Skip to main content
sharethis

อุดรธานี : วันที่ 25 ม.ค.54  แหล่งข่าวจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในกรณีการขอใบอนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานีว่า หลังจาก กพร.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงปักหมุดรังวัดพื้นที่เหมืองตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ต.ค. – 1 พ.ย. 53 จนแล้วเสร็จ ขณะนี้ขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตร

โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ของบริษัท เอเชีย แปซิกฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำระวางแผนที่เหมือง แต่ยังติดปัญหาเนื่องจากว่าพื้นที่ที่บริษัทฯ ยื่นขอมีเนื้อที่กว้างขวางกว่า 2.6 หมื่นไร่ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของชาวบ้านทั้งหมดที่อยู่ในบริเวณเขตเหมืองนั้นด้วย โดยให้เจ้าพนักงานที่ดินลงพื้นที่ไปทำระวางแนวเขตที่ดินแต่ละแปลงโดยละเอียดอีกครั้ง พร้อมทั้งให้เจ้าของแต่ละรายยินยอม ก่อนจะทำการไต่สวน ตรวจสอบพื้นที่ และปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ, ที่ทำการกำนัน, สำนักงานเทศบาล และ อบต. เพื่อให้ประชาชนค้านตามลำดับ

“ขอบอกว่ายังเหลือขั้นตอนอีกเยอะ ซึ่งกว่าจะรู้ว่าใครบ้างอยู่ในเขตเหมืองก็อีกนาน เพราะเจ้าพนักงานที่ดินจะต้องลงระวางที่ดินให้รู้ว่าที่ดินเป็นของใครบ้าง แต่ละแปลงมีลักษณะการใช้ประโยชน์อย่างไร และเจ้าของที่ดินต้องลงชื่อให้ครบ เพื่อใช้เป็นเอกสารแนบการอนุญาตออกประทานบัตร” แหล่งข่าวเปิดเผย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวสอดคล้องกับคำตอบของนายรังสรร  บุญสะอาด รักษาราชการแทนอุตสาหกรรมจังหวัด อุดรธานี เมื่อชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กว่า 10 คน เข้ายื่นหนังสือเพื่อสอบถามความคืบหน้าเรื่องการปิดประกาศขึ้นรูปแผนที่เหมืองโปแตชอุดรธานี เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด

โดยนายรังสรร กล่าวว่า การปักหมุดรังวัดเขตเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี กพร.ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาจากกรมเพื่อดำเนินการ โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมีหน้าที่เป็นเพียงไปรษณีย์ส่งข้อมูลและเอกสารต่างๆ ให้แก่ส่วนกลางและคอยชี้แจงทำความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่  ส่วนผลการรังวัดทั้งหมดนั้นอยู่ที่กรมเป็นผู้จัดทำ ซึ่งตามขั้นตอนเจ้าพนักงานที่ดินจะต้องมีการลงระวางที่ดินในเขตเหมืองอีกครั้งหนึ่ง

ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์  ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวโดยตั้งข้อสังเกตว่า การจ่ายค่าลอดใต้ถุนที่ไม่มีการระบุเอาไว้ในกฎหมาย แต่บริษัทฯ อ้างว่าเป็นเงินให้เปล่าที่ไม่มีระเบียบบังคับ ไม่มีเงื่อนไข หรือข้อผูกพันใดๆ โดยข้อเท็จจริงกลับพบว่าบริษัทฯ ให้ชาวบ้านนำเอกสารสิทธิ์เกี่ยวกับที่ดินไปให้ พร้อมทั้งให้เจ้าของที่ดินเซ็นต์ในหนังสือมอบอำนาจเพื่อให้บริษัทฯ สามารถกระทำการต่างๆ แทนเจ้าของที่ดินได้จนเสร็จการ

“การไต่สวนพื้นที่และปิดประกาศเขตเหมืองไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะ กพร. จะต้องรอเอารายชื่อทั้งหมดของชาวบ้านในเขตเหมืองมาแนบ แต่การจะให้ชาวบ้านในเขตเหมืองพื้นที่กว่า 2.6 หมื่นไร่ยินยอมนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้นบริษัทฯ จึงเอาเงินค่าลอดใต้ถุนมาเป็นเหยื่อ ล่อ ซึ่งถือเป็นขบวนการสมคบคิด และหลอกลวงชาวบ้านอย่างโจ่งแจ้ง ระหว่างข้าราชการ กพร.กับบริษัท เอพีพีซี เพื่อหลอกเอารายชื่อชาวบ้านในเขตเหมืองไปแนบเอกสารประกอบการขออนุญาตประทานบัตร” นายสุวิทย์กล่าว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net