รายงาน: ทรหดกว่ายายไฮพังเขื่อน คนน้ำอูนกลืนน้ำตา 40ปี แผลนี้ไม่มีเยียวยา

 
 
 
 
น้ำอูนและน้ำตา-ภูมิทัศน์ของเขื่อนน้ำอูน สกลนคร อันสวยงาม แต่แลกมาด้วยการไล่ที่ชาวบ้านที่ยากจน3,000กว่าหลังคาเรือนที่เผชิญน้ำท่วม หมดสิ้นไร่นาทำกิน ต้องกลายเป็นขอทาน เพราะเมื่อจะลงหาปลาในเขื่อนก็โดนจับ หนีขึ้นภูไปหาของป่าก็เจออุทยานเล่นงาน
 
 
เรื่องราวการต่อสู้อันทนทรหด 32 ปีกว่าจะได้รับการเยียวยาของยายไฮ ขันจันทรา หรือยายไฮพังเขื่อน เป็นกรณีศึกษาซึ่งเป็นที่รับรู้แพร่หลายไปทั่วประเทศ...เชื่อหรือไม่ทรหดกว่ายายไฮ และมาราธอนกว่านี้ก็ยังมีอีกนับไม่ถ้วนในประเทศนี้
 
เส้นทางขึ้นภูเขาที่คดโค้งลัดเลาะเทือกเขาภูพานก่อนจะเข้าเมืองสกลทวาปี หรือสกลนครในปัจจุบัน ราว 52 กิโลเมตร เราเลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอกุดบาก และน้ำอูนอีกราว 40 กิโลเมตร เพื่อตระเวนพบปะพูดคุยกับชาวบ้านในเขตอำเภอกุดบาก อำเภอน้ำอูน อำเภอพังโคน และพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร
 
ได้พบกับตัวแทนของคนทุกข์ยากที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน กว่า 3,000 ครอบครัว ถูกปล่อยปละละเลยไม่มีการแก้ไขปัญหามานานกว่า 40 ปี แม้ว่าถนนหนทางจะคดเคี้ยวสักปานใด
 
แต่เส้นทางชีวิตของคนเหล่านี้กลับคดเคี้ยวยิ่งกว่าเส้นทางเสียอีก
 
40 ปีแห่งความหลัง
 
เจรจาขอให้เยียวยา-หลังเหตุการณ์ผ่านไป 40 ปีผู้นำชาวบ้านได้เข้าเจรจากับนายสาธิต วงศ์หนองเตย ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอให้เยียวยาย้อนหลังในแบบเดียวกับที่ยายไฮได้รับ โดยที่ไม่ต้องให้ชาวบ้านไปพังเขื่อนเลียนแบบ
 
 
พื้นที่ลุ่มน้ำอูนมีสภาพเป็นที่ราบลุ่มระหว่างลำน้ำ และมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา พื้นที่ริมน้ำอูนประกอบด้วยทามที่มีน้ำไหลหลากในช่วงฤดูฝน จึงทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพรรณ และอาหารตามธรรมชาติ
 
จึงมีชุมชนตั้งถิ่นฐาน และหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์พอสมควร ทั้งชุมชนชาวภูไท ไทโส้ ไทอีสาน และไทญ้อ ยึดทำเลทำมาหากินตั้งแต่ริมน้ำไปจนถึงภูเขา จนเกิดความสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยของคนต่างวัฒนธรรมในการดำรงชีพอย่างน่าอัศจรรย์
 
เขื่อนน้ำอูนเริ่มดำเนินงานก่อสร้าง เมื่อปี 2506 มีชาวบ้าน และชุมชนที่ได้รับการอพยพย้ายออกจากพื้นที่ ราว 60 กว่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่รอยต่ออำเภอต่างๆ 5 อำเภอ คือ อำเภอพังโคน สถานที่ตั้งเขื่อน อำเภอพรรณนานิคม อำเภอวาริชภูมิ อำเภอกุดบาก และอำเภอน้ำอูน โรงเรียนถูกน้ำท่วมกว่า 10 แห่ง รวมผู้คนที่ต้องโยกย้ายหนีจากแผ่นดินถิ่นเกิดมาตุภูมิกว่า 3,000 คน
 
 
ทุกข์ของผู้เสียสละ
 
ยายไฮภาค2-ยายแขไข แสงสีลา ผู้นำสตรีเหล็กของชาวบ้านที่ต้องทนทุกข์กับการสร้างเขื่อนน้ำอูนปราศรัยกับการชุมนุมของชาวบ้านที่เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว
 
 
ราษฎรกว่า 3,000 ครอบครัวเหล่านี้ต้องกลายเป็นผู้เสียสละ และต้องเผชิญสถานการณ์หักเหกลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตครั้งสำคัญของพวกเขา
 
จากชาวนาเจ้าของที่ดินกลายเป็นชาวเขา ชาวนาบ้านแตก ชาวประมง ชาวนาขอทาน และชาวนารับจ้างไปโดยปริยาย โดยแต่ละคนไม่มีใครได้ตั้งตัวกันมาก่อน
 
 
“ตอนเขาปั้นเขื่อนน้ำเริ่มท่วมไร่นา ชาวบ้านได้แต่ยืนเบิ่งดู ไม่รู้จะทำอะไร หาปลาก็ไม่เป็น เพราะน้ำมันหลาย ไม่เคยหาปลาน้ำมากๆ มาก่อน น้ำมันหลาย มีแต่คนทางอื่นมาหาปลากัน แต่ละคนย่านน้ำ ย่านแข้ (จระเข้) เพราะมันหลายนอนลี้อยู่ตามห้วยตามหนอง”
 
แกนนำชาวบ้านอภิปรายเกริ่นนำบนเวทีปราศรัยหน้าเขื่อนน้ำอูน เช้าวันที่ 5 ธันวาคม ทำให้เห็นภาพคนทำนา แต่ต้องมาตื่นตะลึงกับน้ำท่วมหลังการสร้างเขื่อน จนไม่รู้จะทำอะไรกิน
 
 
“นายเขามาบอกว่าจะชดใช้ค่าที่นาให้ไร่ละ 800 บาท จะจัดที่ทำกินให้ใหม่ในเขตนิคมสร้างตนเองน้ำอูน ตอนแรกทำนาอยู่กับ ฉันมีนากว่า 40 ไร่ ได้ข้าวเป็นพันถัง เอาเกวียนขนข้าวสี่เกวียนห้าเกวียน ขนขึ้นเล้ากว่าจะแล้ว พอสร้างเขื่อนน้ำท่วมหมด ไม่เหลือ ตอนนั้นอายุได้ 41 ปี อาศัยอยู่กับปู่ เขาให้ค่าที่นา 800 บาท/ไร่ ที่อยู่อาศัย 4,000 บาท”
 
ยายแขไข แสงสีลา วัย 62 ปี ชาวบ้านบ้านกลาง เท้าความถึงอดีตให้เราฟังถึงความยิ่งใหญ่ของชาวนาลุ่มน้ำอูนในอดีตให้เราฟัง
 
 
“ทุกวันนี้ไม่มีนา ต้องรับจ้างทั่วไป หาหน่อไม้ ผักตามห้วยหนอง ตามป่ามาขาย แลกข้าวกิน ช่วงไหนไม่มีงานทำก็ไปขอข้าววัดกิน ช่วงเดือนกันยายนแต่ละปีไม่มีงานทำ ต้องไปขอข้าววัดมาให้หลานกินทุกวัน”
 
ยายแขไข สาธยายความทุกข์ให้ฟังทั้งน้ำตาเพิ่มเติม จนเพื่อนบ้านร่วมวงเสวนาอดน้ำตาคลอตามไปด้วยไม่ได้ จนต้องหลบสายตาเบือนหน้าหนี หันไปมองท้องน้ำเวิ้งว้างหน้าบ้านยายแขไขที่น้ำเริ่มขึ้นมาเยือนถึงตีนหมู่บ้านแล้ว
 
“ตอนนี้อาศัยอยู่กับลูกกับหลาน 6 คน ลูกชายสติไม่ดี 1 คน หลาน 4 คน ชายสองคน หญิงสองคน ลูกสาวเอามาฝากให้ช่วยดูแล ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ เพื่อหนีไปทำงานกรุงเทพฯ บอกว่าจะส่งเงินมาให้ใช้ จนทุกวันนี้ไม่ได้ข่าวคราวเธอเลย”
 
ยายแขไข อาศัยเงินเบี้ยยังชีพคนชราเจียดเป็นค่าขนม ค่าข้าวให้หลานกินประทังชีวิต เวลากินให้หลานกินก่อน
 
หลานเรียนหนังสืออยู่ ป.4, ป.1 อนุบาล 1 คน และอายุ 2 ขวบอีกหนึ่งคน ลูกชายคนที่สติไม่ดี อายุ 35 ปี สานสุ่มไก่ขายพอช่วยงานได้บ้าง
 
“ไร่นาก็ไม่มีทำ มีที่อยู่อาศัย ประมาณ 1 งาน แบ่งขายออกไปบางส่วนแล้ว เพราะไม่มีเงินซื้อข้าวให้หลานกิน หลานไม่ได้เงินไปโรงเรียนทุกวัน มีคนมาขอไปเป็นลูกบุญธรรม ก็ให้เขาไปแล้ว 2 คน เหลืออีก 2 คน ตอนแรกว่าจะมาดู เขาอยากได้ผู้หญิง ก็จะให้เขาไปเพราะเลี้ยงบ่ไหว”
 
“อายุมากขนาดนี้ต้องไปทำงานรับจ้างทุกวัน แบกอ้อย ขนอ้อยขึ้นรถกับพวกเด็กน้อย กลับมาต้องกินยาแก้ปวดทุกวัน ย่านตายปะหลานก่อน”
 
ยายแขไข กล่าวพร้อมทั้งน้ำตา สงสารหลายน้อย 4 ชีวิตที่รอคนมารับไปช่วยเลี้ยงดูอีก 2 คน
 
ลูกๆ เขาโตมาแล้วไม่มีที่ดินทำกินเขาก็ต่างคนต่างออกไปทำงานที่อื่นกันหมด ญาติพี่น้องเขาก็พอช่วยได้เป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น
 
 
“หลานๆ ย่านเรียนบ่จบ เคยไปบอกครูว่าจะไม่ให้เรียน ยายไปคุยกับ ผอ. แล้ว แกก็บอกว่ามีปัญหาอะไรก็บอก”
 
ยายกล่าวเสริมอีก ก่อนที่เราจะหันไปถามข้อมูลกับแกนนำชาวบ้านที่พาไปตระเวนพื้นที่ต่อ
 
 
ครอบครัวที่อยู่ในสภาพเดียวกับยายแขไข ในหมู่บ้านนี้มีประมาณ 10 ครัวเรือน ฝ่ายรัฐก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออะไร การดูแลไม่ทั่วถึง (แกนนำชาวบ้านตอบคำถามเราถึงเรื่องคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ครอบครัวแตกสลายเช่นนี้หลังการสร้างเขื่อนน้ำอูน)
 
 
ลงน้ำเจอประมง ขึ้นภูเจออุทยานฯ จับ
 
 
 
 
ร้องขอความเป็นธรรม-ชาวบ้านที่เข้าร่วมการประท้วงที่น้ำอูน สกลนคร
 
 
“ทางนิคมสร้างตนเองฯ เขาก็มาบอกว่าจะจัดที่ดินให้คนละ 15 ไร่ พอย้ายมาไม่มีที่ดินจัดให้ชาวบ้าน ตอนนี้อาศัยอยู่ที่ดินที่ขายให้คนอื่นไปแล้ว เพราะไม่มีจะกิน ทุกข์มา 40 กว่าปีแล้ว เขาไม่มีที่ดินจะจัดให้คนที่ถูกย้ายออกมาจากเขื่อนน้ำท่วม ไปจัดที่ดินที่อยู่อาศัยตามหัวไร่ปลายนาของคนอื่น มีเจ้าของอยู่แล้ว ไม่กล้าไปอยู่เพราะกลัว จะมีเรื่องกับเจ้าของที่ดินเดิม”
 
“ส่วนมากรับจ้างได้เงินมาเอาเงินไปซื้อกะยัง 50 บาท/ใบ หรือช่วงไหนไม่มีงาน เอากะยัง (ตะกร้า) ไปแลกข้าวเปลือกได้ 2 กระป๋อง/ใบ (ประมาณ 8-9 กก.) หาผัก หน่อไม้ตามริมห้วยไปแลกข้าวด้วย บางทีเหมารถไปเก็บผือแถวหนองหาน อำเภอพังโคน ค่ารถ 80 บาท/คน ทอเสื่อแลกข้าวเหมือนกัน เมื่อก่อนแถวบ้านมีเยอะ แต่ตอนนี้น้ำท่วมตายหมด เลยไปหาที่อื่น”
 
 
“เด็กลูกหลาน โอกาสการศึกษาด้อยกว่าเด็กในหมู่บ้านอื่นๆ ส่วนมากจบภาคบังคับเท่านั้น จบแล้วไปหาทำงาน กทม. พอได้กินดูแลตนเองเท่านั้น ไม่พอจะช่วยเหลือพ่อแม่”
 
อุทิศ แสงสีลา อายุ 54 ปี ชาวบ้านเหยื่อการพัฒนาอีกคน กล่าวอย่างหมดอาลัย และหมดอนาคต
 
 
ชุมชนคนขอทาน...ชีวิตคนหลังเขื่อน
 
 
“น้ำท่วมปี 2511-2512 ไม่มีนาทำ เมื่อก่อนมี 30 ไร่ ตอนนี้เอาไม้ไผ่มาสานหวดนึ่งข้าว 50-70 บาท/ใบ ใช้เวลาประมาณ 3 วันต่อใบ ตีเป็นเงิน แต่ส่วนมากเอาไปแลกข้าว เสียค่ารถไปหาขอข้าว 120 บาท/คน แถวอำเภออากาศอำนวย และพรรณนานิคม (จังหวัดสกลนคร)”
 
“บางทีไม่มี เอาข้าวเขามากินก่อน เวลาหาหน่อไม้บนภูพาน 3-4 กิโล เอามาคืนให้เขาทีหลัง เวลามีปลาก็ซื้อเขามาทำปลาส้ม ปลาแห้ง ห่อเป็นถุงๆ เอาไปแลกข้าวเรือนละถุง แล้วแต่เขาจะให้ข้าวมากน้อยเท่าไหร่ก็เอา”
 
ยายแจ เรือรีรักษ์ วัย 60 ปี ชาวบ้านนาทันบอกเล่าชีวิตชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ดำรงชีพด้วยการขอข้าวคนอื่นมากิน
 
“ในชีวิต เกิดมาทุกข์ที่สุด หลังน้ำท่วมนา ชีวิตเมื่อก่อนม่วนหลาย เวลาว่างไปวัดฟังธรรม แต่ทุกวันนี้สมองมีแต่หาอยู่หากิน พระมาอยู่ไม่กี่พรรษาก็หนีไปอยู่ที่อื่น เพราะแม้แต่พระก็อดข้าว” ยายแจ กล่าวเพิ่มเติม
 
“ชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกันมีนาทำแค่ 6 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือหาของป่าเพื่อมาแลกข้าว เข้าป่าเจอแต่คนหาหน่อไม้เต็มไปหมด แย่งกันหากินระหว่างชาวบ้านระหว่างหมู่บ้านต่างๆ”
 
“ลงน้ำเจอประมงไล่จับ ขึ้นเขาเข้าป่าเจออุทยานฯ จับอีก เคยไปลงหาปลาในอ่างฯ ถูกจับ 1,000-30,000 บาท หากินก็ยาก ไม่มีนาทำยังพึ่งพาธรรมชาติไม่ได้อีก” พ่อเฒ่า บ้านนาทันกล่าวเสริมสะท้อนปัญหาชาวบ้านอีกคน
 
 
บทเรียนจากน้ำอูน เพื่อแก้ปัญหาเขื่อนอื่นๆ ในประเทศ
 
 
 
วิถี-ผู้ชุมนุมใส่บาตรทำบุญแต่เช้า พวกเขาปรารถนาชีวิตที่ปกติเรียบง่าย และการเยียวยาที่เป็นธรรม
 
 
ปัญหาและผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูนที่กล่าวมาแล้ว ยังพบว่ามีเขื่อนอื่นๆ ในภาคอีสาน และประเทศที่ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหาอย่างสมน้ำสมเนื้อกับการเสียสละอาชีพ ประวัติศาสตร์รากเหง้าของบรรพบุรุษ และอนาคตของตนเอง จนสถานภาพต้องตกระกำลำบาก
 
หากเจาะลึกถึงกลไกการดำเนินงานนับตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการทำงาน สิ่งหนึ่งที่พบ ก็คือ ความไม่โปร่งใสในกระบวนการดำเนินงาน และการมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบของสังคมอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนลำตะคอง เขื่อนพองหนีบ และอื่นๆ อีกมากมาย ลองล้วงลูกเจาะลึกกันดูปะไรล้วนแต่พบข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันทั้งนั้น
 
ยอมรับความจริงกันเสียทีกับมาตรการปัดฝุ่นไว้ใต้พรม จริงใจในการแก้ปัญหาให้ชาวบ้านที่ต้องทนทุกข์มากกว่า 40 ปี ทั้งในด้านค่าชดเชยที่เสียโอกาสไม่ได้ที่ดินทำกินตามสัญญา รวมทั้งค่าเสียโอกาสในการดำรงชีพที่สูญเสียไป และมาตรการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจในระยะยาว
 
เพราะเงินไม่อาจเยียวยาคนในชาติได้จริง นอกจากความจริงใจ และความมีน้ำใจของผู้ปกครองบ้านเมืองเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท