Skip to main content
sharethis

จดหมายเปิดผนึกเมื่อ 21 ธ.ค. กรณีเกษตรกรสุราษฎร์ 56 ราย ถูกนายทุนสวนปาล์มนำเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ถูกต้องตามกฏหมายมาฟ้องร้องคดีความ ส่งผลให้เกษตรกรเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีความกว่าล้านบาท

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายต่างๆ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก "กรณีเกษตรกรสุราษฎร์ 56 ราย ถูกนายทุนสวนปาล์มนำเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ถูกต้องตามกฏหมายมาฟ้องร้องคดี ความ ส่งผลให้เกษตรกรเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีความกว่าล้านบาท" โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

จดหมายเปิดผนึก กรณีเกษตรกรสุราษฎร์ 56 ราย ถูกนายทุนสวนปาล์มนำเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ถูกต้องตามกฏหมายมาฟ้องร้องคดีความ ส่งผลให้เกษตรกรเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีความกว่าล้านบาท

21 ธันวาคม 2553 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี

สวัสดีพี่น้องชาวสุราษฎร์ธานี

 

วันที่ 21-24 ธันวาคม นี้ พี่น้องเกษตรกรสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จำนวน 19 คน กำลังอยู่ในระหว่างการขึ้นศาล ในฐานะจำเลยในคดีความ ที่ถูกฟ้องร้องโดยนายทุนสวนปาล์ม ในข้อหาการบุกรุกพื้นที่เอกชน และถูกเรียกค่าเสียหายกว่า 15 ล้านบาท

พวกเราชาวบ้าน และเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริง และความเดือดร้อนของพวกเรา กับพี่น้องชาวสุราษฎร์ธานี ด้วยความสมานฉันท์ ในฐานะผู้ร่วมชะตากรรม และคนในจังหวัดเดียวกัน

นโยบายการกระจายการถือครองที่ดินในสังคมไทยมีความไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด ที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตส่วน ใหญ่ถึง 90% ตกอยู่ในมือคนมีเงิน-นายทุน ซึ่งเป็นกลุ่มคนเพียง 10% ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ 90% มีส่วนแบ่งในที่ดินพียง 10% ของที่ดินที่เหมาะสมในการทำการเกษตร

จังหวัดสุราษฎร์เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีการปลูกปาล์มน้ำมัน - ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก แต่ที่ดินของรัฐที่สามารถใช้ทำการเกษตรได้มากกว่า 1 แสนไร่ กลับตกอยู่ในมือนายทุน โดยกลวิธีต่างๆ เช่น

1. นายทุนเช่าที่ดินรัฐในราคาถูก หรือเมื่อหมดสัญญาแล้วไม่ถอนตัวออก  ยังคงครอบครองทำประโยชน์ต่อไป เสมือนเป็นที่ดินส่วนตัว

2. นายทุนเช่าที่ดินรัฐและบุกรุกเพิ่มเติมหรือบุกรุกทั้งแปลง โดยใช้อิทธิพลและเส้นสายทางการเมือง

3. การออกเอกสารสิทธิ์ของนายทุน ทับลงที่ดินรัฐ เช่น พื้นที่เขตส.ป.ก, ป่าไม้ถาวร, ที่สาธารณะประโยชน์

ตลอดเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ ขาดความฉับไวจนไม่อาจจัดการปัญหาได้  สำหรับพื้นที่ ส.ป.ก.ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนไทรงามพัฒนา คลองไทรพัฒนา อำเภอชัยบุรี  และชุมชนสันติพัฒนา อำเภอพระแสง ทางสำนักงาน ส.ป.ก.ระดับชาติ ได้ฟ้องขับไล่นายทุนบ้างแล้ว ส่วนที่ยังขาดคือ การเร่งดำเนินการปฏิรูปที่ดิน กระจายสิทธิที่ดินให้กับคนจน ตามแนวทางโฉนดชุมชน เพราะ แท้จริงแล้วกรรมสิทธิ์ในที่ดินเหล่านี้ เป็นของ ส.ป.ก.

กรณีชุมชนน้ำแดงพัฒนา และชุมชนสันติพัฒนา มีการออก น.ส.3 ก โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ากรมที่ดินเร่งตรวจสอบและเพิกถอน น.ส.3 ก ตามที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษส่วนกลาง ชี้มูลความผิดไว้ เมื่อสามเดือนก่อน นั่นก็จะช่วยคลี่คลายปลดเปลื้องคดีความมิให้เป็นภาระกับคนจน ถ้าไม่เช่นนั้น ก็อาจตั้งข้อสังเกตุได้ว่า กรมที่ดินพยายามถ่วงเวลาเพื่อช่วยเหลือนายทุน

การรวมศูนย์การถือครองที่ดิน โดยใช้ที่ดินของรัฐเป็นฐานการผลิตของนายทุนสวนปาล์มรายใหญ่สร้างกำไรมหาศาล ในขณะที่เกษตรกรคนจนนับแสนคนในภาคใต้ ขาดแคลนที่ดินทำกิน ต้องกลายเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูก ทั้งในเมือง-ชนบท

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เห็นว่าการจัดสรรทัพยากรที่ดิน ที่เป็นอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่มีความเป็นธรรม จึงอาศัยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540-2550 ว่าด้วยสิทธิของประชาชนและชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติฯ จึงเข้าปฏิบัติการตั้งชุมชนในพื้นที่ เพื่อสอบสวนกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ และ เพื่อทำการผลิต ปลูกพืชผักอาหาร เพียงพอกิน  แต่ได้นำมาสู่  การถูกดำเนินคดีแพ่งและอาญา ของสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ 56 คน

สกต. เห็นว่าคดีความเหล่านี้เป็นผล สืบเนื่องจากความไม่เป็นธรรมในการกระจายการถือครองที่ดินและความไม่เป็นธรรมดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิเกษตรกรและคนจน สร้างความเดือดร้อนอย่างรุนแรง สะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานรัฐยังไม่ยอมรับสิทธิเกษตรกร และคนจนในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรฯ ส่งผลให้เกษตรกรที่ไร้อำนาจต่อรองทางการเมือง ประสบความทุกข์เข็ญจากการถูกดำเนินคดี

ผ่านมา 2 ปี จนถึงปัจจุบัน เกษตรกรเหล่านี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีมากกว่า 1,120,000 บาท

คดีความที่เกิดจากการต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินจึงมีฐานะเป็นคดีการเมือง เรื่องความไม่เป็นธรรม เป็นการเมืองเรื่องที่ดินและชีวิตความเป็นอยู่ของคนจน

เกษตกรเพียงต้องการปัจจัยการผลิตเพื่อปรับปรุงฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม การแก้ไขปัญหาของรัฐ จึงมิใช่การดำเนินคดีกับชาวบ้าน แต่ต้องปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น อย่างเร่งด่วน

 

ด้วยความสมานฉันท์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ

เครือข่ายสลัม 4 ภาค

21 ธันวาคม 2553

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net