รายงาน: ‘หมอดูการเมือง’ ที่ยืนของ ‘รัฐศาสตร์ไทย’ ในโลกหลังสมัยใหม่ ?

 
ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปมปัญหาใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย และทางออกก็ดูเหมือนจะตีบตันอยู่จนปัจจุบัน นักรัฐศาสตร์ในฐานะที่เป็นผู้ศึกษาด้าน “การเมือง” โดยตรง ถูกคาดหวัง กระทั่งถูกตั้งคำถามมาสักพักใหญ่แล้วถึงความสามารถในการอธิบายปรากฏการณ์ สร้างโมเดลทางออกจากปัญหา ฯลฯ แต่ดูเหมือนว่ายิ่งปัญหาหนักหน่วงมากเท่าไร บทบาทของพวกเขากลับแผ่วเบามากขึ้นเท่านั้น จนบางคนถึงกับกล่าวติดตลกว่า “หมอดู” อาจมีประโยชน์ต่อการคาดเดาอนาคตการเมืองไทยมากกว่า “นักรัฐศาสตร์”
 
นักศึกษารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงคำถามตัวโตที่มีต่อศาสตร์ที่พวกเขาศึกษาดี ในงาน “รัฐศาสตร์แฟร์” ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่ 7 แล้วจึงมีการตั้งชื่องานหรือวาง concept ของงานไว้ว่า “การพยากรณ์ การเมือง และเรื่องของอนาคต” จัดตั้งแต่วันที่ 5-7 ม.ค.54 โดยภายในงานมีการเสวนาวงใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้ในหัวข้อ “การเมืองกับการทำนาย: ความท้าทายของนักรัฐศาสตร์ไทย” ซึ่ง ‘ประชาไท’ สรุปความเบื้องต้นไว้ในเนื้อหาด้านล่าง
 
 
ในจุลสารงานรัฐศาสตร์แฟร์ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “ข้อจำกัดใหญ่ที่สุดของรัฐศาสตร์ในการเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของโลกหลังสมัยใหม่คือ การไม่สามารถให้ทางออกและการคำนวณใดๆ ได้อีกต่อไป รัฐศาสตร์จึงกลายมาเป็นเพียงผู้ดูอยู่ห่างๆ ทำให้ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์จำเป็นต้องรับอิทธิพลความคิดจากนักคิดหลังสมัยใหม่ เช่น Jacques Derrida Jean Baudrillard และ Michel Foucault ในการเข้ามาอธิบายเพื่อจะเพิ่มความน่าเชื่อถือในศาสตร์ของตน แต่การยิ่งเพิ่มนักคิดเหล่านี้ขึ้นมาในพรมแดนรัฐศาสตร์ กลับบั่นทอนความเป็นรัฐศาสตร์เอง รัฐศาสตร์จึงเดินมาอยู่ทางแยกที่สำคัญระหว่างการอยู่รอดกับความไร้น้ำยาในการวิเคราะห์สถานการณ์รอบข้างที่เปลี่ยนไป”
 
“Horopolitic จึงเป็นข้อเสนอที่ตั้งขึ้นเพื่อหาทางออกข้อขัดแย้งระหว่าง postmodern ที่ไม่เชื่อว่าเราทำอะไรได้ กับ modern ที่เชื่อว่าเราเราทำอะไรได้ทุกอย่างด้วยวิธีการที่แน่นอน ด้วยข้อสรุปที่ว่า เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างภายใต้สภาวะกดดันที่คาดเดาไม่ได้ อย่างน้อยก็เหนือชั้นกว่าคนไร้น้ำยาที่ postmodern ประณามเรา..”
                                 
วงเสวนาเริ่มต้นที่ นักรัฐศาสตร์ขวัญใจนักคิดรุ่นใหม่อย่าง ‘ธเนศ วงยานนาวา’  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเริ่มต้นพูดถึง “การทำนาย” ว่า ชีวิตคนเราเกิดมาต้องทำนายอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวัน จนถึงศาสตร์ต่างๆ ก็มีหลักการทำนายหรือการคาดการณ์สิ่งต่างๆ ของตัวเอง เพราะความสัมพันธ์ทางสังคมที่เรียกว่าโครงสร้างทางสังคมเป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่คาดเดาได้
 
“เช่น คุณเจออาจารย์แล้วยกมือไหว้ อาจารย์หันมาตอบคุณว่า “ไอ้สัตว์ ไหว้ทำเหี้ยอะไร” (ผู้ฟังหัวเราะ) อย่างนี้ไม่ใช่ เพราะมันต้องเป็นอะไรที่คาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา ไม่ต้องทำนาย เพราะคุณคิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีความคงเส้นคงวา แต่อันที่จริงชีวิตของคุณไม่ได้มีความคงเส้นคงวา แต่ที่มันคงเส้นคงวาได้เพราะมีกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างบังคับให้คุณคงเส้นคงวา ซึ่งมันจะจัดระเบียบให้คุณคิดว่าคุณจะคาดหวังได้บ้างอะไรในชีวิต”
 
ธเนศกล่าวว่า ท้ายที่สุด เวลามีคำถามถึงสิ่งพวกนี้ มันตกตะกอนอยู่ที่คำถามอันเดียวคือ ในชีวิตของมนุษย์ คุณต้องการควบคุมอะไรบางอย่างให้เป็นไปตามความคาดหวัง แต่ขณะเดียวกันโลกนี้มีหลายสิ่งที่คุณควบคุมมันไม่ได้ คุณจึงต้องหาหนทางในการควบคุมมัน ฉะนั้น หมอดู การทำนายรูปแบบต่างๆ และการบำเพ็ญพรต บำเพ็ญตบะในทางศาสนาทุกศาสนา คือสิ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมสิ่งซึ่งควบคุมไม่ได้ทั้งสิ้น เช่น คุณบำเพ็ญตบะเพื่อควบคุมจิตของคุณ และเป็นเรื่องปกติที่คุณจะหวาดวิตกกับสิ่งต่างๆ ที่แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ต้องการทำให้มันอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เวลาตั้งคำถามนี้ ปัญหาสำคัญอันหนึ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ในการที่เราคิดว่า รัฐศาสตร์จะทำนายได้หรือไม่ได้ ถ้านักศึกษารัฐศาสตร์ไปเรียนวรรณคดีอังกฤษเสีย เขาก็คงไม่มานั่งบอกตัวเองให้ทำนายสิ่งต่างๆ  
 
“ผมคิดว่าความสามารถในการที่เราเป็นห่วงกับการคาดเดาได้หรือไม่ได้ มันมาพร้อมกับประสิทธิภาพของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้เราควบคุมอะไรหลายอย่างได้ เช่น เห็นได้ว่าทอร์นาโดวิ่งไปทางไหน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะรำคาญมากกับคนที่ถูกเทรนมาด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งมันเป็นปมด้อยของเด็กสายสังคมศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ทำแคลคูลัสไม่ได้ เลยต้องมาวุ่นกับเรื่องการตีความ เรื่องโพสต์โมเดิร์น ปัญญาอ่อนอะไรพวกนี้ (ผู้ฟังหัวเราะ) ขณะเดียวกันปลายศตวรรษที่ 19 วิชาสถิติได้ขยายตัวอย่างมากและเข้ามามีบทบาทสำคัญในวิชาต่างๆ เพื่อการที่คุณจะจัดการโอกาสหรือความเสี่ยงต่างๆ ที่คุณไม่สามารถคุมได้  สิ่งพวกนี้ในท้ายที่สุดทำให้ทุกคนต้องจบชีวิตลงด้วยการเป็นหมอดู ที่สุดแล้วศาสนา สถิติ วิชาการ ทุกคนมีความต้องการจะควบคุม เพราะคุณกำลังทำในสิ่งที่คุณทำไม่ได้ ถ้าคุณทำได้เมื่อไรก็เป็นสัตว์ประเสริฐเมื่อนั้น”
 
ธเนศกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การรับรู้ของเราทั้งหมดก็อยู่ภายใต้โครงสร้างของคุณ และคำอธิบายทั้งหมดก็อยู่ในโครงสร้างนี้ ในพล็อตนี้ ซึ่งคุณก็จะทำนายภายใต้ความรู้ที่คุณมีแค่นั้น ตอนที่อาจารย์อรรถกฤตซึ่งถูกเทรนมาด้านเศรษฐศาสตร์ด้วนเข้ามาในคณะรัฐศาสตร์ มธ. เขารู้สึกดีใจมาก เพราะคณะเขาถูกครอบงำด้วยนักปรัชญาการเมือง ทั้งที่เขาไม่เคยดูถูกตัวเลขหรือเศรษฐศาสตร์ และเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พร้อมยกตัวอย่างคำพูดที่ปรากฏในวารสาร Journal of the Royal Statistical Society เมื่อปี 1993 ว่า สำหรับในทางสถิติแล้ว “การคาดการณ์ที่แม่นยำเป็นเรื่องยาก” ซึ่งสะท้อนว่าแม้กระทั่งนักสถิติยังยอมรับ ฉะนั้น อยากให้เราสนใจ ทำความเข้าใจโลกของคนอื่นที่เขาศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักสถิติ นักคณิตศาสตร์ ไม่ใช่เห็นแค่ตัวเลขแล้วบอกอ่านไม่รู้เรื่อง มันอาจทำให้เราเข้าใจคนอื่นๆ ที่ทำอะไรแตกต่างไปจากเรามากกว่านี้
 
“อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่ามาตรฐานการประเมินค่ของความรู้ในปัจจุบันนี้วางอยู่บนฐานของการคาดการณ์ การพยากรณ์ ซึ่งสำหรับผม ผมไม่รู้สึกว่าประหลาดอะไรในโลกที่เราอยู่กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี องค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของวิชาญาณวิทยา (epistemology) ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เติบโตขึ้นมาช่วงปลายศตวรรษที่19 คือ prediction ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการประเมินค่าความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ ซึ่งมาพร้อมกับการขึ้นมามีอำนาจของวิชาสถิติซึ่งแพร่กระจายไปสู่สาขาวิชาต่างๆ ฉะนั้น โมเดลนี้จึงเป็นโมเดลที่วางอยู่บนพื้นฐานสายสัมพันธ์ของ cause and effect ซึ่งเป็นโมเดลที่เติบโตตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 ซึ่งความหมายของแต่ละยุคสมัยก็แตกต่างกัน และซับซ้อนกว่าที่สังคมไทยเข้าใจว่าเหตุนำไปสู่ผลมากนัก ด้วยความสัมพันธ์อันนี้จะผูกพันกับตัวเทคโนโลยีซึ่งทำให้คุณมีความแน่นอน แต่ถ้ากลับมาดูสิ่งที่บอกในสถิติเองก็ไม่ได้บอกถึงสิ่งที่แม่นยำขนาดนั้น ความแม่นยำในการคาดการณ์ทำได้ยาก ผมกำลังบอกว่าเราเกิดขึ้นมาในโลกที่มาพร้อมกับความรู้ คุณผสมผสาน ความรู้ และเทคนิค เพื่อผสานความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นำมาซึ่งคำถามแบบที่คุณกำลังถามอยู่นี้” ธเนศกล่าวพร้อมย้ำว่าอยากให้นักศึกษารัฐศาสตร์เปิดใจให้กว้าง อ่านหนังสือให้เยอะๆ รู้จักโลกของคนอื่นเพื่อให้เข้าใจความซับซ้อนของสิ่งต่างๆ  
 
 
‘อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์’ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐศาสตร์เชิงปริมาณเป็นทางเลือกในการวิเคราะห์ แม้ไม่ใช่การทำนายที่ได้ผลถูกต้อง 100% แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีกว่าไม่มี โดยยกตัวอย่างถึงงานศึกษาในระดับปริญญาเอกที่ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับกลุ่มประเทศอาเซียนว่าควรมุ่งพัฒนาในประเด็นไหนจึงจะทำให้ความรุ่งเรืองของประเทศสูงขึ้น โดยเชื่อมตัวแปรระหว่างเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์เข้าด้วยกัน ซึ่งวิธีการของรัฐศาสตร์เชิงปริมาณนั้นเริ่มต้นโดยการตั้งสมมติฐานและคัดเลือกตัวแปรในการวิเคราะห์ เมื่อทราบว่าความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นตัวแปรที่สำคัญคือความร่วมมือระหว่างประเทศ จากนั้นก็หาประเด็นที่จะอธิบายว่าการยกระดับความร่วมมือนั้นมีตัวแปรอะไรบ้าง เช่น ระบบการปกครอง ฯลฯ โดยตัวแปรที่ออกมาจะเป็นในเชิงคณิตศาสตร์ที่หาได้จากการวิเคราะห์ของสถาบันต่างๆ แล้วนำตัวแปรมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยใช้ซอฟแวร์ทางสถิติมาช่วย
 
ผลที่ปรากฏคือ การจะยกระดับความร่วมมือของประเทศกลุ่มอาเซียนได้นั้น อย่างน้อยระดับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องสูงขึ้นทั้งกลุ่ม และตรงนี้จะทำให้เศรษฐกิจสูงขึ้นด้วย แต่คำตอบที่ว่าการยกระดับความร่วมมือมาจากการยกระดับการปกครอง อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เพราะมีตัวแปรอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง รัฐศาสตร์เชิงปริมาณนั้นอธิบายเฉพาะความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวแปรที่นำมาใช้เป็นการเอาข้อมูลตั้งแต่อดีตที่มีการก่อตั้งอาเซียนถึงปัจจุบันมาวิเคราะห์ ผลของความสัมพันธ์ที่ออกมาจึงเป็นทางเลือกทางนโยบายอันหนึ่ง แต่ไม่ได้บอกว่าหากมุ่งเน้นการพัฒนาประชาธิปไตยจะทำให้ความร่วมมือสูงขึ้นอย่างเต็มที่
 
ต่อความเห็นที่ว่าการวิเคราะห์เชิงปริมาณเป็นเพียงการเลือกตัวแปรเพื่อนำมาวิเคราะห์ อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีจริง อรรถกฤตกล่าวโต้แย้งว่า การทำวิจัยทางรัฐศาสตร์ ส่วนใหญ่จะเป็นการนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้เพื่อวิเคราะห์เข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีการตรวจสอบซ้ำอีกครั้งว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นการวิจัยรัฐศาสตร์เชิงปริมาณจึงเป็นการวิเคราะห์ที่สนับสนุนให้เกิดความชัดเจนเชิงประจักษ์มากขึ้นว่า สิ่งที่วิเคราะห์ตรงประเด็นอย่างไร อธิบายถึงทางเลือกหรือนโยบายในอนาคตได้อย่างไร      
 
อรรถกฤต กล่าวต่อมาถึงตัวอย่างทฤษฎีเชิงปริมาณที่ใช้ถูกนำมาใช้ว่า ทฤษฏีเกมเป็นทฤษฎีที่ใช้หลักการและเหตุผลในการวิเคราะห์ โดยพยายามที่จะเลือกกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการแข่งขันกับคู่ต่อสู้ เช่น พรรคการเมืองจะชูนโยบายอย่างไรเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง วิธีการคือต้องหาจุดนโยบายที่อยู่ใกล้อุดมการณ์ส่วนรวม ยิ่งสามารถวางตำแหน่งของนโยบายใกล้จุดศูนย์กลางอุดมการณ์ส่วนรวมได้มากเท่าไรโอกาสที่จะชนะก็จะเพิ่มมากขึ้น แต่ทฤษฏีนี้ก็ไม่สามารถที่จะรับประกันผลการทำนายผู้ชนะได้เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น การซื้อเสียง อีกทั้งมีเรื่องของความน่าจะเป็น มีความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้อง การทำนายจึงไม่ให้ผลที่ถูกต้องแน่นอน เพราะฉะนั้นทฤษฏีเกมจึงเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการคัดกรองอย่างเป็นระบบว่าจะเลือกกลยุทธ์อย่างไรให้ดีที่สุด
 
“รัฐศาสตร์เชิงปริมาณก็ไม่สามารถทำนายได้ 100% การวิเคราะห์ต่างๆ ก็เป็นแค่ทางเลือกทางหนึ่งเท่านั้น โดยที่การทำนายไม่ 100% เพราะมีความน่าจะเป็นเข้ามาเกี่ยวข้อง และการเลือกตัวแปรมาวิเคราะห์ก็เป็นการเลือกของนักวิจัยต่างๆ แต่ว่าสิ่งที่ชัดเจนก็คือว่า การวิเคราะห์เชิงปริมาณเป็นการสนับสนุนการวิเคราะห์เชิงทฤษฎี ให้มีการรีเช็คว่าสิ่งที่เราวิเคราะห์มันถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไร” อรรถกฤตเน้นย้ำข้อสรุป       
 
 
‘เกษม เพ็ญภินันท์’ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้จัดบอกว่าอยากให้วิเคราะห์ว่าแนวคิดปฏิฐานนิยม (positivism) สามารถศึกษาหรือทำนาย คาดการณ์ทางการเมืองได้แค่ไหน โดยเฉพาะคำถามจากแง่มุมทางปรัชญา เมื่อหลวมตัวรับปากมาแล้ว
 
เรากลับมาทบทวนคำถามของผู้จัด ประเด็นเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ การเมือง และการทำนาย ในช่วงทศวรรษ 1960 แนวคิดแบบ positivism เข้ามากระทบกับแวดวงรัฐศาสตร์โดยรวม ไม่เฉพาะในอเมริกาแต่ในยุโรปและภูมิภาคอื่น สิ่งที่สั่นคลอนคือการเปลี่ยนขนบวิธีศึกษาทางรัฐศาสตร์ จากเดิมที่เคยศึกษาความคิดทางการเมือง ซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาการของปรัชญาการเมืองในแง่ของวิธีคิดหรือคำถามในเชิงคุณค่าต่างๆ  และเรื่องที่สัมพันธ์กับกฎหมาย นิติศาสตร์และสถาบันทางการเมืองแบบที่มีบทบาทในแง่การจัดรูปแบบโครงสร้างทางสังคมการเมือง และสุดท้ายคือในแง่การจัดการ การบริหาร
 
เกษมกล่าวว่า มันเกิดอะไรขึ้นในทศวรรษ1960 คำถามที่เกิดขึ้นจากปีกพฤติกรรมศาสตร์มันได้เปลี่ยนคำถามหรือขนบการศึกษาทางรัฐศาสตร์ แทนที่จะศึกษาเรื่องคุณค่าที่ไม่สามารถวัดได้ในทางตัวเลข สถิติ กลายมาศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “การเมือง” ศึกษาเหตุการณ์ทีเกิดขึ้น ดูความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นคำนิยามคลาสสิคอันหนึ่งของนักรัฐศาสตร์ ที่บอกว่า การเมืองคือเรื่องของการกระจายคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่ส่วนต่างๆ จะรับคุณค่าจากสิ่งเหล่านั้น มันทำให้ทิศทางรัฐศาสตร์ไปศึกษาในข้อเท็จจริง ความเคลื่อนไหวของข้อมูล หรือการกระทำการต่างๆ ในทางการเมือง และนักรัฐศาสตร์เองได้ทำการศึกษาสิ่งเหล่านั้นแล้วบอกว่าการเมืองในรูปแบบต่างๆ เป็นอย่างไร  ความสัมพันธ์เป็นอย่างไร ผนวกกับนักรัฐศาสตร์ไปหยิบยืมมโนทัศน์ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เรื่องของอำนาจ คนที่คิดและศึกษาเรื่องอำนาจอย่างเป็นระบบที่สุด ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์แต่เป็นนักสังคมวิทยา ซึ่งพูดถึงรูปแบบของอำนาจในการครอบงำต่างๆ และรัฐศาสตร์เอามาอธิบายเป็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในทุกวันนี้
 
ด้านหนึ่งทำให้เรามองเห็นรัฐศาสตร์ในรูปแบบเกี่ยวพันกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมองความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นว่าน่าจะเป็นอะไรได้บ้าง ประกอบกับวิธีคิดหรือฐานคิดของปฏิฐานนิยมที่พยายามตรวจสอบจากข้อมูลเชิงประจักษ์ คาดการณ์ได้อย่างไรบ้าง มีตัวแปรอะไรบ้าง ซึ่งมาสู่การพยาการณ์ซึ่งมองการเมืองในแง่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ตรงนี้ด้านหนึ่งทำให้รัฐศาสตร์เองก็ถูกท้าทาย ช่วงต้นทศวรรษ 1980 มีหนังสือเล่มสำคัญหลายเล่มที่ลุกขึ้นมาท้าทายคำถามและสิ่งที่นักรัฐศาสตร์ศึกษาในปรากฏการณ์ต่างๆ นักรัฐศาสตร์ทำอะไรอยู่ และการกระทำเช่นนั้นมีข้อจำกัดอย่างไร ข้อจำกัดสำคัญอย่างหนึ่งคือ การเข้าถึงข้อมูลเชิงประจักษ์จำนวนมาที่จะเอามาอภิปรายให้เข้าใจความสัมพันธ์หรือตัวแปรอะไรต่างๆ เพื่อที่คุณจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
 
สิ่งที่น่าสนใจและคิดว่าการศึกษารัฐศาสตร์ในไทยไม่ได้เดินไปกับรัฐศาสตร์สากล ในขณะที่ที่อื่น รัฐศาสตร์เขยิบออกจากความสนใจในเชิงสถาบัน แน่นอนยังมีคนสนใจอยู่ แต่แง่มุมของมันผนวกกับประเด็นต่างๆ แต่ในทางกลับกันรัฐศาสตร์ไทย มองความสนใจส่วนใหญ่อยู่ที่การมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจของกลุ่มพลังทางการเมือง กลุ่มอำนาจต่างๆ ทางสังคม ซึ่งเป็นโจทย์หรือความสนใจของคนในสังคม ทำให้ในแง่ของการศึกษารัฐศาสตร์เองไม่เต็ม แต่การทำอยู่เช่นนี้มันได้รับการตอบรับจากสังคมเพราะคนอยากรู้ว่าการเมืองมันจะเป็นอย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ด้านหนึ่งทำให้อาชีพหมอดูเข้ามาในพื้นที่ทางการเมืองที่จะคาดเดาอนาคต ขณะเดียวกันคนส่วนหนึ่งก็คาดหวังว่านักรัฐศาสตร์จะทำในสิ่งเดียวกันบ้างคือ บอกว่าน่าจะเกิดอะไรขึ้น
 
เกษมกล่าวอีกว่า เอาเข้าจริงแล้วในท้ายที่สุด ไม่ว่าระเบียบการศึกษาไม่ว่าสังคมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์เอง สิ่งหนึ่งที่ทำร่วมกันคือการต้องการควบคุมธรรมชาติหรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น การควบคุมในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ เพื่อให้ตัวเองรู้และมั่นใจ รับประกันต่ออนาคต เป็นสปิริตร่วมของคนในยุคสมัยที่รู้สึกว่าอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ความแน่นอนอันเดียวคือการบอกหรือคาดการณ์ได้ว่าอนาคตควรเป็นเช่นไรด้วยการหาแนวทางบางอย่าง ความน่าจะเป็นบางอย่าง อาจจะด้านสถิติอย่างที่อาจารย์ธเนศพูดถึง ทำให้ทิศทางต่างๆ เป็นไปอย่างที่คุณต้องการจะเป็น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปรากฏการณ์ของมนุษย์หรือการเมืองเป็นสิ่งไม่แน่นอน มนุษย์พยายามจัดการความไม่แน่นอนบนฐานที่แน่นอน แต่ถึงที่สุดแล้วมันไม่มีอะไรแน่นอน เพราะมันคือความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกันเอง ที่พูดตรงนี้เพราะต้องการจะบอกว่าเอาเข้าจริงชุดความรู้ หรือการศึกษาทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อทำนายว่าอนาคตจะเป็นเช่นนั้น แต่การคาดการณ์ว่าอนาคตจะเป็นเช่นนั้นบนพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นได้บนคำอธิบายว่ามีอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญของการศึกษาทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่การบอกว่าจะทำนายอย่างไร แต่บอกว่าบนการคาดการณ์ความน่าจะเป็นนั้นคุณสามารถให้คุณค่าหรือนำเสนอทิศทางอะไรให้กับอนาคต
 
การเมือง การทำนาย พูดจริงๆ คือคนละเรื่องกัน แต่มันเกี่ยวกันเมื่อคุณจะทำให้อนาคตมันมั่นคงด้วยการบอกได้ว่าคุณควบคุมอนาคตได้ เพราะคุณอยู่ในโลกที่คุณไม่รู้ว่าอนาคตคืออะไร
 
เวลาพูดถึงการทำนาย เราอาจรู้สึกว่าเราอยากจะควบคุมอนาคตให้ได้ แต่ภาวะหนึ่งที่เราไม่ตระหนักคือ ภาวะความเป็นปัจจุบัน การพยายามคาดการณ์อนาคตคือความประหวั่นพรั่นพรึงในภาวะปัจจุบันที่เราไม่รู้จะไปทางไหน คำว่า crisis โดยรากศัพท์คือทางแพ่ง ที่คุณต้องเลือก และคุณไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ดังนั้น ความพยายามจะเรียกร้องโหราจารย์ต่างๆ ก็เพราะเราไม่รู้จะอยู่กับปัจจุบันยังไง และเราประหวั่นวิตกกับมัน เราแก้มันด้วยการบอกว่ามันมีอนาคตข้างหน้าซึ่งเราสามารถไปถึงได้ ไปต่อได้ เพื่อออกจากความหวั่นวิตกนั้น การทำนายด้านหนึ่งเป็นการตอบโจทย์จิตสำนึกของเวลาที่เป็นปัจจุบันเพื่อที่จะอยู่กับมันให้ได้
 
ความเข้าใจในวงวิชาการในระดับสากล มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ปัญหาหรือโจทย์ร่วมของยุคสมัย ตัวนี้จะกำกับและพาไปสู่การพยายามตอบโจทย์และการพยายามทำฐานข้อมูลอย่างมาก ตอนนี้มี 2 โจทย์ที่สำคัญคือ การกลับมาคิดว่า ประชาธิปไตยคืออะไร หรือเพื่ออะไร โจทย์พวกนี้นอกจากความพยายามหาคำตอบแล้วมันยังนำไปสู่พัฒนาของตัว concept และเครื่องมือที่จะใช้ศึกษาด้วย ยกเว้นประเทศนี้ที่ยังอยู่ที่การเมืองอยู่ไม่ไปไหน เพราะการเมืองมันยังไม่พัฒนา  พอไม่พัฒนาก็ไม่ต้องถามถึงประชาธิปไตย ไม่ต้องถามว่าคุณค่าต่างๆ นั้นมันเพื่ออะไร อันที่สองคือ การพยายามกลับมาคิดถึงโมเดลในฐานะที่เป็นจุดศูนย์กลางของปัญหาต่างๆ ในโลกนี้ สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ การศึกษาสังคมศาสตร์โดยรวม คำถามของยุคสมัยเป็นตัวขับเคลื่อนที่ทำให้คนพยายามคิดหาทางออก คุณูปกาของวงวิชาการที่เกิดขึ้นคือ การพยายามหาแนวทางบางอย่างให้คนพยายามตอบโจทย์หรือปัญหาร่วมสมัย ถ้ากลับมาในวงการรัฐศาสตร์ไทย สิ่งหนึ่งที่เราไม่ได้คิด ไม่ได้ทำ คือ เราไม่ได้มองว่าจะเสนอทางออก หรือทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ เพื่อมีแนวทางออกอย่างไร เรามีแต่สูตรสำเร็จ อย่าง ปรองดอง ปฏิรูป ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูป นักวิชาการไม่ได้ทำหน้าที่พวกนี้ คนกำหนดนโยบายก็ไม่ทำหน้าที่ มีแต่พยายามตอบแบบเดิมๆ ทำให้วงการรัฐศาสตร์ไทยไม่ไปไหน นอกจากการพยายามทำนายในสิ่งที่ทำนายไม่ได้ ในความหมายว่า คุณได้แต่คาดการณ์ และอยู่บนข้อมูลข่าวสารที่คุณมี ซึ่งเอาเข้าจริงนักหนังสือพิมพ์ที่ใกล้ชิดข้อมูลอาจทำนายได้ดีกว่าคุณ และไม่ได้มีหลักการในการคาดเดาได้ดีกว่าบรรดาโหรหรือหมอดู นักรัฐศาสตร์คงยังเป็นเช่นนี้อีกเป็นทศวรรษ ถ้ายังมองโลกในแง่ดีนะ
 
 
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแสดงความเห็นต่อการทำนายกับนักรัฐศาสตร์ไทยว่า สังคมมีความคาดหวังให้นักรัฐศาสตร์เป็นผู้ทำนาย ซึ่งนักรัฐศาสตร์ไทยจะเจอสภาวะการถูกตั้งคำถามต่อประเด็นทางการเมือง โดย 2 คำถามหลัก คือ 1.คิดว่ามันจะเป็นอย่างไร 2.มันจะแก้อย่างไร ส่วนตัวคิดว่าวิธีตอบที่ดีที่สุดคือการถามกลับว่า “แล้วคุณคิดว่าอย่างไร?” เพราะคนถามนั้นมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว และนักรัฐศาสตร์เป็นเพียงผู้ที่ช่วยรับรอง ทำให้คนถามเกิดความสบายใจ ดังนั้นนักรัฐศาสตร์ที่ดี จึงควรเป็นผู้ฟังที่ดี
 
ในเรื่องการทำนาย พิชญ์กล่าวถึงงานวิชาการของไทยที่ชื่อ “Political conflict in Thailand: Reform, Reaction, Revolution” โดย David Morell (เดวิด มอเรลล์) และศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวานิช ซึ่งถูกเขียนเมื่อปี 1981 เพื่อตอบคำถามต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเคยได้รับความนิยมในหมู่คนไทย ที่พูดถึงการทำนายเรื่องการปกครองของไทย ในรัชการที่ 10 และผลงานของเลนิน (The State and Revolution:1917) ที่อาจตีความได้ว่า เมื่อทุกคนมีความเจริญถึงจุดหนึ่งสถาบันกษัตริย์ก็จะไม่ได้ทำหน้าที่นั้นอีกต่อไปแล้ว ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าการทำนายนั้นสามารถตีความได้หลายแบบ
 
พิชญ์ กล่าวต่อมาว่าสังคมนั้นมีความพยายามในการที่จะทำนายอยู่เสมอ เพราะมีเรื่องความไม่แน่นอน แต่สำหรับสังคมไทยแล้วมีความแน่นอนอยู่อย่างหนึ่ง คือ เรารู้ว่าสังคมเราเสื่อมลงทุกวัน ตรงนี้มีหลักฐานเป็นวิทยานิพนธ์ชื่อ “แนวคิดเรื่องมิคสัญญี: ศึกษาจากคัมภีร์โบราณทางพุทธศาสนา ในฐานะเป็นจุดเริ่มต้น” ที่ถูกจัดทำขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน โดยมีงานเขียนหนึ่งที่น่าสนใจเรื่องวิวาทะระหว่างปรีดี พนมยงค์ และรัชกาลที่ 7 ซึ่งพูดถึงแนวคิดหนึ่งของไทยเรื่องพระศรีอารย์ ที่คนกลุ่มหนึ่งในสังคมเชื่อว่าสังคมจะเสื่อมลงทุกวัน ภายหลังปี พ.ศ.2500 จะยิ่งเสื่อมลงเรื่อยๆ คณะราษฎร์มีการหยิบยกแนวคิดนี้มาใช้ โดยในเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีมีการกล่าวอ้างว่าพระศรีอารย์มาถึงแล้ว รัฐบาลควรจะเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงพระศรีอารย์ เพื่อที่จะทำให้คนเข้าใจ Welfare แต่ในทางตรงข้ามรัชกาลที่ 7 ตอบว่ายังไม่ถึงหรอก เป็นการชิงสุกก่อนห่าม
 
พิชญ์ กล่าวด้วยว่า การทำนายคือการพยายามควบคุม แต่มันมีพล็อตอย่างหนึ่งอยู่ในการทำนายอยู่เสมอ อาจเนื่องมาจากเราควบคุมธรรมชาติไม่ได้ นั่นก็คือ เรื่องของกลียุค มิคสัญญี และวิกฤต ที่มีอยู่เสมอ ซึ่งมันไม่ได้เป็นเครื่องมือของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว อาจเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนอื่นที่ท้าทายรัฐก็ได้ เครื่องมือที่รัฐท้าทายผู้ปกครองเก่าก็ได้
 
มาจนถึงปัจจุบัน เรื่องของกลียุคนี้ก็ถูกถอดมาเป็นเรื่องของวิกฤต ซึ่งคนที่นำไปใช้มากคือกลุ่มภาคประชาสังคม รวมถึงแนวคิดของ น.พ.ประเวศ วะสี ที่ว่าสังคมวิกฤติจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พ้นจากสภาวะมิคสัญญี ยิ่งเมื่อมีโลกาภิวัตน์ บรรดานักวิชาการได้พูดถึงโลกาภิวัตน์ ไม่ว่าจะเป็น “วิกฤตยุคโลกาภิวัตน์” ของธีรยุทธ บุญมี, “กลียุคและการปฏิวัติมนุษยชาติ” โดยเทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ, “ยุคศรีอาริยะ” ข้อเขียนของ น.พ.ประสาน ต่างใจ และ “วิถีมังกร” ของสุวินัย ภรณวลัย ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มาจากเรื่องของวิกฤติ ซึ่งดูไม่ใช่การต้องทำนายแต่เป็นปมที่อยู่ในตัวมนุษย์ และตรงนี้ถูกนำมาใช้ในเงื่อนไขทางการเมืองได้หลากหลายรูปแบบ
 
สำหรับนักรัฐศาสตร์ไทย พิชญ์แสดงความเห็นว่า ตามที่อาจารย์อรรถกฤตพูดว่ามีการนำรัฐศาสตร์เชิงปริมาณเข้ามาเพื่อตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะในสังคมไทยที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้อาจถูกนำมาใช้เพื่อยืนยันความเชื่อมากกว่าการตรวจสอบ
 
“ผมไม่แน่ใจว่าเราไปค้นหาหรือไปตอกย้ำอคติของเราที่มีต่อการรับรู้ทางการเมืองของเรา เช่น พฤติกรรมทางการเมืองของชาวบ้าน เนื่องจากเราอยากค้นตรงนี้ เราก็จะเจอแต่ตรงนี้ แต่มันจะไปให้ถึงอุดมคติได้อย่างไรว่ามันมีจิตวิญญาณของการใช้มิติเชิงปริมาณเพื่อตรวจสอบ เพื่อสร้างความเสรี ในเมื่อคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้อาจมีจะอคติในการหยิบใช้สิ่งเหล่านี้” พิชญ์กล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่าในเรื่องความเสื่อมเป็นความเชื่อที่มีอยู่แล้ว แต่วิทยาศาสตร์ถูกนำมาใช้เพื่อยืนยันว่ามนุษย์นั้นเสื่อมลง โดยวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ยืนยันการค้นพบจริง แต่มีความเชื่อไปจับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งคำถามคือจะทำอย่างไรประชาชนจะสามารถใช้ข้อมูลชุดอื่นได้
 
ต่อคำถามที่ว่าอนาคตของนักรัฐศาสตร์ไทยจะเป็นอย่างไร พิชญ์กล่าวว่าทิศทางของรัฐศาสตร์หากคิดว่าการทำนายเป็นหัวใจสำคัญ ต้องถามกลับไปว่าเรารู้สิ่งนั้นมากแค่ไหน เหมือนกับที่แซวกันว่านักปรัชญาสนใจจะรู้การเปลี่ยนแปลงเป็นประเด็น แต่ถูกวิจารณ์ว่าสนใจเพียงการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่รู้เลยว่าสังคมเป็นอย่างไร คำถามที่สำคัญคือการทำนายทางรัฐศาสตร์จะแตกต่างกับการทำนายในศาสตร์อื่นอย่างไร ต่างจากการทำนายทางเศรษฐศาสตร์อย่างไร อะไรคือการทำนายแบบรัฐศาสตร์ ซึ่งตรงนี้สำคัญมากกว่าคำถามที่ว่ารัฐศาสตร์สามารถทำนายได้ไหม แต่จะทำนายโดยแตกต่างจากสาขาอื่นได้อย่างไร และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการทำฐานข้อมูลทางรัฐศาสตร์ ถ้ารัฐศาสตร์สามารถเก็บฐานข้อมูลและสร้างเครื่องมือการคำนวณที่พอจะยอมรับร่วมกันได้ระดับหนึ่งแล้วคำนวณออกมาเป็นดัชนีความเป็นประชาธิปไตย เหมือนที่เศรษฐศาสตร์คำนวณการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็น่าตื่นเต้นดีและอาจทำให้เปลี่ยนทิศทางการแทรกแซงการเมืองไทยได้อย่างที่ผ่านมาก็ได้
 
 
ตอบคำถาม
 
ถามอาจาร์กฤต เรื่องตัวแปรต่างๆ ในการคำนวณ มันเป็นไปได้จริงหรือ เพราะอย่างไรเสียมันก็จะมีตัวแปรที่อยู่นอกเหนือการคำนวณ เช่น เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ หรือผู้นำบางประเทศรถคว่ำเสียชีวิต ?
 
อรรถกฤต: ตัวแปรสำคัญสำหรับการทำวิจัยเชิงปริมาณ เวลาเราคิดเราคิดจากเชิงประวัติศาสตร์ กลั่นกรองจาก
เชิงประวัติศาสตร์มาเป็นเชิงทฤษฎี เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น และกำหนดตัวแปรอธิบายต่อ พูดง่ายๆ ว่าต้องศึกษาผลที่เกิดขึ้นก่อน แต่ถามว่ามันเป็นสิ่งแน่นอนไหม ก็ไม่แน่นอน ถ้าตัวแปรที่เราคัดมาอาจไม่หมดทุกตัว มันเป็นแค่ทางเลือกทางหนึ่ง ในอเมริกาเรื่องนโยบายต่างๆ จะมีการวิจัย และใช้วิชาทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยสร้างโมเดล กำหนดตัวแปรออกมา เป็นบทสรุปเชิงความสัมพันธ์ซึ่งเป็นตัวเลือกทางหนึ่งเท่านั้น ผู้นำประเทศก็ต้องวิเคราะห์ปัจจัยอื่นๆ อีก ดีกว่าไม่มีทางเลือกอะไรเลย
 
อาจารย์พิชญ์บอกว่าโหรเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เราจะใช้พูดความจริงกับผู้มีอำนาจ แต่ถ้าดูในวรรณคดีอย่างเรื่องตะเลงพ่ายจะพบว่าโหรมีหน้าที่พูดความเท็จ แม้ไม่ดีก็พูดให้ดีกลัวผู้นำเสียกำลังใจ และคำอ้างของโหรถ้าพูดถึงมาถ้าขัดกับความประสงค์ของผู้มีอำนาจแล้วสุดท้ายก็มีการแก้ทางกันได้ หากแต่คนที่สามารถทัดทานผู้มีอำนาจได้ไม่ใช่โหรแต่เป็นพระ ซึ่งอ้างถึงเรื่องการสั่งสมบุญบารมีของกษัตริย์ ก็ไม่แน่ว่าประวัติศาสตร์ต้องเรียวลงสู่ความดับสูญเสมอไป สถาบันกษัตริย์อาจรุ่งเรืองขึ้นก็ได้ เฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปีๆ ?
 
พิชญ์: ดีครับ จะได้รู้ว่าโหรก็ต้องมีศิลปะเหมือนกัน ในข่าวที่ผ่านมาก็สามารถดูได้ มีทั้งคำทำนาย และการทัก ต้องดูว่ากล้าทักแค่ไหน และน่าสนใจว่าทำไมเราไม่ไปถามพระบ้าง
 
ธเนศ: ผมคิดว่าสำนึกเรื่องความเสื่อมเป็นเรื่องปกติ เป็นสำนึกที่มีอยู่ในสังคมโบราณมาตลอด ฉะนั้น เวลาใครถามผมว่าสังคมเสื่อมไหม ถ้าคุณเป็นพุทธก็ต้องบอกว่าเสื่อม ถูกต้องแล้ว การคิดว่าคุณสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้นั้นเป็นของใหม่มาก แม้กระทั่งความรู้ของมนุษย์ มันไม่ใช่เกิดขึ้นที่ตัวคุณเอง แต่มันมีพรายกระซิบ สำนึกของการที่คุณจะมีความสุขก็ไม่ได้เกิดจากการที่คุณสามารถกำหนดชะตาชีวิตด้วยตัวคุณเอง ดูคำว่า happiness ในภาษาอังกฤษ รากศัพท์คือคำว่า happens perhaps สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคุณกำหนดมันแต่เกิดขึ้นเพราะพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เมตตาคุณ ฉะนั้น สำนึกของพวกคุณในปัจจุบันจึงไม่เหมือนสำนึกของคนในอดีต คุณถึงบอกว่าคุณเลือกที่จะมีความสุขได้ ผมชอบพูดตลกๆ ตลอดเวลาว่า ผมเกษียณแล้วจะตั้งพรรคการเมือง และชาวพุทธทุกคนควรมาเข้าพรรคผม เพราะนโยบายของพรรคผมจะพาทุกคนไปนิพพาน (ผู้ฟังหัวเราะ) เมื่อคุณหัวเราะมันหมายความว่า คุณกำลังมองว่าการนิพพานเป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้ แต่คุณประกาศตัวเองเป็นชาวพุทธ นี่คือสิ่งที่ irony ที่สุด ผมมีลูก ทุกคนถามผมว่า happy ไหม ผมถามว่าคุณเป็นพุทธไหม ถ้าใช่ ก็ต้องยอมรับว่าการเกิดแม่งเป็นทุกข์ คุณต้องยอมรับว่าพระพุทธเจ้าค้นพบอะไร ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อริยสัจ4 และถ้าคุณมีทุกข์อยู่ มันถูกต้องแล้ว ถ้ามีความสุขสิแปลก ฉะนั้น ทางออกมันไม่ใช่ทางการเมือง คุณต้องไปนิพพาน ถ้าคุณยังอยู่ในโลกอันนี้คุณต้องเวียนว่ายตายเกิดกับความไม่แน่นอนในชีวิต และมาตั้งคำถามเรื่องการทำนาย ซึ่งมันตั้งคำถามได้ตั้งแต่ ผัว/เมียคุณจะทิ้งคุณหรือเปล่าก็ยังได้ ทำนายได้ทุกเรื่องตั้งแต่ในชีวิตประจำวัน  และผมว่าก็ปกติที่ทุกคนมาจัดการความไม่แน่นอนในชีวิต แน่นอน เซลแมนขายวิกฤตก็ต้องเกิดขึ้น เป็นเรื่องธรรมดา เพราะถ้าไม่ขายวิกฤตก็ไม่ได้ทุนวิจัย ไม่ได้เป็นคณะกรรมการปฏิรูป  มันต้องมีปัญหา ไม่มีปัญหาก็ไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีพระเยซู ยังไงชีวิตมันก็ต้องมีปัญหา มันต้องบัดซบ ถูกต้องแล้ว (ผู้ฟังหัวเราะ) แล้วคุณก็ต้องหาคำทำนาย และคนที่จะประเมินนักการเมือง ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ แต่เป็นนักประวัติศาสตร์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท