คนการรถไฟลงใต้เคลียร์ชุมชนบุกรุก แจงเตรียมพื้นที่เปิดทางรางคู่-ฟื้นทางสายเก่า

ตัวแทนการรถไฟลงสุไหงโก-ลก สงขลาและหาดใหญ่ แก้ปัญหาชุมชนบุกรุกที่ดินรถไฟ เคลียร์ทางก่อรางคู่มาถึง ตัวแทนชุมชนยืนยันขอเช่าที่เพื่ออาศัยผ่าน พอช.

 
 
นายอุดร ขันชะสี (ซ้าย) และนายประยูร สุขเกษม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 21-24 มกราคม 2554 นายอุดร ขันชะสี อดีตผู้อำนวยการศูนย์ประจำการรถไฟ เขตภาคใต้ นำนายประยูร สุขเกษม ผู้อำนวยการศูนย์ประจำการรถไฟ เขตภาคใต้ ในฐานะตัวแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยตัวแทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ตัวแทนตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ตัวแทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ลงสำรวจพื้นที่ชุมชนบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยในเขตอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอหาดใหญ่ กับอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อแก้ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
 
นายอุดร เปิดเผยว่า การเดินทางมาครั้งนี้ เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทยมีโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่และโครงการรื้อพื้นทางรถไฟสายสงขลา - หาดใหญ่ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย มอบหมายให้ตนมาชี้แจง ทำความเข้าใจและพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนให้เคลื่อนย้ายออกจากแนวสันรางรถไฟในรัศมี 40 เมตร
 
นายอุดร เปิดเผยต่อไปว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อให้ชุมชนต่างๆ ยืนยันจะเช่าที่ดินรถไฟผ่านองค์กรใด โดยชุมชนบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยในอำเภอสุไหงโก – ลก จังหวัดนราธิวาส 5 ชุมชน ยืนยันว่าจะเช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัยกับ พอช.เนื่องจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติให้ พอช.เป็นคู่สัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย แล้วให้ชุมชนเช่าจากพอช.อีกต่อหนึ่ง
 
สำหรับทั้ง 5 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนซารายอ ชุมชนโกลกวิลเลจ ชุมชนดงงูเห่า ชุมชนหลังด่านและชุมชนหัวสะพาน ทั้ง 5 ชุมชน ร่วมอยู่ในขบวนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.)
 
อดีตผู้อำนวยการศูนย์ประจำการรถไฟ เขตภาคใต้ กล่าวว่า ส่วนชุมชนบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยในตัวเมืองสงขลา ทางเทศบาลนครสงขลาได้ยื่นขอเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ชุมชนต่างๆ ด้วย จำนวน 12 ชุมชน แต่ปรากฏว่าเป็นชุมชนที่ซ้ำซ้อนกับที่ พอช.จะยื่นขอเช่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย และทั้ง 12 ชุมชน ยืนยันที่จะเช่ากับ พอช.เช่นกัน
 
ทั้ง 12 ชุมชนประกอบด้วยร่วมใจพัฒนา ชุมชนบ่อนวัว ชุมชนมิตรเมืองลุง ชุมชนภารดร ชุมชนหลังอาชีวะ ชุมชนบ้านพรุ ชุมชนบ้านบน ชุมชนสมหวัง ชุมชนพาณิชย์สำโรง ชุมชนหัวป้อม ชุมชนศาลาหัวยางและชุมชนกุโบร์ 
 
นายอุดร กล่าวอีกว่า ในขณะที่ชุมชนทุ่งเสา - ท่ายาง ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ ตอนนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นชุมชนขนส่ง ชาวบ้านยืนยันที่จะขอเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยกับเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งทางเทศบาลนครหาดใหญ่ได้ยื่นขอเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว เพื่อที่จะบริหารจัดการชุมชนบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยที่อยู่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่เอง
 
นายอุดร เปิดเผยด้วยว่า นายประยูร จะมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประจำการรถไฟ เขตภาคใต้ ซึ่งจะรับผิดชอบที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อจากตน ส่วนตนจะขึ้นไปรับผิดชอบทางภาคอีสานและภาคเหนือ
 
นายสุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม ตัวแทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2554 พอช.ได้ร่วมประชุมกังตัวแทนชุมชนทั้ง 12 ชุมชนดังกล่าว ที่อยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา ที่เทศบาลนครสงขลา เพื่อหารือว่า ชุมชนใดจะเข้าร่วมขบวนในการแก้ปัญหากังองค์กรใด ระหว่างเครือข่ายสลัม 4 ภาค หรือ สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.)
 
“เบื้องต้นมีชุมชนที่ร่วมขบวนเครือข่ายสลัม 4 ภาคอยู่แล้ว ประกอบด้วยชุมชนกุโบร์ จำนวน 190 ครัวเรือน ชุมชนศาลาหัวยาง 15 ครัวเรือน ชุมชนร่วมใจพัฒนา ชุมชนศาลาเหลือง ชุมชนสมหวังและชุมชนหัวป้อมโซน6” นายสุพัฒพงศ์ กล่าว
 
“ส่วนชุมชนที่ร่วมขบวน สอช. ประกอบด้วย ชุมชนกุโบร์ 155 ครัวเรือน ชุมชนศาลาหัวยาง 12 ครัวเรือน ชุมชนหัวป้อมโซน 1 – 6 ชุมชนพาณิชย์สำโรง ชุมชนบ้านบน ชุมชนบ้านพรุ ชุมชนมิตรเมืองลุง ชุมชนภารดรและชุมชนหลังอาชีวะ” นายสุพัฒพงศ์ กล่าว
 
นายนิธิป คงทอง ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายสลัม 4 ภาคเคยสอบถามในที่ประชุมว่าชุมชนไหนในเขตเทศบาลนครสงขลาต้องการเข้าร่วมขบวนเครือข่ายสลัม 4 ภาคบ้าง ปรากฏว่า มีตัวแทนชุมชน 5 – 6 ชุมชนยกมือ ประชุมจึงกำหนดให้แต่ละชุมชนออกแบบผังชุมชน จัดระบบสมาชิกและกำหนดอัตราค่าเช่า โดยจะปรับปรุงพื้นที่และขยับออกมาจากแนวรางรถไฟเดิม 5 เมตร
 
“เริ่มต้นชุมชนที่เข้าร่วมขบวนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ในอำเภอหาดใหญ่ มี 3 ชุมชน คือชุมชนเกาะเสือ1-3 ส่วนในตัวเมืองสงขลา คือ ชุมชนสมหวัง ชุมชนศาลาหัวยางครึ่งหนึ่ง ชุมชนกุโบร์ครึ่งหนึ่ง ชุมชนสมหวัง ชุมชนหัวป้อมโซน 6 และชุมชนร่วมใจพัฒนา” นายนิธิป กล่าว
 
นางละออ ชาญจาญจน์ ตัวแทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เปิดเผยว่า มีสมาชิกของชุมชนกุโบร์ 190 ครัวเรือนได้เข้าร่วมขบวนกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค ส่งผลให้ชุมชนกุโบร์เดิมที่ร่วมขบวนอยู่กับ สอช.แล้ว เหลือสมาชิกเพียง 155 ครัวเรือน
 
“เป็นความผิดของฉันเองที่ได้รับงบประมาณมาและชักชวนให้คนในชุมชนร่วมตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ต่อมาเมื่อชาวบ้านเห็นลู่ทางที่จะของบประมาณต่างๆ มากขึ้น จึงประสานกับเครือข่ายสลัม 4 ภาคและแยกตั้งกลุ่มออมทรัพย์อีกกลุ่มหนึ่ง ทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชน” นางละออ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท