วิกฤตด้านสุขภาพในพม่า ตอนที่ 2: เมื่อชุมชนในพื้นที่สงครามต้องดูแลสุขภาพเอง

รายงานจากสัมมนา "ภัยพิบัติจากมือมนุษย์: นัยยะของวิกฤตด้านสุขภาพในพม่าต่อประเทศไทย" ที่ ม.เชียงใหม่ ตอนจบ เผยเรื่องราว “Backpack” ขณะที่สงครามด้านตะวันออกของพม่าดำเนินมากว่า 60 ปี ชุมชนที่นั่นต้องวางแผนดูแลด้านสาธารณสุขกันเอง ด้านแพทย์แม่ฮ่องสอนเผยผู้ป่วยจากพม่าที่เพิ่มขึ้น ทำให้เพิ่มภาระด้านการจัดการของโรงพยาบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: วิกฤตด้านสุขภาพในพม่า ตอนที่ 1: แฉรัฐบาลพม่าเมินดูแลสาธารณสุข ทำสถิติโรคภัยพุ่ง, ประชาไท, 28 ม.ค. 54 http://www.prachatai.com/journal/2011/01/32847

 


การสัมมนา "ภัยพิบัติจากมือมนุษย์: นัยยะของวิกฤตด้านสุขภาพในพม่าต่อประเทศไทย" ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา

หน่วยงานสาธารณสุขชุมชน "Backpack Health Worker Team" ทำงานสาธารณสุขในพื้นที่รัฐฉานตอนใต้ ภาพนี้อยู่ในรายงานเรื่อง Diagnosis Critical: Health and Human Rights in Eastern Burma หน้า 13 ซึ่งสมาคมการแพทย์แห่งพม่า และองค์กรด้านการแพทย์ในพื้นที่ชายแดนพม่า ร่วมกันวิจัยและได้เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมปี 2553 สำหรับเอกสารรายงานดังกล่าวฉบับ pdf สามารถดาวโหลดได้ที่นี่ [ภาษาไทย], [ภาษาอังกฤษ]

 

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการสัมมนาหัวข้อ "ภัยพิบัติจากมือมนุษย์: นัยยะของวิกฤตด้านสุขภาพในพม่าต่อประเทศไทย" โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นพ.วิทย์ สุวรรณวนิชกิจ จากศูนย์เพื่อสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชน วิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกิน (Center for Public Health & Human Right, John Hopkins Bloomberg School of Public Health) นายซอ เน ทู จากสมาคมการแพทย์แห่งพม่า (Burma Medical Association) นางวาเมเซ ผู้ประสานงานหน่วยงานสาธารณสุขชุมชน Backpack Health Worker Team และ นพ.วรเชษฐ์ เต๋ชะรัก รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.ศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน โดยที่ประชาไทนำเสนอในส่วนการนำเสนอของ นพ.วิทย์ และนายซอ เน ทู ไปแล้วนั้น [อ่านข่าวย้อนหลังที่นี่]

 

‘Backpack’ เมื่อชุมชนในพื้นที่สงครามต้องดูแลสุขภาพเอง

นางวาเมเซ ผู้ประสานงานหน่วยงานสาธารณสุขชุมชน Backpack Health Worker Team นำเสนอในหัวข้อ การตอบสนองขององค์กรชุมชนต่อวิกฤตทางสุขภาพในพม่า (Community based organization response to the health crisis in Burma) โดยกล่าวว่า ชุมชนในพม่าประสบปัญหาวิกฤตทางสุขภาพมา 60 กว่าปีแล้ว เพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้ชุมชนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมได้ ตั้งแต่ปี 2539 มีการย้ายถิ่นฐานกว่า 3,000 หมู่บ้าน ในภาคตะวันออกของพม่า ทำให้มีคนพลัดถิ่นกว่า 500,000 คน ซึ่งคนเหล่านี้เข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ จึงต้องพึ่งพาองค์กรต่างๆ

ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งหน่วยงานสาธารณสุขชุมชน “Backpack Health Worker Team” หรือ “แบกแพ็ค” ซึ่งมีการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพมีการฝึกอบรม ฝึกคนในชุมชน เช่น ฝึกหมอตำแยพื้นบ้าน มีการฝึกอาสาสมัครด้านสาธารณสุขในหมู่บ้าน มีเรื่องการให้สุขศึกษาแก่ผู้ที่อยู่ในชุมชน ร่วมกับองค์กรต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือเรื่องสารสนเทศด้านสุขภาพ พัฒนาระบบและนโยบายด้านสุขภาพ และรณรงค์ระดับชาติและนานาชาติ เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ ไปยังชุมชนด้านตะวันออกของพม่า โดยเฉพาะในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง และรัฐฉาน

โดย “แบกแพ็ค” มีการตั้งศูนย์เชี่ยวชาญทางการแพทย์เฉพาะทางภายในพื้นที่พม่า ในพื้นที่ซึ่งสถานการณ์สู้รบไม่รุนแรงด้วย นอกจากนี้ยังมีการตั้งหน่วย “แบกแพ็ค” เป็นกลุ่มย่อยๆ กลุ่มละ 3-5 คน ซึ่งกลุ่มย่อยนี้สามารถดูแลสุขภาพของประชากรได้ 2,000 คน ซึ่งแม้ว่าจะประสบปัญหาพวกเขาก็พยายามฝ่าฝันเพื่อดูแลคนที่อาศัยแถวนั้น

นางวามาเซ กล่าวต่อว่า ศูนย์เชี่ยวชาญทางการแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งสถานการณ์คงที่ จะทำหน้าที่ดูแลควบคุมโรคติดต่ออย่างเช่นมาลาเรีย และเรื่องการอนามัยเจริญพันธุ์ ในกรณีการควบคุมโรคมาลาเรียก็เพื่อลดอัตราการตาย มีการค้นหาผู้ป่วยที่ป่วยตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แจกมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัด ในเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ มีการให้ความรู้ จัดการอบรมให้อาสาสมัครในหมู่บ้านเพื่อลดอัตราการตายของมารดา และการให้บริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ครบถ้วน ในการฝึกอบรมจะใช้โปสเตอร์ที่เข้าใจได้ง่าย มีการดูแลการคลอดแบบหมอตำแยพื้นบ้าน จัดเครื่องมือทำคลอด ดูแลแม่หลังคลอด ส่งต่อรายที่มีปัญหาไปยังคลินิกที่เหมาะสม และมีการวางแผนครอบครัว

นอกจากนี้หน่วยงานสาธารณสุขชุมชน “Backpack Health Worker Team” ยังทำงานด้านระบบสารสนเทศด้านสุขภาพ มีองค์กรต่างๆ ช่วยเหลือด้านการเก็บข้อมูล มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขในประเทศไทยด้วย เพื่อขอคำแนะนำทางวิชาการ และจัดระบบลอจิสติก วัคซีน การตรวจพิเศษ การตรวจอัลตราซาวด์ การกำจัดของเสียทางการแพทย์ การส่งต่อกรณีฉุกเฉิน เฝ้าระวังโรคติดต่อ ป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับองค์กรนานาชาติ เช่น มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกิน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ฯลฯ ด้วย

นางวาเมเซ กล่าวด้วยว่า เพราะปัญหาจากการสู้รบ ทำให้การสิ่งของทางการแพทย์ต่างๆ ต้องส่งมาจากชายแดน นอกจากนี้ยังแสดงความกังวลต่อสถานการณ์สู้รบที่เพิ่มขึ้นด้านชายแดน ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากอพยพเข้ามาในพื้นที่ไทย และจำนวนมากต้องอพยพโยกย้ายอยู่ภายในพื้นที่ฝั่งพม่า ซึ่งเกรงว่าสถานการณ์วิกฤตด้านสุขภาพของพม่าจะเลวร้ายลง แม้จะมีรัฐบาลใหม่แต่สถานการณ์ก็ยังคงเหมือนเดิม

 

หมอแม่ฮ่องสอนเผยผู้ป่วยจากพม่าเพิ่มขึ้น มีผลต่อการจัดบริการในโรงพยาบาล

ด้าน นพ.วรเชษฐ์ เต๋ชะรัก รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวถึงประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า โดยกล่าวว่า ตนทำงานมาแล้ว 19 ปี วันนี้ขอนำประสบการณ์ฝั่งเมืองไทยมาเล่าบ้าง

นพ.วรเชษฐ์ เล่าว่า พื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอนส่วนใหญ่ติดกับ รัฐคะยาห์ ของพม่า ในจังหวัดมีประชากรที่เป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในค่ายราว 5 หมื่นคน ไม่ได้มีคนเข้าเดินออกเหมือน อ.แม่สอด ที่แม่ฮ่องสอนมีลักษณะจำเพาะ คือมีคนจากพม่าเข้ามาเป็นเวลานานพอสมควร รัฐบาลพยายามไปลงทะเบียนเพื่อประโยชน์หลายด้าน โดยสามารถจำแนกประชากรจากพม่าในแม่ฮ่องสอน ตามบัตรประจำตัว โดยในแม่ฮ่องสอนมีผู้ถือบัตรสี 39,308 คน แรงงานต่างด้าว 2,377 และผู้ลี้ภัย 50,251 คน ตัวเลขของผู้ลี้ภัยอาจจะลดลงบ้างเนื่องจากได้ไปประเทศที่ 3 คนต่างด้าวไม่มีบัตรประจำตัวและเลข 13 หลัก 4,655 คน รวม 96,591 แต่ในจำนวนคน 4,655 อาจระบุตัวไม่ได้ชัด เพราะคนกลุ่มนี้อาจซ้ำกับคนลี้ภัยในค่าย หรือคนที่ถือบัตรสี

นพ.วรเชษฐ์ กล่าวถึงผลกระทบด้านสาธารณสุขที่ได้รับ ในด้านบริการผู้ป่วย โดยอธิบายว่าใน จ.แม่ฮ่องสอน ของ รพ.ศรีสังวาลย์เป็นโรงพยาบาลทั่วไป ผู้รับบริการมาจากพื้นที่ อ.เมืองเป็นส่วนใหญ่ น้อยมากที่จะมาจากต่างอำเภอ โดยโรงพยาบาลบุคลากรทางการแพทย์เพียงครึ่งหนึ่ง ตามจำนวนที่ควรจะมีหากยึดตามจำนวนประชากรไทยที่อยู่ในพื้นที่

มีคนไข้ที่ไม่ใช่คนไทย เป็นผู้ป่วยนอก (OPD) ร้อยละ 20 ประกอบด้วย คนต่างด้าวที่ไม่มีบัตรประจำตัวเลข 13 หลัก ร้อยละ 8 ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเป็นผู้ป่วยนอกร้อยละ 7 ที่มีไม่มากเพราะในค่ายมีระบบจัดการ แรงงานต่างด้าวร้อยละ 3 นอกจากนี้มีผู้ป่วยในที่เป็นคนต่างด้าว โดยผู้ป่วยที่มาจากค่ายผู้อพยพจะเป็นกรณีเจ็บป่วยหนัก ซึ่งจะมีผลต่อการจัดการบริการของโรงพยาบาล

โดยจากภาระงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้การบริหารจัดการของโรงพยาบาลไม่สามารถวางแผนอะไรได้เลย เช่น เรื่องการระบุตัวบุคคล ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นคนต่างด้าว ถ้าเป็นชายจะไม่มีนามสกุลมีแต่ชื่อ บางคนจะเปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆ โดย นพ.วงเชษฐ์ ยกตัวอย่างที่ประสบว่า ใน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีประชากรใน อ.เมือง 50,000 คน แต่เฉพาะโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ มีบัตรผู้ป่วยนอกประมาณ 300,000 ใบ คือมากกว่าประชากร 6 เท่า แสดงว่ามีการบันทึกซ้ำไปซ้ำมา และเวลาผู้ป่วยถือบัตรผู้ป่วยนอกมาจะมีปัญหาว่าหาฐานข้อมูลผู้ป่วยไม่เจอ ถือเป็นภาระงานแฝงในโรงพยาบาล

แน่นอนว่าภาระงานในการเข้ามา มีหลายครั้งที่เกิดปัญหาเรื่องความพึงพอใจจากคนในพื้นที่ซึ่งคิดว่ามาแย่งทรัพยากร ก็ได้ชี้แจงว่า "เราไม่สามารถไปจัดคิวว่านี่คนไทยนี่ไม่ใช่คนไทยได้" ทั้งนี้เพราะการวางแผนงานของโรงพยาบาลเป็นการวางแผนตามข้อมูลจำนวนประชากรไทย ดังนั้นพอมีคนจากพม่าเพิ่มเข้ามาจึงทำให้การจัดการยุ่งยาก

นพ.วรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ผลกระทบที่คิดว่าสำคัญ คือ เจอผู้ป่วยจากพม่าถูกทอดทิ้งทุกปี เช่น เมื่อเขารักษาแบบผู้ป่วยใน เมื่อรักษาจนหายแล้ว ก็กลับบ้านไม่ได้ โดยมีหลายรายที่เมื่อรักษาจนจากหายแล้วมีความพิการเกิดขึ้นและถูกทิ้ง ปีหนึ่งๆ จะมีคนถูกทอดทิ้งประมาณ 2-3 รายทุกปี โรงพยาบาลจึงเหมือนสถานสงเคราะห์ รายล่าสุดที่พบเป็นผู้ป่วยต้องรออยู่โรงพยาบาลกว่าปีครึ่ง กว่าจะหาองค์กรมารองรับได้

 

เผยบางกรณีติดตามคนไข้มารักษาต่อเนื่องไม่พบ ทำให้การรักษาระยะยาวยังทำได้ยาก

นพ.วรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า คนจากพม่ากลุ่มนี้ยังไม่มีความคุ้มครองเรื่องการรักษาพยาบาล กรณีที่ป่วยด้วยโรคที่ต้องการการรักษาต่อเนื่อง หรือการรักษาระยะยาว ยังทำได้ลำบาก เพราะที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่งมีปัญหาเช่นจะตามว่าคนไข้หายไปไหน เช่น ป่วยด้วยวัณโรค หรือเอชไอวี ถ้าผู้ป่วยเริ่มรักษาด้วยยาแล้ว ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ต้องมารับยา หมอกลับตามหาไม่เจอ เป็นต้น สอง เรื่องการส่งต่อในทางการแพทย์ บางโรคเรารู้ว่ารักษาได้ รับยาแล้วผลลัพธ์ต้องดี แต่ประสบปัญหาโรงพยาบาลปลายทางไม่อยากรับ กลายเป็นเรื่องขัดแย้ง เพราะการส่งต่อผู้ป่วยทำได้ค่อนข้างยาก และปัญหาเช่นนี้เจอทุกสัปดาห์ ทั้งกรณีผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ หรือโรคอื่น อย่างบางกรณีแค่ผ่าเลือดออกจากสมองของผู้ป่วยก็รักษาได้แล้ว แต่เราหาที่ส่งตัวไม่ได้

นพ.วรเชษฐ์ เปิดเผยด้วยว่า ในแต่ละปีโรงพยาลประสบปัญหาหนี้ค้างชำระกรณีที่ผู้ป่วยเป็นคนต่างด้าว กรณีไม่รวมผู้ป่วยที่เป็นผู้อพยพในค่าย เพราะกรณีนี้จะมีองค์กรบรรเทาทุกข์สนับสนุนค่ารักษาอยู่แล้ว แต่ปัญหาหนี้ค้างชำระเกิดขึ้นกับชาวพม่าที่อยู่ในค่ายผู้อพยพ โดยแต่ละปีโรงพยาบาลประสบหนี้ค้างชำระราว 10 ล้านบาทต่อปี โดยหนี้ที่เกิดขึ้นนี้คิดเฉพาะค่ายาและค่าวัสดุ แต่ถ้ารวมค่าใช้จ่ายทางอ้อมเข้าไปตัวเลขจะมากกว่านี้หลายเท่า เพราะถ้ามีคนไข้ในมากขึ้นร้อยละ 15 ค่าจ้างพยาบาลก็ต้องเพิ่มขึ้น ค่าน้ำค่าไฟก็ต้องเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขจำนวนนี้ไม่สามารถคำนวณออกมาได้

