สองมาตรฐานและสิทธิในการสัญจร: บทเรียนจากสาวซีวิค เด็กแว้น รถเก๋ง และรถตู้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กรณีเด็กสาวขับรถฮอนด้าซีวิคชนรถตู้โดยประมาทและไม่มีใบขับขี่เมื่อวันที่ 28 ธค. ได้รับความสนใจในวงกว้างโดยเฉพาะในชุมชนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นพันทิปดอตคอม เฟซบุ๊ก ฯลฯ แม้ดิฉันอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกาก็ติดตามข่าวนี้เพราะผู้เสียชีวิต 1 ใน 9 รายคือเพื่อนเก่า

การวิพากษ์วิจารณ์ในชุมชนออนไลน์มีสาเหตุจากการบิดเบือนข้อมูลของสื่อมวลชนหลายสังกัด เบื้องต้นสื่อรายงานว่าสาวซีวิคบาดเจ็บสาหัส การรายงานดังกล่าวขัดกับรูปภาพในชุมชนออนไลน์ และขัดกับความจริงที่ปรากฏภายหลังว่าเธอเดินได้ปกติในวันที่มารายงานตัวกับตำรวจตามหมายเรียก นอกจากนี้การตอกย้ำโดยสื่อมวลชนว่ารถตู้เป็นฝ่ายผิดยิ่งทำให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์สาวซีวิคขยายตัว

 

ชุมชนออนไลน์คือสื่อทางเลือก

ชุมชนออนไลน์แสดงบทบาทสื่อทางเลือกด้วยการเผยแพร่รูปภาพและข้อมูลเกี่ยวกับสาวซีวิค จนครอบครัวของเธอเปิดเผยตัวตนต่อสื่อกระแสหลักว่าเธอเป็นทายาทของสกุลเก่าแก่สกุลหนึ่ง เกิดกระแสวิจารณ์กันต่อว่าครอบครัวของเธอใช้อภิสิทธิ์เพื่อก้าวก่ายสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่หรือไม่? คนร่วมสกุลของเธอเผยแพร่จดหมายแสดงความเสียใจผ่านสื่อมวลชน ขอให้เป็นอุทาหรณ์แก่สังคมทั้งๆที่คนนอกสกุลเป็นผู้สูญเสีย ไม่แน่ใจว่าอุทาหรณ์สอนใคร? สอนคนในสกุลอื่นว่าอย่าปล่อยให้ลูกออกมาเพ่นพ่านบนท้องถนนจนชาวบ้านเสียชีวิตหรือ? ญาติผู้ใหญ่ยศพลเอกของเธอได้ขอร้องให้สื่อหยุดโจมตีทั้งๆที่ฝ่ายโจมตีไม่ใช่สื่อกระแสหลัก

ประเด็นสำคัญคือความคลุมเครือในการเสนอข่าว มีผู้เรียกร้องสิทธิคุ้มครองเธอในฐานะเยาวชน แต่ไม่ชัดเจนว่าเธออายุเท่าไร? ปอเต็กตึ๊งรายงานว่าเธออายุ 18 แต่สื่อรายงานว่า 16 สุดท้ายเธอให้สัมภาษณ์ว่า 17 บิดาของเธอให้สัมภาษณ์ว่าเธอขับรถเองที่สหรัฐฯก่อนจะกลับมาเมืองไทย ทั้งๆที่ใบขับขี่อเมริกันมีเงื่อนไขว่าผู้ถือใบขับขี่ต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ในทีสุดตำรวจแจ้งข้อหาและออกหมายเรียกในฐานะเยาวชน

เพียงสัปดาห์เดียวตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันที่เธอรายงานตัวตามหมายเรียก ชุมชนออนไลน์กลายเป็นสนามปะทะคารมระหว่าง "ฝ่ายโจมตีคุณหนูลูกอภิสิทธิชน" และ "ฝ่ายปกป้องหนูน้อยผู้น่าสงสาร" แม้ว่าสมาชิกเฟซบุ๊กที่กด"ชอบ"เฟซบุ๊ก"มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจ(ชื่อเธอ)" มีจำนวนเกือบ 300,000 คน หลายความคิดเห็นเป็นการแสดงความคิดเห็นซ้ำซากของสมาชิกเดิมๆ การแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เป็นไปในรูปการให้คะแนนสนับสนุนความคิดเห็น ลักษณะการออกเสียงดังกล่าวคล้ายการออกเสียงในความคิดเห็นท้ายข่าวออนไลน์

จุดเด่นของการวิจารณ์ในชุมชนออนไลน์คือการเปรียบเทียบวุฒิปริญญาและหน้าที่การงานของผู้เสียชีวิตกับสาวซีวิค เงื่อนไขด้านการศึกษากดดันให้มารดาสาวซีวิคไปงานศพของผู้เสียชีวิตที่มีวุฒิปริญญาเอก และกราบขอขมามารดาของผู้เสียชีวิต แต่ไม่สามารถกดดันให้สมาชิกในครอบครัวเธอ ไปงานศพของผู้เสียชีวิตที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาเอก สื่อสังกัดหนึ่งลงข่าวว่าครอบครัวสาวซีวิคช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตรายละ 30,000 บาท แต่มารดาของผู้เสียชีวิตคนหนึ่งเขียนลงเฟซบุ๊กว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวเท็จ น่าอัศจรรย์ว่าเงินจำนวนนี้ซื้อไม่ได้แม้กระทั่งตั๋วเครื่องบินไปกลับระหว่างกรุงเทพฯและสหรัฐฯ พอจะซื้อไวน์ดีๆได้ไม่กี่ขวด ตัวเลขนี้มาจากไหน? 100 ปีที่แล้วเงินจำนวนนี้มากพอที่จะซื้อบ้านได้ซักหลัง หรือว่าผู้กำหนดตัวเลข 30,000 เป็นคนหลงอดีตจนลืมคิดอัตราเงินเฟ้อ?

การใช้วุฒิปริญญาเป็นเงื่อนไขของความยุติธรรมทำให้สื่อมวลชนบางสังกัดเปลี่ยนท่าทีในการเสนอข่าว กลยุทธ์ดังกล่าวโจมตีการวัดค่าของคนด้วยชาติกำเนิดและสนับสนุนให้วัดค่าของคนด้วยปริญญาและหน้าที่การงาน แม้ว่าการวัดค่าของคนด้วยหน้าทีการงานจะสอดคล้องกับการคำนวณความเสียหายในคดีแพ่ง การวัดค่าของคนด้วยปริญญาและหน้าที่การงานขัดแย้งกับนิยามสิทธิมนุษยชนในทางอาญา เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีอาญา กลยุทธ์นี้ไม่สามารถแก้ปัญหาสองมาตรฐานได้เท่าไรนัก ทำได้อย่างมากคือช่วยกำหนดตัวเลขค่าชดเชยความเสียหายทางแพ่งให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต เช่น ถ้าใช้มูลค่าเงินเดือนและสวัสดิการ 40,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 30 ปีโดยไม่ขึ้นเงินเดือน จะตกเป็นเงิน 14,400,000 บาท

อย่างไรก็ดี เราปฏิเสธไม่ได้ว่าชุมชนออนไลน์มีบทบาทสำคัญในฐานะสื่อทางเลือก สื่อทางเลือกให้บทเรียนแก่สื่อมวลชนว่าการรายงานเท็จและสอนจริยธรรมไปพร้อมๆ กันไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว โลกาภิวัฒน์ทางข้อมูลทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดข้อมูล ชุมชนออนไลน์ทำให้ข่าวกลายเป็นสินค้าราคาถูกและตรวจสอบได้ง่าย แม้แต่ที่สหรัฐฯ หนังสือพิมพ์ที่คุณภาพต่ำเสียลูกค้าและ ขาดรายได้จากการโฆษณาจนต้องขายกิจการกันหลายราย

 

สาวซีวิคและเด็กแว้น

ฝ่ายปกป้องหนูน้อยผู้น่าสงสาร” นำเสนอความน่าสงสารโดยเปรียบเทียบเธอกับ "ไอ้ฟัก" ในวรรณกรรมเรื่อง "ผู้พิพากษา" การเปรียบเทียบดังกล่าวเหมือนเปรียบว่า “ใครเก่งกว่ากันระหว่างนายกฯ อภิสิทธิ์กะมิคกี้เมาส์?” เป็นการเปรียบเทียบที่ประเมินไม่ได้และไม่มีประโยชน์เพราะมิคกี้เมาส์และไอ้ฟักไม่มีตัวตนจริง วิธีการนำเสนอ "ดราม่า" คล้ายการนำเสนอประเด็นสาวซีวิคยืนเล่นบีบีในที่เกิดเหตุโดย "ฝ่ายโจมตีคุณหนูลูกอภิสิทธิชน" ไม่ว่าไอ้ฟักหรือบีบีไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ดิฉันขอเสนอให้ผู้อ่านที่ต้องการใช้เหตุผลโยนทั้งไอ้ฟักและบีบีออกจากจินตนาการ และกลับเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง

เมื่อการนำเสนอด้วย "ดราม่า" ไม่ได้ผล “ฝ่ายปกป้องหนูน้อยผู้น่าสงสาร” หันมาเรียกร้องสิทธิคุ้มครองเธอ ในฐานะเยาวชน โปรดสังเกตว่าไม่มีนักสิทธิมนุษยชนออกมาเรียกร้องสิทธิคุ้มครองเยาวชนให้เด็กแว้น ทั้งสื่อมวลชนและตำรวจกระตือรือร้นในการดำเนินคดีกับเด็กแว้นและเรียกร้องให้ผู้ปกครองรับผิดชอบ ตำรวจและสถานพินิจเยาวชนร่วมกันควบคุมเด็กแว้นอย่างรวดเร็ว ไม่มีการประสานงานกับนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์และอัยการเพื่อเตรียมตัวต้อนรับเด็กแว้นแบบที่ต้อนรับสาวซีวิคและผู้ปกครองในวันรายงานตัว ทำให้เกิดคำถามว่าเด็กแว้นทำคนตายไปกี่คน? การซิ่งและก่อความรำคาญโดยเจตนาแย่กว่าการซิ่งโดยประมาทแล้วทำคนตาย 9 ศพโดยไม่เจตนาหรือ?

ลองสมมติว่าเป็นที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่บิดาสาวซีวิคอ้างอิงว่าสาวซีวิคขับรถเองก่อนกลับเมืองไทย ถ้าเธอเป็นเยาวชนจริง เธอจะโดนอายัดตัวเพื่อสอบปากคำและตรวจแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดในร่างกาย เพื่อหาสาเหตุว่าความประมาทของเธอมาจากแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดหรือไม่ ถ้าบาดเจ็บก็ไปโรงพยาบาลแต่ไม่ได้กลับไปอยู่ในความคุ้มครองของผู้ปกครองทันที ผู้ปกครองเธอต้องโดนดำเนินคดีอาญาด้วยข้อหาปล่อยปละละเลย อาจโดนพิพากษาให้เสียสิทธิในการเลี้ยงดูเยาวชน

ดิฉันไม่ได้คลิก "ชอบ" เฟซบุ๊กที่บอกว่า "มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจ(ชื่อเธอ)" ถ้าเฟซบุ๊กดังกล่าว เปลี่ยนชื่อว่า "ฉันไม่พอใจ(ชื่อเธอ)"  ดิฉันจะคลิกชอบ ดิฉันไม่มั่นใจว่ามีคนไทยกี่คนไม่พอใจเธอเพราะพูดแทนคนอื่นไม่ได้ แต่เป็นความจริงว่ามีสองมาตรฐานเมื่อเราเปรียบเทียบกับเด็กแว้น

 

สองมาตรฐานน่ากลัวกว่าเฟซบุ๊ก

ฝ่ายปกป้องหนูน้อยผู้น่าสงสาร” บางคนนำเสนอว่าเฟซบุ๊กอาจจะทำให้คนเกลียดชังกันจนใช้ความรุนแรง โดยผิวเผินผู้อ่านตัดสินความดิบเถื่อนจากภาษาในชุมชนออนไลน์ ทั้งๆ ที่ความดิบเถื่อนที่แท้จริงคือ การเห็นชีวิตคนเป็นผักปลา ความดิบเถื่อนดังกล่าวเป็นพื้นฐานของสังคมสองมาตรฐาน คนที่กลัวพลังของเฟซบุ๊กน่าจะกลัวความดิบเถื่อนของสังคมสองมาตรฐานมากกว่า สังคมสองมาตรฐานเป็นสังคมที่ความกลัวต่อสู้กับความโกรธ เมื่อคนโกรธจนลืมกลัวก็ใช้ความดิบเถื่อนตอบโต้ความดิบเถื่อน สังคมสองมาตรฐานมีรากฐานมาจากสังคมทหารที่สอนให้คนฆ่าคนโดยไม่รู้สึกผิด ความดิบเถื่อนของสังคมไทยไม่หายไปไหนตราบใดที่ยังมีระบบทหารเกณฑ์ เฟซบุ๊กเป็นเพียง "กระจกสะท้อนสังคมไทย" ที่สื่อกระแสหลักไม่ยอมเสนอให้คนไทยรู้ตัวเท่านั้น

โปรดสังเกตว่าการกังวลกับอนาคตโดยไม่คำนึงถึง "ความน่าจะเป็น" เป็น "ดราม่า" แบบหนึ่ง สังคมเฟซบุ๊กเป็นสังคมออนไลน์ คนติดเฟซบุ๊กนั่งเล่นเฟซบุ๊กไม่ไปไหน ถ้าไม่มีการเตรียมการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือผู้คุมกฎให้ท้าย จะพากันไปบุกบ้านใครเพื่อด่าหรือทำร้ายใครไหม? ถ้าผู้อ่านกังวลในประเด็นนี้มาก ขอเสนอให้นับดูว่าที่โพสต์ด่าบนเฟซบุ๊กดังกล่าวมีกี่คน? ถ้าอ่านดูจะพบว่าเป็นความเห็นซ้ำซากจากคนเก่า ไม่ได้มีเกือบ 300,000 คนแบบจำนวนคนที่กด "ชอบ" คำถามเพื่อตรวจสอบความจริง (Reality check) มีต่างๆ นานา อาทิ เฟซบุ๊กทำคนตายไปแล้วกี่คน? ตอนมารดาสาวซีวิคไปขอขมามารดาของผู้เสียชีวิตวุฒิปริญญาเอกมีใครปาอะไรใส่มารดาสาวซีวิคหรือ? มีการเสนอข่าวว่าสาวซีวิคโดนขู่ฆ่า ถ้ากลัวนักก็จ้าง รปภ. ได้เพราะครอบครัวเธอมีฐานะ มีญาติเป็นทหารระดับสูงจะกลัวเหมือนในละครทำไม?

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือสื่อมวลชนรายงานข่าวว่าสาวซีวิคจะบวชชีให้ผู้เสียชีวิต การบวชไม่ใช่ส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมเพราะไทยไม่ใช่รัฐศาสนา การยกประเด็นดังกล่าว อ้างอิงศาสนาคล้ายการนำเสนอว่า "ความตายเป็นกรรมเวรส่วนตัว" การนำเสนอ"กฎแห่งกรรม" เป็นเพียงความเชื่อส่วนตัว ไม่ใช่กฎหมายที่เป็นกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันในสังคม บ้างก็ว่าคนตายฟื้นคืนชีพไม่ได้ ตายแล้วแล้วไง? ตายแล้วคนเป็นไม่ต้องบังคับใช้กฎหมายหรือ? ให้คนเป็นนั่งรอกฎแห่งกรรมไปตามยถากรรมหรือ?

การเรียกร้องให้ชุมชนออนไลน์หยุดสนใจคดีนี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความยุติธรรม ประเทศอื่นมีความยุติธรรมได้จากการเรียกร้อง ตำรวจและผู้พิพากษาฝรั่งไม่ได้เอาความยุติธรรมมาแจกให้ฟรีๆ คนตายอย่างไม่เป็นธรรมในอดีตทำให้คนออกมาเรียกร้องทำให้กระบวนการยุติธรรมพัฒนาได้ ออกมาทั้งไปงานศพ กดดันผ่านสื่อมวลชน ผ่านเครือข่ายทางสังคมต่างๆ คนอเมริกันเข้าใจดีกว่าถ้าคนอื่นไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกัน ความยุติธรรมไม่ใช่ของฟรี คณะลูกขุนคือคนธรรมดาที่ต้องสละเวลามาร่วมกระบวนการยุติธรรมของผู้อื่น ความยุติธรรมไม่มีวันเกิดขึ้นในสังคมไทยถ้าคนนิ่งดูดายและถือว่า "ไม่ใช่ญาติฉัน ฉันไม่เสียเวลาด้วย" ถ้าไม่สนใจแม้กระทั่งจะสงสัยว่า"ความยุติธรรมคืออะไร?" ก็หวังยากว่าจะหลุดพ้นการรอคอยความยุติธรรมชาติหน้าที่มาไม่ถึง

ถ้าผู้อ่านกลัวเฟซบุ๊กมาก อย่าลืมว่าแท้จริงแล้วคุณกำลังกลัว "ความดิบเถื่อนของสังคมสองมาตรฐาน"  ความดิบเถื่อนดังกล่าวไม่เห็นค่าของคนเท่ากัน แม้คนเฟซบุ๊กเองก็ยังไม่เห็นความค่าของ 91 ศพ เท่า 9 ศพเพราะเขาเอาปริญญาเป็นน้ำหนักในการวัดค่าของคน (ไม่รู้ปู่ย่าตายายมีปริญญาเอกกันกี่คน?) ไม่มีเฟซบุ๊กชื่อว่า "มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจที่คนไทยตาย 91 ศพเมื่อเดือนพฤษภา" แต่เขาก็ไม่ดิบเถื่อนเท่าคนที่ไม่เห็นค่าของศพแม้แต่ศพเดียว

 

รถเก๋งและรถตู้

โศกนาฏกรรมนี้แสดงให้เห็นความไม่สัมพันธ์กันระหว่างรายได้และการศึกษา นักวิจัยปริญญาเอกหรืออาจารย์วุฒิปริญญาโทมีตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีใช้บริการรถตู้เพราะรายได้ไม่มากพอที่จะซื้อรถยนต์ ประเด็นคือรถยนต์ไทยราคาแพงกว่าต่างประเทศมากทั้งๆ ที่คุณภาพต่ำกว่า

ที่สหรัฐฯ ฮอนด้าซีวิคราคา 5 แสนบาทเทียบเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ต่อปีของวิศวกรจบใหม่หลักหักภาษีแล้ว ดังนั้นวิศวกรจบใหม่ผ่อนรถยนต์ได้เลยตั้งแต่เริ่มทำงาน รถที่ถูกกว่าซีวิคก็มีทั้งยี่ห้อฮอนด้าด้วยกันและทั้งจากสารพัดยี่ห้อ ตัวอย่างรถรุ่นอื่น เช่น ฮอนด้าแอคคอร์ด หรือโตโยต้าแคมรีราคาเริ่มต้นที่ 6 แสนบาท เปรียบเทียบกันแล้วรถเมืองไทยราคาแพงกว่ากันเป็นเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบรายได้คนจบปริญญาตรียิ่งไปกันใหญ่ สาเหตุที่รถยนต์ไทยราคาแพงคือภาษีการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศสูงมากรวมทั้งรถมือสอง ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์มีอำนาจตลาดมากจนตั้งราคาสูงได้ รถมือสองจากต่างประเทศคุณภาพดีกว่ารถมือสองในไทยมาก

ไม่มีประเทศใดแก้ปัญหารถติดหรือขนส่งมวลชนด้วยการสนับสนุนให้รถยนต์ราคาแพง ประเทศที่พัฒนาแล้วแก้ปัญหารถติดด้วยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน สร้างแรงจูงใจให้คนใช้รถยนต์น้อยลง เช่น เก็บภาษีน้ำมันในอัตราสูง ตั้งกฎเกณฑ์ด้านประกันภัยอย่างเข้มงวด

 

จากประชานิยมสู่ประชาสัญจร

สาวซีวิคและเด็กแว้นเป็นเพียงตัวอย่างของการละเมิดสิทธิในการสัญจรอย่างปลอดภัยของผู้อื่น ที่จริงแล้วคนไทยโดนละเมิดสิทธิในการสัญจรอย่างปลอดภัยตลอดเวลาบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาถนนแคบ พื้นผิวถนนไม่ได้มาตรฐาน ค่าผ่านทางด่วนราคาแพง (ประเทศทุนนิยมสุดขั้วอย่างสหรัฐฯ มีทางด่วนแบบเก็บเงินน้อยมากๆ ทางด่วนส่วนใหญ่ฟรี) กำแพงทางด่วนต่ำ ไม่บังคับใช้กฎจราจรอย่างเป็นธรรม กระบวนการปิดถนนที่ไม่โปร่งใสและตรวจสอบไม่ได้ ยานพาหนะมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่ำ ฯลฯ

สิทธิในการสัญจรอย่างปลอดภัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นความตายพอๆ กับสิทธิในการรับบริการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นนโยบายหลักของนโยบายประชานิยม ถึงเวลาแล้วหรือยังที่องค์กรภาคประชาชนต่างๆ จะหันมาเรียกร้องสิทธิในการสัญจรอย่างปลอดภัย?

เราอาจเรียกมาตรการยกระดับคุณภาพการคมนาคมว่า "นโยบายประชาสัญจร" (People’s Traffic) การยกระดับขนส่งมวลชนเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในระยะสั้นที่ง่ายกว่านั้นคือการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ใหม่หรือยกเลิกภาษีนำเข้ารถยนต์มือสอง จะทำให้ราคารถยนต์ใหม่ถูกลงและเป็นที่ต้องการมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องกังวลว่ารถมือสองจะตีตลาดจนรถใหม่ขายไม่ได้จนต้องลดการจ้างงาน รถตู้ก็จะราคาถูกลง ผู้ประกอบการสามารถลดจำนวนผู้โดยสารต่อคันเพื่อยกระดับความปลอดภัยได้และสามารถขึ้นค่าแรงให้คนขับรถตู้หรือฝึกอบรมคนขับอย่างเป็นระบบเพื่อยกระดับคุณภาพการบริการ ถ้ากังวลว่าการยกเลิกภาษีนำเข้ารถมือสองจะทำให้รถติดใน กทม.มากขึ้นก็ขึ้นภาษีน้ำมันได้ ภาษีน้ำมันไม่จำเป็นต้องเท่ากันทั้งประเทศ กำหนดให้อัตราภาษีใน กทม.สูงกว่าในต่างจังหวัดได้

ส่วนการแก้ปัญหาด้านความมาตรฐานถนนและยานยนต์นั้นต้องอาศัยการบังคับกฎหมาย อุบัติเหตุเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยของรถยนต์และถนนในต่างประเทศ เพราะอุบัติเหตุนำไปสู่การตรวจหาความบกพร่องของรถยนต์และถนนนอกเหนือไปจากการพิสูจน์การกระทำของคู่กรณี ความเร็วของการขับรถไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ (ในยุโรปมีทางด่วนออโตบาห์นที่ไม่จำกัดความเร็วและกำหนดความเร็วขั้นต่ำ) มาตรฐานถนนและมาตรฐานรถยนต์เป็นปัจจัยสำคัญ คนไทยไม่ตื่นตัวเรื่องสิทธิจึงไม่นิยมฟ้องร้องผู้ผลิตหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้ไม่เกิดแรงกระตุ้นให้ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย การเรียกร้องสิทธิเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท