Skip to main content
sharethis

เผยต้นปี 54 เริ่มบังคับใช้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 22 สาขา

2 ม.ค. 54 – ปลัดฯ แรงงาน เผยต้นปี 54 เริ่มบังคับใช้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน  เริ่มใน 22 สาขา พร้อมเร่งคลอดอีกกว่า 100 สาขา ชี้ สร้างแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาตนเอง  เผยหากนายจ้างฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

นพ.สมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ต้นปี 2554 กระทรวงแรงงาน จะเริ่มบังคับใช้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับแรงงานที่มีฝีมือ และสร้างแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาตัวเอง ให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น รวมถึงลดปัญหาการเรียกร้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยได้ล่าสุดได้จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 22 สาขา ในกลุ่มอาชีพ 6 ด้าน ซึ่งแต่ละสาขาจะมีค่าจ้าง 3 ระดับ ไม่เท่ากัน เริ่มตั้งแต่ 250 -550 บาท โดยอยู่ในระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานจะเร่ง จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาที่เหลือซึ่งคาดว่าภายในปี 2554 จะประกาศใช้ได้อีก กว่า 100 สาขา

นอกจากนี้ ยังได้สั่งให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เตรียมจัดมาตรฐานการทดสอบให้ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยอาจร่วมมือกับหน่วยงานรับและเอกชน เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือภาคเอกชน  ร่วมจัดทดสอบมาตรฐาน ทั้งนี้หากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว แต่นายจ้างรายใดยังฝ่าฝืน ไม่จ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ลูกจ้างได้รับ จะมีอัตราโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ 

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า สำหรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 22 สาขา ในกลุ่มอาชีพ 6 ด้าน อาทิ กลุ่มช่างเครื่องกล  3 สาขา เช่น ช่างสีรถยนต์ ระดับ 1 ได้ค่าจ้าง 315 บาท ระดับ ค่าจ้าง 380 บาท และระดับ 3 ค่าจ้าง 444 บาท ช่างเคาะตัวถังรถยนต์ ระดับ 1 ค่าจ้าง 335 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 420 บาท ระดับ 3 ค่าจ้าง 505 บาท  กลุ่มก่อสร้าง 4 สาขา อาทิ  ช่างก่ออิฐ ระดับ 1 ค่าจ้าง 260 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 380 บาท และระดับ 3 ค่าจ้าง 500 บาท ช่างฉาบปูน ระดับ 1 ได้ค่าจ้าง 300 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 410 บาท และระดับ 3 ค่าจ้าง 500 บาท เป็นต้น

(สำนักข่าวไทย, 2-1-2554)

อธิบดีกรมสวัสดิการ เผยพร้อมตั้งศูนย์เด็กเล็กในเขตอุตฯ สนองแผนปฏิรูปประเทศ

4 ม.ค. 54 - นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงกรณี ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เผยถึงแผนปฏิรูปประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมานั้น ได้ระบุถึงการจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และในไซต์งานก่อสร้าง โดยใช้มาตรการทางภาษีเป็นแรงจูงใจให้กับสถานประกอบการดำเนินการ ภายใต้การควบคุมของกระทรวงแรงงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและแรงงานว่า ทางกรมสวัสดิการฯ ยินดีที่จะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่
      
นางอัมพร กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาศูนย์เด็กเล็กวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ ทั้งในจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมสวัสดิการฯ ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี หากรัฐบาลตั้งใจจะเดินหน้านโยบายในเรื่องนี้ ก็เชื่อว่าทางกรมจะสามารถจัดการให้เกิดประโยชน์กับทั้งเด็ก และกับแรงงานได้มากที่สุด
      
สังคมไทยให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตเด็กมากอยู่แล้ว รวมถึงกระแสความรับผิดชอบทางสังคม(ซีเอสอาร์) ของทุกภาคส่วน อย่างภาคเอกชนหรือราชการก็แพร่หลายมาก นอกจากนี้หากรัฐบาลใช้มาตรการทางภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการ ก็เชื่อว่าการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กภายในโรงงานน่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นต่อสังคม ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายให้แก่ลูกจ้างและสามารถช่วยให้แรงงานสามารถยืนบนลำแข้ง ของตนเองได้มากขึ้นนางอัมพร กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4-1-2554)

ครม.ยืดเวลาเก็บเงินกองทุนส่งกลับต่างด้าว ไป 1 มี.ค.55

4 ม.ค. 54 - คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ยืดเวลาเก็บเงินลูกจ้างสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ต้องส่งเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร เป็นวันที่ 1 มีนาคม 2555 เพื่อไม่ให้มีปัญหาคาบเกี่ยวกับการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี อนุมัติตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดงานและจำนวนเงินที่ลูกจ้างต้อง ส่งเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และหลักเกณฑ์และวิธีการในการส่งเงิน การออกใบรับ หนังสือรับรอง และใบแทนหนังสือรับรองการส่งเงิน พ.ศ.2553 เพื่อยืดเวลาเรียกเก็บเงินค่าประกันจากลูกจ้าง 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา เพื่อส่งเข้ากองทุนดังกล่าว ในอัตราคนละ 2,400 บาท และ 2,100 บาท ออกไปจากที่มีผลตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2553 เป็นวันที่ 1 มีนาคม 2555 เนื่องจากหากให้นายจ้างหักเงินค่าจ้างจากลูกจ้าง 3 สัญชาติ ส่งเข้ากองทุนในช่วงเวลานี้จะมีปัญหาคาบเกี่ยวกับการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน อาจเป็นเหตุให้ลูกจ้าง 3 สัญชาติจำนวนมากไม่ยื่นต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และหลบหนีออกนอกระบบการผ่อนผัน ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของประเทศโดยรวม

(สำนักข่าวแห่งชาติ, 4-1-2554)

กต.เผยแรงงานไทยตกยากในลาว

4 ม.ค. 54 - ด้วยกระทรวงการต่างประเทศได้ รับรายงานจากสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต ว่าได้รับแจ้งจากคนไทยที่จังหวัดมุกดาหารขอให้ช่วยเหลือญาติซึ่งเป็นแรงงาน ไทยเข้าไปทำงานในแขวงอัตตะปือ สปป.ลาว ต่อมา สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ประสานผู้ที่เกี่ยวข้องและได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า แรงงานไทยกว่า ๒๐๐ คน ได้เข้ามาทำงานก่อสร้างและพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนที่แขวงอัตตะปือ กับบริษัทสัญชาติลาวแห่งหนึ่ง โดยมีสำนักงานใหญ่ที่นครหลวงเวียงจันทน์และมีผู้ร่วมหุ้นเป็นคนไทยได้ดำเนิน การนำแรงงานไทยเข้าไปทำงานก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว

ต่อมา สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้รับแจ้งโดยตรงทางโทรศัพท์จากคนงานไทยว่า ประสงค์จะให้สถานกงสุลใหญ่ฯ ช่วยเหลือเนื่องจากประสบความลำบากในการดำรงชีวิต ดังนั้น เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๓ นายดนัย การพจน์ รองกงสุลใหญ่ฯ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต ได้เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาทางช่วยเหลือที่แคมป์ของคนงานไทยใน ลาวใต้ ๓ แห่ง  ได้แก่

๑. เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก  ห่างจากเมืองปากเซ ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร มีคนงานไทย ๓๒ คน

๒. เมืองสามัคคีไซ เมืองเอกของแขวงอัตตะปือ   ห่างจากเมืองปากเซประมาณ ๒๒๐กิโลเมตร มีคนงานไทย ๑๙ คน

๓. บ้านใหม่ เมืองสะหนามไซ ห่างจากเมืองสามัคคีไซ แขวงอัตตะปือ ประมาณ ๔๗ กิโลเมตร  เส้นทางเป็นดินลูกรังทุรกันดาร มีคนงานไทย ๘๕ คน

จากการสอบถามเบื้องต้นด้วยเวลาอัน จำกัด  ทราบว่าแรงงานไทยเหล่านี้ส่วนหนึ่งไปสมัครงานกับบริษัทดังกล่าวด้วยตนเอง และมีจำนวนมากสมัครงานผ่านเจ้าหน้าที่คนไทยของบริษัทฯ โดยมีค่าใช้จ่ายในการสมัครงานตั้งแต่ ๔๕,๐๐๐ ๘๐,๐๐๐ บาทต่อคน ซึ่งบางคนลงนามในสัญญาว่าจ้างกับบริษัทฯ แล้ว แต่ส่วนใหญ่มิได้ลงนามแต่อย่างใด ทั้งนี้ แรงงานไทยเหล่านี้เดินทางเข้า สปป.ลาวทางด่านช่องเม็ก-วังเตา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓  โดยทางการลาวประทับตรวจลงตราประเภท ผ่อนผันมีระยะเวลาพำนัก ๓๐ วัน  และกระจายไปตามแคมป์งานต่างๆ ทั้ง ๓ แห่ง ในช่วงแรกบริษัทฯ ได้จัดอาหารและที่พักให้กับคนงานไทยโดยมิได้จัดให้ทำงานใดๆ อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มิได้จ่ายเงินเดือนให้คนงาน และช่วงกลางเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นมา เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม และคนงานหลายคนครบกำหนดที่ทางการลาวอนุญาตให้พำนักในประเทศ

เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลซึ่งทางการ ลาวหยุดงาน  สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการขอให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ จัดอาหารที่เพียงพอ และพยายามประสานงานกับแผนกการต่างประเทศแขวงอัตตะปือ และห้องการ (สำนักงานจังหวัด) แขวงจำปาสัก เพื่อเช่ารถบัส โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จำนวน ๒ คัน  นำคนงานไทย รวม ๑๑๕ คน ออกจากแคมป์ต่างๆ เดินทางไปยังด่านวังเตา จัดอาหารและน้ำดื่มให้คนงานทุกคน  และชำระเงินค่าปรับการอยู่เกินกำหนด จำนวน ๗๕ ราย เพื่อให้แรงงานไทยได้เดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์ด้วยดีจากเจ้าหน้าที่ของแขวงทั้งสอง  นอกจากนี้  สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ประสานงานกับจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขอความช่วยเหลือเบื้องต้นและส่งแรงงานที่สมัครใจกลับภูมิลำเนา ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อ เนื่องเมื่อแรงงานไทยเดินทางถึงด่านช่องเม็กของไทย โดยเสร็จสิ้นภารกิจช่วยเหลือแรงงานไทยดังกล่าวในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๔

อนึ่ง  สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ขอให้แรงงานไทยที่ได้รับการช่วยเหลือแจ้งรายละเอียดการสมัครงานและเข้าไป ทำงานใน สปป.ลาว  จำนวนค่าใช้จ่าย รวมทั้งความต้องการให้ทางการช่วยเหลือ ซึ่งได้ข้อมูลว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่ต้องกู้เงินทั้งในระบบและนอกระบบมาเป็น ค่าใช้จ่ายในการสมัครและต้องเสียดอกเบี้ยจำนวนมาก  จึงประสงค์จะกลับเข้าไปทำงานใน สปป.ลาวกับบริษัทดังกล่าวอีก หากมีหลักประกันว่าจะมีงานทำและได้รับเงินเดือนตามที่ได้ตกลงไว้ รวมถึงได้รับการดูแลจากบริษัทฯ ตามสมควร ทั้งนี้ มีแรงงานจำนวนน้อยที่ประสงค์จะรับเงินค่าสมัครคืน ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ จะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เป็นรายบุคคลและหาทางช่วยเหลือต่อไป

(RYT9, 4-1-2554)

ผวจ.ระนองสั่งคุมเข้มแรงงานพม่าห้ามเคลื่อนไหวการเมือง

4 ม.ค. 53 - นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ทางจังหวัดระนองได้ประสานหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่กำชับให้สอดส่อง เฝ้าสังเกตุ และติดตามพฤติกรรมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างด้าวชาวพม่าในเขตพื้นที่ จ.ระนอง ไม่ให้มีการจัดกิจกรรมในลักษณะการรวมกลุ่มขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวรวมกลุ่มที่ทำกิจกรรมทางการเมือง

"ที่ผ่านมาพบว่าชาวพม่าพยายามที่จะ ใช้กิจกรรมมาเป็นตัวช่วยในการดึงกลุ่มผู้ ใช้แรงงานต่างด้าวชาวพม่าในเขตพื้นที่ จ.ระนองให้ออกมารวมกลุ่มอาทิการจัดคอนเสิร์ต ศิลปินชาวพม่า การจัดเทศนาโดยพระชื่อดังชาวพม่า ซึ่งในปีนี้ทางจังหวัดจะคุมเข้มไม่ให้มีการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบดังกล่าว เนื่องจากเสี่ยงต่อปัญหาที่จะตามมาในอนาคต" นายวันชาติ กล่าว

นายวันชาติ กล่าวว่า แรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานใน จ.ระนองขณะนี้มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมใดๆ เกิดขึ้นก็อาจจะพัฒนาไปสู่กิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะการใช้พื้นที่ประเทศไทยในการรวมกลุ่มต่อต้านรับาลทหารพม่า ซึ่งทางจังหวัดจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

พ.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรี กล่าวว่า การปล่อยให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวรวมกลุ่มทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก และผลจากการควบคุมที่เข้มข้นในการไม่อนุญาติให้มีการจัดกิจกรรมในพื้นที่ทำ ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานพม่าหันมาใช้วัดในการพบปะแทน โดยการรวมกลุ่มเข้าไปบริจาคสร้างสิ่งถาวรวัตถุ อาทิพระพุทธรูปทรงพม่า ซึ่งขณะนี้เกิดขึ้นในหลายวัดในเขตพื้นที่ จ.ระนอง ซึ่งทางฝ่ายความมั่นคงกำลังประสาน สนง.พระพุทธศาสนา จ.ระนองให้เข้าไปดูแลในเรื่องดังกล่าวแล้ว

(เนชั่นทันข่าว, 4-1-2553)

ความมั่นคงเผย แรงงานพม่าผุด 38 ชุมชนยึดเงียบเมืองระนอง

5 ม.ค. 54 - พ.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรี เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก จนท.หน่วยงานด้านความมั่นคงที่ลงสำรวจข้อมูลแหล่งที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้ ใช้แรงงานต่างด้าวชาวพม่าในเขตพื้นที่ จ.ระนองพบว่ากลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวพม่าได้มีการก่อตั้งชุมชนของตนเองขึ้นมา อย่างเงียบๆในเขตพื้นที่ จ.ระนองแล้วรวม 38 ชุมชน ซึ่งกำลังกลายเป็นประเด็นที่ฝ่ายความมั่นคงวิตกว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวพม่า ได้เปลี่ยนเป้าหมายจากเดิมที่เข้มาหางานทำเป็นการเข้ามาตั้งถิ่นฐานในฝั่ง ประเทศไทยแทน โดยเห็นได้จากกิจกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานเริ่ม มีการดำเนินการทางวัฒนธรรมอาทิการก่อสร้างพระพุทธรูปในวัดต่างๆ ในจ.ระนอง เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมทางจิตใจ รวมถึงกิจกรรมทางสังคมในพื้นที่ที่เป็นย่านชุมชนของกลุ่มแรงงานพม่าในรูปแบบ ลักษณะเดียวกับย่านไชน่าทาวน์ของคนจีน มีร้านค้า,สถานบันเทิง มีการเฝ้าระวังคนแปลกหน้าที่เข้าไปในชุมชน มีผู้นำชุมชนเป็นต้น

ด้านนายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า ยอมรับว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวชาวพม่าเป็นปัญหาสะสม เรื้อรังมานาน จนปัจจุบันพฤติกรรมของแรงงานต่างด้าวชาวพม่าส่วนหนึ่งเริ่มแปรเปลี่ยนที่จะ มีแนวคิดที่จะตั้งหลักปักฐานในประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากมีช่องทางทำมาหากินหรือประกอบอาชีพได้มากกว่า

ขณะนี้จังหวัดระนองได้จัดทำโครงการ จัดระเบียบชุมชนพม่าในเขตเมืองตาม ยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการจัดทำฐานข้อมูลคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากโครงการนำร่องเพื่อจัดระเบียบชุมชนพม่าในเขต ชุมชนเมืองและพื้นที่ที่เป็นเกาะแก่งของจังหวัดระนองที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งจะเน้นการจัดทำฐานข้อมูลคนต่างด้าว , การจัดทำกฎกติกาหมู่บ้าน/ชุมชน , การจัดทำแผนพัฒนาหมูบ้าน/ชุมชน นายวันชาติ ล่าว

เมื่อจังหวัดระนองมีฐานข้อมูลทาง ทะเบียนของคนต่างด้าว ก็จะง่ายต่อการควบคุม การเข้าออก หรือการเคลื่อนย้าย รวมถึงการดำเนินการใดๆ ดังนั้นเป้าหมายที่สำคัญในการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวทางจังหวัดกำหนดไว้ ว่า เมื่อมีการจัดทำฐานข้อมูลพื้นฐานคนต่างด้าวแล้วเสร็จ จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดของคนต่างด้าวมาไว้ในศูนย์ข้อมูลแรงงานต่างด้าว ที่จังหวัดระนองกำหนดที่จะจัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์ข้อมูลทางทะเบียนราษฏร์ของคนไทย ส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวได้

 (เนชั่นทันข่าว, 5-1-2554)

ชงครม.กำหนดมาตรฐานฝีมือ รับมือเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเป็นประชาคมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในปี 2558 ซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีภายในภูมิภาคเป็นจำนวนมาก โดยจะเสนอให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เป็นแกนหลักในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานในแต่ละสาขาอาชีพที่อยู่ภาย ใต้กรอบการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและยกร่างกฎหมาย

"การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในอาเซียน จำเป็นต้องมีเกณฑ์มาตรฐานร่วมกัน ไม่ใช่ว่าใครอยากย้ายไปไหนก็ทำได้เลย เพราะแต่ละประเทศจะมีกฎหมายมาตรฐานแรงงานในแต่ละสาขาอาชีพอยู่แล้ว ฉะนั้น แรงงานที่จะเคลื่อนย้ายไปประเทศใดก็ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานแรงงานของประเทศ นั้นๆ เพื่อให้การข้ามพรมแดนของแรงงานประเทศต่างๆ มีมาตรฐาน และแม้ว่าสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้ทำข้อตกลงยอมรับ ร่วมกัน (MRAs) ในการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีไปแล้ว 7 สาขา คือ วิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชีไปแล้ว แต่ในเรื่องนี้ก็ยังต้องหารือถึงมาตรการเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้แรงงานไทยได้รับผลกระทบ"ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานต้องเตรียมความพร้อมอย่างหนักในเรื่องนี้ เพราะไทยเองยังมีปัญหาเรื่องค้าแรงงานเถื่อนอยู่มาก ซึ่งการเปิดให้เคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาจทำให้ปัญหาขบวนการค้าแรงงานเถื่อน ขยายตัวเป็นวงกว้างขึ้น นอกจากนี้ หากไม่มีมาตรการรองรับที่เพียงพอ อาจทำให้แรงงานไทยถูกผลักออกไปนอกระบบ และมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง

(แนวหน้า, 5-1-2554)

อุตฯ เครื่องนุ่งห่มไทยเจอปัญหาต้นทุนเพิ่ม 15 รายใหญ่เตรียมย้ายฐานผลิต

5 ม.ค. 54 - นายวัลลภ วิตนากร กรรมการและที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ผลพวงจากปัญหาเงินบาทแข็งค่า  ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นแต่ขาดแรงงาน 30,000 คนในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยและไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพไปลงทุนในต่างประเทศจำนวน 15 ราย และเตรียมย้ายฐานการผลิต

นายวัลลภ กล่าวว่า เฉพาะส่วนที่จะขยายกำลังการผลิตใหม่คิดเป็นกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตรวมของทั้ง 15 ราย ออกไปตั้งฐานการผลิตใหม่ในประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และบังกลาเทศ โดยจะมีการย้ายฐานเร็ว ๆ นี้ 5-6 ราย สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยมีผู้ประกอบการรวม 1,600 ราย รายใหญ่ 15 ราย ซึ่งรายใหญ่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 20

สำหรับภาพรวมการส่งออกเครื่องนุ่ง ห่มไทยปี 2553 มียอดส่งออกประมาณ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 10 อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากความจำเป็นของผู้ประกอบการที่ต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และปัญหาเงินบาทแข็งค่าและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะฝ้ายที่ราคาสูงขึ้น ถึงร้อยละ 70 จากสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง และการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศได้เต็มที่ คำสั่งซื้อลดลงร้อยละ 10

ขณะที่ผู้ซื้อบางรายหันไปสั่งซื้อ จากเวียดนามแทนทำให้ยอดซื้อเวียดนามเพิ่ม ขึ้นร้อยละ 25 ยอดส่งออกปีนี้จึงฟันธงได้ว่า จะลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2553 การรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยกำหนดอัตราแลก เปลี่ยนไว้ที่ 29-30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าแตะระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการมากขึ้นไปอีก ปัจจุบันตลาดส่งออกหลักของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยยังคงเป็นตลาดสหรัฐ ร้อยละ 38 สหภาพยุโรป  (อียู) ร้อยละ 30 ญี่ปุ่นร้อยละ 6 และตลาดอาเซียนร้อยละ 7

นายสุกิจ คงปิยาจารย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า เพื่อพัฒนาศักยภาพในการออกแบบเครื่องนุ่งห่มไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยเตรียมที่จะเสนอโครงการ Garment Product Development Center (GPDC) ให้นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา และของบสนับสนุนจำนวน 85 ล้านบาท ซึ่ง GPDC จะช่วยให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศนำความรู้ ความเชี่ยวชาญในการออกแบบเครื่องนุ่งห่มเข้ามา ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับผู้ประกอบการไทย โดยมี GPDC คอยอำนวยความสะดวก ซึ่งจะส่งผลดีให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยได้รับการถ่าย ทอดเทคโนโลยีและแนวคิดในการออกแบบเครื่องนุ่งห่มที่ก้าวทันกับการเปลี่ยน แปลงของตลาดที่เป็นไปอย่างรวดเร็วได้มากขึ้น

นายสุกิจ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ซื้อจากต่างประเทศหลายรายเข้ามาดำเนินการในลักษณะนี้บ้างแล้ว เพราะประหยัดต้นทุนการออกแบบได้ประมาณร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับดำเนินการในยุโรปและสหรัฐ จึงมั่นใจว่าจะได้รับความสนใจจากผู้สั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาออกแบบร่วม กับผู้ผลิตไทยมากขึ้นโดยดำเนินการผ่านการช่วยเหลือของ GPDC และร่วมกันพัฒนาและออกแบบเครื่องนุ่งห่ม จะมีการทำสัญญาระหว่างกันไม่ให้มีการรั่วไหลของผลิตภัณฑ์ที่ร่วมกันพัฒนา ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศมั่นใจเข้ามาพัฒนาและสั่งซื้อสินค้าในไทย มากขึ้นต่อไป อีกทั้งจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยด้วย สำหรับสถานที่ตั้งของ GPDC มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เสนอจัดสถานที่ให้พร้อมสนับสนุนด้านวิชาการ

(สำนักข่าวไทย, 5-1-2554)

ยันกรณี 7 คนไทยไม่กระทบการจ้างแรงงานกัมพูชา

5 ม.ค. 54 - นายสุวรรณ์  ดวงตา จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์  ได้ออกมาร้องขอให้ผู้ประกอบการ และนายจ้าง รวมไปถึงแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชากว่า 110 คน   ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักร และขึ้นทะเบียนจ้างแรงงานต่างด้าวในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์อย่างถูก ต้อง    ไม่ควรตื่นตระหนก จากกรณี 7 คนไทย   ที่ถูกทหารกัมพูชาจับกุมตัวฐานรุกล้ำเขตแดน  บริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้ว และยืนยันว่ากรณีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบ กับการจ้างงานแรงงานต่างด้าว

ขณะนี้ทางกระทรวงแรงงาน ก็ไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกสัญญาจ้างแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาแต่อย่างใด  จึงขอให้ทุกฝ่ายสบายใจและทำงานไปตามปกติ  โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ  ได้เจรจาตกลงกันเอง  ทั้งนี้เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านพ้นไปด้วยดี  เพราะปัจจุบันประชาชนตามแนวชายแดน  ทั้ง 2 ประเทศ ก็ยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันอยู่

จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์  ยังระบุอีกว่า  จากกรณีดังกล่าวสำนักงานจัดหางานจังหวัด  ยังได้มีการเข้าไปพูดคุย  ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาในเบื้องต้นแล้ว  ทุกฝ่ายต่างก็มีเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี  พร้อมยืนยันจะไม่มีผลกระทบทั้งกับนายจ้าง และแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาที่ทำงานอยู่ในจังหวัดอย่างแน่นอน

(คม ชัด ลึก, 5-1-2554)

สหภาพฯขวาง ขสมก. ขายเส้นทางให้เอกชน

เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่องการคัดค้านขสมก.ขายเส้นทางเดินรถให้เอกชน ในเส้นทาง สาย 60,2,138 และ142 โดยอ้างว่ารถของขสมก.มีไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน และมีภาระค่าซ่อม แต่สหภาพฯมองว่าเป็นเส้นทางหลักที่มีรายได้ดี อีกทั้งรถที่วิ่งอยู่ก็ยังอยู่ในสภาพดี การที่ขสมก.อ้างว่ารถเสียบ่อย จึงถือว่าขัดต่อข้อเท็จจริง

ดังนั้นสหภาพฯจะทำหนังสือถึงผู้ บริการขสมก.ให้มีการทบทวน ยกเลิกการดำเนินการดังกล่าวแล้ว และในวันที่ 12 มกราคม 2554 นี้สหภาพฯจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารสร.ขสมก. เพื่อหามาตรการในการเคลื่อนไหว เพื่อคัดค้านต่อไป

ด้านนายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายก สมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน หรือรถร่วมขสมก.กล่าวยอมรับว่า ได้รับทราบเรื่องการขายเส้นทางเดินรถมาระยะหนึ่งแล้ว หากมีการดำเนินการจริง ทาง สมาคมฯมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมเดินรถแทน ขสมก.

"แต่ตอนนี้ติดปัญหาเกี่ยวกับความ ชัดเจนที่ ขสมก.จะให้สมาคมฯ เสนอตัวเข้าร่วมด้วยหรือไม่ และทราบมาว่า ขสมก.ได้กำหนดสเปกรถที่จะนำมาวิ่งต้องเป็นสเปกเดียวกับรถในโครงการเช่นรถ เมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ทุกประการ" นายฉัตรชัย กล่าว

(RYT9, 7-1-2554)

คนงานทอผ้าโวยถูกเบี้ยวค่าจ้าง

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่กระทรวงแรงงาน นางซารี ดอระวงษ์ ประธานสหภาพแรงงาน บริษัท อริยะการทอ จำกัด จ.ปทุมธานี พร้อมด้วยลูกจ้างจำนวน 165 คน ได้พร้อมใจกันขี่จักรยานมายื่นข้อเรียกร้องให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน ดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างที่เดือดร้อนจากกรณีนายจ้างสั่งปิดกิจการ และไม่จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน โดยนายจ้างอ้างว่าขาดสภาพคล่องทางการเงินเพราะเป็นหนี้กว่า 300 ล้านบาท โดยนางซารีกล่าวว่า ต้องการให้  รมว.แรงงานสั่งการให้นายจ้างจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าหากมีการเลิกจ้างใน ทันที รวมถึงจ่ายเงินชดเชยให้กับคนงานตามที่กฎหมายกำหนด เพราะที่ผ่านมาได้เรียกร้องไปทางสำนักงานประกันสังคม สำนักงานแรงงานจังหวัด กระทรวงอุตสาหกรรม แล้ว แต่ก็ยังนิ่งเฉยอยู่ จึงหวังว่าทางกระทรวงแรงงานจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้กับลูกจ้าง
  
ด้านนายสมชาย วงษ์ทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวภายหลังรับหนังสือร้องเรียนฯ ว่า ทางกระทรวงจะส่งพนักงานตรวจแรงงานลงไปสืบสวนข้อเท็จจริง และเจรจาร่วมกับนายจ้างในวันที่ 7 ม.ค.เพื่อหาข้อยุติ ทั้งนี้ถ้ากรมสวัสดิการฯเห็นว่านายจ้างควรปิดกิจการก็จะออกหนังสือคำสั่งให้ นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานภายใน 30 วัน ให้กับลูกจ้าง คิดเป็นมูลค่ากว่า 12 ล้านบาท แต่หากนายจ้างไม่จ่ายก็จะมีการยึดทรัพย์ อย่างไรก็ตามระหว่างที่ยัง   ไม่สามารถยึดทรัพย์ได้ก็จะนำเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมาจ่าย ค่าชดเชยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกจ้างไปก่อน ในวงเงิน 4 ล้านบาท.

(เดลินิวส์, 7-1-2554)

เตือนระวังถูกหลอกทำงานคูเวต

8 ม.ค. 54 - นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานได้รับการประสานจากกระทรวงการต่างประเทศกรณีที่มีคนงานไทยเพศ ชายสองราย ขอความช่วยเหลือส่งตัวกลับประเทศไทย และเจรจาขอหนังสือเดินทางจากนายจ้างคืน ทั้งสองได้รับการชักชวนจากนายหน้าจัดหางานเถื่อนชาวเลบานอนที่ประกอบธุรกิจ อยู่ในซอยสุขุมวิท 3 เขตลุมพินี ให้ไปทำงานเป็นพนักงานนวดที่ประเทศคูเวต อ้างว่าจะได้เงินเดือน เดือนละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15,000 บาท มีค่าล่วงเวลาและเงินพิเศษต่างๆ เรียกเก็บเงินค่าบริการไปคนละ 7,500 บาท เมื่อได้เดินทางไปประเทศคูเวตแล้ว พบว่าทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่นายหน้าคนดังกล่าวสัญญาไว้อีกทั้งสถานที่ทำงาน ยังเสี่ยงอันตรายจากอัคคีภัย และนายจ้างไม่ดูแลความเป็นอยู่ ให้ขนมปังแซนด์วิชเฉพาะมื้อเย็น เพียงวันละ 1 มื้อ ทำงานถึง 23.00 น. ไม่มีค่าล่วงเวลา เป็นสถานประกอบการค้าประเวณีแอบแฝง นายจ้างได้สั่งให้สำเร็จความใคร่ให้ลูกค้า ตัดสินใจหลบหนีร้องทุกข์ต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต

ขอเตือนมิให้ หลงเชื่อคำชักชวนจากสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อนรายใดที่ชักชวนให้ไปทำงานใน ประเทศคูเวต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือ โทร. ศูนย์มิตรไมตรี 1694

(ข่าวสด, 8-1-2554)

เครือข่ายแรงงาน ชี้นโยบายประชาวิวัฒน์แค่สินค้า-โฆษณาชวนเชื่อ

ในงานเสวนาเรื่อง ประชาวิวัฒน์ หรือปฏิรูปประกันสังคม...หลักประกันที่แท้จริงของชีวิตแรงงานจัดโดยคณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน มีผู้นำแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นักวิชาการ รวมประมาณ 30 คนเข้าร่วม

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า แม้จะยังไม่เห็นรายละเอียดในนโยบายประชาวิวัฒน์ แต่เท่าที่ตรวจสอบเห็นว่าเป็นแนวคิดที่เหมือนกับผลิตสินค้าให้โดนใจประชาชน ที่มองว่าเป็นสินค้าเพราะตัวเลขที่ออกมา เช่น จ่ายไป 100 บาทแล้วได้ประโยชน์ทดแทนเท่าไร และรัฐบาลได้โฆษณาหาเสียงกับประชาชน แต่ไม่มีความยั่งยืนเพราะเป็นการโฆษณาที่ไม่แน่ใจว่าสร้างมั่นคงให้ชีวิต หรือสร้างหลักประกันในชีวิตได้แค่ไหน เพราะคิดกันเพียง 5 สัปดาห์เท่านั้น ขณะที่ผู้ที่ซื้อสินค้าไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เครือข่ายแรงงานกำลังดำเนินการอยู่ คือการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพราะลำพังแค่มาตรา 40 ไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้แรงงานเท่าที่ควร และรัฐก็ควรเข้ามามีส่วนร่วมจ่ายด้วย สิ่งเหล่านี้เราคิดกันมาหลายปี ไม่ใช่ทำกันแค่ 5 สัปดาห์ ทำให้มีความแตกต่างกันมาก

น.ส.วิไลวรรณกล่าวว่า ขบวนการแรงงานยังคิดถึงการปรับโครงสร้างคณะกรรมการประกันสังคม และให้สปส.ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงการรักษาพยาบาลควรไปที่ รพ.ไหนก็ได้ และควรรักษาได้ทุกโรคโดยไม่ควรมีโรคที่จำกัด ซึ่งสิ่งเหล่านี้คิดกันบนพื้นฐานความยั่งยืนและเป็นข้อเสนอร่วมตลอดหลายปี ที่คิดกันมา ซึ่งถึงเวลาต้องส่งเสียงดังๆ ให้มีการปฏิรูปให้ สปส.เป็นองค์กรอิสระ และรัฐควรฟังเสียงของคนงานและผู้ที่มีส่วนได้เสียด้วย

ด้านนางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม.กล่าวว่า รู้สึกเหมือนตนและแรงงานนอกระบบตกเป็นตัวละครของรัฐบาล และรูปแบบที่รัฐออกมาพูดถึงแรงงานนอกระบบยังกว้างเกินที่จะจับต้อง สิ่งที่รัฐกำลังดำเนินการถือว่าเป็นเรื่องเก่า แต่หากให้เป็นเรื่องใหม่คือรัฐต้องร่วมจ่ายสมทบเข้าไปด้วย และแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้านก็ไม่ควรเป็นแรงงานนอกระบบเพราะมีนายจ้าง ชัดเจน แต่กลับถูกจัดให้เป็นแรงงานนอกระบบ

ทั้งนี้ ภายหลังการเสวนาผู้แทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานเครือข่ายต่างๆได้ร่วมกันแถลงข่าว การจัดสมัชชาแรงงาน ในหัวข้อ ประกันสังคมถ้วนหน้า อิสระและโปร่งใสขึ้นในวันที่ 13 มกราคม ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม.มีผู้ใช้แรงงานกว่า 1,000 คนเข้าร่วม โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีกำหนดจะไปร่วมด้วย ประเด็นสำคัญคือเรื่อง การปฏิรูปประกันสังคม ให้เป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการ (บอร์ด) มาจากการเลือกตั้ง และมีคณะกรรมการตรวจสอบโดยขยายความคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบทุกภาคส่วนรวม ถึงลูกจ้างภาครัฐ และเจ็บป่วยควรเข้ารักษา รพ.ประกันสังคมทุกแห่ง

(สำนักข่าวไทย, 8-1-2554)

สมาชิกสหภาพแรงงานถูกผู้บริหารแจ้งความข้อหา ทำให้กลัวหรือตกใจ

7 ม.ค. 54 ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊สได้แจ้งข่าวแก่สหภาพแรงงานต่างๆ กรณีที่สมาชิกสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำนวน 15 คน ถูกผู้บริหารของบริษัทฯ แจ้งความดำเนินคดีข้อหาทำให้กลัวหรือตกใจ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางนา มีหมายเรียกเรียกผู้ต้องหาทั้ง 15 คนจากสาขาเวลโกรว์-สมุทรสาคร-อ่อนนุชไปพบ 2 ครั้ง นอกจากนั้นยังมีหมายเรียกกรรมการจากสระบุรีไปพบอีก 1 ครั้ง

ทั้งนี้ในวันที่ 7 ม.ค. 54 ที่ผ่านนั้น สหภาพฯ ได้ร่วมร่วมกันแจกแถลงการณ์ที่หน้าสำนักงานใหญ่ อาคารบางนาทาวเวอร์ ถนนบางนา-ตราด ก.ม.6.5 จากนั้นจึงเดินทางไปที่สำนักงานอัยการ และมีการนัดหมายฟังคำสั่งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554

อนึ่งนอกจากที่ สน.บางนาแล้ว ในวันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2554 นี้สมาชิกของสหภาพฯ ก็จะเดินทางไปพบ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางพลี เพราะถูกผู้บริหารไปแจ้งความดำเนินคดีไว้อีก 1 สถานี ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา โดยสหภาพฯ ให้ข้อมูลว่ากรณีนี้คนงานยื่นเรื่องร้องทุกข์ตามขั้นตอนของบริษัทฯ แต่กลับถูกดำเนินคดี

(ประชาไท, 8-1-2554)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net