนื่องจากการเลือกปฏิบัติเพราะเป็นคนต่างชาติ  นอกจากนี้การลักลอบเข้าประเทศในรูปแบบต่าง ๆ หลายครั้งผู้คนเหล่านั้นต้องเสียชีวิตอย่างทารุณระหว่างการเดินทาง

ในสังคมไทยปรากฏการณ์นี้ไม่ได้แตกต่างกับประเทศอื่น แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงาน หากนับเฉพาะที่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านสามประเทศคือ พม่า ลาว และกัมพูชา ทั้งทำงานแบบได้รับใบอนุญาตทำงานและไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีจำนวนประมาณ ๑ ถึง ๒ ล้านคน พวกเขาเหล่านั้นคือคนจนผู้ยากไร้ที่ต้องแสวงหาหนทางเพื่อให้ตนเองมีชีวิตที่ดีกว่า และอีกจำนวนไม่น้อย คือ ผู้หลบหนีภัยจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่คุกคามชีวิตประชาชนระดับล่างจากรัฐบาลของตน 

การเข้ามาทำงานในประเทศไทยจึงเป็นหนทางที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตและดำรงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตัวเองไว้ได้ แต่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางสังคมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ดีนัก เช่น การเข้าไม่ถึงการบริการด้านสุขภาพ การเข้าไม่ถึงกลไกการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย แรงงานข้ามชาติจำนวนมากได้รับค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนด การทำงานหนักและชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน การถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนตามกฎหมาย การถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ การถูกรีดไถโดยกลุ่มมิจฉาชีพและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ต้องอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ การเดินทางข้ามเขตจังหวัดเพื่อทำธุระ พักผ่อน หรือเยี่ยมญาติพี่น้องเป็นสิ่งต้องห้าม

นอกจากนั้นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยไม่ได้รับสิทธิในการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานซึ่งเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้แรงงาน การรวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

ขณะเดียวกันก็มีการสร้างภาพลบรวมทั้งการมีอคติต่อแรงงานข้ามชาติ ของเจ้าหน้าที่รัฐไทย และสื่อมวลชนหลายแขนง ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่แพร่กระจายไปในสังคมไทย ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานถูกแบ่งแยกระหว่างแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ อันเป็นการลดทอนอำนาจการต่อรองของผู้ใช้แรงงานโดยรวม

ในฐานะองค์กรของผู้ใช้แรงงาน กลุ่มแรงงานข้ามชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชน ซึ่งประสบและติดตามปัญหาเหล่านี้ เห็นว่าผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลต่อผู้ใดเป็นการเฉพาะ แต่ส่งผลกระทบต่อผู้ยากไร้ทุกคนในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ความสมานฉันท์ของผู้ใช้แรงงาน ผู้ยากไร้ และภาคประชาชนทั้งหมดเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและสร้างสังคมที่ดี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตของพวกเราดีขึ้นได้

ต่อแนวทางความสมานฉันท์ขององค์กรแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชน และแรงงานข้ามชาติ เรามีข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังนี้

1.สิทธิแรงงานเป็นสิทธิของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด ไม่อาจแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติ สัญชาติ เพศ อายุ ศาสนา แรงงานทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองตามสิทธิแรงงานและกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

 

2.รัฐต้องสร้างกลไกที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการคุ้มครองแรงงานได้

3.สิทธิในการรวมกลุ่มเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญ ในการปกป้องสิทธิของผู้ใช้แรงงาน พวกเราจะร่วมกันผลักดันให้แรงงานทุกคนสามารถเข้าเป็นสมาชิกและสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

4.รัฐจะต้องดำเนินการจัดระบบสวัสดิการที่เหมาะสมต่อผู้ใช้แรงงานและครอบครัว โดยวางบนพื้นฐานของการเข้าไปมีส่วนร่วมการจัดการของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง

5.การเลือกปฏิบัติ การสร้างทัศนคติที่เลวร้ายต่อกลุ่มคนที่เป็นคนชายขอบในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคบริการ ผู้ติดเชื้อ คนไร้บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ เป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง และส่งผลต่อการกีดกันไม่ให้พวกเขาได้พัฒนาคุณภาพชีวิต พวกเราจะร่วมผลักดันให้ยุติการเลือกปฏิบัติ และการสร้างทัศคติที่เลวร้ายต่อคนกลุ่มต่างๆ รัฐจะต้องยุติการเลือกปฏิบัติและการสร้างทัศนคติที่เลวร้ายต่อผู้คนกลุ่มต่าง ๆ และมีแนวทางที่จะส่งเสริมความเข้าใจกันของคนกลุ่มต่าง ๆ

 แนวปฏิบัติการ

- เครือข่ายหรือองค์กรของแรงงานไทยที่ไม่ต้องมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย จะเปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นสมาชิกและมีการปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันเคลื่อนไหวในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน

- ในระดับสหภาพแรงงาน จะแก้ไขข้อบังคับของสหภาพในเรื่องคุณสมบัติของสมาชิก โดยให้ยกเลิกคุณสมบัติที่สมาชิกต้องมีสัญชาติไทย และเปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นสมาชิก

- ในระดับชาติ ขบวนการแรงงานไทย จะต้องร่วมกันผลักดันให้รัฐสภา ประกาศใช้ พ..บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานที่มีข้อกำหนดเรื่องคุณสมบัติของผู้ก่อตั้งและกรรมการสหภาพแรงงานที่ไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติไทย

 

กรรมกรทั้งผองเป็นพี่น้องกัน

ด้วยความสมานฉันท์ของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ

 
 
 

รายชื่อผู้ร่วมสนับสนุนปฏิญญาความร่วมมือเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ (ณ วันที่ 18 .. 53)

องค์กร

1.สหภาพแรงงานกรุงเทพผลิตเหล็ก

2.สหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาไอทีเอฟ

3.กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก

4.สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย(TWFT)  

5.กลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า(LUBG)

6.สหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์(TLU)

7.สหภาพแรงงานสหกิจวิศาล

8.สหภาพแรงงานมอลลิเก้เฮลแคร์

9.กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง(SNLG)

10.สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

11.สหภาพแรงงานไทยเรยอน

12.กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียง

13.สหภาพแรงงานรอยัลปอร์ซเลน 

14.โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย

15.ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา

16.กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ

17.มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)

18.ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน

19. Asia Monitor Resource Centre (AMRC), Hong Kong

20. ATNC Monitoring Network

21. Labour Action China, Hong Kong

บุคคล

1.ประดิษฐา ปริยแก้วฟ้า

2.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

3.เอกรินทร์ ต่วนศิริ

4.เทวฤทธิ์ มณีฉาย กลุ่มประกายไฟ

5.ปิยนันท์ บุญประสม

6.สุวิทย์  กุหลาบวงษ์

7.ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี เครือข่ายลุ่มน้ำยม คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net