องค์กรเยาวชนปะโอ แฉเหมือง-โรงไฟฟ้าถ่านหินใหญ่ที่สุดในพม่า สร้างมลพิษกระทบคนนับหมื่น

องค์กรเยาวชนปะโอออกแถลงการณ์ “โครงการเหมืองถ่านหินใหญ่สุดของพม่าก่อมลพิษต่อชุมชนใกล้ทะเลสาบอินเลที่มีชื่อเสียง” พร้อมรายงานการศึกษา เผยผลเสียหายประชาชน-สิ่งแวดล้อม จวกรัฐบาลพม่าใช้ทรัพยากรพลังงานเพื่อผลกำไรของตนเอง 

วันที่ 20 ม.ค.54 องค์กรเยาวชนปะโอออกแถลงการณ์ “โครงการเหมืองถ่านหินใหญ่สุดของพม่าก่อมลพิษต่อชุมชนใกล้ทะเลสาบอินเลที่มีชื่อเสียง” ระบุข้อมูลถึงโครงการเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินใหญ่สุดของพม่า ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากทะเลสาบอินเลที่มีชื่อเสียงของพม่า 13 ไมล์ และกำลังก่อให้เกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของชาวบ้าน ทำให้พวกเขาพลัดที่นาคาที่อยู่ ตามรายงานของข้อมูล เรื่อง หมอกพิษ (Poison Clouds) ของนักวิจัยชาวปะโอในพื้นที่ ซึ่งมีการเผยแพร่ในวันเดียวกัน  

รายงานดังกล่าวระบุว่า บ้านตีจิตตั้งอยู่บริเวณทะเลสาบอินเลซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของพม่า หมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่ตั้งของเหมืองถ่านหินแบบเปิดขนาดใหญ่สุดของประเทศ รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาดใหญ่สุดเช่นกัน ถ่านหินที่กองไว้สำหรับโรงไฟฟ้ามีความสูงกว่าบ้านของชาวบ้าน การระเบิดเหมืองเป็นเหตุให้เจดีย์ในพื้นที่พังทลายลง แหล่งน้ำก็ปนเปื้อนด้วยมลพิษจนไม่อาจใช้การได้อีก ทางการได้เวนคืนพื้นที่หลายร้อยเอเคอร์ และมีการโยกย้ายสองหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียงโดยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือกับชาวบ้านแต่อย่างใด ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในโครงการ ทั้งๆ ที่โครงการนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตของพวกเขา และที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาให้เข้าใจถึงผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาวอย่างเพียงพอ

พม่าเป็นประเทศที่ขาดแคลนพลังงานอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงส่งออกแหล่งพลังงานมหาศาลไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในปัจจุบันประมาณ 3% ของไฟฟ้าในประเทศผลิตได้จากถ่านหิน โดยไฟฟ้าส่วนใหญ่ได้ถูกใช้สำหรับกิจการเหมืองแร่หรือนิคมอุตสาหกรรม ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปเลย ดังเช่นแผนการเปิดเหมืองถ่านหินที่ภาคตะวันออกของรัฐฉานเพื่อส่งออกมายังประเทศไทย และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาดใหญ่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจ่ายไฟให้กับนิคมอุตสาหกรรมของคนไทยในภาคใต้ของพม่า

ขณะที่พม่าเร่งพัฒนาการทำเหมืองถ่านหินและสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินมากขึ้น จึงมีความสำคัญอย่างเร่งด่วนที่ต้องพิจารณาประสบการณ์ที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านตีจิต ชุมชนในพื้นที่ซึ่งกำลังจะมีการทำโครงการเกี่ยวกับถ่านหินก็ควรทำความเข้าใจถึงผลกระทบจากโครงการเหล่านี้และเตรียมการเพื่อปกป้องตนเอง ในเวลาเดียวกัน บริษัทจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีแผนการลงทุนในโครงการด้านถ่านหินในพม่า ก็ควรตระหนักถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจากกิจการของพวกเขา

รายงานดังกล่าวให้ข้อมูลด้วยว่า แม้พม่าจะอุดมไปด้วยแหล่งทรัพยากรด้านพลังงาน แต่รัฐบาลทหารก็เอาแต่ส่งออกทรัพยากรเหล่านี้ และปล่อยให้ประชาชนขาดแคลนพลังงานอย่างต่อเนื่อง การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งการทำเหมืองแร่ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมรวมทั้งชุมชนในพื้นที่อย่างรุนแรง ในขณะที่บริษัทซึ่งเป็นผู้ลงทุนไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

มีแหล่งถ่านหินขนาดใหญ่กว่า 16 แห่งในพม่า โดยคิดเป็นปริมาณถ่านหินรวมกันกว่า 270 ล้านตัน เหมืองตีจิตซึ่งเป็นเหมืองถ่านหินแบบเปิดที่ใหญ่ที่สุดของพม่า สามารถผลิตถ่านหินได้เกือบ 2,000 ตันต่อวัน โดยเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าตีจิตตั้งอยู่ห่างจากทะเลสาบอินเลอันเป็นแหล่งมรดกที่สำคัญของอาเซียน เพียง 13 ไมล์ มีการปล่อยน้ำเสียจากเหมืองแร่และโรงไฟฟ้าเข้าสู่ทะเลสาบผ่านแม่น้ำบาลู โดยที่ไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบของโครงการที่มีต่อทะเลสาบและไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

มีการขนส่งถ่านหินจากเหมืองไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ซึ่งยังเดินเครื่องอยู่เพียงแห่งเดียวในพม่าที่บ้านตีจิต ในแต่ละปีโรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้ถ่านหิน 640,000 ตันและสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 600 กิกะวัตต์หรือที่กำลังผลิต 120 เมกะวัตต์ ในแต่ละวันจะมีการผลิตเถ้าปลิวที่เป็นพิษ 100-150 ตัน ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าก็จะถูกจ่ายให้กับโรงถลุงเหล็กซึ่งเป็นของบริษัทจากรัสเซียและอิตาลี

โครงการเหมืองแร่และโรงไฟฟ้าเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2545 โดยบริษัท China National Heavy Machinery Corporation (CHMC) และกลุ่มบริษัท Eden Group และ Shan Yoma Nagarของพม่า

ชาวบ้านที่บ้านไหลค่าและตองโพลาซึ่งอยู่ข้างเคียงได้ถูกทางการบังคับให้โยกย้ายออก และมีการเวนคืนที่นากว่า 500 เอเคอร์ ครอบครัวชาวนาที่ถูกบังคับโยกย้ายต้องสูญเสียที่ดินและอดอยากหิวโหย พวกเขาต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการตัดไม้เพื่อขายเป็นฟืน หรือไม่ก็ต้องอพยพออกจากพื้นที่เพื่อให้มีชีวิตรอด การระเบิดเหมืองก็ส่งผลให้เจดีย์ในพื้นที่พังทลาย

มลพิษด้านอากาศและน้ำส่งผลคุกคามต่อการเกษตรและสุขภาพประชาชนเกือบ 12,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในรัศมีห้าไมล์จากโครงการ สุดท้ายพวกเขาก็อาจจะต้องอพยพออกไปที่อื่น จนถึงปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งของประชาชนในพื้นที่ประสบกับปัญหาผื่นคันตามผิวหนัง

องค์กรเยาวชนชาวปะโอได้จับตาสถานการณ์ของโครงการนี้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 และเรียกร้องใหบริษัทและรัฐบาลชะลอการดำเนินงานจนกว่าจะมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ทางหน่วยงานขอให้ชุมชนในพื้นที่ไม่ลงนามในเอกสารจนกว่าจะได้รับข้อมูล และให้ต่อต้านการคอรัปชั่นและการใช้ทรัพยากรที่จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน

ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

 
 
แถลงการณ์
20 มกราคม 2554
โครงการเหมืองถ่านหินใหญ่สุดของพม่าก่อมลพิษต่อชุมชนใกล้ทะเลสาบอินเลที่มีชื่อเสียง
 
โครงการเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินใหญ่สุดของพม่า ตั้งอยู่ห่างจากทะเลสาบอินเลที่มีชื่อเสียงของพม่า 13 ไมล์ และกำลังก่อให้เกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของชาวบ้าน ทำให้พวกเขาพลัดที่นาคาที่อยู่ ตามรายงานของข้อมูลที่เผยแพร่ในวันนี้
 
รายงาน หมอกพิษ (Poison Clouds) ของนักวิจัยชาวปะโอในพื้นที่ เปิดเผยให้เห็นว่าในแต่ละวันที่เหมืองเปิดที่บ้านตีจิตมีการขุดถ่านหินลิกไนต์มากถึง 2,000 ตัน โดยเป็นถ่านหินที่ก่อมลพิษมากสุด มีการนำถ่านหินเหล่านี้ไปเผาผลาญในโรงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้เกิดเถ้าปลิวพิษ 100-150 ตันต่อวัน  
 
กองกากของเสียจากเหมืองมีความสูงกว่าบ้านเรือนของประชาชน 3,000 คน ทั้งยังปิดกั้นทางน้ำไหลและทำให้เรือกสวนไร่นาปนเปื้อนด้วยมลพิษ การแพร่กระจายของฝุ่นและก๊าซรวมทั้งที่เป็นพิษเกิดขึ้นทั่วไปตามท้องถนนในพื้นที่ และเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อคุณภาพอากาศ จนถึงปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งของชาวบ้านในพื้นที่ประสบปัญหาผื่นคันตามผิวหนัง
 
“ท้องฟ้าและสายน้ำของเรากำลังกลายเป็นสีดำ” ขุนชางเคแห่งองค์กรเยาวชนชาวปะโอ (Pa-Oh Youth Organization - PYO) กล่าว “ลูกหลานของเราที่ต้องเติบโตในผืนดินที่เต็มไปด้วยมลพิษจะมีอนาคตได้อย่างไร”
 
ประชาชนเกือบ 12,000 คนอาศัยอยู่ในรัศมีห้าไมล์จากโครงการ มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะต้องโยกย้ายออกเพราะไม่สามารถทนต่อมลพิษและการขยายโครงการเหมืองออกไปได้ ที่บ้านไหลค่าและตองโพลาซึ่งอยู่ใกล้เคียง ก็ถูกบังคับให้โยกย้ายออกไปแล้ว โดยทางการได้เวนคืนที่ดินทำกินกว่า 500 เอเคอร์
 
ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าตีจิตถูกนำไปใช้กับโครงการเหมืองที่เป็นของบริษัทจากรัสเซียและอิตาลี เป็นลักษณะการพัฒนาภาคพลังงานของพม่าที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่เพื่อการพัฒนาของประชาชน แต่เพื่อขายให้กับผู้เสนอราคาสูงสุด
 
“รัฐบาลกำลังใช้ทรัพยากรพลังงานเพื่อผลกำไรของตนเอง ปล่อยให้เราต้องเผชิญกับมลพิษและความแตกสลายของชุมชน” ขุนชางเคกล่าว “ควรมีการยุติโครงการนี้ และให้มีการประเมินผลกระทบอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผลกระทบต่อทะเลสาบอินเลอันมีค่าของเรา” 
 
แม่น้ำตีจิตไหลรวมกับแม่น้ำบาลูลงไปยังทะเลสาบอินเล ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่เป็นอันดับสองของพม่า และถือเป็นแหล่งมรดกของอาเซียน ทะเลสาบแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญสุดแห่งหนึ่งของพม่า คนทั่วไปจะรู้จักทะเลสาบจากลักษณะการพายเรือของชาวประมงอินทา ซึ่งผูกขาข้างหนึ่งกับกรรเชียงเรือ
 
ในปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินอีกสามแห่ง และมีแผนจะสร้างเพิ่มเติมอีกสี่แห่งในพม่า รวมทั้งโรงไฟฟ้าขนาด 4,000 เมกะวัตต์ที่เมืองทวายซึ่งเป็นเมืองท่าทางภาคใต้ 
 
 

รายงาน Poison Clouds ฉบับเต็ม โปรดดู www.pyo-org.blogspot.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท