Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1. ภารกิจของรัฐในระบบเศรษฐกิจ          

 

โดยทั่วไปประเทศต่างๆ ในโลกจะมีระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกันเป็นไปตามกลไกการเมืองการปกครองของแต่ละประเทศ ซึ่งล้วนมีเป้าหมายสำคัญคือการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นทิศทางในการวางแผนปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆ พึงยึดเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายบริหารประเทศ และถือเป็นภารกิจของรัฐในระบบเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วยเป้าหมายต่างๆ ที่สำคัญคือ

ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Efficiency) เป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่มุ่งตอบคำถามพื้นฐานทางเศรษฐกิจว่าจะผลิตอย่างไร (How) ให้ได้มากที่สุดจากความสามารถในการผลิตที่มีอยู่ ประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นเมื่อทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดของสังคมถูกใช้ไปในการผลิตเพื่อให้ได้ปริมาณสินค้าและบริการมากที่สุดเท่าที่ระบบเศรษฐกิจสามารถจะกระทำได้และสังคมสูญเสียต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด

 การจ้างงานเต็มที่ (Full Employment) หมายถึง การให้แรงงานของประเทศมีงานทำ เพราะการจ้างงาน คือ การนำทรัพยากรแรงงานมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการผลิตสินค้าและบริการ และยังหมายถึงการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานด้วย โดยเฉพาะเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น มิฉะนั้นจะทำให้มีผู้ว่างงานมากขึ้น และการว่างงานนี้จะทำให้เกิดผลเสียต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมตามมาในที่สุด

การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (Stability)การทำให้เศรษฐกิจดำเนินไปอย่างราบรื่นไม่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงจึงต้องมีทั้งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศและเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศ หมายถึง การใช้นโยบายต่างๆ เพื่อทำให้เศรษฐกิจไม่อยู่ในสภาพที่ตกต่ำอย่างรุนแรง หรือเศรษฐกิจรุ่งเรืองจนเกิดภาวะเงินเฟ้อ นั่นคือ พยายามรักษาระดับราคาของสินค้าและบริการภายในประเทศไม่ให้ผันผวนมากเกินไปมิฉะนั้นจะทำให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในก็คือ การรักษาเสถียรภาพทางราคา” (Price Stability) นั่นเอง

การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศ หมายถึง การใช้นโยบายต่างๆ เพื่อทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นทำให้ไม่เกิดปัญหาทางด้านดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยพยายามรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด เพื่อป้องกันการสับสนและความไม่แน่นอนในการทำการค้ากับประเทศคู่ค้า ซึ่งจะทำให้ผลกระทบต่อปัญหาการค้าระหว่างประเทศได้ ดังนั้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอกอาจเรียกว่าเป็นการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน” (Exchange Stability)

ความเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth)เป็นเป้าหมายที่พยายามจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีปริมาณสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ และเหลือเพียงพอต่อการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลให้รายได้ประชาชาติของประเทศนั้นๆ เพิ่มสูงขึ้น และแสดงถึงมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนในสังคมนั้น ๆ จะเพิ่มสูงขึ้น

 

2.บทบาทรัฐในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์

ปัจจุบันเศรษฐกิจทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ได้สร้างให้บทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจมุ่งเน้นความเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) เป็นหลักเพราะมุ่งสู่เป้าหมายที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีปริมาณสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ และการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ดังนั้นทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะ บรรษัทข้ามชาติ จึงอาศัยช่องทางเศรษฐกิจทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์เข้าไปครอบงำในระบบเศรษฐกิจ- สังคม-การเมืองของประเทศอื่นอย่างต่อเนื่องทั้งนี้เพื่อแสวงหากำไรมาสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) ให้กับตน นี่คือพฤติกรรมพื้นฐานของเศรษฐกิจทุนนิยม

เศรษฐกิจทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ประกอบด้วยสาระสำคัญสามส่วนหลัก คือการผลิต การตลาด และการเงิน ที่เอื้อต่อกัน ซึ่งทั้งสามส่วนนี้เองที่กลุ่มประเทศมหาอำนาจอาศัยเป็นช่องทางในการเข้าครอบงำในระบบเศรษฐกิจประเทศอื่น โดยใช้องค์กรข้ามชาติเป็นเครื่องมือในการกำหนดกติกา และวิธีการจัดการ ส่งผลให้องค์กรข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ หรือแกตต์ ที่มีเป้าหมายในการจัดตั้งเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบเศรษฐกิจโลกให้เจริญก้าวหน้าอย่างทั่วถึง กลายเป็นเครื่องมือหรือกลไกที่มหาอำนาจใช้ในการครองโลกโดยอาศัยยุทธศาสตร์ที่หลากหลายผ่านกระบวนการการครอบงำหลากวิธี กล่าวคือ[1]

การครอบงำทางการผลิต การผลิตมีเงื่อนไขที่สำคัญคือปัจจัยการผลิต(Factors of production or input)ประกอบด้วยที่ดิน (land ) แรงงาน(labor)ทุน (capital).และผู้ประกอบการ (entrepreneur) การผลิตจึงเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในสังคม และสิ่งสำคัญที่สุดในการผลิตที่สามารถแข่งขันในการลดต้นทุนและการควบคุมคุณภาพคือเทคโนโลยี มหาอำนาจจึงได้ค้นคิดเทคโนโลยีใหม่ๆยังผลให้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าสูงสุด จนสามารถเข้าไปครอบงำระบบการผลิตได้ทั่วโลก พร้อมกันนั้นยังควบคุมการใช้เทคโนโลยีของผู้อื่น โดยสร้างกลไกขึ้นมาควบคุมการผลิตของผู้อื่นคือ การพัฒนาทั้งเรื่องสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ ที่เรียกขานอย่างสวยหรูว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา” มาเป็นเงื่อนไขบีบบังคับให้สังคมโลกต้องให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาหันมาใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวกันถ้วนหน้า ด้วยเหตุนี้เองทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถควบคุมระบบการผลิตและบังคับมิให้ผู้อื่นผลิตตาม เหล่านี้เองได้สร้างกำไรจากการผลิตได้อย่างมหาศาล เป็นต้นว่าการผลิตยาบางชนิดที่มีจำเป็นผู้ผลิตสามารถตั้งราคาได้ตามใจชอบ นอกจากนั้นยังใช้เทคโนโลยีดัดแปลงพันธ์พืช(จี เอ็มโอ)ที่เห็นว่าดีและจำเป็นให้แตกต่างจากเดิมเพื่ออ้างเป็นของตนเอง อาทิ พันธ์ข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งปัจจุบันยังไม่รู้ว่าจะตกเป็นของใคร

การครอบงำทางการตลาด ตลาดคือตัวกลางระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ในระบบทุนนิยม การค้าจำนวนมากสามารถทำกำไรได้มากกว่าการผลิต มหาอำนาจใช้องกรข้ามชาติอย่าง WTO เป็นผู้กำหนดกติกาทางการค้า โดยมีหลักการว่า 1) รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องปรับบทบาทในการพัฒนา โดยเปิดทางให้ภาคเอกชนดำเนินการโดยอิสระเป็นไปตามกลไกตลาด(การค้าเสรี) 2) รัฐบาลแต่ละประเทศต้องลดกฎเกณฑ์ หรือเงื่อนไขในการควบคุมทุนข้ามชาติ (เปิดเสรีการค้า และการเงิน) 3) แปรรูปวิสาหกิจ และทรัพยากรให้เป็นของเอกชนเพื่อที่ทุนข้ามชาติจะครอบครองได้ สิ่งต่างๆเหล่านี้ประเทศไทยเราได้ประจักษ์มาแล้วนับแต่การล่มสลายของเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เป็นต้นมา กว่าจะพื้นคืนได้ต้องใช้เวลาร่วมสิบกว่าปี

 อย่าลืมว่าการค้าเสรีมีเป้าหมายหลักคือต้องการกระจายผลผลิตไปทั่วโลก แต่ภาษีของแต่ละประเทศเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ดังนั้นมหาอำนาจจึงผลักดันให้ยกเลิกการเรียกเก็บภาษีนำเข้า มหาอำนาจจึงสามารถระบายสินค้าไปได้ทั่วโลกอย่างคล่องตัว ขณะเดียวกันมหาอำนาจได้สร้างกลไกควบคุมผลผลิตของประเทศอื่นๆ ด้วยการสร้างมาตรฐานการผลิตและการกำหนดคุณภาพสินค้าให้สูงขึ้น ไม่ว่าการห้ามใช้แรงงานเด็ก วิธีผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น กลวิธีเหล่านี้คือเงื่อนไขกีดกันทางการค้าที่มหาอำนาจสร้างขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้ เศรษฐกิจทั่วโลกจะถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนข้ามชาติที่ได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า ทั้งมีเงินทุนมหาศาลเป็นผู้ครองโลกและเข้าดูดซับตักตวงผลประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาที่ส่งผลต่อประเทศกำลังพัฒนาคือ ทรัพยากรถูกทำลาย ช่องว่างทางสังคม ความยากจนจะรุนแรง ประชาชนจะต้องเผชิญกับปัญหาที่ที่ไม่สามารถเรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องได้ ความขัดแย้งทางสังคมขยายขอบเขตกว้างขึ้นตามลำดับ และนี่เป็นปัญหาอันเนื่องมาจากการพัฒนา

การค้าเสรีในสถานการณ์โลกยุคโลกาภิวัตน์ มุ่งเน้นเศรษฐกิจตลาดเสรี (Free Market Economy) เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมีเสรีในการลงทุนแสวงหากำไร และแต่ละประเทศมีอิสระในการรักษาผลประโยชน์ของตน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทั้งภายในและระหว่างประเทศไปทั่ว ประกอบกับเครือข่ายประชาสังคมโลกเคลื่อนไหวคัดค้านโลกาภิวัตน์ของบรรษัทข้ามชาติ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระเบียบระหว่างประเทศถูกต่อต้านและคัดค้านเป็นระยะไม่ได้รับการเชื่อถือ กระทบต่อความสงบของสังคม และกฎหมาย แต่ด้วยอุดมการณ์โลกาภิวัตน์ สถานการณ์ดังกล่าวมิได้ทำให้มหาอำนาจชะลอการแสวงหาอำนาจทางเศรษฐกิจ กลับเป็นแรงกระตุ้นให้ร่วมมือกันในสิ่งที่ได้ประโยชน์ร่วมกันและแย่งชิงอำนาจทางเศรษฐกิจต่อเมื่อมีกรณีที่ผลประโยชน์ไม่ลงตัว[2]

ส่วนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นข้อขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกประเทศ เพราะรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่เป็นภารกิจในการบริการสาธารณะที่ไม่ได้มีความมุ่งหมายในการแสวงหากำไรเป็นหลัก และทีสำคัญคือรัฐจะนำทรัพยากรส่วนรวมที่ประชาชนใช้ร่วมกันโดยไม่ต้องซื้อหาหรือที่เรียกกันว่า สินค้าสาธารณะ” (Public Goods) มาใช้ในการดำเนินการ แต่รัฐวิสาหกิจดังกล่าวจะต้องใช้เงินในการลงทุนสูง ทุนภายในประเทศไม่อาจดำเนินการได้ บรรษัทข้ามชาติจึงผลักดันผ่านองค์กรข้ามชาติ (IMF) ให้รัฐแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน ( Privatization) เพื่อตนเองจะได้เข้ามาครองตลาดและดำเนินการได้เอง

อย่างไรก็ตามเมื่อหันกลับมามองปัจจัยการผลิตที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งคือที่ดิน ซึ่งที่ดินในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิตได้ผันแปรตัวเองให้มีลักษณะลอยตัวไปตามกิจกรรมที่ให้ค่าตอบแทนสูง ที่ดินที่เคยใช้ในภาคผลิตจริงถูกเบียดขับเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับการเก็งกำไรด้วยการนำไปสร้างโรงงานอตสาหรรม ส่วนในมหานครใหญ่ๆก็สร้างเป็นสำนักงานสมัยใหม่ เนื่องจากได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า การเปลี่ยนหน้าที่ใช้สอยของที่ดินอันเนื่องมาจากระบบทุนนิยม ทำให้ที่ดินในฐานะปัจจัยการผลิต ได้เพิ่มมูลค่ามหาศาลกลายเป็นสินค้าสำคัญในการซื้อขาย (สังคมไทยดูได้จากยุคพลเอกชาติชาย ชุณหวัน) ดังนั้นการซื้อขายที่ดินแต่ละยุคสมัยจึงขึ้นอยู่กับราคาค่าเช่าในอนาคตที่คาดหมายว่าจะได้รับ ส่งผลให้ช่วงเวลามีความสัมพันธ์กับอนาคตเข้ามาเป็นสื่อกลางที่ทำให้ที่ดินเพิ่มมูลค่าขึ้นอย่างมหาศาลสามารถแปลงรายได้ในอนาคตให้กลายเป็นทุนในรูปของสินเชื่อมาเป็นรายได้ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างเงินในรูปของทุนกับการเก็งกำไรที่ดิน จึงขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเวลาด้วยการทำให้ช่วงของเวลากลายเป็นตลาด

การครอบงำทางการเงิน เดิมระบบการเงินโลกใช้มาตรฐานทองคำเป็นตัวกลางในการกำหนดค่าของเงินสกุลต่างๆ โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศมีทองคำไว้สำรองสำหรับเป็นหลักประกันในการพิมพ์ธนบัตรของตนออกสู่ตลาดว่าสามารถนำมาแลกทองคำได้ หลังจากนั้นเมื่ออเมริกาได้พิมพ์ธนบัตรออกมาจำนวนมากและมีมูลค่ามากกว่าทองคำของตนที่ใช้เป็นหลักประกัน และเมื่อกลุ่มประเทศยุโรปที่ได้ถือครองเงินสกุลดอลลาร์ของอเมริกานำเงินสกุลดังกล่าวไปแลกเป็นทองคำ อเมริกาไม่มีทองคำเพียงพอที่จะให้แลก หลังจากนั้นอเมริกาจึงได้ยกเลิกระบบมาตรฐานทองคำในการกำหนดค่าเงินโดยหันมาใช้ระบบลอยตัวตามภาวะตลาดอย่างเสรี ใน ค.ศ. 1972

เมื่อเงินในระบบทุนนิยมได้พัฒนาจนกลายเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันได้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างอเมริกาได้สร้างกฎเกณฑ์ทางการเงิน โดยการกำหนดค่าเงินลอยตัวและการเปิดเสรีทางการเงิน การใช้ระบบลอยตัวทำให้เงินของอเมริกากลายเป็นเงินสกุลกลางของโลก จนสามารถพิมพ์ขึ้นมาได้โดยไม่จำกัดจำนวนเพื่อแลกสินค้า การเปิดเสรีทางการเงินส่งผลให้อเมริกาสามารถเคลื่อนย้ายเงินไปได้ทั่วโลกเพื่อเข้าโจมตีค่าเงินและบั่นทอนหุ้นในตลาดทุน รวมทั้งเข้าซื้อกิจการๆ ได้ทั่วโลก สกุลเงินของรัฐ-ชาติอื่นๆได้ถูกลดความสำคัญลงโดยมีเงินสกุลของอเมริกาเข้ามาแทนที่ นั่นคือการครอบงำทางการเงินได้ส่งผลกระทบต่อสถานะอำนาจอธิปไตยของรัฐ-ชาติอื่นๆตามมา[3]

การครอบงำทางวัฒนธรรม ในอดีตศาสนามีอิทธิพลในการกำหนดความเชื่อหรือวัฒนธรรมของสังคม แต่ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาแทรกและมีบทบาทในการกำหนดวัฒนธรรมมากขึ้น วัฒนธรรมมีพื้นฐานมาจากความเชื่อหรือความคิดที่มีต่อชีวิตและโลก ความเชื่อทำให้มนุษย์มีจุดมุ่งหมายในการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน มนุษย์ต้องการความสุข แต่ความเชื่อในเรื่องของความสุขแตกต่างกัน ดังนั้นจุดมุ่งหมายในการดำรงชีวิตจึงแตกต่างกัน

การสร้างความเจริญเติบโตให้กับระบบทุนนิยมจำเป็นอย่างยิ่งในการสลายความเชื่อหรือวัฒนธรรมดั้งเดิมของมนุษย์ ระบบตลาดจึงได้กระตุ้นให้มนุษย์เห็นว่าความสุขสูงสุดอยู่ที่การบริโภค ยิ่งบริโภคมากความสุขยิ่งมีมาก การแสวงหาการบริโภคจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำรงอยู่ของระบบทุนนิยม ทั้งนี้เพราะเมื่อประชนเกิดการออมและลดการบริโภคลงส่งผลให้สินค้าขายได้น้อยลง การผลิตก็ลดน้อยลงด้วยสิ่งเหล่านี้จะกระทบต่อระบบตลาด

การครอบงำทางวัฒนธรรมการบริโภค จึงให้ความสำคัญในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่ข่าวสารกันอย่างรุนแรง การแย่งซื้อและขายเวลาในการออกอากาศ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ เพื่อความได้เปรียบด้านการสื่อสาร เวลาออกอากาศ(airtime) จึงกลายเป็นสินค้าชนิดใหม่ ที่เกิดจากการประสานพื้นที่กับเวลาเข้าด้วยกัน เพื่อให้เวลามีมูลค่าในเชิงตลาดทั้งมูลค่าปัจจุบันและมูลค่าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การสัมปทานสถานีวิทยุโทรทัศน์ทั้งหลาย จึงอุดมไปด้วยจำนวนเงินมหาศาล เวลาจึงกลายเป็นสินค้าที่เก็งกำไรได้อีกประเภทหนึ่งของระบบทุนนิยม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการครอบงำเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยม

อย่างไรก็ตามการกระตุ้นวัฒนธรรมบริโภคจึงเป็นหน้าที่หลักของระบบทุนนิยมและกระบวนการกระตุ้นที่ดีที่สุดคือการที่มหาอำนาจได้เข้าควบคุมการสื่อสารมวลชนต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เนท สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ หรือภาพพยนต์ ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อเพื่อให้ชาวโลกเข้าสู่วัฒนธรรมบริโภคนิยมตามแบบมหาอำนาจ รวมทั้งสร้างภาพให้ชาวโลกเห็นว่าสิ่งที่มหาอำนาจกระทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม[4]และล้ำสมัย

การครอบงำด้วยการใช้กำลังทางทหาร เมื่อมหาอำนาจได้ใช้กระบวนการในการครอบงำด้วยวิธีต่างๆ แล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ แสนยานุภาพทางทหารจึงเป็นวิธีการสุดท้ายที่เป็นเงื่อนไขในการคงความเป็นมหาอำนาจ โดยมีการจัดระดับความสัมพันธ์ที่ต่างกันในการเลือกใช้วิธีการ ทั้งนี้นางเมดิรีน อัลไบต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความเห็นไว้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับต่างประเทศนั้นได้มีการแบ่งระดับความสัมพันธ์เป็นสี่กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มประเทศที่มีความแนบแน่นกับอเมริกา ซึ่งได้แก่ประเทศที่มีสนธิสัญญาหรือข้อตกลงทางทหารด้วยกัน เช่นกลุ่มนาโต้ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย เป็นต้น

กลุ่มที่สอง เป็นประเทศที่เป็นกลาง กลุ่มนี้แม้จะวิพากษ์วิจารณ์อเมริกาบ้างแต่โดยพื้นฐานจะยอมรับกระแสโลกาภิวัตน์ เช่น มาเลเซีย เป็นต้น

กลุ่มที่สาม เป็นประเทศกลุ่มที่ปิดตัวเองและโดยพื้นฐานจะไม่ยอมรับกระแสโลกาภิวัตน์แต่ก็ไม่ปฏิบัติการใดๆ ที่เป็นการทำลายผลประโยชน์ของเมริกา เช่น พม่า ลาว เป็นต้น

กลุ่มที่สี่ เป็นกลุ่มประเทศที่นอกจากไม่ยอมรับกระแสโลกาภิวัตน์แล้วยังได้ปฏิบัติการทำลายและขัดขวางผลประโยชน์ ของอเมริกา โดยผู้นำอเมริกาเรียกกลุ่มประเทศเหล่านี้ว่า “รัฐผู้ร้าย” (Rogue States) เช่น อิรัก อิหร่าน เกาหลีเหนือ ซีเรีย ลิเบีย ซูดาน คิวบาและอัฟกานิสถาน เป็นต้น

จากการแบ่งกลุ่มความสัมพันธ์ดังกล่าวของอเมริกา นำไปสู่เงื่อนไขการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มแรกจะไม่มีการแทรกแซงทางการเมือง แต่จะต่อสู้กันเฉพาะทางเศรษฐกิจเท่านั้น เว้นแต่เกิดกรณีประเทศใดประเทศหนึ่งแสดงความเป็นปฏิปักษ์ กลุ่มที่สองเข้าไปแทรกแซงบ้างด้วยการสนับสนุนกลุ่มการเมืองภายในประเทศนั้นๆ ที่มีความเอนเอียงเข้าข้างอเมริกาเพื่อให้มีบทบาทและอำนาจทางการเมือง เช่น กัวเตมาลา กลุ่มที่สามเข้าไปแทรกแซงทางการเมืองโดยการสนับสนุนกลุ่มการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลรวมทั้งสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในประเทศเหล่านั้น ส่วนกลุ่มที่สี่นอกจากดำเนินการด้วยวิธีอื่นๆ แล้วสหรัฐยังใช้มาตรการทางทหารเป็นหลักในการเข้าไปยึดครอง[5] เช่นกรณีการโค่นล้มรัฐบาลอิรักของประธานาธิบดีซัดดำ ฮุสเซ็น หรือกรณีของอัฟกานิสถานที่เข้าไปโค่นล้มรัฐบาลทาลีบัน และปัจจุบันกำลังดำเนินการกับเกาหลีเหนือและอิหร่าน

 

3.สรุป

ระบบเศรษฐกิจของมหาอำนาจที่อาศัยบรรษัทข้ามชาติเป็นช่องทางในการรุกฆาตในต่างประเทศ ร่วมกับองค์กรข้ามชาติที่คอยปกป้องประโยชน์ของตน เข้าควบคุมพื้นที่ทางตลาด ทรัพยากร และการผลิต สร้างความชอบธรรมแห่งความเป็นสากล ความเป็นประชาธิปไตย และอ้างเพื่อสิทธิมนุษยชน ใช้อำนาจที่เหนือกว่าละเมิดบทบัญญัติของรัฐที่ด้อยกว่า ทั้งกล่าวหาว่าเป็นรัฐอันธพาล สนับสนุนการก่อการร้าย หรืออ้างเหตุในการปราบปรามยาเสพติด และเพื่อสิทธิมนุษยชน หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งแท้จริงแล้วล้วนเป็นมายาคติที่ปิดบังอำพรางเพื่อแสวงหาประโยชน์แทบทั้งสิ้น การนำเสนอวาทกรรมโลกาภิวัตน์ทำให้กฎหมายของรัฐชาติในโลกที่สามมีข้อยกเว้นไมอาจบังคับใช้กับโลกาภิวัตน์ได้ และให้หันมาใช้กฎกติกาเดียวกันเพื่อการครอบงำและขูดรีดทางเศรษฐกิจ

ดังนั้นนโยบาย การเมือง สังคม และเศรษฐกิจของรัฐชาติที่ถูกครอบงำ นอกจากจะเกิดจากรากฐานและสภาพปัญหาต่างๆ ของสังคมนั้นๆที่เข้าไปเกี่ยวข้องและปฏิสัมพันธ์(interaction)ยึดโยงต่อกันระหว่างกระบวนการทั้งทางการเมือง สังคม สาธารณะ (public) อย่างกว้างขวางแล้ว ยังเกิดจากกระบวนการที่ถูกบีบบังคับทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากภายนอกซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ ด้วยการสร้างวาทะกรรมใหม่ๆขึ้นมาเพื่อเป็นเงื่อนไขและอุดมการณ์เข้าไปครอบงำประเทศที่ด้อยกว่าให้กำหนดนโยบายเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตนกำหนด ไม่ว่า การค้าเสรี (Free Trade) การพัฒนา(Development) หรือโลกาภิวัตน์ (Globalization) วาทะกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงภาพลวงตาเพื่อสร้างความถูกต้องและชอบธรรมให้กับมหาอำนาจ ในการพรางตัวเข้าไปยึดครองทางเศรษฐกิจของรัฐ-ชาติที่ด้อยกว่าและตักตวงประโยชน์กลับประเทศตนเท่านั้น





อ้างอิง
[1]ไสว ด่านชัยวิจิตร. การเมืองโลกในยุคอาณานิคมแบบใหม่ (โลกาภิวัตน์). จุลสารชุมนุมทางออกไทย. ฉบับที่ 8 ปีที่ 2 ธันวาคม 2544- มกราคม 2545: 25
[2] อนุช อาภาภิรมย์. รายงานย่อสำหรับผู้บริหาร ประเทศไทยกับมหาอำนาจโลก: การแสวงหาความสัมพันธ์ใหม่ที่ซ่อนตัวอยู่ โดยโครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย. (Thailand Trends Monitoring Project – TTMP) ด้วยการสนับสนุนให้ทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฉบับที่ 14 ประจำจตุมาสที่ 2 (พฤษภาคม - สิงหาคม 2545 ) : 67-68
[3] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, ความเปราะบางของโลกหลังยุคสงครามเย็น.กรุงเทพฯ. รัฐศาสตร์สาร,2547 ปีที่ 25ฉบับที่ 2: 25-29
[4] ไสว ด่านชัยวิจิตร. การเมืองโลกในยุคอาณานิคมแบบใหม่ (โลกาภิวัตน์). จุลสารชุมนุมทางออกไทย. ฉบับที่ 8 ปีที่ 2 ธันวาคม 2544- มกราคม, 2545:34-36
[5]ไสว ด่านชัยวิจิตร. การเมืองโลกในยุคอาณานิคมแบบใหม่ (โลกาภิวัตน์). จุลสารชุมนุมทางออกไทย. ฉบับที่ 8 ปีที่ 2 ธันวาคม 2544- มกราคม, 2545:38-40

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net