Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ [i]

ที่มา: ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency) ฉบับที่ 100 (19 ธันวาคม 2553) สรุปสถานการณ์ประจำปี 2553 แรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าในประเทศไทย ตอน “สร้างสำนึกร่วมในความเป็นมนุษย์”

 

(1) ก่อนบทเริ่มต้น

“พรมแดนเป็นเพียงเส้นสมมติที่ทาบทาและขีดกั้นคนเผ่าพันธุ์เดียวกันให้กลายเป็นคนสองฟากฝั่งที่แตกต่าง แต่พรมแดนที่เราเห็นตอนนี้กลับไม่มีอะไรๆเลย ชาวบ้านกำลังเดินข้ามน้ำกลับจากไร่ฝั่งตรงข้ามในรัฐกะเหรี่ยง เด็กอีกกลุ่มกำลังว่ายเริงร่าไปชายฝั่งโน้น นกที่กำลังกระพือปีกบินข้ามแม่น้ำไปยังอีกฝั่ง แล้วพรมแดน คือ อะไรกันแน่ ?” เราจะจินตนาการถึงเส้นพรมแดนอย่างไรกันดี ?” อ.ณัฐพงษ์ มณีกร จากหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย พูดประโยคนี้ขึ้นมาระหว่างที่เรากำลังยืนอยู่ริมฝั่งน้ำเมย ณ บ้านหมื่นฤาชัย ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก เมื่อปลายพฤศจิกายน 2553 เพื่อติดตามสถานการณ์และผลกระทบของชาวบ้านกะเหรี่ยงที่เป็นผลมาจากการสู้รบระหว่างกองทัพพม่า (SPDC) กับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) ในพื้นที่ วันนั้นพระอาทิตย์กำลังลอยต่ำลับทิวเขา ภาพรถไถ ภาพหญิงสาวกำลังอาบน้ำ ซักผ้าผ่อน เด็กๆอีกหลายคนต่างกระโจนว่ายน้ำไปมาอย่างสนุกสนาน ภาพชาวบ้านแบกผลผลิตจากไร่ข้ามน้ำเมยกลับมายังแดนดินที่เรียกว่า “ประเทศไทย” สั่นคลอนความคิดเรื่องพรมแดนแทบทั้งสิ้น

 

(2) บทเริ่มต้น

ผ่านเลยวันครู (16 มกราคม 53) ไปไม่นาน เสียงจากคนริมขอบแดนฝั่งตะวันตกเดินทางมายังคนเมืองหลวงฝั่งตะวันออกบอกเล่าถึงเรื่องราวที่ดินแดนแห่งนั้นด้วยประโยคเดิมๆอีกครั้งว่า

“บ้านเพื่อนผมถูกทหาร DKBA เผาอีกแล้วครับ”

“ตอนนี้พลเอกตานฉ่วยมีคำสั่งให้พลเอกหม่องเอเร่งกวาดล้างกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลพม่าให้หมดสิ้น ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปีนี้ ทั้งกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง-KNU กองกำลังกะเหรี่ยงคะยา-KNPP กองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่-SSA กองกำลังโกกั้ง-MNDAA กองทัพสหรัฐว้า-UWSA กองทัพเมืองลา

ตอนนี้พื้นที่ที่ผมดูแลอยู่กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ-DKBA ระดมกำลังพลอาวุธยุทโธปกรณ์มาถึงที่นี่แล้ว นำโดยพลตรีหม่องชิดตู ฤดูฝนว่าแย่แล้ว ฤดูหนาวยิ่งแย่กว่า ทหารพม่าและ DKBA เดินทัพง่ายเหลือเกิน เป้าหมายของพวกเขาอยู่ที่กลุ่มของพลตรีเนอดาเมียะ ลูกชายนายพลโบเมียะ ที่ปัจจุบันเป็นกลุ่ม KNU ที่มีกำลังพลและอาวุธมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ล่าสุดตอนต้นปี DKBA กับทหารพม่าจำนวนหนึ่งเข้าปิดล้อมหมู่บ้านที่เมือง Kyar Inn Seik Gyi รัฐกะเหรี่ยง ทำร้ายร่างกายชาวบ้านจำนวนมาก ผู้ใหญ่ บ้านถูกจับตัวไปทรมานร่างกาย จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม” เพื่อนคนเดิมเล่า

ไม่ใช่แค่เพียงในรัฐกะเหรี่ยงเท่านั้นที่ประสบปัญหา ที่รัฐฉานสถานการณ์ก็มิแตกต่าง

“พอๆ กับที่ผมได้ข่าวมาว่าเมื่อตอนสิ้นเดือน พย. 52 ที่เมืองสี่แสงและเมืองโหโปง รัฐฉานตอนใต้ ทางการพม่าได้กล่าวหาชาวบ้านไทยใหญ่ในพื้นที่ว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธ หลายคนถูกจับกุม ทรมานและถูกสังหาร นี้เป็นวิธีที่รัฐบาลพม่ามักใช้กดขี่ชาวบ้านที่นั่น สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายกว่าเดิมโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการปะทะระหว่างทหารพม่ากับ SSA ก่อนหน้านี้ในเดือน สค.52 กองทัพพม่าก็ได้กวาดล้างชนกลุ่มน้อยเผ่าโกกั้งอย่างหนักไปแล้ว” เขาเล่าต่อ

ล่าสุดในประเทศพม่ามีกลุ่มชาวบ้านผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internal Displaced Person) เพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งหมื่นคนที่ยังพลัดที่นาคาที่อยู่ หลายคนอพยพเดินทางมายังดินแดนฝั่งตะวันออก เพื่อหวังชีวิตที่ปลอดภัยจากเงื้อมมือทหารและสงคราม

“เมื่ออาทิตย์ที่แล้วพวกผมสำรวจกลุ่ม IDPs ตั้งแต่เดือนสค.จนถึงปลายปี มีหมู่บ้านกว่า 3,500 แห่ง ชาวบ้านกว่า 10,000 คนถูกกองทัพพม่ารื้อถอนทำลายและสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่ ทั้งรัฐกะเหรี่ยง รัฐคะเรนนี รัฐฉาน รัฐมอญ ภาคพะโค และภาคตะนาวศรี ยังไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรเหมือนกัน บางส่วนคงอพยพไปที่ค่ายผู้ลี้ภัยประเทศไทยแล้ว”

เสียงเพื่อนคนเดิมยุติการติดต่อไปแล้ว แต่หัวใจข้างในของคนปลายทางยังสั่นไม่หายและฉับพลันก็นึกถึงบางเหตุการณ์ในฝั่งบ้านตนเองทันที

เวลากล่าวถึงคำว่า “แรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าในประเทศไทย”
ในบทความขนาดยาวนี้ หมายถึงเฉพาะคน 3 กลุ่มนี้เท่านั้น

(1) กลุ่มผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว[ii]หมายถึงผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิง 9 แห่งตามชายแดนไทย-พม่า ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 4 ค่าย เป็นค่ายผู้ลี้ภัยชาวคะเรนนี จังหวัดตาก 3 ค่าย จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรี จังหวัดละ 1 ค่าย เป็นค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง กลุ่มนี้เป็นผู้ลี้ภัยสงครามรวมถึงผลกระทบจากสงคราม เป็นชาวบ้านที่ตกอยู่ท่ามกลางการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย และได้หลบหนีเข้ามาลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย

(2) กลุ่มผู้ลี้ภัยนอกพื้นที่พักพิงชั่วคราว หมายถึง กลุ่มผู้ลี้ภัยที่ไม่มีพื้นที่พักพิงชั่วคราวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย คนเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว หากแต่เป็นกลุ่มที่รัฐบาลไทยไม่นับว่าเป็นผู้ลี้ภัย พวกเขาใช้ชีวิตหลบซ่อนตามหมู่บ้านชายแดน ดังเช่น กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่จากรัฐฉาน กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวปะโอ และกลุ่มอื่นๆ

(3) กลุ่มแรงงานข้ามชาติ หมายถึงแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือระดับล่างที่ย้ายถิ่นมาจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น คือ พม่า ลาว และกัมพูชา

ในบทความนี้เรียกบุคคลใน 2 กลุ่มแรกว่า กลุ่มผู้ลี้ภัย และกลุ่มหลังว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม

 

รายงานได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน คือ[iii]

(1) สถานการณ์ในกลุ่มผู้ลี้ภัย

(2) สถานการณ์ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม

 

แน่นอนบทความขนาดยาวนี้คงแตกต่างจากรายงานสรุปสถานการณ์ฉบับปี 2550 และ 2551 อย่างมาก[iv] กล่าวอย่างตรงไปตรงมามุมมองของผู้เขียนเองก็แตกต่างไปจากเมื่อ 3 ปีที่แล้วเช่นกัน แต่นั่นมิได้หมายความว่าความใฝ่ฝันจะเปลี่ยนแปลงไป สังคมที่ดีงามที่ทุกคนมีพื้นที่ มีที่อยู่ที่ยืนเป็นของตนเอง ที่ทุกคนต่างเคารพซึ่งกันและกัน ให้เสียงของผู้ไร้เสียงได้มีโอกาสเปล่งเสียง (voice of voiceless) ก็ยังเป็นสังคมที่ใฝ่ฝันและอยากมีชีวิตอยู่จนตราบสิ้น สังคมที่คำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” หรือคำว่า “มนุษยธรรม” มิใช่เพียงคำสวยหรู แต่เป็นคำที่ทำให้ “เรา” เผชิญหน้ากับโลกอนาคตได้อย่างมั่นใจและสมศักดิ์ศรี เป็นสิ่งที่เตือนให้ยังรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ในตัวเองได้ ก็ยังเป็นสิ่งที่เชื่อมั่นและตระกองกอดเสมอมา

อย่างไรก็ตามความซับซ้อนของสถานการณ์แรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้ต้องครุ่นคิดและตระหนักอย่างลึกซึ้งว่า การกล่าวโทษใครหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยิ่งทำให้เราต่างตกอยู่ในหลุมพรางของความขัดแย้งของขั้วตรงข้ามอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และก็เปล่าดายที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น การมีแต่ “สังคมพวกใครพวกมัน” สังคม “เขา” หรือเฉพาะสังคม “ฉัน” กลับยิ่งผลักให้คนที่ไม่มีพวก ยิ่งไม่มีที่อยู่ที่ยืนมากยิ่งขึ้นไปอีก

ดังนั้นรายงานฉบับนี้จึงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับการมองปรากฏการณ์ทั้งในส่วนดีที่สร้างความเป็นธรรมให้กับพี่น้องแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า แต่แน่นอนก็มิสามารถปฏิเสธได้ว่าภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ก็ยังพบความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม หรืออาจเรียกได้ว่า ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ ภาพแห่งการโบยตีจาก “แส้อำนาจรัฐ” ที่กระทำอย่างชาชิน และหลายต่อหลายครั้งโบยตีแบบหลบๆซ่อนๆเสมือนเชื่อว่ามิมีใครมองเห็น หรือถูกมองในฐานะ “ปรากฏการณ์ปกติ สมควรกระทำ” กลับยิ่งทำให้ต้องตีแผ่/แสดงให้สังคมรับรู้มากยิ่งขึ้น

กล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว แม้ว่าวันนี้รัฐไทยสังคมไทยจะยอมรับการมีอยู่และตัวตนของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่ามากกว่าเดิมกว่าหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ปฏิเสธมิได้เช่นกันว่า นี้เป็นเพียงการยอมรับประเภท “ขอไปที ปีต่อปี คิดทีละครั้ง” สิ่งที่ขาดหายไปมากกว่าการมีนโยบายที่สวยหรู คือ การสร้างสำนึกร่วมแห่งความเป็นมนุษย์ ทำอย่างไรเราจะสร้างสิ่งนี้ให้เกิดร่วมกันในประเทศไทยให้ได้ นี้คือโจทย์ที่ท้าทายและแหลมคมมากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

