Skip to main content
sharethis

“เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง” เขียนจดหมายท้วงเวทีรับฟังความคิดเห็น “โครงการเขื่อนไซยะบุรี” ปลายเดือน ม.ค.นี้ ร้องระงับการเร่งรัดกระบวนการใดๆ ก็ตาม ที่จะนำไปสู่ความเห็นชอบให้ก่อสร้างเขื่อน ย้ำต้องโปร่งใส มีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง

เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง เขียนจดหมายเพื่อแสดงความเห็นและข้อเรียกร้องต่อการจัด “เวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียกรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี” ที่กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะสำนักเลขานุการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงของประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ส่งถึงเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พร้อมสำเนาถึงคณะมนตรีกรรมาธิการแม่น้ำโขง คณะกรรมการร่วมกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตัวแทนรัฐบาลไทย รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ช.การช่าง และธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 4 แห่งของไทย ที่บริษัท ช.การช่างประกาศว่าจะกู้เงินเพื่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี

ทั้งนี้ เวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการบนแม่น้ำโขงสายหลักดังกล่าวจะจัดขึ้นใน 3 พื้นที่ริมแม่น้ำโขง ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย, อ.เชียงคาน จ.เลย และ จ.นครพนม ติดต่อกัน ในวันที่ 22, 29 และ 31 มกราคม ตามลำดับ
 
จดหมายของเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงระบุว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นฯ มีกระบวนการที่เร่งรัด ไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ และไม่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง โดยขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ากรมทรัพยากรน้ำได้เปิดเผยขั้นตอนและรายละเอียดของเวทีที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและเอกสารที่จำเป็น เช่น รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งได้สรุปว่าโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักที่กำลังมีการเสนออยู่ในขณะนี้ จะก่อผลกระทบด้านนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และสังคม ที่ร้ายแรง ทั้งในระดับภายประเทศ และข้ามพรมแดน
 
จดหมายระบุด้วยว่า การพิจารณาโครงการเขื่อนไซยะบุรี ควรต้องทำหลังจากผลกระทบของเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้งหมดได้รับการพิจารณา และรับรู้รับฟังโดยกว้างขวางเสียก่อน ส่วนการที่กรมทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำเท่านั้นเข้ามาทำกระบวนการจัดเวทีสาธารณะ ทำให้มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ประเด็นสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะประเด็นด้านพลังงานถูกละเลย
 
อีกทั้ง จนถึงขณะนี้หน่วยงาน และสถาบันอื่นๆ ในประเทศไทย ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการเขื่อนไซยะบุรี ได้แก่ รัฐบาล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ช. การช่าง และธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 4 แห่งที่กำลังพิจารณาเงินกู้แก่โครงการนี้ ยังไม่เคยชี้แจงข้อมูลหรือให้คำอธิบายที่สังคมไทยควรรับรู้ โดยเฉพาะในเรื่องความจำเป็นของโครงการเขื่อนไซยะบุรี และมาตรฐานด้านจริยธรรมหรือความรับผิดชอบทางสังคมของนักลงทุนและสถาบันการเงิน
 
ในตอนท้ายของจดหมาย เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ระบุข้อเรียกร้องให้ระงับการเร่งรัดกระบวนการใดๆ ก็ตาม ที่จะนำไปสู่ความเห็นชอบให้ก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี รวมทั้งกระบวนการภายใต้การ “ประกาศเจตนา การรับฟังความคิดเห็น และข้อตกลงล่วงหน้า” ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 ซึ่งประเทศไทยลงนามร่วมกับประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม ไว้จนกว่ากระบวนการจะดำเนินการภายใต้หลักการความโปร่งใส มีส่วนร่วมที่แท้จริงของภาคประชาชน
 
รายละเอียดของจดหมายมีดังนี้
 
 
จดหมายเปิดผนึก
 
 
เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง
 
19 มกราคม 2554
 
เรื่อง      กระบวนการพิจารณาเขื่อนไซยะบุรีที่เป็นไปอย่างเร่งรัด และปราศจากการ
             แสดงความรับผิดชอบที่แท้จริงของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
 
เรียน     ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
 
สำเนาถึง ตามรายนามแนบท้าย
 
 
ตามที่ ทาง สปป.ลาว ได้แสดงเจตนาที่จะสร้าง เขื่อนไซยะบุรี ทางตอนเหนือของประเทศลาว โดยขอให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) นำโครงการดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการ ประกาศเจตนา การรับฟังความคิดเห็น และข้อตกลงล่วงหน้า” (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement – PNPCA) ภายใต้ข้อตกลงแม่น้ำโขง (Mekong Agreement) ปี 2538 ซึ่งประเทศไทยลงนามร่วมกันกับประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม นั้น
 
เรา เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง มีข้อเป็นห่วง ความเห็น และข้อเรียกร้อง ต่อกระบวนการการจัด “เวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียกรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี” ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะสำนักเลขานุการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงของประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นใน 3 พื้นที่ริมแม่น้ำโขง ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย, อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และจังหวัดนครพนม ติดต่อกันในช่วงเวลาสั้น ๆ คือในวันที่ 22, 29 และ 31 มกราคมตามลำดับ ดังนี้
 
1. กระบวนการจัดเวทีสาธารณะเป็นไปอย่างเร่งรัด ไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ และไม่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง คือจนถึงขณะนี้ ยังไม่ปรากฏว่ากรมทรัพยากรน้ำ ผู้จัดเวทีสาธารณะ ได้เปิดเผยขั้นตอนและรายละเอียดของเวทีที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมทั้งไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและเอกสารที่จำเป็น ซึ่งได้แก่ รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของเขื่อนไซยะบุรี และรายงาน “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” (Strategic Environmental Assessment - SEA) ฉบับเต็ม ที่แปลเป็นภาษาไทยต่อประชาชนไทย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวแม่น้ำโขงที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว
 
2. การพิจารณาโครงการเขื่อนไซยะบุรี ควรต้องทำหลังจากผลกระทบของเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้งหมดได้รับการพิจารณา และรับรู้รับฟังโดยกว้างขวางเสียก่อน ดังที่รายงาน “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” (SEA) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเอง ได้ชี้ให้เห็นว่า โครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักที่กำลังมีการเสนออยู่ในขณะนี้ จะก่อผลกระทบด้านนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และสังคม ที่ร้ายแรง ทั้งที่เป็นผลกระทบภายในประเทศ และผลกระทบข้ามพรมแดน ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและรัฐบาลในประเทศแม่น้ำโขงทุกประเทศที่จะต้องเปิดเผบข้อมูลทั้งหมดของโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทุกโครงการ และจัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้แสดงความเห็นต่อโครงการเหล่านี้ในภาพรวม และโดยเฉพาะประชาชนผู้จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากแต่ละโครงการด้วย
 
3. กระบวนการจัดเวทีสาธารณะ ซึ่งดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำเท่านั้น ทำให้มีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่ประเด็นสำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะประเด็นด้านพลังงานจะถูกละเลย ทั้งนี้ โครงการเขื่อนไซยะบุรี ตลอดจนเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้งหมด ได้รับการโต้แย้งมาโดยตลอดว่า จะไม่เป็นประโยชน์ต่อระบบไฟฟ้าของไทย ซึ่งยังมีการคาดการณ์ความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มที่สูงเกินจริงมาโดยตลอด ดังเห็นได้จากการที่ไฟฟ้าสำรองของไทยยังอยู่ในระดับสูง โดยเขื่อนเหล่านี้จะกลายเป็นภาระที่ไม่จำเป็นต่อผู้บริโภค เนื่องจากเป็นเขื่อนที่มีกำลังผลิตพึ่งพาได้ ต่ำกว่ากำลังผลิตติดตั้งที่ระบุไว้อย่างมาก การพึ่งพาเขื่อนเหล่านี้จึงน่าจะเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับระบบไฟฟ้าของไทย มากกว่าการสร้างความมั่นคง ทั้งนี้ ไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรีมีแนวโน้มที่จะมีราคาแพงกว่าพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ด้วย
 
เราเห็นว่า กระบวนการจัดเวทีรับฟังความเห็นใด ๆ ก็ตามที่มีความหมาย ไม่อาจละเลยข้อถกเถียงด้านพลังงานเหล่านี้ได้
 
4. จนถึงขณะนี้ หน่วยงาน และสถาบันอื่น ๆ ในประเทศไทย ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งได้แก่ รัฐบาล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ช. การช่าง และธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 4 แห่งที่กำลังพิจารณาเงินกู้แก่โครงการนี้ ยังไม่เคยชี้แจงข้อมูลหรือให้คำอธิบายที่สังคมไทยควรรับรู้ โดยเฉพาะในเรื่องความจำเป็นของโครงการเขื่อนไซยะบุรี และมาตรฐานด้านจริยธรรมหรือความรับผิดชอบทางสังคม (Corporate Social Responsibility) ของนักลงทุนและสถาบันการเงิน
 
เรา เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ตามรายนามข้างล่างนี้ จึงเห็นว่า กระบวนการผลักดันให้เกิดการพิจารณาสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี ที่กำลังดำเนินไปอย่างเร่งรัด มีลักษณะไม่โปร่งใส ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และปราศจากการแสดงความรับผิดชอบที่แท้จริงของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงขอเรียกร้องให้ระงับการเร่งรัดกระบวนการใด ๆ ก็ตาม ที่จะนำไปสู่ความเห็นชอบให้ก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี รวมทั้งกระบวนการภายใต้การประกาศเจตนา การรับฟังความคิดเห็น และข้อตกลงล่วงหน้า” (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement – PNPCA) ไว้ จนกว่ากระบวนการนั้น ๆ จะดำเนินการภายใต้หลักการความโปร่งใส มีส่วนร่วมที่แท้จริงของภาคประชาชน มิฉะนั้นแล้ว โครงการย่อมขาดความชอบธรรม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันโครงการ ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม
 
 
                                                            ขอแสดงความนับถือ
 
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กปอพช.)
กป.อพช. ภาคเหนือ
กป.อพช. ภาคเหนือล่าง/กลาง
กป.อพช. ภาคใต้
โครงการฟิ้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง
เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง
สมัชชาคนจน
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค                   
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
โครงการพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต
มูลนิธิบูรณะนิเวศ
โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
สถาบันสันติประชาธรรม
คณะทำงานวาระทางสังคม
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบกรณีเหมืองแร่ทองคำสามจังหวัด (พิจิตร-พิษณุโลก-
โครงการพัฒนาความเป็นธรรมเพื่อสังคมสุขภาวะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพชรบูรณ์)
มูลนิธิพัฒนาแรงงานนอกระบบ
มูลนิธิพัฒนาอีสาน จังหวัดสุรินทร์
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคตะวันออก
เครือข่ายพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์
เครือข่ายผู้หญิงภาคอีสาน
ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร จังหวัดสุรินทร์
เครือข่ายทรัพยากรดินน้ำป่าภาคเหนือตอนล่าง
โรงเรียนแม่น้ำโขง จังหวัดเชียงใหม่
เครือข่ายผู้หญิงกับสุขภาพ จังหวัดเชียงใหม่
Rainbow Dream Group จังหวัดเชียงใหม่
สำนักข่าวประชาธรรม จังหวัดเชียงใหม่
จากเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง (คชส.) จังหวัดเชียงราย
มูลนิธิศักยภาพเยาวชน จังหวัดเชียงใหม่
สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เครือข่ายองค์กรชุมชนการจัดการทรัพยากร ลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน
เครือข่ายการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
กลุ่มดอยหมอกเพื่อการพัฒนา จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดแพร่
มูลนิธิพะเยาเพื่อพัฒนา
ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.ชาติ)
โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา จังหวัดตรัง
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคใต้
ศูนย์กฏหมายและสิทธิชุมชน พื้นที่อันดามัน
 
สำเนาถึง:
นายสาธิต วงศ์หนองเตย
รัฐมนตรีว่าการสำนักนายกรัฐมนตรี ประเทศไทย
 
คณะมนตรี (Council Committee) กรรมาธิการแม่น้ำโขง
นายลิม เคียน เฮา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำและอุตุนิยมวิทยา
ประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ กัมพูชา
 
นายสุวิทย์ คุณกิตติ 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย
 
นางเข็มแพง พลเสนา
หัวหน้าสำนักงานทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม (WREA)
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ สปป.ลาว
 
ดร.ฟาม โก่ย เหวียน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ เวียดนาม
 
คณะกรรมการร่วม (Joint Committee) กรรมาธิการแม่น้ำโขง
นายซิน นินี รองประธานคณะมนตรี/สมาชิกคณะกรรมการร่วม กรรมาธิการแม่น้ำโขง กัมพูชา
นายโชติ ตราชู รองประธานคณะมนตรี/สมาชิกคณะกรรมการร่วม กรรมาธิการแม่น้ำโขง ประเทศไทย
นางมอนมะนี น้อยบัวกอง เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม สำนักนายกรัฐมนตรี
สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ สปป.ลาว
ดร.เลอ ดัก จุง ผู้อำนวยการสมาชิกคณะกรรมการร่วม คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ เวียดนาม
 
กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ
นางผกาวรรณ จุฟ้ามาณี ผู้อำนวยการส่วนงานคณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขง
 
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
 
คณะกรรมการบริษัท ช. การช่างจำกัด (มหาชน)
นายอัศวิน คงสิริ   - ประธานกรรมการบริษัท
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ - ประธานกรรมการบริหาร
นายวิฑูร เตชะทัศนสุนทร
นายดอน ปรมัตถ์วินัย
นายถวัลย์ศักดิ์ สุขะวรรณ
ดร.ภาวิช ทองโรจน์
นายณรงค์ แสงสุริยะ
นายประเสริฐ มริตตนะพร
นายรัฐ สันตอรรณพ
นายกำธร ตรีวิศวเวทย์
ดร.อนุกูล ตันติมาสน์
 
ธนาคารพาณิชย์ของไทย
นางกรรณิการ์ ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์
นายชาติศิริ โสภณพนิช  normal">กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย        
 
กลุ่มผู้ให้ทุน (Development Partners) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank [ADB])
ธนาคารโลก (World Bank)
ออสเตรเลีย
เบลเยียม
เดนมาร์ก
สหภาพยุโรป
ฟินแลนด์
ฝรั่งเศส
เยอรมันนี
ญี่ปุ่น
เนเธอร์แลนด์
นิวซีแลนด์
สวีเดน
สหรัฐอเมริกา
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net