Skip to main content
sharethis

13 ม.ค. 2554 - ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องการลดช่องว่างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชน จึงประกาศนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ตั้งเป้าการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมประชากรไม่ต่ำ กว่า 80% ในปี 2558 และไม่ต่ำกว่า 95% ในปี 2563 รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เร่งรัดปฏิบัติตามนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ผ่านการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจใต้สังกัด อาทิ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงราคาประหยัดสำหรับบ้านที่มีสายโทรศัพท์ ค่าบริการ 199 บาท/เดือน, บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายเทคโนโลยีไวแมกซ์ ค่าบริการ 99 บาท/เดือน เป็นต้น

"การเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์จะเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน เปิดพรมแดนใหม่ในการเรียนรู้ด้วยตนเองถือเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาการศึกษา ยุคใหม่ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต"

ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า ทีโอทีเริ่มเปิดทดลองบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 2 Mbps ราคา 199 บาท/เดือน ในหลายจังหวัด

ล่าสุดให้ บมจ.กสท โทรคมนาคมสนับสนุนโครงการแปลบทความภาษาอังกฤษบนสารานุกรมออนไลน์ "วิกิพีเดีย" เป็นภาษาไทย ใช้งบประมาณ 10.7 ล้านบาท ใน 1 ปี เพื่อขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งความรู้ของเยาวชน และให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยที่มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุก ปี โดยในปี 2553 มี 24 ล้านคน จากปี 2551 มี 10.96 ล้านคน และปี 2552 มี 18.3 ล้านคน

การสำรวจของบริษัทวิจัยต่างประเทศพบว่าทั่วโลกมีหน้า เว็บไซต์กว่า 4 พันล้านหน้า แต่มีหน้าเว็บภาษาไทย 3 ล้านหน้าเท่านั้น กว่า 90% เป็นภาษาอังกฤษ กับการแปลวิกิพีเดียเป็นภาษาไทย กสทฯ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ โดยตั้งเป้าจะเพิ่มบทความในหน้าเว็บภาษาไทยให้เป็น 100 ล้านหน้าใน 18-24 เดือน ที่แปลวิกิพีเดียเพราะมีผู้ใช้งานมาก แม้จะมีภาษาไทยอยู่บ้าง แต่แค่ 63,000 บทความ หรือ 1.8% เท่านั้น

ก่อนหน้านั้น กระทรวงไอซีทีในสมัยรัฐมนตรีสิทธิชัย โภไคยอุดม เคยจัดสรรงบประมาณกว่า 500 ล้านบาทเพื่อแปลหนังสือมาแล้ว แต่ไม่ได้มีการสานต่อตนจึงได้เข้ามาดูแลโดยเปลี่ยนให้มาแปลสารานุกรมออนไลน์แทน เพราะมีผู้ใช้เยอะ และทำได้เร็วกว่าแปลหนังสือเป็นเล่ม เพราะต้องมีกระบวนการในการคัดเลือกหนังสือที่มีความเหมาะสม และติดต่อลิขสิทธิ์ เชื่อว่าจะดันบทความภาษาไทยให้มีมากเป็นอันดับ 2 ของภาษาท้องถิ่นบนโลกออนไลน์ได้รองจากภาษาเยอรมัน

หลังเปิดตัว โครงการในวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมาจะมีการแปลบทความภาษาอังกฤษจากสารานุกรมวิกิพีเดีย 30 ล้านบทความ ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Statistical Machine Translation ซึ่งเป็นผลงานนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และนักภาษาศาสตร์ชาวไทย ถือเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการแปลสารานุกรมวิกิพีเดียจากภาษาอังกฤษทั้งหมด เป็นภาษาอื่นด้วยคอมพิวเตอร์ โดยเนื้อหาทั้งหมดของสารานุกรมออนไลน์จะอยู่บนเว็บไซต์ www.asiaonline.com

"เชื่อว่าโครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากเอกชน หากมีผู้เข้าชมเว็บไซต์มาก โดยไอซีทีจะประเมินผลทุกไตรมาส แม้จะใช้ระบบแปลบทความให้ แต่บนเว็บยังมีฟังก์ชั่นที่เปิดให้ผู้เข้าชมเข้ามาช่วยขัดเกลาภาษาหรือช่วย แปลได้ เว็บมีทุนการศึกษาให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมต่อเนื่องด้วย เชื่อว่าบทความที่แปลจะถูกต้องแม่นยำกว่า 95%"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net