Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์ นัดฟังพิพากษาอุทธรณ์คดีนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีถูกลักพาตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีความผิดต่อเสรีภาพ และปล้นทรัพย์ (ครั้งที่ 2) ในวันที่ 21 มกราคม 2554 เวลา 9.30 น.

ทั้งนี้ความเป็นมาของคดีนั้น นายสมชาย นีละไพจิตร ถูกบังคับให้สูญหาย เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น.วันที่ 12 มีนาคม 2547 บนถนนรามคำแหง เยื้องกับสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กรุงเทพมหานคร

โดยเชื่อว่ามีมูลเหตุที่นายสมชายได้ร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการซ้อมทรมานผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นประชาชนในจังหวัดนราธิวาสในคดีปล้นปืนเผาโรงเรียน ทั้งนี้ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาในคดีความผิดต่อเสรีภาพและปล้นทรัพย์ โดยมีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก จำเลยที่ 1 กับพวก คดีหมายเลขดำที่ 1952 / 2547 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 48 / 2549

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2549 โดยคำพิพากษา มีความสรุปว่า “.. ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว โจทก์มีพยานเป็นพนักงานสอบสวนเบิกความสอดคล้องตรงกัน ทั้งเวลาและสถานที่ทำให้เชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่านายสมชายหายตัวไปจริง ..”  “ ...ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยยุติและปรศจากข้อสงสัยว่า ตามวัน เวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 3-5 คนได้ร่วมกันจับตัวนายสมชาย นีละไพจิตร เข้าไปในรถที่จำเลยที่ 1 กับพวกเตรียมมา โดยที่นายสมชาย นีละไพจิตรไม่ยินยอมแล้วขับออกไปจากที่เกิดเหตุ .. "

โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) รับคดีนายสมชาย เป็นคดีพิเศษตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2548 และแม้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะฃได้แจ้งต่อสาธารณะชนเมื่อเข้ารับตำแหน่งว่าจะให้ความสำคัญแก่คดีนี้แต่พบว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่มีความก้าวหน้าในทางคดีแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ส่งเรื่องที่นายสมชายได้ร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการซ้อมทรมานผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นประชาชนในจังหวัดนราธิวาสในคดีปล้นปืนเผาโรงเรียน ก่อนที่จะถูกลักพาตัวไปเพียง 1 วันให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)ไต่สวน

โดยเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ปปช. ได้แถลงผลการสอบสวนต่อสื่อมวลชนว่า “ ..จากการพิจารณาไม่พบว่ามีร่องรอยบาดแผลตามร่างกายที่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาได้ถูกทำร้ายร่างกายตามที่กล่าวอ้างจริงอีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าบาดแผลดังกล่าวได้เกิดขึ้นขณะที่มีการควบคุมตัวผู้ต้องหาดังกล่าวพยานหลักฐานจึงยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า พลตำรวจเอก ภาณุพงศ์  สิงหรา ณ อยุธยา กับพวก รวม 19 คน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามที่ถูกกล่าวหาให้ข้อกล่าวหาตกไป.. "

คณะกรรมการ ปปช.ใช้เวลาในการพิจารณาทั้งสิ้นเป็นเวลานานกว่า 3 ปี ซึ่งระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการ ปปช.พยานสำคัญคนหนึ่งได้หายตัวไปภายใต้การคุ้มครองพยานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ระหว่างรอให้การในชั้นศาล เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2552 ขณะกลับไปเยี่ยมบ้านที่จังหวัดนราธิวาส ในขณะที่พยานอีกคนหนึ่งถูก พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา ฟ้องร้องต่อศาลอาญากรุงเทพฯ ในข้อหาให้การเท็จเรื่องการถูกซ้อมทรมานต่อ ปปช.

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาคดีความผิดต่อเสรีภาพและปล้นทรัพย์  ปรากฏว่าทนายความของ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก จำเลยที่ 1 ได้แถลงขอให้ศาลอุทธรณ์เลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาเนื่องจากจำเลยที่ 1 หายสาบสูญในเหตุการณ์คันกันน้ำถล่มที่เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก ซึ่งญาติได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดปทุมธานีมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลสาบสูญ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 รวมถึงขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีส่วนของ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ด้วย

ดังนั้นในวันศุกร์ที่ 21 มกราคม 2554 นี้ศาลอุทธรณ์จึงได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์(ครั้งที่ 2) ที่ศาลอาญากรุงเทพฯ เวลา 9.30 น. ซึ่งในการรับฟังคำพิพากษานี้จะมีตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ นักการทูตตัวแทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมสังเกตุการณ์ในคดีนี้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net