Skip to main content
sharethis

นักสหภาพชี้ ร่าง พ.ร.ฎ.ตั้งสหภาพ ข้าราชการยังไม่ช่วยสร้างความเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 53 ที่ผ่านมานายสุพจน์  พงศ์สุพัฒน์ ประธานสหภาพข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) สนับสนุนให้ข้าราชการพลเรือนตั้งสหภาพราชการและเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเร็ว ๆ นี้ว่า เป็นเรื่องที่ ก.พ.ปฏิบัติโดยผิดหลักการและลำดับชั้นของการออกกฎหมาย เพราะควรจะออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพราะเป็นเรื่องที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาและรายละเอียดมาก ที่สำคัญโครงสร้าง รวมถึงเนื้อหาของกฎหมายยังไม่ครอบคลุม หรือสร้างความเป็นธรรมให้กับข้าราชการ รวมถึงลูกจ้างอื่น ๆ ของภาครัฐ

นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีข้าราชการทุกประเภทกว่า 1.2 ล้านคน รวมถึงเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เช่น ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำ อีกนับล้านคน แต่กฎหมายดังกล่าว กลับครอบคลุมเฉพาะข้าราชการพลเรือนสามัญกว่า 360,000 คน ทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 64 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างที่ปัจจุบัน ถูกละเลย และจำกัดสิทธิและสวัสดิการถึงขั้นเลวร้ายยิ่งกว่าแรงงานต่างด้าว ไม่มีแม้สิทธิการลาคลอด ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน และถูกหักเงินทุกครั้งที่ขาดงาน หรือมาสาย

นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีความเป็นตรรกะ หรือ กลไกที่รองรับระบบไตรภาคีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาตามหลักแรงงานสัมพันธ์ ไม่มีกลไกการมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม และไม่มีกลไกการแก้ปัญหาหากเกิดกรณีพิพาท ระหว่างผู้บังคับบัญชาที่เป็นข้าราชการประจำหรือนักการเมือง กับผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมเสนอให้ตั้งเป็นคณะกรรมการถาวร เพื่อระงับข้อพิพาทให้กับข้าราชการและลูกจ้าง คล้ายกับกลไกที่ใช้อยู่ในคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.)

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่ข้าราชการสามารถรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพได้ เพราะถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ข้าราชการ ในการรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการต่าง ๆ  รวมถึงการช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับ บัญชา อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขในการจัดตั้งสหภาพฯ ที่ออกมาดูเหมือนจะทำให้การจัดตั้งสหภาพข้าราชการเกิดความยุ่งยาก เช่น ต้องรวมตัวกันให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของสมาชิกแต่ละประเภท  นอกจากนี้ยังกังวลว่าการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพข้าราชการบางประเภท จะถูกกลั่นแกล้งหรือควบคุมไม่ให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับการจัดตั้งสหภาพของลูกจ้างเอกชน โดยอาจถูกสั่งโยกย้ายระหว่างขอจัดตั้งสหภาพได้

 (สำนักข่าวไทย, 27-12-2553)

กรมการจัดหางานเผยเงินบาทแข็งค่ากระทบยอดเงินส่งกลับประเทศ

27 ธ.ค. 53 - นายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงกรณีเงินบาทแข็งค่าว่า ส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินที่ส่งกลับประเทศลดลงกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งในเดือนกันยายนปี 2553 ยอดเงินส่งกลับลดลงกว่าร้อยละ 17.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เดือนกันยายนปี 2553 เงินส่งกลับ 4,205 ล้านบาท ส่วนปี 2552 เงินส่งกลับ 5,086 ล้านบาท ส่วนเดือนตุลาคมปี 2553 ส่งกลับ 4,221 ล้านบาท ขณะที่ปี 2552 มีเงินส่งกลับกว่า 5,125 ล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยแล้วมีเงินส่งกลับลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 17.64 ซึ่งส่งผลให้แรงงานไทยมีรายได้ลดลง ทำให้ครอบครัวแรงงานไทย ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งกรมการจัดหางงาน ต้องนำเรื่องเสนอนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหามาตรการช่วยเหลือ

รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวแนะนำครอบครัวแรงงานไทยในต่างประเทศ ให้ปรับตัวในช่วงเงินบาทแข็งค่า โดยการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในช่วงนี้

 (สำนักข่าวแห่งชาติ, 27-12-2553)

สาธารณสุขสั่งทุกจังหวัดตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในแรงงาน ต่างด้าว ได้ออกประกาศให้แรงงานต่างด้าวทุกคน ทั้งที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้วและผู้ที่รอพิสูจน์สัญชาติ ที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดในวันที่ 20 มกราคม และ 28 กุมภาพันธ์ ปีหน้า จะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพก่อนที่จะยื่นขอใบอนุญาตทำงานใน ปีหน้าโดยให้ตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพที่สถานบริการเดียวกัน ซึ่งในปี 2554 กระทรวงสาธาณสุขได้ประกาศให้แรงงานต่างด้าว ซื้อประกันสุขภาพในราคารายละ 1 พัน 3 ร้อยบาทเป็นเวลา 1 ปี โดยต้องเสียค่าตรวจสุขภาพ เช่น
เอ็กซเรย์ปอด , ตรวจเลือด , ตรวจเสมหะ , ตรวจปัสสาวะ รายละ 600 บาท ทั้งนี้ได้ส่งหนังสือชี้แจงแนวทางไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้วและให้ ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้การปฏิบัติงาน
ในทิศทางเดียวกัน แต่หากตรวจพบว่าแรงงานต่างด้าวป่วยเป็นโรคที่ต้องควบคุม ได้แก่ วัณโรค ,โรคเรื้อน , โรคเท้าช้าง , ซิฟิลิส และโรคพยาธิลำไส้ ประเภทที่ 2 ต้อง ได้รับการรักษาต่อเนื่องจนหายขาด

แต่หากเป็นโรคเหล่านี้ ประเภทที่ 3 คือ อยู่ในระยะติดต่อ หรือออกอาการจนเป็นที่รังเกียจ ติดสารเสพติด , พิษสุราเรื้อรัง , เป็นโรคจิต จิตฟั่นเฟือน ปัญญาอ่อน จะไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ ไม่อนุญาตให้ทำงานหรืออยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ต้องส่งกลับประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่โรคระบาดมาสู่คนไทย

(ช่อง 7, 27-12-2553)

ผู้ประกอบการมหาชัยฮือค้านเก็บเงินต่างด้าวเข้ากองทุนฯ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 27 ธันวาคม 2553 ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาครนายสุทิน ชาวปากน้ำ อุปนายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และ นายปรีชาศิริแสงอารำพี เลขาธิการหอการค้า จ.สมุทรสาครพร้อมด้วยตัวแทนผู้ประกอบการกว่า 200 คนได้ยื่นหนังสือต่อนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์รองผู้ว่าฯสมุทรสาคร เพื่อคัดค้านกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการเรียกเก็บเงินกองทุนเพื่อส่งคน ต่างด้าวกลับประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นายสุทินกล่าวว่า การที่กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงดังกล่าวทำให้นายจ้างมีหน้าที่หักเงิน ค่าจ้างลูกจ้างซึ่งได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 9 มาตรา 11 มาตรา 13 (1) และมาตรา 14 เฉพาะงานรับใช้ในบ้านและงานกรรมกรเพื่อนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการส่งคน ต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร โดยลูกจ้างสัญชาติพม่าและลาว คนละ 2,400 บาท สัญชาติกัมพูชา คนละ 2,100 บาท โดยเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันทุกเดือนติดต่อกันเป็นเวลา6 เดือน และให้นำส่งเงินที่หักไว้นั้นเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปจนครบตามอัตราดังกล่าว หากสถานประกอบการใดนำส่งเงินเข้ากองทุนไม่ครบ6 เดือน นายจ้างต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินค่าจ้างที่ไม่ได้นำส่งหรือนำส่งไม่ครบ ทำให้แรงงานต่างด้าวเดือดร้อนและสร้างความเสียหายทางธุรกิจมูลค่านับแสนล้าน บาท จึงต้องการให้กระทรวงแรงงานแก้ไขกฎกระทรวงนี้ ซึ่งทางผู้ประกอบการจะไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายเฉลิมชัยศรีอ่อน รมว.แรงงาน ต่อไป

 (แนวหน้า, 28-12-2553)

สปส.หารือคลังอุดช่องสกัดกองทุนล้มคัด 3 บริษัทบริหารลงทุน ตปท.600 ล้าน

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดเผย เมื่อวันที่27 ธันวาคม กรณีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ส่งรายงานการคาดการณ์ปัญหาความเสี่ยงของกองทุนประกันสังคม อาจอยู่ในภาวะล้มละลาย หากปล่อยให้จัดเก็บเงินสมทบในอัตรา ร้อยละ 5 ของเงินเดือน โดยเรื่องดังกล่าวได้ส่งความเห็นไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงแรงงานหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อ วางแผนรับมือว่า ในวันที่30 ธันวาคมนี้ กระทรวงแรงงาน เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หารือเพื่อหาทางออกร่วมกันในประเด็นความมั่นคงของกองทุน สปส.ที่ยังมีหลายฝ่ายเป็นห่วงเม็ดเงินไหลออกจากกองทุนประกันสังคมไม่สมดุล กับรายรับที่เข้ามา

"โดยเฉพาะกรณีเจ็บป่วยที่มียอดใช้ จ่ายจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี บวกกับกองทุนบำเหน็จบำนาญกรณีชราภาพที่จะต้องเริ่มจ่ายในปี 2557 อาจส่งผลกระทบต่อฐานะของกองทุน ซึ่งที่ประชุมบอร์ด สปส.ได้เสนอให้ขยายอายุการรับเงินบำนาญ หรือเกษียณจาก 55 ปี เพิ่มเป็น 58-60 ปี เพื่อชะลอการไหลออกของเม็ดเงิน ทั้งนี้ ไม่ได้มีการพูดถึงการเพิ่มการจัดเก็บเงินสมทบแต่อย่างใด ซึ่งจะต้องรอผลการหารือให้เสร็จสิ้นก่อนในวันที่ 30 ธันวาคมนี้" นายสมเกียรติระบุ

นายสมเกียรติกล่าวว่า บอร์ด สปส.ยังมีมติเห็นชอบให้นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ มติที่ประชุมได้ให้ดำเนินการคัดเลือกบริษัท จัดการหลักทรัพย์ เข้ามาบริหารการลงทุน 3 บริษัท และแบ่งเงินลงทุนให้บริษัทละ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้เข้าไปลงทุนใน 3 ประเภท ได้แก่ ตราสารหนี้ ร้อยละ60 และอีกร้อยละ 40 ลงทุนในหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ โดยคัดเลือกจาก 19 บริษัทที่มีบริษัทพาร์ทเนอร์จากต่างประเทศ และพาร์ทเนอร์จะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันรายละ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งมีประวัติ ผลงาน และแผนการลงทุนดี คาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปี 2554

 (มติชน, 29-12-2553)

กรุงไทยเจาะแรงงานต่างด้าวใส่ภาษาพม่าในตู้ ATM 20 จุดปี'54 ติดตั้งเพิ่ม

นางอมรา กลับประทุม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และบริการจัดการทางการ เงิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรุงไทยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน โดยนำระบบเทคโนโลยีทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อสนองตอบทุกความต้องการของลูกค้าให้ได้ทุกกลุ่ม ทำให้ธนาคารมีบริการทางการเงินหลากหลายและครบวงจร รวมทั้งมีเครือข่ายที่กว้างขวาง โดยมีเครื่อง ATM และ เครื่องADM กว่า 8,000 เครื่องทั่วประเทศ และมีภาษาให้ลูกค้าเลือกทำธุรกรรมถึง 4 ภาษา ทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาพม่าด้วย

ทั้งนี้สำหรับเครื่อง ATM ที่มีภาษาพม่านั้นเป็นบริการล่าสุดของธนาคาร โดยเปิดให้บริการตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เมื่อลูกค้าสอดบัตรATM จะพบข้อความบนหน้าจอเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษคู่กับภาษาพม่า ตั้งแต่ข้อความยินดีต้อนรับ ใส่รหัสของบัตร การกดเงินสด การโอนเงินการสอบถามยอดเงินคงเหลือ หรือการจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ โดยติดตั้งอยู่ในเขตที่มีแรงงานพม่า หนาแน่น จำนวนกว่า 20 จุด ทั้งที่สาขาและเขตนิคมอุตสาหกรรม ในจังหวัดสมุทรสาคร,กาญจนบุรี และสงขลา

นางอมรากล่าวอีกว่า มีแผนจะขยายจุดติดตั้งเครื่อง ATM ภาษาพม่าเพิ่มขึ้นอีกในปี 2554 เพื่อรองรับการทำธุรกรรมของลูกค้าชาวพม่า พร้อมกันนี้จะเพิ่มเสียงเตือนในเครื่อง ATM ทุกเครื่อง โดยจะถามย้ำข้อมูลที่ลูกค้าทำธุรกรรมโอนเงินไปยังบัญชีอื่นเพื่อเพิ่มความ รอบคอบและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอีกครั้ง ป้องกันการทุจริตและสร้างความอุ่นใจให้กับลูกค้าที่ใช้บริการ

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทยยังจะพัฒนาระบบการทำงานของเครื่อง ATM โดยเพิ่มตัวอักษรเบรลล์เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมให้กับผู้พิการทาง สายตาอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง

(แนวหน้า, 29-12-2553)

กลุ่มฯ สระบุรี ชงรองผู้ว่าฟันบริษัทละเมิดสิทธิแรงงาน

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2553 คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดสระบุรีได้เรียกประชุมคณะ อนุกรรมการฯครั้งที่ 4/2553 ณ ห้องประชุมทานตะวัน ศาลากลางจังหวัดสระบุรี โดยมีนายอุกฤช พึ่งโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานในที่ประชุม โดยที่ประชุมรับทราบมติการปรับค่าจ้างขึ้นต่ำของจังหวัดสระบุรีวันละ 9 บาท จากค่าจ้างวันละ 184 บาทเพิ่มเป็นวันละ 193 บาท และร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลข้อเท็จจริง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและแรงงาน ระดับประเทศและระดับจังหวัด
 
นายส่งศักดิ์ รูปแก้ว แรงงานจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ได้ส่งมติของที่ประชุมเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 ให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณา 2 ความเห็นตามที่ที่ประชุมทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างเสนอ เนื่องจากยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะปรับขึ้นกี่บาท แต่ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าให้มีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น ส่วนผลการพิจารณาจะเป็นแนวทางใดนั้นให้เป็นดุลพินิจของส่วนกลาง โดยในส่วนของผู้แทนฝ่ายลูกจ้างเสนอปรับเพิ่มขึ้นอีกวันละ 66 บาท และผู้แทนฝ่ายนายจ้างเสนอปรับเพิ่มขึ้นอีกวันละ 5 บาท
 
นางสาวธนพร วิจันทร์ เลขาธิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กล่าวว่า การประชุมวันนี้ในส่วนของการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำนั้นคงจะจบแล้ว โดยเห็นได้ชัดว่าอำนาจของคณะอนุกรรมการฯในแต่ละจังหวัดไม่ได้มีอำนาจอย่าง แท้จริง และไม่เป็นธรรมกับจังหวัดที่ไม่มีสหภาพแรงงานหรือผู้แทนลูกจ้างอย่างแท้จริง เข้าไปเป็นปากเป็นเสียงให้กับพี่น้องแรงงานในจังหวัดได้ ทำให้การปรับค่าจ้างในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรองของ แต่ละพื้นที่เท่านั้น จึงได้เสนอให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำจังหวัด โดยให้มีเพียงคณะกรรมการค่าจ้างกลางเพียงชุดเดียวก็เพียงพอแล้วและไม่สิ้น เปลืองงบประมาณในการจัดการประชุมแต่ละครั้งด้วย
 
นายบุญสม ทาวิจิตร กล่าวว่า ในวันนี้ได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ด้านแรงงานในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ว่ายังมีหลายสถานประกอบการที่กดขี่แรงงานหรือละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น มีบริษัทแห่งหนึ่ง แม้กระทั้งมีข้อตกลงต่อหน้าเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะไม่เลิกจ้างลูกจ้าง ก็ยังมีเจตนาฝ่าฝืนข้อตกลงโดยเลิกจ้างลูกจ้างอย่างนี้เป็นต้น รวมถึงด้านความปลอดภัยในการทำงาน มลพิษทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่ปฎิบิตตามกฎหมายแรงงานที่กำหนด หน่วยงานของรัฐเองก็ไม่มีมาตรการเชิงรุกในการเข้าตรวจสอบและช่วยเหลือคนงาน เหล่านี้ จึงเสนอให้จังหวัดโดยรองผู้ว่าฯในฐานะที่ดูแลด้านสายงานแรงงาน เข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่ทำผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย
 
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า รองผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดำเนินการตรวจ สอบโรงงาน 2 แห่งที่คนงานได้นัดชุมนุม ว่าได้กระทำผิดกฎหมายในเรื่องใดบ้างโดยให้จัดคณะทำงานจากหน่วยงานต่างๆให้ เข้าไปตรวจสอบและแนะนำต่อไป หากมีบริษัทใดทำผิดกฎหมายก็ให้ดำเนินการให้ถึงที่สุด

(นักสื่อสารแรงงาน, 30-12-2553)

เลื่อนเก็บเงินส่งกลับต่างด้าวถึง มี.ค.2555

29 ธ.ค. 53 - นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กลุ่มสภาอุตสาหกรรม และหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ได้เข้าพบเพื่อขอให้ทบทวนการส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการส่งกลับคนต่างด้าวออก นอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากนโยบาย อาทิ เรื่องภาระของนายจ้างที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความไม่ชัดเจนในเรื่องการส่งเงินคืนให้กับแรงงานที่จะออกนอกราช อาณาจักร ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนต่างๆ ร้องเรียน

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า กระทรวงแรงงานจึงมีแผนยกร่างแก้กฎกระทรวงการส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการส่ง กลับคนต่างด้าว โดยให้ขยายระยะเวลาการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนออกไปเป็นวันที่ 1 มีนาคม 2555 และในระหว่างนี้จะตั้งคณะทำงานศึกษาถึงความเหมาะสมของกฎระเบียบข้อบังคับดัง กล่าวว่ามีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่อย่างไร

(มติชนออนไลน์, 29-12-2553)

ไต้หวันครองแชมป์แรงงานไทยนิยมไปทำงานมากสุด

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยตัวเลขแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน 2553 ว่า มีแรงงานมาลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 115,773 คน โดยไต้หวันเป็นที่ๆ คนไทยนิยมไปทำงานมากที่สุด รองลงมา คือ สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น อิสราเอล และลิเบีย สำหรับอาชีพที่มีความต้องการไปทำงานมาก ที่สุด คือ ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานประเภทควบคุมเครื่องจักรและประกอบชิ้นส่วน รองลงมา คือ ผู้ปฏิบัติงานทักษะฝีมือ เช่น ช่างเชื่อม ช่างไม้ ช่างก่อสร้าง ช่างปูน ช่างเหล็ก และช่างทั่วไป โดยมีแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 74,205 คน แยกเป็นชาย 62,716 คน หญิง 11,489 คน
      
โดยประเทศที่แรงงานไทยได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำงาน 5 อันดับแรก คือ ไต้หวัน รองลงมา คือ ญี่ปุ่น อิสราเอล ลิเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยตำแหน่งงานที่ได้รับอนุญาตให้ไปทำงานมากที่สุด คือ ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานประเภทควบคุมเครื่องจักรและประกอบชิ้นส่วน รองลงมา คือ ผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ทักษะฝีมือในธุรกิจต่างๆ ซึ่งตำแหน่งงานที่ไปทำส่วนใหญ่ คือ ตำแหน่งคนงานไร้ฝีมือ ร้อยละ 64.45 และตำแหน่งช่างฝีมือ ร้อยละ 35.55 คาดว่ารายได้ที่จะส่งกลับเข้าประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2553 ประมาณ 51,176 ล้าน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30-12-2553)

เผยต้นปี 54 เริ่มบังคับใช้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 22 สาขา

2 ม.ค. 54 – ปลัดฯ แรงงาน เผยต้นปี 54 เริ่มบังคับใช้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน  เริ่มใน 22 สาขา พร้อมเร่งคลอดอีกกว่า 100 สาขา ชี้ สร้างแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาตนเอง  เผยหากนายจ้างฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

นพ.สมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ต้นปี 2554 กระทรวงแรงงาน จะเริ่มบังคับใช้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับแรงงานที่มีฝีมือ และสร้างแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาตัวเอง ให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น รวมถึงลดปัญหาการเรียกร้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยได้ล่าสุดได้จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 22 สาขา ในกลุ่มอาชีพ 6 ด้าน ซึ่งแต่ละสาขาจะมีค่าจ้าง 3 ระดับ ไม่เท่ากัน เริ่มตั้งแต่ 250 -550 บาท โดยอยู่ในระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานจะเร่ง จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาที่เหลือซึ่งคาดว่าภายในปี 2554 จะประกาศใช้ได้อีก กว่า 100 สาขา

นอกจากนี้ ยังได้สั่งให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เตรียมจัดมาตรฐานการทดสอบให้ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยอาจร่วมมือกับหน่วยงานรับและเอกชน เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือภาคเอกชน  ร่วมจัดทดสอบมาตรฐาน ทั้งนี้หากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว แต่นายจ้างรายใดยังฝ่าฝืน ไม่จ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ลูกจ้างได้รับ จะมีอัตราโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ 

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า สำหรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 22 สาขา ในกลุ่มอาชีพ 6 ด้าน อาทิ กลุ่มช่างเครื่องกล  3 สาขา เช่น ช่างสีรถยนต์ ระดับ 1 ได้ค่าจ้าง 315 บาท ระดับ ค่าจ้าง 380 บาท และระดับ 3 ค่าจ้าง 444 บาท ช่างเคาะตัวถังรถยนต์ ระดับ 1 ค่าจ้าง 335 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 420 บาท ระดับ 3 ค่าจ้าง 505 บาท  กลุ่มก่อสร้าง 4 สาขา อาทิ  ช่างก่ออิฐ ระดับ 1 ค่าจ้าง 260 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 380 บาท และระดับ 3 ค่าจ้าง 500 บาท ช่างฉาบปูน ระดับ 1 ได้ค่าจ้าง 300 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 410 บาท และระดับ 3 ค่าจ้าง 500 บาท เป็นต้น

(สำนักข่าวไทย, 2-1-2554)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net