การมองปัญหาที่เกิดขึ้นในฐานะสถานการณ์ที่เร่งด่วนเฉพาะหน้าอาจไม่เพียงพอแล้ว มีความจำเป็นที่เราจะต้องมองให้เห็นความต่อเนื่องของปัญหา การคำนึงถึงความมั่นคงในนิยามที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในนิยามเรื่องความมั่นคงของอาณาบริเวณแห่งรัฐและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จะต้องจัดวางให้สมดุลและเกื้อกูลกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างให้เกิดความมั่นคงของสังคมไทยที่แท้จริง นี้ต่างหากคือความท้าทายยิ่งนัก

ภายใต้บริบทของประเทศไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก วันนี้สถานการณ์การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า ได้ชักชวนให้ผู้คนในสังคมไทยจะต้องร่วมกันเรียนรู้และทำความเข้าใจในความทุกข์ยากของผู้คน ชักชวนให้สังคมไทยยกระดับปัญหาดังกล่าวนี้ให้กลายเป็นวาระทางสังคมที่จะมุ่งไปสร้างสันติสุขให้แก่ผู้คนจากเพื่อนบ้านและสังคมไทยโดยรวมทั้งหมด

การเริ่มต้นด้วยการเคารพในศักยภาพของมนุษย์ที่ทุกคนมีเท่ากันมาตั้งแต่เกิดก่อน เคารพและมีพื้นที่ให้กับเสียงหนึ่งเสียงของคนทุกคนที่มีตัวตนให้สามารถส่งเสียงได้โดยปราศจากความกลัว เมื่อนั้นจึงจะสามารถนำไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างกติการ่วมกันของคนในสังคมที่เป็นธรรมได้ต่อไป เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นการสร้างสังคมที่เอื้ออาทรต่อกันมากขึ้น ลดช่องว่างทางการรับรู้และช่องว่างความรู้ที่แตกต่างกัน ผ่านการใช้สำนึกร่วมแห่งความเป็นมนุษย์เป็นเป้าหมายที่เราจะมุ่งไปสู่ร่วมกันในอนาคต

 

(3) ร้อยเรียงเรื่องราวปี 2553 จากต้นปีจรดปลายปี: สร้างสำนึกร่วมในความเป็นมนุษย์

(1) สถานการณ์ในกลุ่มผู้ลี้ภัย[v]

เมื่อสิ้นสุดเดือนตุลาคม 2553 ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าอย่างน้อย 147,542 คน[vi] อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิง (ค่ายผู้ลี้ภัย) 9 แห่งตามชายแดนไทย-พม่า ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 4 ค่าย เป็นค่ายผู้ลี้ภัยชาวคะเรนนี คือ ค่ายบ้านใหม่ในสอย ค่ายบ้านแม่สุรินทร์ ค่ายแม่ละอูน และค่ายแม่ลามาหลวง จังหวัดตาก 3 ค่าย คือ ค่ายแม่หละ ค่ายอุ้มเปี้ยม และค่ายนุโพ จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรี จังหวัดละ 1 ค่าย คือ ค่ายบ้านต้นยาง และค่ายบ้านถ้ำหิน ตามลำดับ ทั้ง 5 ค่าย เป็นค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง และพื้นที่ที่จัดโดยองค์กรพัฒนาเอกชน คือ ที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ 1 แห่ง

ในอดีตประเทศไทยเคยมีค่ายผู้ลี้ภัยชาวมอญ แต่หลังจากที่มีการเจรจาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกลุ่มมอญ รัฐบาลไทยจึงได้ผลักดันผู้ลี้ภัยชาวมอญกลับไปอยู่ในฝั่งพม่า ปัจจุบันตัวเลข
ผู้ลี้ภัยชาวมอญเมื่อเดือนตุลาคม 2553 รวม 8,987 คน สำหรับผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่และกลุ่มอื่นๆที่หลบหนีการละเมิดสิทธิมนุษยชนออกมาจากประเทศพม่า เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีค่ายผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่และกลุ่มอื่นๆ ประชาชนจากพม่ามากกว่า 200,000 คนในกลุ่มนี้ กำลังอาศัยอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

เนื่องจากกองทัพพม่าได้เข้าควบคุมพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยในภาคตะวันออกของประเทศพม่า จึงมีผู้ลี้ภัยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทุกปี พบว่า ชุมชนชนกลุ่มน้อยที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกกดดันให้ต้องมาลี้ภัยในประเทศไทยมากที่สุด คือ พื้นที่ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม และชุมชนในพื้นที่หยุดยิงของชาวมอญและว้า ความพยายามของกองทัพพม่า (SPDC) ที่จะแปลงกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) และพรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) ให้เป็นกองกำลังป้องกันชายแดน
ทำให้ข้อตกลงหยุดยิงอาจถูกยกเลิกและเกิดการสู้รบขึ้นอีกในแถบชายแดนไทย-ไทใหญ่ และมอญ ในขณะเดียวกันการที่กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) ได้ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของ SPDC ก็ส่งผลให้การสู้รบตลอดชายแดนรัฐกะเหรี่ยงรุนแรงขึ้น ทั้งนี้หน่วยทหารอาสาชาวลาหู่ก็กำลังอยู่ใต้แรงกดดันให้ต้องสู้รบกับทั้งกองทัพไทใหญ่และกองทัพสหรัฐว้าตลอดแนวชายแดนรัฐฉานเช่นกัน

รายงานการพลัดถิ่นฐานของประชาชนในพม่าประจำปี 2552 ของไทยแลนด์ เบอร์มา บอร์เดอร์ คอนซอร์เตี้ยม (TBBC) ให้ภาพสถานการณ์ในประเทศพม่า ที่ส่งผลต่อการลี้ภัยมาที่ประเทศไทยอย่างแจ่มชัดว่า

(1) การบังคับใช้แรงงาน การจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง และการรีดไถ

การบังคับใช้แรงงาน การรีดไถ และการยึดที่ทำกินจากกองทัพพม่า ตลอดจนการทำลายบ้านเรือนหรือบังคับขับไล่ออกจากบ้านเรือนตนเอง การยึดเสบียงอาหาร เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถเลี้ยงชีพได้และหมดหนทางอื่นจนต้องตัดสินใจละทิ้งบ้านเรือนของตนลี้ภัยไปยังประเทศไทย

(2) ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกข่มขืนสูง

ในบรรยากาศการทำสงครามระหว่างกองทัพพม่า (SPDC) กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ ความรุนแรงทางเพศก็มักเกิดขึ้นมากในช่วงสงครามเช่นกัน บรรยากาศของการละเมิดทำร้าย การที่ผู้ถูกกระทำไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดๆ ผนวกกับการล่มสลายของกฎระเบียบสังคม ทำให้ความรุนแรงทางเพศทวีคูณทั้งในและนอกครอบครัว ในสงครามการข่มขืนถูกใช้เพื่อสร้างความอับอายให้แก่ศัตรู สร้างความหวาดผวาแก่ประชาชน และเป็นรางวัลให้ทหารผู้เอาชนะได้ แม้จะไม่มีหลักฐานคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรว่ากองทัพพม่าได้สั่งให้ก่อความรุนแรงทางเพศต่อหญิงและเด็กหญิงอย่างไร การที่ปล่อยให้ทหารกระทำได้โดยลอยนวลไร้โทษทัณฑ์ก็ย่อมส่งผลต่อการดำรงอยู่และเพิ่มขึ้นของความรุนแรงนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย การสำรวจของ TBBC ในปี พ.ศ. 2550 และปี พ.ศ. 2552 พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวการข่มขืน และการคุกคามทางเพศมีอัตราเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ฐานทัพพม่า

(3) ภาวการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในเด็กขั้นรุนแรง

ในพื้นที่สู้รบโดยเฉพาะในภาคตะวันออกของประเทศพม่า พบว่าอย่างน้อย 10% ของเด็กทั้งหมดจะมีร่างกายซูบผอม นอกจากนั้นแล้วยังมีอัตราการเสียชีวิตของทารก (91 คนต่อ 1,000 คน) และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (221 คนจาก 1,000 คน) ในภาวะสงครามเด็กจะถูกกองทัพพม่าละเมิดขั้นรุนแรงอย่างน้อยใน 6 เรื่องสำคัญ คือ การถูกสังหารหรือทำให้พิการ การเกณฑ์ทหารเด็ก ความรุนแรงทางเพศ การถูกลักพาตัว การปฏิเสธมิให้เข้าถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การโจมตีโรงเรียนและโรงพยาบาล

ในประเทศไทยศูนย์อพยพแห่งแรกถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2527 เมื่อมีผู้ลี้ภัยประมาณ 9,000 คนเข้ามาในประเทศไทย ในปัจจุบันองค์กรพัฒนาเอกชน 20 องค์กร ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะกรรมการประสานงานองค์การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย (CCSDPT)[vii] ได้ให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมภายใต้ข้อตกลงกับศูนย์ดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพ กระทรวงมหาดไทย และ UNHCR ตามอำนาจที่ได้รับมอบหมาย ผ่านสำนักงานสนาม 3 แห่ง ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

สำหรับงบประมาณในการดูแลผู้ลี้ภัยนั้น CCSDPT และสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่ง
สหประชาชาติเพื่อผู้ลี้ภัย (UNHCR) เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณอย่างน้อย 2,048 ล้านบาท/ปี[viii] งบประมาณที่องค์กรเหล่านี้นำมาใช้จ่ายมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป สำหรับประเทศไทยนั้นได้สนับสนุนในเรื่องการให้พื้นที่ดูแลผู้ลี้ภัยในค่าย 9 แห่ง

กระบวนการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนในนามของ CCSDPT ในค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่งในประเทศไทยนั้น ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย โดยมีปลัดอำเภอในพื้นที่ตั้งค่ายผู้ลี้ภัยเป็นหัวหน้าพื้นที่พักพิงฯ (หรือที่เรียกว่า Camp Commander) ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการและปกครองดูแลกิจการต่างๆภายในพื้นที่พักพิงฯและประสานงานกับ CCSDPT ในการทำงานในค่ายต่อไป เวลาที่ CCSDPT จะเข้าไปทำงานในค่ายผู้ลี้ภัย นอกจากการขออนุญาตตามขั้นตอนอย่างละเอียดจากกระทรวงมหาดไทยในเบื้องต้นแล้ว ผู้ปฏิบัติงานต้องประสานงานกับ Camp Commander อย่างใกล้ชิดอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นแล้วในค่ายผู้ลี้ภัยยังมีคณะกรรมการผู้ลี้ภัย คือ คณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวคะเรนนี (The Karenni Refugee Committee) ในค่ายผู้ลี้ภัยชาวคะเรนนี กับ คณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง (The Karen Refugee Committee) ในค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง ซึ่งคณะกรรมการจะถูกเลือกขึ้นมาจากประชากรภายในพื้นที่พักพิงฯ เพื่อมาทำหน้าที่บริหารดูแลและจัดการระเบียบการปกครอง รวมถึงประสานงานกับ CCSDPT ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยต่อไป

หลังจากที่ประชาชนจากพม่าหลบหนีออกจากบ้านเกิดเพื่อเดินทางมาแสวงหาถิ่นฐานปลอดภัยที่ประเทศไทย แน่นอนแม้ว่าประเทศไทยจะยังมิได้เป็นภาคีสมาชิกกับอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยค.ศ. 1951( พ.ศ. 2494) อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายที่ยอมรับการเข้ามาของผู้ขอลี้ภัย แต่ก็มิได้หมายความว่าประเทศไทยจะไม่มีนโยบายที่เข้ามาปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัย

ในปี 2553 ประเทศไทยได้ดำเนินการด้านนโยบายที่สำคัญ ดังนี้

(1) กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือสั่งการลงเลขที่ มท 0309.1/ว 7 เรื่อง การรับแจ้งการเกิดและการตายสำหรับกลุ่มผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว[ix]

สืบเนื่องจากกรณีที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการทะเบียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2551 เรื่องการให้มีการจดทะเบียนการเกิดเด็กที่ครอบคลุมไปถึงเด็กที่เกิดในค่ายผู้ลี้ภัยด้วย ทั้งนี้เด็กที่เกิดมามีสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนการเกิดและได้รับสูติบัตรหรือใบเกิดภายใต้กฎหมายไทย เพราะการจดทะเบียนการเกิดจะช่วยทำให้เด็กได้รับสถานะบุคคล มีเอกสารแสดงตัวตนทางกฎหมาย การมีตัวตนทางกฎหมายจะช่วยให้เด็กสามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน เช่น การมีชื่อ การเข้าถึงบริการสาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ ติดตามมา

แต่เดิมนั้นเมื่อมีเด็กเกิดในค่ายผู้ลี้ภัย เด็กจะได้รับการจดบันทึกการเกิดโดยเจ้าหน้าที่ของ UNHCR ในค่ายผู้ลี้ภัยนั้นๆ โดยเด็กจะได้เอกสารรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) กระบวนการดังกล่าวเป็นเพียงการรับรองการเกิดเท่านั้นไม่ใช่การจดทะเบียนการเกิด เนื่องจากผู้ลี้ภัยที่อพยพเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยนั้น จะถูกรัฐไทยให้สถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นผู้ลี้ภัยจึงมีปัญหาในเรื่องการเดินทางไปจดทะเบียนการเกิดกับนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ณ สำนักงานทะเบียนอำเภอหรือสำนักงานท้องถิ่นที่เด็กเกิด 

กฎหมายฉบับนี้จึงได้เข้ามาเอื้ออำนวยวิธีการจดทะเบียนการเกิดที่พ่อแม่ของเด็กไม่ต้องเดินทางออกจากค่ายผู้ลี้ภัย แต่ก็สามารถจดทะเบียนการเกิดได้อย่างสมบูรณ์ โดยกำหนดให้ปลัดฝ่ายความมั่นคงของอำเภอที่ค่ายผู้ลี้ภัยนั้นตั้งอยู่ (หรือที่เรียกว่า Camp Commander) เป็นผู้รับแจ้งเกิดในค่ายผู้ลี้ภัย โดยเมื่อ Camp Commander รับแจ้งการเกิดแล้ว Camp Commander จะนำใบหลักฐานการรับแจ้งการเกิดตามแบบ ท.ร.1 ตอนหน้า ไปออกใบสูติบัตรที่สำนักงานทะเบียนอำเภอ พร้อมทั้งบันทึกรายการบุคคลของเด็กที่เกิดไว้ในทะเบียนประวัติของค่ายผู้ลี้ภัย เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการการจดทะเบียนการเกิดแล้ว Camp commander ก็จะเป็นผู้นำสูติบัตรไปให้พ่อแม่ของเด็กในค่ายผู้ลี้ภัยต่อไป

วิธีนี้นอกจากจะเป็นการช่วยลดความยุ่งยากในการขออนุญาตออกจากค่ายผู้ลี้ภัยของพ่อแม่เด็กแล้ว ยังลดปัญหาความผิดพลาดที่จะเกิดในขั้นตอนการรับแจ้งเนื่องจากปัญหาด้านการสื่อสารอีกด้วย การจดทะเบียนการเกิดไม่ใช่การให้สัญชาติไทยอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ หากแต่คือการช่วยให้เด็กคนหนึ่งไม่ตกอยู่ในสภาพคนไร้รัฐ หากวันหนึ่งเมื่อเขามีโอกาสได้กลับไปยังรัฐบ้านเกิด พวกเขาก็จะมีหลักฐานซึ่งแสดงว่าพวกเขามีตัวตนทางกฎหมายจริง 

(2) การเกิดกลไกรูปธรรมในกระบวนการยุติธรรมต่อผู้ลี้ภัย

สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 ที่กระทรวงยุติธรรมได้ทำ MOU กับ UNHCR เพื่อให้มีการใช้กฎหมายไทยแก้ปัญหาในค่ายผู้ลี้ภัย ผ่านมากว่า 3 ปี พบว่า เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการในระดับท้องถิ่นกับองค์กรพัฒนาเอกชนและ UNHCR ในการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่รัฐมีความเข้าใจมากขึ้นที่จะรับแจ้งความ ดำเนินการต่างๆรวมถึงทางกระทรวงมหาดไทยก็อนุญาตให้ผู้เสียหายและพยานออกมาที่สถานีตำรวจหรือศาลได้โดยสะดวก นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าผู้ลี้ภัยหลายคนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งทางอาญาและแพ่ง บางคนต่อสู้คดีจนได้ค่าชดเชยความเสียหายที่ตนได้รับอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในขณะเดียวกันก็พบว่ายังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนกลุ่มนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ในปี 2553 นี้พบว่าปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผู้ลี้ภัยจากพม่าในประเทศไทยมี 3 (+1) ประการ คือ

(1)    การกดดันให้ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่พักพิงชั่วคราวในบ้านหนองบัว ต.แม่อุสุ
อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กลับประเทศพม่า ทั้งที่จำนวนไม่น้อยไม่เต็มใจ และยังอยู่ในความหวาดกลัว : มกราคม-เมษายน 2553

(2)    สภาความมั่นคงแห่งชาติมีแนวคิดที่จะส่งกลับผู้ลี้ภัย หากสถานการณ์ในพม่าเรียบร้อยหลังเลือกตั้ง : 29 กรกฎาคม 2553

(3)    การส่งกลับผู้ลี้ภัยกลุ่มวันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2553 ในพื้นที่สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี : 11 พฤศจิกายน 2553

(+1) การส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวม้งลาวจำนวน 4,500 คน กลับประเทศลาว: 28 ธันวาคม 2552

ดังมีรายละเอียดในแต่ละประเด็นดังนี้

(1) การกดดันให้ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่พักพิงชั่วคราวในบ้านหนองบัว ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กลับประเทศพม่า ทั้งที่จำนวนไม่น้อยไม่เต็มใจ และยังอยู่ในความหวาดกลัว : มกราคม-เมษายน 2553[x]

กองทัพภาคที่ 3 ได้ผลักดันให้ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงในที่พักรอชั่วคราวบ้านหนองบัว ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กว่า 4 พันคน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเด็กและผู้หญิงซึ่งหนีภัยการสู้รบระหว่างกองกำลังสหภาพชนชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) จากพม่าเข้ามาไทยตั้งแต่มิถุนายน 2552 ให้กลับประเทศพม่า ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วหมู่บ้านที่ชาวบ้านจะกลับไปมีกับระเบิดจำนวนมาก และเคยมีคนได้รับอันตรายมาแล้วก็ตาม รวมทั้งความหวาดกลัวจากกองกำลังฝ่ายตรงข้าม

 

โดยข้อเท็จจริงแล้ว

1. ผู้ลี้ภัยหนองบัวและอุสุทะนั้นอพยพมาเมื่อปลายพ.ค.-ต้นมิ.ย. 2552 พร้อมกันก็จริง แต่ก็มาจากหลายหมู่บ้านที่ทั้งสภาพดั้งเดิมและปัญหาปัจจุบันต่างกัน เล่อป่อเฮออยู่ในเขต KNU ในขณะที่หมู่บ้านอื่นอยู่ในเขต DKBA หรือในพื้นที่อำนาจทับซ้อน การตัดสินใจของคนบ้านหนึ่งว่า "กลับบ้านได้แล้ว" หรือ "ไม่กลับ" จึงไม่สามารถถือเป็นคำตอบของผู้ลี้ภัยทั้งหมดได้

2. ผู้ลี้ภัยหลายคนไม่ได้เพิ่งลี้ภัยมาประเทศไทยเป็นครั้งแรก และทุกครั้งที่หลบภัยมาก็กลับบ้านไปอย่างรวดเร็ว ดังเช่นเมื่อ ธ.ค.2543 ที่เล่อป่อเฮอถูกเผา ก็กลับไปสร้างหมู่บ้านใหม่ในอีกเพียงหนึ่งเดือนถัดมาเมื่อที่กองทัพพม่า/DKBA กลับไป หากสถานการณ์ขณะนี้แตกต่างออกไป ผู้ลี้ภัยจึงยังไม่สามารถกลับบ้านได้โดยง่าย

3. สำหรับผู้ลี้ภัยแล้ว สถานการณ์ที่ปลอดภัย ไม่ใช่เพียงเมื่อการสู้รบยุติโดยฝ่ายหนึ่งยึดพื้นที่ได้ และไม่ได้วัดได้ด้วยการกลับไปยืนในพื้นที่ชั่วขณะและยังมีชีวิตรอด แต่หมายถึงการที่ผู้ลี้ภัยจะสามารถไป "ใช้ชีวิตปกติ" อยู่ได้อย่างปลอดภัย ภัยคุกคามชีวิตของผู้ลี้ภัยจึงรวมถึงกับระเบิด การบังคับใช้แรงงาน การบังคับเกณฑ์ลูกหาบ และทหารรวมทั้งทหารเด็กด้วย

4. สำหรับชาวบ้านเล่อป่อเฮอที่อยู่ติดฐานที่มั่น KNLA (กองทัพของ KNU) กับระเบิดเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่ง การที่ทหารไทยมองว่าชาวบ้านน่าจะเคยชินกับกับระเบิดอยู่แล้วก็มีส่วนจริง เพราะผู้ลี้ภัยอยู่ในภาวะสงคราม แต่ในการสู้รบ พ.ค.-มิ.ย. 2552 ที่ผ่านมา กองกำลังทั้งสองฝ่ายได้วางกับระเบิดเพิ่มขึ้นในพื้นที่โดยรอบและเส้นทางเข้าเล่อป่อเฮอ

5. ภัยคุกคามจากกับระเบิดที่เล่อป่อเฮอจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและการดำรงชีพ ผู้ลี้ภัยจะไม่สามารถไปทำไร่นา หาของป่า ไปหาไม้มาทำเสาบ้าน หรือหอพักนักเรียนที่ถูก DKBA ถอนมาขายฝั่งไทยได้ การที่ทหารไทยตั้งข้อสังเกตว่าผู้คนสัญจรไปมาระหว่างฝั่งไทยและพม่าเป็นปกตินั้นมีส่วนจริง เพราะชาวกะเหรี่ยงไทยจากหมู่บ้านไทยมักข้ามไปดูต้นยาสูบของตนบ้าง ไปหากินบ้าง แต่พวกเขาไปในบางจุดที่รู้ว่าไปได้ และข้ามไปชั่วคราว ซึ่งต่างจากการไปใช้ชีวิตอยู่มาก

6. สำหรับชาวบ้านหมู่บ้านอื่นที่ห่างไกลออกไป กับระเบิดไม่ใช่ภัยคุกคามที่น่ากลัวนัก อย่างไรก็ดีผู้ลี้ภัยหลายคนยังไม่มั่นใจกับการกลับไปอยู่ในการควบคุมของ DKBA ที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพพม่า การที่ทหารไทยกล่าวว่าชาวบ้านจำนวนหนึ่งก็อยู่ในพื้นที่ DKBA มาก่อนนั้นเป็นความจริง และคนจำนวนหนึ่งก็อยากกลับบ้านมากจนยอมรับได้ว่า จะไปอดทนกับการถูกบังคับใช้แรงงานโดยทั่วไป แต่หากรุนแรงถึงกับเกณฑ์ลูกหาบหรือทหารไปแนวหน้าอีก ก็จะหนีมาประเทศไทยอีก

7. ความกังวลหลักของผู้ลี้ภัยจากหมู่บ้านอื่นๆ คือความมั่นคงทางอาหาร ชาวบ้านไม่มีโอกาสดูแลไร่นาในช่วง 7 เดือนที่ลี้ภัยและยุ้งฉางก็ถูกทำลาย จึงไม่มีผลผลิตที่จะเป็นอาหารได้ หากจะรับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมชั่วคราวจากฝั่งไทย ก็จะต้องรออยู่เล่อป่อเฮอซึ่งไม่ปลอดภัยดังที่กล่าวมา และอาหารส่วนหนึ่งก็อาจต้องถูกแบ่งไปเป็นของทหาร DKBA

(2) สภาความมั่นคงแห่งชาติมีแนวคิดที่จะส่งกลับผู้ลี้ภัย หากสถานการณ์ในพม่าเรียบร้อยหลังเลือกตั้ง : 24 มิถุนายน 2553

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้รายงานว่า นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยได้กล่าวว่า “รัฐบาลพม่ากำลังจะจัดการเลือกตั้งในปีนี้ ดังนั้นเราจึงควรช่วยเหลือประชาชนที่อยู่นอกประเทศ ได้กลับคืนและกลับไปใช้ชีวิตในประเทศพม่า” ทั้งนี้ได้มีการขานรับจากนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทยหลายฉบับต่อว่า ประเทศไทยมีแนวคิดที่จะส่งกลับผู้ลี้ภัยกว่า 140,000 คน ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยจำนวน 9 แห่งตามชายแดนไทย–พม่าจริง เมื่อสถานการณ์ภายในของพม่าเรียบร้อยแล้ว โดยเชื่อว่าสถานการณ์ในพม่าน่าจะดีขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในพม่า แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังเป็นเพียงการหารือร่วมกันเท่านั้น

นอกจากนั้นแล้วต่อมาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2553 หนังสือพิมพ์ดิการ์เดียนของประเทศอังกฤษ ยังรายงานว่านายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งเดินทางไปประชุมที่องค์การสหประชาชาติ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาว่า สิ่งแรกหลังจากเดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานคร คือ การเตรียมผลักดันชาวพม่าที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งมีกว่า 2 ล้านคน กลับประเทศพม่าด้วย “ผมจะกลับไปที่กรุงเทพ สิ่งแรกที่ผมจะทำคือ เตรียมมาตรการอย่างแข็งขัน สำหรับประชาชนชาวพม่าที่อยู่ในค่ายอพยพ เป็นผู้พลัดถิ่น เป็นปัญญาชนที่อยู่ตามท้องถนนของกรุงเทพและเชียงใหม่ เพื่อเตรียมพวกเขากลับพม่าหลังมีการเลือกตั้ง” 

(3) การส่งกลับผู้ลี้ภัยกลุ่มวันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2553 ในพื้นที่สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี : 11 พฤศจิกายน 2553

จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) ตั้งแต่ วันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2553 ที่ยังไม่เป็นการยุติ โดยเฉพาะในพื้นที่ด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงราว 5,000 คน ซึ่งจำนวนเกินครึ่งเป็นเด็ก และที่เหลือส่วนใหญ่เป็นหญิงและคนชรา หลั่งไหลเข้ามาหลบภัยสงครามในโรงเรียนซองกาเลีย สาขาบ้านด่านเจดีย์สามองค์, โบสถ์ในคริสตจักรภาคที่ 16 รวมถึงตามบ้านเรือนในพื้นที่ใกล้เคียง

จากสถานการณ์จริงในพื้นที่เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 เวลาประมาณ 05.30-07.30 น. เสียงปืนจากฝั่งประเทศพม่าก็ยังคงดังอย่างเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามในเวลาเดียวกันทหารที่ประจำการอยู่ในพื้นที่กลับแจ้งให้ผู้อพยพกะเหรี่ยงที่หลบภัยอยู่ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีจำนวนกว่า 600 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กกว่า 250 คน ที่เหลือเป็นผู้หญิงและผู้สูงอายุ ให้มารวมตัวกันที่หน้าด่านฯบริเวณชายแดนไทย-พม่าตั้งแต่เวลา 05.30 น. เป็นต้นมา เพื่อส่งกลับอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 จากการสอบถามผู้อพยพจำนวนหนึ่งรวมทั้งทหารบางนายที่ประจำการในพื้นที่ ต่างให้ข้อมูลเป็นทิศทางเดียวกันว่า "สถานการณ์ในประเทศพม่าสงบแล้ว ปลอดภัย ผู้ลี้ภัยสามารถกลับบ้านได้ ไม่มีอะไร" ซึ่งขัดแย้งกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างสิ้นเชิง ที่เสียงปืนยังคงดังอยู่หลายครั้ง รวมถึงทหารเองก็ได้แจ้งให้ผู้อพยพย้ายสถานที่รอส่งกลับจากหน้าด่านฯไปอยู่ในบริเวณวัดบ้านเจดีย์ ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า ล่าสุดเมื่อเวลา 08.00 น. ภายหลังจากที่เสียงปืนสงบ ทางทหารได้แจ้งให้ผู้อพยพเดินทางกลับประเทศพม่าด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว ระหว่างรอ ไม่มีการจัดอาหาร น้ำดื่ม และนมสำหรับผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะเด็กเล็ก

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 เวลา 17.30-18.30 น. ทหารได้ผลักดันผู้อพยพกลับอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยเวลาประมาณ 16.00 น. ได้แจ้งให้ผู้อพยพกลุ่มหนึ่งที่พักอาศัยชั่วคราวอยู่ในบริเวณใกล้เคียงโรงเรียนซองกาเลียฯ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 700 คน ให้เก็บสิ่งของและมารวมตัวกันที่บริเวณสนามหญ้าหน้าโรงเรียนเพื่อจะได้จัดการโดยสะดวก ต่อมาเวลา 16.45 น. ทหารได้แจ้งต่อว่า จะมีคนมามอบอาหารและน้ำดื่มให้ผู้อพยพ ขอให้ผู้อพยพเดินทยอยไปรวมตัวกันที่หน้าด่านชายแดนไทย-พม่า ทำให้ผู้อพยพที่เริ่มจับจองสถานที่เพื่อพักผ่อนในยามค่ำคืน ต้องออกจากโรงเรียนและเดินตามกันไปยังด่านฯที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 700 เมตร เมื่อผู้อพยพไปถึงที่ด่านฯ ได้มีทหารผู้ใหญ่มามอบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และน้ำดื่มให้จริง แต่เมื่อมีการมอบสิ่งของเรียบร้อยแล้ว กลับพบว่า ทางทหารได้ผลักดันให้ผู้ลี้ภัยเดินกลับออกไปยังฝั่งประเทศพม่าอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ให้ย้อนกลับมาที่เส้นทางเดิม ทั้งนี้ผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งที่ได้รับการสอบถามต่างเล่าคล้ายคลึงกันว่า "งง สับสน เพราะทหารบอกว่าให้มารับของและก็กลับบ้านได้แล้ว ปลอดภัยแล้ว อยู่ที่นี่ไม่ได้แล้ว" มีรายงานข่าวว่าผู้อพยพที่ถูกส่งกลับในวันดังกล่าวได้ย้อนข้ามกลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งประมาณ 200 คน ภายหลังจากที่ได้ยินเสียงปืนดังมาตั้งแต่เวลา 22.00 น.

 

(+1) การส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวม้งลาวจำนวน 4,500 คน กลับประเทศลาว: 28 ธันวาคม 2552

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 รัฐบาลไทยได้ส่งผู้ลี้ภัยชาวม้งลาวกว่า 4,500 คน จากค่ายพักพิงชั่วคราวบ้านห้วยน้ำขาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ส่งกลับไปให้อยู่ในการดูแลของทางการสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แน่นอนการส่งกลับครั้งนี้รัฐบาลไทยมิได้เปิดเผยหรือให้คำยืนยันถึงความปลอดภัยของชาวม้งที่ถูกส่งกลับไปยังประเทศลาวแล้วว่ามีสภาพวิถีชีวิตอย่างไร รวมทั้งทางการลาวยังปฏิเสธที่จะให้ UNHCR มีส่วนร่วมในการตรวจสอบสภาพผู้ลี้ภัย โดยอ้างว่าเป็นเรื่องซับซ้อน ทั้งๆที่ทาง UNHCR สหรัฐอเมริกา รวมทั้งอีกหลายประเทศ ต่างวิตกกังวลและหวั่นเกรงว่าชาวม้งเหล่านั้นอาจจะถูกไล่ทำร้ายและสังหารโดยรัฐบาลลาวในระยะต่อมา มีรายงานข่าวว่า "มีผู้ลี้ภัยชาวม้งกว่า 350 คนที่ถูกทุบตี ในจำนวนนี้ถูกทุบตีอย่างรุนแรง และทารุณด้วยปืนช็อตด้วยไฟฟ้า และมีบางคนที่ถูกทารุณจนหมดสติ" (กรุงเทพธุรกิจ 2 มค. 53) อีกทั้งในบรรดาชาวม้งที่ถูกส่งกลับ มีบางคนลี้ภัยออกจากลาวมานานหลายสิบปีจนได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยจากการรับรองของยูเอ็นด้วยเช่นกัน

 

(2) สถานการณ์ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของโลกใบนี้ได้ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วตามกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้น เราพบเห็นการเจริญเติบโต ความมั่งคั่งของเมืองใหญ่ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความสุขสบายของผู้คน กล่าวได้ว่าแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมานั้น ล้วนเกิดจากหยาดเหงื่อและแรงกายของผู้ใช้แรงงานทั่วโลกแทบทั้งสิ้น และเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกเช่นกันว่าความเติบโตของประเทศร่ำรวยที่เกิดขึ้นต่างเป็นผลมาจากแรงกายและความมุ่งมั่นของแรงงานข้ามชาติ ผู้จากบ้านเกิดเมืองนอนเข้าไปทำงาน ในประเทศไทยตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวเลขมูลค่าการส่งออก ผู้คอยแบกรับภาระงานบ้านต่างๆ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนั้น วันนี้ตุลาคม 2553 ประเทศไทยมี “แรงงานข้ามชาติ” กว่า 947,409 คน (ที่จดทะเบียน) หรือกว่า 2 ล้านคนที่หลบซ่อนอยู่ เป็นผู้แบกรับงานต่างๆที่แทบจะไม่มีใครมองเห็นคุณค่าในสังคมไทย ทั้งภาคประมงทะเล เกษตรกรรม งานบ้าน รวมทั้งภาคบริการต่าง ๆ ซึ่งคอยพยุงและสร้างสรรค์เศรษฐกิจไทยอยู่อย่างเงียบๆ

แม้ว่าวันนี้ประเทศไทยจะยังมิได้ลงนามลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ.1990 (International Convention on the Protection of the Rights of All Migrant Workers and Member of their Families 1990) ซึ่งในปี 2553 นี้ ได้ครบรอบ 20 ปีพอดี แต่อย่างไรก็ตามต้องนับเป็นเรื่องน่ายินดีนับตั้งแต่ปี 2535 ที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนจ้างแรงงานข้ามชาติโดยเริ่มต้นเฉพาะแรงงานจากประเทศพม่า และขยายเป็นแรงงานลาวและกัมพูชาในปี 2539 จวบจนปัจจุบัน ประเทศไทยก็ได้สร้างนโยบายดีๆสำหรับการปกป้องคุ้มครองแรงงานข้ามชาติหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น

ปี 2547 ประเทศไทยมีนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบเป็นครั้งแรก โดยให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทยทั้งหมด ทั้งที่มีและไม่มีเอกสารอนุญาตทำงาน รวมทั้งครอบครัวและผู้ติดตาม ขึ้นทะเบียนรายงานตัวได้ทุกคน คือให้ทั้งสิทธิการอยู่อาศัยชั่วคราว และสิทธิในการทำงาน

ปี 2548

- กระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียน โดยอนุญาตให้บุตรหลานของแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าศึกษาในสถานศึกษาของรัฐได้เช่นเดียวกับเด็กไทย

- เปิดให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศลาวและกัมพูชาได้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อปรับสถานะจากแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ไปสู่การมีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย

- มีการดำเนินการในจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาและสถานะสิทธิบุคคล (มติครม.18 มกราคม 2548) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะจัดการในเรื่องการไร้สถานะบุคคลของคนกลุ่มต่างๆในประเทศไทย ที่มีคนบางกลุ่มไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ เพื่อเป็นการกำหนดสถานะให้เกิดความชัดเจนและนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิอย่างเหมาะสมต่อไป

ปี 2549 มีการขยายการประกันสุขภาพไปยังครอบครัวและผู้ติดตามของแรงงานข้ามชาติตามความสมัครใจ ทำให้ผู้ติดตามสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น

ปี 2550 มีการยกเลิกการรายงานผลการตรวจการตั้งครรภ์ แต่ให้การตรวจการตั้งครรภ์เป็นไปตามกระบวนการวินิจฉัย เพื่อหลีกเลี่ยงการเอกซ์เรย์ปอดและการกินยาป้องกันโรคเท้าช้าง ที่อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์  

ปี 2551 เกิดแนวปฏิบัติด้านการประกันสุขภาพ ที่ได้เปิดกว้างให้กับแรงงานข้ามชาติและครอบครัวที่ไม่มีเอกสารใดๆเลยเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น โดยให้แต่ละสถานบริการพิจารณาตามความเหมาะสมได้ด้วยตนเอง

ปี 2552 กระทรวงแรงงานเปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติในกิจการบางประเภทที่ไม่สามารถจดทะเบียนในปีที่ผ่านๆมาได้ ก็สามารถจดทะเบียนได้แล้ว เช่น กิจการสถานศึกษา มูลนิธิ สมาคมและสถานพยาบาล, กิจการให้บริการต่างๆ เช่น ซักอบรีด การบริการที่พัก เป็นต้น

ปี 2553

-     19 มกราคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่องการขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติและการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว แก่แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่จดทะเบียนและได้รับอนุญาตทำงานออกไปอีก 2 ปี สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 โดยอิงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 จำนวน 382,541 คน และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 วันที่ 28 กรกฎาคม 2552 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 จำนวน 928,149 คน 

-     กันยายน 2553 รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานมีแนวคิดที่จะเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่ เนื่องจากในปัจจุบันมีแรงงานมากว่าหนึ่งล้านคนที่ทำงานแบบไม่ถูกกฎหมายและเข้าไม่ถึงการจดทะเบียน ทำให้แรงงานต้องเผชิญกับการเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิด้านสุขภาพ เป็นต้น  

-     พฤศจิกายน 2553 สำนักงานประกันสังคม ตื่นตัวและดำเนินการชี้แจงเรื่องหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียน และการให้ความคุ้มครองลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วเข้ามาทำงานถูกกฎหมาย ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน พร้อมทั้งจ่ายเงินสมทบ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2533 ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน

-     กลางเดือนธันวาคม 2553 เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทย โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ประกาศแจ้งข่าวสารเรื่องการพิสูจน์สัญชาติและการยื่นขอใบอนุญาตทำงานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือเดินทาง สำหรับแรงงานข้ามชาติ โดยประกาศทั้งภาษาไทย พม่า ลาว และกัมพูชา รวม 4 ภาษา ในหนังสือพิมพ์รายวันกระแสหลักหลายฉบับ ถือได้ว่าเป็นการเอื้ออำนวยช่องทางในการสื่อสารให้แรงงานข้ามชาติบางกลุ่มสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้มากยิ่งขึ้น

-     ตลอดปี ได้เกิดความพยายามในการทำให้ศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวได้รับการรับรองถูกกฎหมายผ่านการมีนโยบายที่ถูกต้องจากทางการไทย จากที่ประเทศไทยมีเด็กข้ามชาติที่เป็นบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากประเทศพม่า อาศัยอยู่ในประเทศไทยตามแนวชายแดนกว่า 260,000 คน แต่มีเด็กเพียง 160,000 คนเท่านั้นที่มีโอกาสได้รับการศึกษา ในจำนวนนี้ 60,000 คน เรียนอยู่ในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนที่เหลืออีก 100,000 คน กลุ่มแรกกระจายศึกษาอยู่ในศูนย์การเรียนขององค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งเฉพาะใน จ.ตากมีกว่า 62 แห่ง มีนักเรียนกว่า 10,812 คนและครู 625 คน ส่วนอีกกลุ่มเป็นเด็กที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งจัดการศึกษาโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

ที่ผ่านมาทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จ.ตาก ได้ส่งเสริมให้ศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติที่มีความพร้อมให้เป็นโรงเรียนเอกชน (Private School) ตอนนี้มี 1 โรงเรียน คือ โรงเรียนสัตถวไมตรีศึกษา บ้านตาลเดี่ยว ถนนสายเอเชีย อำเภอแม่สอด เดิมชื่อศูนย์การเรียน All Saint บริหารงานโดยองค์กรเอกชน Good Friend Center อีกประการหนึ่ง คือ การประสานกับศูนย์การเรียนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ช่วยเหลือกันด้านวิชาการ ซึ่งในปีการศึกษา 2553 มีการดำเนินการในหลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนบ้านท่าอาจกับศูนย์การเรียนพยานดาว ศูนย์การเรียนหนองวัวแดง ศูนย์การเรียนนิวส์เดย์ และศูนย์การเรียนแควเกอร์ โรงเรียนบ้านแม่ปะเหนือกับศูนย์การเรียนเอลปีส โรงเรียนบ้านแม่ตาวกับศูนย์การเรียนยูไนเต็ดคริสเตียน และโรงเรียนบ้านห้วยน้ำหนักกับศูนย์การเรียนตูมุยคี เป็นต้น

อีกประการที่สำคัญแม้ว่าอาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแรงงานข้ามชาติ แต่ก็กล่าวได้ว่าปี 2553 นี้ เป็นปีที่รัฐบาลไทยมีนโยบายที่เอื้อต่อการเข้าถึงคุณภาพชีวิตแรงงานทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น (ซึ่งแรงงานข้ามชาติเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน) ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นมาของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 และร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีว
อนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ....ที่อยู่ในระหว่างการประกาศใช้เป็นกฎหมาย รวมถึงการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ... หรือการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับบูรณาการแรงงาน) พ.ศ..... เหล่านี้ถือว่าเป็นการเอื้อต่อการคุ้มครองแรงงานมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่า ในปี 2553 นี้ ในระดับงานพื้นที่เองได้มีความพยายามที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการของรัฐต่างๆหลายด้านมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือในการทำงานระดับท้องถิ่น ผ่านการทำงานเชื่อมประสานของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ เช่น

การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ใน จ.ระนอง จ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี จ.เชียงราย
จ. เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน

ใน จ.ระนอง แรงงานข้ามชาติจากพม่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากใน ต.บางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนหนาแน่นแออัด ส่งผลให้คนในชุมชนมีปัญหาในเรื่องสุขภาพตามมา ทางมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จ.ระนอง จึงได้ประสานความร่วมมือกับสถานีอนามัยบางริ้นบ้านมิตรภาพจัดตั้งศูนย์สาธารณสุขมูลฐานไทย-พม่า โดยใช้ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านหรือที่รู้จักกันดีว่า อสม. โดยหวังให้มีการรวมกลุ่มของ อสม. และตัวแทนของแรงงานข้ามชาติในชุมชนเพื่อทำงานร่วมกัน ในการให้บริการในด้านสุขภาพแก่คนในชุมชน ซึ่งหมายรวมถึงแรงงานข้ามชาติทั้งมีบัตรและไม่มีบัตร เพื่อทำให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้มากขึ้น เพราะมีศูนย์กระจายอยู่ตามหมู่บ้าน เกิดการรวมกลุ่มกันของชาวไทยและแรงงานข้ามชาติทำให้มีการช่วยเหลือหรือสื่อสารกันได้ เมื่อมีการดูแลรักษากันในเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้นก็จะส่งต่อเข้าสู่ระบบโดยผ่านมูลนิธิศุภนิมิต สถานีอนามัย และโรงพยาบาลต่อไป

ส่วนใน จ.อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี มูลนิธิพัฒนรักษ์ ได้สำรวจข้อมูลพบว่าในพื้นที่ชายแดนอีสานใต้ได้มีแรงงานจากลาวจำนวนมากลักลอบข้ามชายแดนเข้ามาทำงานตามฤดูกาล เช่น ดำนา เกี่ยวข้าว ตัดอ้อย ปลูกยาสูบ ทำงานในสวนยางพารา มูลนิธิจึงได้พัฒนาโครงการเพื่อทำกิจกรรมนำร่องโดยเน้นการประสานความร่วมมือกับภาคีในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้ต้องเจอกับสภาพปัญหาในหลายๆด้าน อาทิ ไม่มีที่พัก ไม่มีห้องน้ำที่เหมาะสม นายจ้างมักจะให้นอนอยู่ในพื้นที่ไร่นา เพื่อจะได้หลบหลีกไม่ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเห็น ไม่มีน้ำสะอาดใช้อย่างเพียงพอ และกินอยู่อย่างไม่ถูกสุขลักษณะในระหว่างการทำงาน เมื่อได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานหรือมีอาการเจ็บป่วยก็จะไม่ไปหาหมอเนื่องจากกลัวถูกจับ และมักจะไปหาหมอเมื่อมีอาการหนักแล้วทำให้รักษายากและส่งผลอันตรายต่อชีวิต การรับจ้างทำงานไม่มีอัตราค่าจ้างที่แน่นอน ไม่ได้คำนึงถึงอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละพื้นที่ แรงงานที่ทำงานในพื้นที่เกษตรที่มีการใช้สารเคมีสูง ไม่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการป้องกันตัวเองจากสารเคมี แรงงานที่ทำงานตามสถานบันเทิงไม่มีความรู้ในการรักษาตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอดส์ และหลายคนกลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ เป็นต้น

ใน จ.เชียงราย จ. เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน ทางเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงได้พัฒนาให้เกิดอาสาสมัครทำหน้าที่เป็นล่ามประจำชุมชนด้านสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีล่ามประจำชุมชนจำนวน 43 คน ประจำอยู่ที่ชุมชนในพื้นที่อำเภอแม่สาย อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย, อำเภอเชียงดาว อำเภอฝาง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอขุมยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยล่ามประจำชุมชนจะมีบทบาทหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยในชุมชนตนเอง เช่น พาผู้ป่วยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล แปลภาษา ที่ปรึกษาเรื่องโรคต่างๆ ตลอดทั้งการเป็นกลไกในการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขและรายงานสถานการณ์ปัญหาสุขภาพในระดับพื้นที่เพื่อเป็นข้อมูลในการนำไปใช้ผลักดันในระดับนโยบายต่อไป

นอกจากนั้นแล้วการทำงานโดยตรงของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่องก็เอื้ออำนวยให้เกิดช่องทาง/กลไกการเข้าถึงบริการสุขภาพและการขยายสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆให้ครอบคลุมและทัดเทียมเท่ากับคนไทย เช่น การทำงานของมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เป็นต้น

 

การเข้าถึงด้านสถานะบุคคล ใน จ.ตราด และ จ.ระนอง

มูลนิธิรักษ์ไทย จังหวัดตราด ได้ร่วมกันสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาและเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐผลักดันให้อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราดเป็นพื้นที่ต้นแบบจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับ อาทิ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อทำให้เด็กทุกคนได้รับการจดทะเบียนการเกิด เพราะที่ผ่านมาเวลาแรงงานข้ามชาติมีการคลอดบุตรที่ประเทศไทย พ่อแม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติบางคนก็เข้ามาแจ้งเกิดเด็ก แต่บางคนก็ไม่มาแจ้งเกิดแต่อย่างใด ทำให้เด็กตกหล่นจากสถานะบุคคลและสิทธิต่างๆตามมา

ส่วนใน จ.ระนอง สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ร่วมกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อผู้อพยพย้ายถิ่น (NCCM) รวบรวมสถานการณ์การจดทะเบียนการเกิด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า ครบขั้นตอนและถูกต้องในพื้นที่ ด้วยเล็งเห็นว่าระนองเป็นพื้นที่ชายแดนที่ประสบปัญหาเรื่องการจดทะเบียนรับรองการเกิดของเด็ก และเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาการตกอยู่ในภาวะไร้รัฐของบุคคลได้ง่าย แต่จังหวัดระนองโดยความร่วมมือของภาคราชการ ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) กลับมีสถิติในการแก้ปัญหาได้รวดเร็วกว่าที่คาดไว้ ดังนั้นหากสามารถรวบรวมปัญหาที่มีอยู่ และแนวทางวิธีแก้ปัญหาที่ผ่านมาก็อาจส่งผลให้จังหวัดระนองกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบนำร่องสู่การจดทะเบียนการเกิดที่ถ้วนหน้า ครบขั้นตอนและถูกต้องได้

การเข้าถึงด้านการศึกษา ในพื้นที่เขตบางขุนเทียน กทม.

มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท ได้ดำเนินงานด้านการศึกษาเพื่อทำให้เด็กข้ามชาติได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนของรัฐในเขตบางขุนเทียน กทม. ให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันสามารถผลักดันให้เด็กที่เป็นบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติเข้าศึกษาในโรงเรียนของรัฐได้จำนวน 11 คน ผ่านกระบวนการทำงานลงพื้นที่อธิบายทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียน และสำนักการศึกษาเขตบางขุนเทียนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ตลอดจนการจัดทำคู่มือเพื่อเป็นแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับเด็กนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียน เพื่อเผยแพร่ให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครและสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งหน่วยงานเอกชนด้านการศึกษาในพื้นที่นำไปใช้ได้เป็นเครื่องมือในการผลักดันการเกิดการเข้าถึงสิทธิด้านการศึกษาของเด็กข้ามชาติต่อไปได้

การเข้าถึงสิทธิด้านแรงงาน ใน จ.มุกดาหาร และ อ.แม่สอด จ.ตาก

ใน จ.มุกดาหาร มูลนิธิเพื่อนหญิงได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับหน่วยงานรัฐท้องถิ่น ผ่านรูปแบบกลไกการทำงานแบบสหวิชาชีพ เป็นการชักชวนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน เช่น สาธารณสุข อสม. จัดหางานจังหวัด โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน เปิดเวทีแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ปัญหาของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ และหาแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิแรงงานและการบริการสุขภาพ เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานของแรงงานที่ควรจะได้รับ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของแต่ละฝ่าย และหาประเด็นในการทำงานร่วมในเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพ แนวทางการจัดตั้งกองทุนสุขภาพ เป็นต้น 

ใน อ.แม่สอด จ.ตาก หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม(SDSU) สภาคริสตจักรในประเทศไทย ได้ร่วมมือกับโบสถ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ ผลักดันให้แรงงานข้ามชาติได้มีความรู้เข้าใจสิทธิต่างๆ กฎหมาย นโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้แรงงานเข้าถึงสิทธิการจ้างงานตามสิทธิให้ได้ตามที่กฎหมายระบุไว้ รวมถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเปิดพื้นที่ทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย และ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ถือเป็นการขยายพื้นที่รูปธรรมมากยิ่งขึ้น

รวมถึงการทำงานโดยตรงของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาในการผลักดันให้เกิดนโยบายด้านสิทธิแรงงานที่ดีหลายประการผ่านการทำงานร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สามพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ อีกทั้งการทำงานของโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง

การทำงานด้านสื่อสารสาธารณะเพื่อเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวก

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนได้ทำงานสื่อสารสาธารณะเชิงรุกหลายประการ มีการผลิตสื่อในหลายรูปแบบ ทั้งข่าว รายงาน บทความวิเคราะห์ นิตยสารรายสองเดือน สป็อตวิทยุและสป็อตโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบสื่อที่นำเสนอข่าวสารที่เป็นทัศนคติเชิงลบ และสนับสนุนสื่อที่นำเสนอข่าวเชิงบวกต่อแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลผ่านโครงการ “แอบมองสื่อ” มีการเปิดพื้นที่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น facebook หน้าแอบมองสื่อ เป็นการเปิดช่องทางการสื่อสารใหม่ และทำให้สามารถติดตามการนำเสนอของสื่อต่างๆ และสามารถแก้ไขข่าวที่มีทัศนคติเชิงลบหรือให้ข้อมูลที่ถูกต้องได้ทันที อย่างไรก็ตามจากการเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อแม้พบว่าจะมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ผิดพลาดบ้างและยังมีการนำเสนอข่าวอาชญากรรมโดยแรงงานข้ามชาติเป็นผู้กระทำผิด แต่ก็พบแนวโน้มว่าสื่อมวลชนกระแสหลักนำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิต่างๆของแรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้นกว่าในหลายปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้นการทำงานโดยตรงของนิตยสารสาละวินโพสต์ และการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆของกลุ่มเพื่อนพม่า ได้มีส่วนเอื้ออำนวยการเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกผ่านการสื่อสารด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายที่ดีหลายประการ มีการทำงานในพื้นที่ที่เอื้อต่อการเข้าถึงบริการของรัฐด้านต่างๆ แต่ก็ยังพบว่ามีปรากฏการณ์อีกหลายด้านที่เป็นภาพสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมต่อแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น

(1) ยังเกิดอุบัติเหตุจากการย้ายถิ่นแทบทุกเดือน เนื่องจากยังมีการลักลอบเข้ามาทำงานของแรงงานอยู่เสมอ และรัฐบาลไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น ในปี 2553 เกิดถึง 11 ครั้ง

- 25 กพ. 53 แรงงานพม่าเสียชีวิต 3 คน ที่จังหวัดระนอง เนื่องจากทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 (ฉก.ร.25) ได้ขอตรวจรถกระบะที่กำลังพาแรงงานที่พึ่งเดินทางมาจากเกาะสองมาขึ้นรถกระบะที่จอดรออยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำกระบุรี เพื่อไปส่งที่ตัวเมืองระนอง แต่เมื่อด่านทหารของตรวจ คนขับกลับขับรถหนี ทหารจึงยิงรถเพื่อสกัด ปรากฏว่าในกระบะมีแรงงานจากพม่า 13 คน ในจำนวนนี้ถูกกระสุนเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 5 คน

- 30 มีค. 53 รถกระบะนำแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาที่ลักลอบเข้าเมือง เสียหลักพลิกคว่ำเนื่องจากหลบหนีตำรวจ ทำให้แรงงานเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 11 คน ที่ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

- 1 พ.ค. 53 แรงงานพม่าตาย 4 คน บาดเจ็บ 2 คน ที่จังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากคนขับรถที่กำลังพาแรงงานพม่าจากจังหวัดตากที่กำลังจะเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ ได้ขับรถด้วยความเร็วสูงจนเสียหลักตกลงไปในร่องกลางถนนแล้วพลิกคว่ำ ทำให้แรงงานที่นั่งมาในตอนท้ายของกระบะกระเด็นตกลงมาอยู่กลางถนนได้รับบาดเจ็บและบางคนต้องเสียชีวิต

- 24 พ.ค. 53 รถนำแรงงานข้ามชาติแหกโค้งชนต้นไม้ มีผู้เสียชีวิต 9 คน บาดเจ็บ 19 คน ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เนื่องจากหลบหนีตำรวจที่ตั้งด่านตรวจ เพราะกลัวความผิดที่นำพาแรงงานผิดกฎหมายเข้าไปทำงานในพื้นที่ชั้นใน

- 11 มิ.ย. 53 รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ที่บรรทุกแร่สังกะสีจากเหมืองผาแดง อ.แม่สอด เพื่อไปส่งที่โรงงานถลุงแร่ผาแดงอินดัสทรีจำกัด ได้เกิดเพลิงไหม้บริเวณถนนสายตาก-แม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก โดยคนขับรถลักลอบนำแรงงานข้ามชาติจำนวน 9 คนซุกซ่อนมาด้วย เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุเป็นทางโค้งรถเสียหลักชนต้นไม้และเกิดเพลิงไหม้ ทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับบาดเจ็บสาหัส

- 23 มิ.ย. 53 รถกระบะที่นำพาแรงงานข้ามชาติชาวลาวจาก จ.อุบลราชธานี มาส่งที่ กทม. เสียหลักพลิกคว่ำเนื่องจากคนขับรถหลับใน ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี จนทำให้แรงงานเสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บ 8 คน 

- 28 มิ.ย. 53 แรงงานพม่าบาดเจ็บ 13 คน ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากถูกคนร้ายลอบยิงโดยไม่ทราบสาเหตุ ระหว่างที่นายหน้าชาวไทยกำลังพาแรงงานกลุ่มนี้ลักลอบเดินทางจากจังหวัด สมุทรสาครลงไปทำงานที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและสงขลา แต่เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุมีรถยนต์ไม่ทราบยี่ห้อวิ่งมาประกบด้านท้ายแล้วใช้อาวุธปืนยิงใส่จนแรงงานได้รับบาดเจ็บ

- 7 ก.ค. 53 แรงงานพม่าบาดเจ็บ 38 คน ที่จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากคนขับที่กำลังนำพาแรงงานชาวมอญจากด่านเจดีย์สามองค์เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ อยู่ในสภาพที่มึนเมา ประกอบกับขณะนั้นเกิดฝนตกถนนลื่น ที่เกิดเหตุเป็นทางโค้ง จนทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำจนเกิดอุบัติเหตุในที่สุด

- 12 ก.ค. 53 รถตู้นำแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาที่เดินทางมาจากเมืองปอยเปตเพื่อไปส่งที่ จ.ปัตตานี ชนต้นไม้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บสาหัส 13 คน ที่ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา เนื่องจากขับด้วยความเร็วสูงจนเสียหลักชนต้นไม้บริเวณเกาะกลางถนน

- 26 ก.ย. 53 เกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำบริเวณอ.วังเจ้า จ.ตาก ทำให้แรงงานข้ามชาติจากพม่าบาดเจ็บ 17 คน และเสียชีวิต 5 คน เนื่องจากคนขับขับหลบหนีตำรวจที่ตั้งด่านสกัดอยู่จนเสียหลักพลิกคว่ำ

- 5 ต.ค. 53 รถตู้รับแรงงานข้ามชาติจากกรุงเทพฯ ที่จะเดินทางไปต่อใบอนุญาตทำงานที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อ ทำให้มีแรงงานเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 10 คน เนื่องจากคนขับรถตู้หลับใน ที่อ.แม่ใจ จ.พะเยา

 

(2) การไม่ได้รับค้าจ้างที่เป็นธรรม (ค่าจ้างขั้นต่ำ) หรือการเข้าไม่ถึงการจ้างงานที่ดี

การไม่ได้รับค้าจ้างที่เป็นธรรม (ค่าจ้างขั้นต่ำ) ได้ปรากฏชัดเจนจากเหตุการณ์เมื่อกลางเดือนกันยายน 2553 กรณีการจ้างงานจ้างโรงงานทออวนเดชาพาณิชย์ใน จ.ขอนแก่น ที่แรงงานข้ามชาติจากพม่าหลายร้อยคนได้รวมตัวกันประท้วงนายจ้างโรงงานทออวนเดชาพาณิชย์ใน จ.ขอนแก่น โดยเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างให้เป็นไปตามกฎหมาย คือ ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ และให้นายจ้างคืนหนังสือเดินทางที่ยึดไว้ เนื่องจากนายจ้างจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดคือวันละ 140 บาท ทั้งๆ ที่ค่าจ้างขั้นต่ำในเขต จ.ขอนแก่นกำหนดไว้ที่วันละ 157 บาท

หรือการเข้าไม่ถึงการจ้างงานที่ดี เห็นได้ชัดเจนจากชีวิตครอบครัวแรงงานข้ามชาติที่เป็นคนเก็บขยะที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ใช่ว่าแรงงานข้ามชาติทุกคนที่ข้ามมาหางานทำในประเทศไทยจะได้มีงานทำ ชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่เป็นคนเก็บขยะบ่งบอกชะตากรรมของการถูกปฏิเสธจากการมีงานทำเป็นอย่างดี ในบริเวณที่ทิ้งขยะของอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่นั่นจะมีแรงงานข้ามชาติจากพม่านับร้อยชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่ต่างเก็บขยะอย่างไม่ย่อท้อ คัดเลือกเอาสิ่งที่ใช้ได้หรือพอจะนำไปขายได้เพื่อให้ได้เงินมาประทังชีวิตแต่ละวัน ชีวิตคนเก็บขยะเหล่านี้ต้องเผชิญกับขยะอันตราย สารเคมีต่างๆ ที่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ นี้ยังมินับว่านอกจากการหาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บขยะขายแล้วแรงงานจากพม่ายังใช้กองขยะเป็นที่พักหลับนอนในแต่วัน นั่นหมายถึงการไม่มีโอกาสเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขอนามัยด้านอื่นๆแม้แต่น้อย

 

(3) การเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลและระบบบริการสุขภาพของรัฐ

ปัญหาเรื่องการสื่อสารต่างภาษา ความไม่คุ้นเคยและหวาดกลัวในการเข้ารับบริการประกอบกับความเสี่ยงจากการถูกจับ หรือรีดไถระหว่างเดินทางมาโรงพยาบาล เป็นปัญหาสำคัญ ที่ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติมาโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อป่วยหนักมากแล้ว นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าระบบประกันสุขภาพที่แรงงานจ่ายเงินตอนขึ้นทะเบียนปีละ 1,300 บาท ก็ยังไม่ครอบคลุมไปถึงเรื่องการรักษาโรคเอดส์ ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่มีโอกาสได้รับยาต้านไวรัส และโรคติดต่อบางโรคด้วยเช่นกัน รวมถึงยังพบว่าในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้/ไม่มีโอกาสมาขึ้นทะเบียน เวลาเจ็บป่วยก็จะต้องจ่ายเงินเป็นค่ารักษาพยาบาลโดยตรง รัฐบาลไทยก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนต่อการทำให้ประชากรกลุ่มนี้เข้าถึงบริการสุขภาพให้ได้จริง นี้ยังรวมถึงผู้ติดตามอีกกว่า 1 ล้านคน ที่ก็ไม่มีระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพและการรักษาพยาบาลอีกด้วย

 

(4) การเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมไทย

มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกกฎหมาย ทำให้เวลาแรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรม การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะส่วนใหญ่เกรงว่าตัวเองจะถูกเนรเทศ จึงไม่กล้าเข้าร้องเรียนกรณีถูกละเมิดสิทธิต่อเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่ากรณีใด ๆ และถึงแม้แรงงานจะเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิในการได้รับการเยียวยาตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม หากเข้าเมืองผิดกฎหมายก็จะถูกส่งกลับทันที ก่อนที่จะได้รับการพิจารณาโดยกระบวนการยุติธรรมและได้รับการเยียวยา หรือถึงแม้เป็นแรงงานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วก็ยังหวาดกลัวและไม่มั่นใจที่จะร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่รัฐและตำรวจด้วยเช่นกัน

 

(5) การจดทะเบียนและการพิสูจน์สัญชาติไม่สอดคล้องกับสภาพบริบทของแรงงานข้ามชาติบางกลุ่มที่เข้ามาเพราะภัยสงคราม และยังไม่ครอบคลุมในกลุ่มผู้ติดตาม

ยังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงนโยบายการจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงานได้ เนื่องจากระบบการจดทะเบียนในปัจจุบันยังเป็นระบบที่ปิด ยากต่อการเข้าถึง โดยจำกัดให้แรงงานที่เคยอยู่ในระบบเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าสู่ระบบได้ ทำให้การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติจึงมีจำนวนแรงงานที่มาจดทะเบียนลดลงทุกปี นอกจากนั้นแล้วการจดทะเบียนยังไม่ครอบคลุมถึงในกลุ่มผู้ติดตาม เช่น บุตรหลาน ภรรยา สามี หรือครอบครัวที่ไม่ได้ทำงาน ทำให้เกิดช่องว่างให้คนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายแสวงหาผลประโยชน์ คุกคาม ได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันกลไกการพิสูจน์สัญชาติที่ดูเหมือนจะเป็นกลไกเดียวที่รัฐบาล เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติได้ กับไม่ได้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง หรือความต้องการของแรงงานข้ามชาติ

เนื่องจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่ระบบการพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย ประกอบด้วยคน 3 กลุ่ม คือ แรงงานข้ามชาติกลุ่มที่สามารถไปพิสูจน์สัญชาติได้ แรงงานข้ามชาติกลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติแล้วไม่ผ่าน และแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้แม้แต่น้อย

กลุ่มแรกอาจจะไม่ใช่ปัญหา เพราะพวกเขาสามารถพิสูจน์สัญชาติตามระบบดังกล่าวได้อยู่แล้ว

กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่อยู่ในภาวะวิตกกังวลกับอนาคตของตนเอง เมื่อต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่ตนเองไม่คุ้นเคย เพื่อให้กระบวนการชี้ชะตากรรมว่าพวกเขาและเธอ “เป็นหรือไม่เป็นพลเมืองพม่า” แต่มติคณะรัฐมนตรีก็เปิดช่องทางให้หาหนทางแก้ไขปัญหาให้พวกเขา โดยให้สภาความมั่นคงแห่งชาติแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้

ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้เลย เนื่องจากพวกเขาและเธอมีความขัดแย้งกับรัฐ อาจจะประสบอันตรายเมื่อต้องเผชิญหน้ากับรัฐที่ไม่เคยกางปีกปกป้องพวกเขาเลย เช่น กลุ่มกะเหรี่ยง ไทยใหญ่ โรฮิงยา ฯลฯ กระบวนการพิสูจน์สัญชาติย่อมไม่ใช่ทางออกของพวกเขาแน่นอน

จากการสำรวจขององค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) เมื่อ กพ. 53 พบว่า แรงงานข้ามชาติพม่าใน 8 จังหวัด ได้แก่ กทม. สมุทรปราการ ปทุมธานีเชียงใหม่ ตาก ระนอง ภูเก็ต และ สุราษฎร์ธานี จำนวน 273 คน เกี่ยวกับประเด็นการพิสูจน์สัญชาติ พบว่า ร้อยละ 20 ไม่เคยได้รับรู้การพิสูจน์สัญชาติเลย ทำให้ไม่เข้าใจว่าต้องพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพิสูจน์สัญชาติครั้งนี้ล้มเหลว สะท้อนให้เห็นการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานราชการอ่อนแอ ร้อยละ 54 รับรู้ข้อมูลจากแหล่งไม่เป็นทางการ เช่น เพื่อน นายจ้าง ซึ่งเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนได้ง่าย ร้อยละ 25 คิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องผ่านการพิสูจน์สัญชาติ

ในแง่ของการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ ร้อยละ 50 ระบุว่าไม่ดำเนินการด้วยตัวเอง เนื่องจากเกรงว่าถูกจับเพราะมีข่าวว่ามีการจับแรงงานต่างด้าวที่ชายแดน ร้อยละ 57 กลัวครอบครัวที่บ้านจะมีปัญหา ร้อยละ 48 ไม่มีเงินค่าใช้จ่าย ร้อยละ 46 ไม่เข้าใจขั้นตอนการดำเนินการ ร้อยละ 29 ไม่มีเอกสารในประเทศต้นทาง ทั้งนี้ร้อยละ 20 ของผู้ตอบแบบสำรวจเดินทางมาเนื่องจากประเด็นทางการเมือง การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ทำให้หวาดกลัวหรือมีข้อขัดแย้งทางการเมืองกับรัฐบาลพม่า

นอกจากนี้ส่วนใหญ่คิดว่าต้องจ่ายเงินไม่เกิน 4,000-10,000 บาท และร้อยละ 75.5 บอกว่านายจ้างไม่ได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเลย ร้อยละ 48.6 จะให้นายหน้าช่วยดำเนินการ ทั้งเรื่องเอกสารการเดินทาง ที่พัก อาหาร ร้อยละ 70.2 มีบัตรประชาชนพม่า ขณะที่ 29.8 ไม่มีเอกสารแสดงตัวและร้อยละ 26.2 บอกว่าตัวเองจะไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ร้อยละ 56.1 ไม่แน่ใจว่าจะผ่านหรือไม่ ร้อยละ 59.1 ไม่เต็มใจในขั้นตอนพิสูจน์สัญชาติ เพราะค่าใช้จ่ายสูง กลัวว่าจะต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาลทหารพม่า กลัวจะกลายเป็นคนผิดกฎหมายเพราะออกนอกประเทศ กลัวว่าจะถูกจับและถูกจำคุกและ กลัวทางการพม่าตามตัวเจอ และร้อยละ 68.5 ยินยันว่าจะอยู่ทำงานในประเทศไทยต่อไป และร้อยละ 18.1 คิดว่าจะกลับประเทศพม่า

 

(6) แรงงานข้ามชาติยังถูกจำกัดสิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน

ทั้งที่คือการปกป้องสิทธิของตนเอง โดยเฉพาะการเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นกรรมการสหภาพแรงงานตาม พรบ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานจึงเกิดขึ้นง่ายและบ่อยครั้ง

 

(7) แรงงานที่ทำงานเป็นแม่บ้าน วันนี้กระทรวงแรงงานยังไม่ออกกฎกระทรวงคุ้มครอง

เพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิแรงงานในฐานะผู้ใช้แรงงานคนหนึ่งที่พึงได้รับตามสิทธิแรงงาน ทั้งในเรื่องค่าแรง วันหยุด เงินชดเชย สัญญาจ้างงาน และสิทธิอื่นๆ การที่กระทรวงแรงงานยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดของแรงงานทำงานบ้าน เป็นภาพสะท้อนสำคัญว่าวันนี้แรงงานกลุ่มนี้ยังมีการถูกหลงลืมจากระบบการคุ้มครองแรงงานประเภทต่างๆ แม้ว่าจะมีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แต่ก็มีข้อยกเว้นการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านหลายประการ จึงทำให้แรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับการคุ้มครองหลายประการ เช่น ไม่มีการกำหนดค่าแรงที่เป็นธรรม เป็นต้น การไม่กำหนดมาตรการคุ้มครองแรงงานทำงานบ้าน ส่งผลให้ลูกจ้างทำงานบ้านไม่ทราบถึงสิทธิที่ควรได้รับ เช่นเดียวกับแรงงานในกลุ่มอื่นๆ

 

(8) แรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงานยังไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนได้

เนื่องจากกฎหมายระบุไว้ว่าแรงงานข้ามชาติต้องมี passport ที่ถูกกฎหมายเท่านั้น กรณีเคสนางหนุ่ม แรงงานชาวไทยใหญ่ที่ประสบอุบัติเหตุจากการก่อสร้างเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

 

(9) แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้หญิงยังถูกละเลยในเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์

แรงงานข้ามชาติผู้หญิงมักถูกละเลยทางด้านอนามัยเจริญพันธุ์ พวกเธอมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อการเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมทั้งโรคเอดส์ หรือการละเลยไม่มีการดูแลระหว่างตั้งครรภ์ เป็นต้น ดังเช่นกรณีล่าสุดเมื่อปลายเดือนพย. 53 ที่รมต.กระทรวงแรงงานมีแนวคิดที่จะส่งแรงงานข้ามชาติที่ตั้งครรภ์กลับประเทศต้นทาง โดยอ้างว่าเด็กซึ่งเป็นลูกหลานของแรงงานนั้นจะตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการทำแท้งเพิ่มมากขึ้น เพราะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานั้นมีแรงงานข้ามชาติเจ็บป่วยจากการทำแท้งเป็นจำนวนมาก หรือมีเด็กหลายคนที่แม่ทำแท้งไม่สำเร็จก็ต้องกลายเป็นเด็กพิการ

 

(10) แรงงานในภาคเกษตรต้องเผชิญกับสารเคมีอย่างรุนแรง

แรงงานที่ทำงานในพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะในไร่ส้ม ไร่สตอว์เบอรี่ ในระบบเกษตรพันธสัญญาต่างๆ มักพบว่ามีการใช้สารเคมีสูง ไม่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการป้องกันตัวเองจากสารเคมี มีตัวอย่างในพื้นที่อุบลราชธานี ที่มีแรงงานจากประเทศลาวเข้ามาทำนา ปลูกอ้อย ปลูกมัน ส่วนมากจะมีการรับจ้างเป็นรายวัน โดยเดินทางมาครั้งละ 10 ถึง 20 คน แต่มีค่าแรงเพียงแค่วันละ 100-120 บาท มีการพักในเต็นท์นอนซึ่งไม่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ สภาพการทำงานมีลักษณะเป็นโรงเรือน มีการกางมุ้งซึ่งเป็นพื้นที่ปิด โดยแรงงานจะต้องผสมเกสรของพืชเพื่อให้ได้พันธุ์ที่แท้จริง ซึ่งการทำงานจะต้องรับและสัมผัสสารเคมีจำนวนมากโดยตรง แต่กลับไม่มีกลไกการเข้ามาดูแลรักษาสุขภาพความปลอดภัยของแรงงาน

 

(11) รัฐบาลมีการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามจับกุมและดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบ ทำงานและกระบวนการค้ามนุษย์(ศป.รต.) จากการประชุมเมื่อ16 มิ.ย. 53 ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจปราบปรามฯ เห็นว่ายังมีแรงงานจากพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองจำนวนมากทำให้ยากต่อการพิสูจน์สัญชาติ ทางกระทรวงแรงงานเป็นห่วงเรื่องนี้ จึงเสนอตั้งศูนย์เฉพาะกิจปราบปรามจับกุมและดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าทำงาน ประกอบด้วย จัดหางานจังหวัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือกองทัพอากาศ กรมการปกครอง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และสำนักงานสืบสวนคดีพิเศษ กรณีดังกล่าวทำให้เกิดการฉกฉวยโอกาสในการละเมิดแรงงานข้ามชาติได้ง่ายขึ้น ดังปรากฏชัดว่ามีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ และองค์กรฮิวแมนไรท์สวอทช์ (Human Rights Watch) ได้รายงานว่าแรงงานข้ามชาติที่มิได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติภายในวันที่ 28 ก.พ. 2553 ตามที่รัฐบาลกำหนด ได้ถูกกวาดจับและผลักดันกลับไปประเทศพม่าผ่านจุดผ่านแดนในจังหวัดตาก และต้องเผชิญกับการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในประเทศพม่าโดยกองกำลังกะเหรี่ยงดีเคบีเอ (DKBA) เมื่อแรงงานที่ถูกผลักดันกลับเข้าไปในฝั่งพม่าจะถูกควบคุมตัวและถูกบังคับให้นำเงินจำนวนมากมาเสียค่าไถ่เพื่อที่จะแลกกับการปล่อยตัว มีแรงงานจำนวนมากจะถูกส่งต่อไปยังนายหน้าที่จะจัดการให้พวกเขาได้กลับเข้าประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

 

(12) เด็กข้ามชาติยังเข้าไม่ถึงการบริการในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านสุขภาพ พบว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่ครอบคลุมกลุ่มเด็กข้ามชาติ แม้กระทรวงสาธารณสุขจะรับรู้ปัญหาตลอดมา และพยายามผลักดันให้เกิดการประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ก็ไม่ได้ผลักดันเป็นรูปธรรมชัดเจนเท่าที่ควร หรือในด้านการศึกษาพบว่าแม้ว่าเด็กข้ามชาติจะมีโอกาสเข้าเรียนในระบบโรงเรียนของรัฐ แต่ในทางปฏิบัติโรงเรียนของรัฐหลายๆแห่งหรือโรงเรียนในสังกัดหน่วยงานปกครองท้องถิ่นก็ไม่ได้ใส่ใจยอมรับ ซ้ำยังมีทัศนคติเชิงลบต่อเด็กทำให้เด็กยิ่งตกหล่นจากระบบการศึกษามากยิ่งขึ้น



เชิงอรรถ

[i] ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับ ศาสตราภิชานสุริชัย หวันแก้ว, ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ, บัณฑิต แป้นวิเศษ , อ.ณัฐพงษ์ มณีกร รวมทั้ง เจนจินดา ภาวะดี ,จุฑิมาศ สุกใส ,รำพึง จำปากุล ,ขวัญจิต คำแสน สำหรับข้อเสนอแนะ ความคิด ความเห็น ข้อถกเถียง บทสนทนาแลกเปลี่ยนทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมแต่ส่งผลต่อการจัดทำบทความขนาดยาวเรื่องนี้ ทั้งนี้เนื้อหาที่ปรากฏทั้งหมดเป็นข้อคิด เห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวกับองค์กรต้นสังกัดหรือผู้ให้ความคิดเห็นใดๆทั้งสิ้น ความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นในรายงานฉบับนี้เป็นของผู้เขียนโดยตรง (ภาพทั้งหมดในรายงานถ่ายโดย อ.ณัฐพงษ์ มณีกร และผู้เขียน)

[ii] เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 รัฐบาลไทยจึงไม่เรียกประชาชนที่อพยพมาจากพม่าว่า ผู้ลี้ภัย แต่เรียกว่า ผู้หนีภัยจากการสู้รบหรือผู้หลบหนีจากภัยสงครามแทน และเรียกค่ายผู้ลี้ภัยว่า พื้นที่พักพิงชั่วคราว แต่ในรายงานฉบับนี้จะใช้คำว่า ผู้ลี้ภัยและค่ายผู้ลี้ภัยแทน ที่หมายถึงตามคำจำกัดความของพรสุข เกิดสว่าง คือ ผู้ลี้ภัยในค่ายกับผู้ลี้ภัยนอกค่าย

[iii] ในที่นี้ผู้เขียนเลือกมาเฉพาะบางเหตุการณ์ที่สำคัญเท่านั้น แน่นอนยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ปรากฏ โดยเฉพาะในด้านสถานะบุคคล การค้ามนุษย์ รวมทั้งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย และคนไร้รัฐหรือผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ซึ่งมีองค์กรที่ชำนาญการได้ดำเนินการจัดทำรายงานประจำปีอยู่แล้ว ท่านที่สนใจสามารถอ่านบางข้อมูลในส่วนนี้เพิ่มเติมได้ที่ สรุปความเคลื่อนไหวกฎหมายและนโยบายด้านสถานะบุคคลและสิทธิปี 2553 โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (เข้าถึงได้ที่ http://www.statelesswatch.org/node/283 )

[iv] เอกสารปี 2551 เข้าถึงได้ที่ http://www.burmaissues.org/New_Thai_site/SpecialReport/HRsituation2551.pdf ส่วนปี 2550 เข้าถึงได้ที่ http://www.thaingo.org/story/burma50.doc

[v] ข้อมูลในส่วนนี้เรียบเรียงมาจากบทความเรื่อง “ผู้คน...ในวันผู้ลี้ภัยโลก 2553” โดยพรสุข เกิดสว่าง เผยแพร่ผ่านศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน ฉบับที่ 81 รวมทั้งมาจากการลงพื้นที่โดยตรงของผู้เขียน ตลอดจนการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเอกสารจาก TBBC

[vi] มาจากตัวเลขในรายงานของ TBBC

[vii] CCSDPT ประกอบด้วยสมาชิก 20 องค์กร คือ Adventist Development and Relief Agency (ADRA) , Aide medicale internationale (AMI) , ARC International (ARC) , Catholic Office for Emergency Relief and Refugees (COERR) , Handicap International (HI) ,International Child Support (ICS-ASIA) ,International Rescue Committee (IRC) ,Jesuit Refugee Service (JRS) , Malteser International (MI) , Médecins sans frontières – France (MSF-F) ,Norwegian Church Aid (NCA) ,Ruammit Foundation (RF) ,Right To Play (RTP) ,Solidarites (SOL) ,Shanti Volunteer Association (SVA) ,Taipei Overseas Peace Service (TOPS) ,Thailand Burma Border Consortium (TBBC) ,Women’s Education for Advancement and Empowerment (WEAVE), World Education/Consortium (WE/C), ZOA Refugee Care Netherlands (ZOA) โดย AMI, ARC, COERR, HI, IRC, MI, MSF-F, Ruammit, Solidarites ดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ADRA , COEER , ICS , IRC , JRS , NCA , RTP , SVA , TOPS , WEAVE , WE/C , ZOA ดูแลด้านการศึกษา TBBC ดูแลเครื่องอุปโภคบริโภค

[viii] TBBC

[ix]ข้อมูลบางส่วนเรียบเรียงจากบทความเรื่องเกิดในรั้วลวดหนาม โดยนัน ภู่โพธิ์เกตุ มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

[x] เรียบเรียงจาก CBNA ฉบับที่ 59 จดหมายฉบับสุดท้ายจากผู้ลี้ภัยบ้านหนองบัวและอุสุทะ โดยทิวา พรหมสุภา และฉบับอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net