Skip to main content
sharethis

โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ร่วมกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เปิดศูนย์วัฒนธรรมแรงงาน (บางกะปิ) เพิ่มศักยภาพในการคุ้มครองสิทธิแรงงานให้กับสมาชิก-เครือข่าย เน้นย้ำแนวความคิด “สมานฉันท์ข้ามพรมแดน เราทั้งผองล้วนพี่น้องกัน”

 
 
วานนี้ (19 ธ.ค 53) เวลา 11.00 น. โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign: TLC) ร่วมกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ได้ร่วมกันจัดงานเปิดศูนย์วัฒนธรรมแรงงาน (บางกะปิ) (Labour Culture Center) ที่ ซอยนวมินทร์ 14 เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ กิจกรรมภายในงานเป็นไปอย่างเป็นกันเอง เริ่มจากการเยี่ยมชมพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแรงงานของแขกที่มาร่วมงาน จากนั้นมีการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ โดยตัวแทนศูนย์วัฒนธรรมแรงงาน และผู้แทนองค์กรต่างๆ ภายใต้หัวข้อ "สมานฉันท์ข้ามพรมแดน เราทั้งผองล้วนพี่น้องกัน" 
 
ตัวแทนจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติปะโอ กล่าวถึงการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมแรงงานบางกะปิ ว่า ศูนย์วัฒนธรรมแรงงานนี้ เกิดจากแนวคิดร่วมกันระหว่างโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการคุ้มครองสิทธิแรงงานให้กับสมาชิก อาสาสมัคร และเครือข่าย โดยศูนย์วัฒนธรรมแรงงานจะเป็นพื้นที่ในการฝึกอบรมเพิ่มทักษะและพัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในประเทศไทยให้กับแรงงานข้ามชาติ เช่น การเปิดสอนภาษาไทย การเปิดสอนคอมพิวเตอร์ การอบรมกฎหมายแรงงาน การเปิดอบรมการป้องกันการค้ามนุษย์ การฝึกดนตรีและงานศิลปะ เป็นต้น
 
นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังทำหน้าที่ที่สำคัญอื่นอีก คือ การเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ในกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ในด้านประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม โดยจะทำหน้าที่รวบรวมหนังสือ บทเพลง ภาพยนตร์ และงานศิลปะ เพื่อให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียง นิสิตนักศึกษา และผู้ที่สนใจใคร่รู้ ได้มีแหล่งค้นหาข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น 
 
หลังจากนั้น สุธาสินี แก้วเหล็กไหล จากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย และจิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และกลุ่มสหกรณ์คนงาน Try Arm กล่าวกับศูนย์วัฒนธรรมแรงงาน ภายใต้หัวข้อ "สมานฉันท์ข้ามพรมแดน เราทั้งผองล้วนพี่น้องกัน" 
 
 
กฎหมายที่อยู่ในบ้านเราต้องคุ้มครองคนงานที่มาทำงานในบ้านเราไม่ว่าเชื้อชาติไหนศาสนาใด
 
สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผอ.โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ได้กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมแรงงานนี้ว่า “ศูนย์ฯ นี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายปะโอกับโครงการรณรงค์ (เพื่อแรงงานไทย) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเรียนรู้ร่วมกัน ทางด้านวัฒนธรรม ภาษา กฎหมาย พูดถึงการค้ามนุษย์ พูดถึงศิลปะ อยากจะเห็นแบบนั้น ถ้ามันยังทำอะไรไม่ได้เยอะ ก็ให้เราได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนกันไปก่อนเรื่อยๆเพื่อนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลง”
 
สุธาสินี กล่าวถึงภาระกิจของโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยฐานะที่เป็นองค์กรที่ทำงานกับทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติว่า “เราอยากเห็นความเป็นมนุษย์อยู่ร่วมกัน ไม่ต้องมามองว่าคนนั้นเป็นชาติโน้น คนนี้นับถือศาสนาโน้น เราอยากให้เรามองเห็นว่าคนๆนี้ก็คือคน ที่จะอยู่ร่วมกันแบบมีศักดิ์ศรี อยู่ร่วมกันแบบมีความเท่าเทียม” 
 
นอกจากนี้ สุธาสินี ยังได้ตั้งคำถามถึงแรงงานที่อยู่ในระบบในโรงงานและนักสหภาพแรงงานว่า “นักสหภาพแรงงานจะเปลี่ยนแปลงทัศนะคติอย่างไร ให้การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติให้อยู่บนความเท่าเทียมกันได้อย่างไร” ซึ่งเธอเสนอว่า “นักสหภาพจะต้องมีนโยบายระดับสหภาพแรงงาน และระดับชาติที่จะขับเคลื่อนกับภาครัฐในเชิงนโยบาย ที่คนงานจะต้องอยู่กับเราอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน นักสหภาพก็ต้องไปเปลี่ยนทัศนคติ ไปเปลี่ยนข้อบังคับ เพื่อที่จะให้คนงานได้เป็นสมาชิกสหภาพหรือเป็นกรรมการสหภาพเพื่อที่จะได้เรียกร้อง นี่คือสิ่งที่เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เราอยู่ร่วมกัน”
 
“กฎหมายฉบับไหนก็ตามที่อยู่ในไทยมันควรที่จะคุ้มครองกับคนที่มาอยู่กับเรา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ นักสหภาพก็ต้องไปแก้เพราะมีจุดอ่อนอยู่ว่าต้องเป็นเฉพาะเชื้อชาติไทยหรือสัญชาติไทยก็ต้องไปแก้ตรงนี้ กฎหมายประกันสังคม เรื่องสุขภาพ จะเข้าถึงประกันสังคมหรือกองทุนทอดแทนได้อย่างไร เราอยากเห็นกฎหมายที่อยู่ในบ้านเราคุ้มครองคนงานที่มาทำงานในบ้านเราไม่ว่าเชื่อชาติไหนศาสนาใด ซึ่งเป็นสิ่งที่โครงการรณรงค์ตระหนักและให้ความสำคัญ รวมถึงเรื่องอื่นๆ เราอยากเห็นความสวยงามของมนุษย์” สุธาสินี กล่าวทิ้งท้าย 
 
 
การไม่มีตัวตนทางสังคม เป็นคนผิดกฎหมาย ปิดกั้นการรวมกลุ่ม ทำให้กดขี่และควบคุมเราได้มากขึ้นไม่ว่าแรงงานข้ามชาติหรือไทย
 
จิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และกลุ่มสหกรณ์คนงาน Try Arm ได้เริ่มต้นด้วยการแนะนำตนเองว่า “จริงๆ แล้วนอกจากเป็นคนงานแล้ว ยังไม่รู้ว่าตนเองเรียกตนเองว่าเป็นคนไทยได้หรือเปล่าเพราะดั้งเดิมแล้วครอบครัวเป็นคนโซ่ง ซึ่งมาจากเดียนเบียนฟู เวียดนาม ซึ่งอาจจะเข้ามานาน แล้วก็กลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่าคนไทย ในอนาคตอีก 20-30 ปี พวกเราถ้าไม่กลับประเทศเราก็จะกลายเป็นคนไทย เพราะเอาเข้าจริงแล้วคนไทยที่นิยามนี้ก็มาจากหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธุ์ คำว่าคนไทยก็มีไว้เพื่อที่จะแบ่งแยก พยายามที่จะสร้างคำนิยามขึ้นมาเพื่อที่จะกดขี่”
 
เหตุที่เกิดแรงงานผิดหรือถูกกฎหมาย จิตรามองว่า “เป็นเรื่องของระบบทุน เมื่อไหร่ที่เราไม่มีตัวตนทางสังคม เมื่อไหร่ที่เราเป็นคนผิดกฎหมาย เขาก็จะกดขี่พวกเราได้มากขึ้น เขาก็จะจ่ายค่าจ้างไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดได้ เดินทางออกนอกเขตก็ถูกหาว่าผิดกฎหมายเขาก็จะสามารถที่จะควบคมเราได้ เขาต้องการแรงงานที่ถูกควบคุม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่คนงานข้ามชาติ คนงานไทยก็ถูกทำให้รู้สึกไม่มีตัวตน ก็คือพยายามปิดกันการรวมตัวรวมกลุ่ม”
 
จิตรามองได้กล่าถึงข้อดีของการมีศูนย์วัฒนธรรมแรงงานและการรวมตัวว่า “มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนข่าวสาร แลกเปลี่ยนปัญหา นำไปสู่การปรึกษาหารือ ซึ่งถ้าเราอยู่คนเดียวจัดการปัญหาก็เป็นเรื่องของคนๆเดียว ถ้าเมื่อไหร่ปัญหามันเข้ามาเป็นเรื่องของกลุ่ม เป็นเรื่องของส่วนร่วมเราก็จะได้ร่วมแก้ปัญหากันได้
 
“ถ้ามีแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นเทศไทยเยอะ อีกมุมหนึ่งรัฐก็พยายามบอกว่าแรงงานข้ามชาติเข้ามาก็เพื่อแย่งงาน มาก่ออาชญากรรม การสร้างค่านิยมแบบนี้ทำให้คนมองแรงงานข้ามชาติเป็นฝ่ายตรงข้าม สร้างความรังเกียจระหว่างกันไม่สามัคคีกัน แม้กระทั้งหยิบยกเรื่องประวัติศาสตร์ที่ พวกเราก็ไม่ใช่คนเขียน รัฐเป็นคนเขียนปลุกกระแสชาตินิยมขึ้นมาว่า เมื่อสมัยอยุธยาพม่าเข้ามาเผาเมือง ทำให้ความเชื่อของคนไทยมองพม่าเป็นศตรู แต่จริงๆแล้วมันเป็นกระบวนการของระบบทุนที่ทำให้พวกเรารู้สึกแบบนั้นต่อกันไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ทั้งๆ ที่เรามีความเป็นคนเหมือนๆกัน ถูกกดขี่เหมือนกัน นายทุนก็เมื่อมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาเขาก็จะมาต่อรองกับคนงานไทยว่าถ้ารวมตัวต่อรองเยอะก็จะไม่จ้างคนไทยก็จะจ้างแรงงานข้ามชาติ มันก็ต่อรองทั้ง 2 ฝ่าย ในขณะที่ต่อรองแรงงานข้ามชาติว่า จะจ่ายค่าจ้างน้อยๆเพราะเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย จริงๆ แล้วคนที่ได้กำไรทั้ง 2 ซีกเลยก็คือพวกนายทุน” จิตรา กล่าว
 
จิตรายังได้ยำถึงความจำเป็นในการรวมตัวรวมถึงบทบาทของสหภาพแรงงานว่า “เราร่วมมือกันแลกเปลี่ยนข้อมูลกันสร้างขบวนการร่วมกันก็คิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สหภาพแรงงานเองก็ต้องเปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ในขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติเองก็ต้องเข้าใจเรื่องสิทธิและขวนขวายที่จะเข้าไปสู่สหภาพแรงงาน”
 
“สำหรับอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งมีเงื่อนไขหนึ่งที่ใช้ต่อรองที่เรียกว่าจริยธรรมของนักลงทุนแบรนเนมต่างๆ เสื้อผ้าที่มียี่ห้อชื่อดัง ถ้าเราหรือเพื่อเราทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้ามันก็มีวิธีการต่อรองอีกแบบก็คือไม่ใช่แค่ต่อรองแค่รัฐบาลไทยเท่านั้น แต่มันมีการต่อรองทางสากลด้วยก็คือต่อรองที่แบรน เครื่องมือที่ดีที่สุดคือการรวมตัว เมื่อเรารวมตัวแล้วก็นำไปสู่การเจรจาต่อรอง แน่นอนประเด็นพวกนี้เกี่ยวเนื่องกัน เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจระบบการกดขี่” จิตรากล่าวทิ้งท้าย
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net