นพ.วรเชษฐ์ กล่าวถึง อาการเจ็บป่วยที่ชาวพม่าเข้ามารับการรักษาในโรงพยาลว่า โรคในค่ายผู้อพยพ ที่ผู้อพยพมักรับการรักษากับหน่วยงานพยาบาลภายในค่าย ได้แก่ มาลาเรีย อุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ มาลาเรีย แต่สำหรับโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ผู้ป่วยที่เป็นชาวพม่ามักจะเข้ามาทำคลอด โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยชาวพม่าเข้ามาทำคลอดประมาณ 300 รายต่อปี คิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนคนไข้ที่มาทำคลอดกับโรงพยาบาลตกปีละราว 1,000 ราย นอกจากนี้ยังมีชาวพม่าซึ่งเจ็บป่วยเนื่องจากประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วย

นพ.วรเชษฐ์ กล่าวถึงผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคมาลาเรียราว 400 รายต่อปี ในปี 2553 มีผู้ป่วยมาลาเรีย 375 ราย เป็นคนต่างด้าว 161 ราย คนไทย 214 ราย หากดูการกระจายตัวของโรคมาลาเรียตามแผนที่ จ.แม่ฮ่องสอน โดยยึดทางหลวงที่พาดจากทิศใต้ถึงทิศเหนือของ จ.แม่ฮ่องสอน แบ่งพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอนออกเป็นฝั่งทิศตะวันออกและทิศตะวันตก จะพบว่าการระบาดของโรคมาลาเรียเกิดขึ้นเฉพาะด้านตะวันตกของถนนเท่านั้น ยกเว้นจะมีการระบาดเป็นครั้งๆ คือเกิดในเมืองเลย โดยมีตัวอย่างมาแล้ว คือมีผู้ป่วยมาลาเรียเป็นคนงานจากพม่าทำงานในร้านอาหาร พอกลับมาทำงานที่ร้านแล้วป่วย ก็ไปแพร่เชื้อในร้าน ทำให้เจ้าของร้าน ลูกจ้างเป็นมาลาเรียกันทั้งร้าน และมีเพื่อนบ้านข้างเคียงที่ป่วยด้วย

นพ.วรเชษฐ์ กล่าวถึง ปัญหาการรักษาผู้ป่วยจากพม่าซึ่งป่วยเป็นวัณโรคและเอชไอวีว่า ในกรณีดังกล่าว ปัญหาที่พบกับผู้ป่วยทั้งวัณโรค และเอชไอวี คือ ไม่สามารถติดตามคนไข้กลับมารักษาอย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งการไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องทำให้เชื้อมีโอกาสดื้อยาสูง ผู้ป่วยบางรายย้ายไปหลายพื้นที่และติดตามกลับมารักษาไมได้ ย้ายกลับไปฝั่งพม่าก็มี มีคนไข้รายหนึ่งที่ตนเพิ่งตรวจพบว่าหายจากการรักษาต่อเนื่องไปสามเดือน พอกลับมาอีกทีเชื้อดื้อยาหมดเลย และสวัสดิการยาที่สามารถจ่ายได้ ก็ไม่ครอบคลุมกับยาชนิดที่ใช้รักษาเชื้อที่ดื้อยา

ในช่วงท้าย นพ.วรเชษฐ์ตอบคำถามจากผู้ร่วมประชุม ในเรื่องของหนี้ค้างชำระของโรงพยาบาล โดย นพ.วรเชษฐ์ กล่าวว่า มีผู้มีจิตช่วยเหลือช่วยค่ารักษาบ้าง บางหน่วยงานก็ช่วยเหลือพอสมควรอย่างไม่เป็นทางการ นอกจากนี้โรงพยาบาลก็พยายามใช้งบประมาณอย่างประหยัดด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท