Skip to main content
sharethis
 
ข้อมูลจาก: ทีมปฏิบัติงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
 
 
 
 
ขณะที่โฉนดชุมชนฉบับแรกของประเทศ โดยรัฐบาลที่นำโดยนายกอภิสิทธิ เวชชาชีวะ จะถูกส่งมอบให้กับชาวบ้านสหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยง ในวันที่ 12 ก.พ.นี้ แต่ในอีกหลายพื้นที่ของประเทศก็ยังประสบกับปัญหาเกษตรกรรุกเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ไม่ว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่าของเอกชน ที่เขตป่าที่อยู่ในความดูแลของรัฐ หรือที่ดินที่ถูกประกาศเขตพื้นที่รัฐทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวบ้าน
 
กรณีสวนป่าคอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ คือ อีกหนึ่งรูปธรรมปัญหาพื้นที่พิพาทของชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดในสาระสำคัญของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่เข้าเงื่อนไขการครอบครองมาก่อน 3 ปี แม้จากประวัติศาสตร์การบุกเบิกถือครองทำประโยชน์ในที่ดินชาวบ้านจะมีความชอบธรรมที่จะมีที่ดินทำกิน หลังจากต้องสูญเสียที่ดินมาเป็นเวลานานกว่า 32 ปี แต่จากการดำเนินการของรัฐที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถนำเอาที่ดินซึ่งหมดอายุสัมปทานมาจัดให้แก่ชาวบ้านที่ยากจนได้
 
นอกจากนั้นที่ผ่านมาองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เจ้าของพื้นที่สวนป่าคอนสาร ยังได้ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อบีบบังคับให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่โดยการฟ้องขับไล่ชาวบ้านจำนวน 31 คน และให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรวมถึงต้นไม้ อีกทั้งได้ขอคุ้มครองชั่วคราว ห้ามไม่ให้ขยายพื้นที่ครอบครองออกจากพื้นที่เดิม และห้ามไม่ให้เพาะปลูกเพิ่มเติม
 
คดีดังกล่าวศาลได้ออกหมายการบังคับคดีให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งทางทนายฝ่ายชาวบ้านได้ยื่นคำร้องของดการบังคดีและศาลจะมีคำพิพากษาในวันที่ 16 ก.พ.2554 นี้
 
 
“ชุมชนบ่อแก้ว” การฮึดสู้โดยผู้สูญเสียที่ดิน
 
นับเนื่องจากเมื่อปี 2521 ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าไปดำเนินโครงการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร เพื่อปลูกยูคาลิปตัส และให้สัมปทานทำไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ซึ่งครอบคลุมเนื้อที่ทั้งหมด 4,401 ไร่ ของ จ.ชัยภูมิ ชาวบ้านหลายครอบครัวต้องอพยพออกจากพื้นที่เดิม บ้างไปอาศัยอยู่กับญาติ และบางครอบครัวต้องกลายเป็นแรงงานรับจ้างเพราะไม่มีที่ดินหลงเหลืออยู่เลย
 
การปลูกสร้างสวนป่าคอนสารสร้างปัญหาใหญ่ให้ชาวบ้าน ต.ทุ่งพระ เนื่องจากมีการใช้พื้นที่เกินพื้นที่จริงที่วางไว้ และรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทำกิน-ที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตเกษตรกร และนำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่
 
ชาวบ้านผู้เสียหายกลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มที่ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่จนกลายเป็นกลุ่มคนไร้ที่ดินทำกิน ด้วยวิธีการบังคับ ข่มขู่ คุกคาม จับกุม ดำเนินคดี ตั้งข้อหาเกินความจริงใส่ร้ายชาวบ้านด้วยการเอาระเบิดมาฝังไว้ในพื้นที่
 
กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ตกอยู่ในภาวะต้องจำยอมสมัครเป็นสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้จำนวน 130 ครอบครัว ซึ่งปัจจุบัน อ.อ.ป.ยังไม่ได้จัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้กับสมาชิกกลุ่มนี้ตามที่สัญญาไว้ ประกอบกับบางครอบครัวได้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะไปหาที่ดินทำกินได้จากที่ไหน
 
“ชุมชนบ่อแก้ว” จึงได้ถูกก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 จากการรวมตัวของชาวบ้านผู้ประสบปัญหาสูญเสียที่ดินมาเป็นเวลานานกว่า 32 ปี ที่ได้เข้าปักหลักชุมนุมในพื้นที่บริเวณสวนป่าคอนสาร ซึ่งอยู่ในการดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิเพื่อเรียกร้องให้ได้ทำกินในพื้นที่ทำกินเดิมของตนเอง
 
ทั้งนี้ ก่อนมาเป็นชุมชนบ่อแก้วในปัจจุบัน ชาวบ้านใน ต.ทุ่งพระ อยู่อาศัยกันเป็นชุมชนประกอบด้วย บ้านน้อยภูซาง บ้านหัวปลวกแหลม บ้านทุ่งพระ บ้านโนนหัวนา บ้านห้วยไห โดยยืนยันได้จากหลักฐานสิทธิการถือครองที่ดิน สค.1 ที่ออกเมื่อปี พ.ศ.2486
 
 
การต่อสู้อันยาวนานของชุมชน
 
ก่อนหน้านี้ชาวบ้าน ต.ทุ่งพระได้รวมตัวกันคัดค้าน อ.อ.ป.ตั้งแต่เริ่มเข้ามาดำเนินโครงการ และเรียกร้องให้ยกเลิกการปลูกสร้างสวนป่าคอนสารและคืนสิทธิในที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านผู้เดือดร้อน แต่ อ.อ.ป.ก็ยังคงเข้าดำเนินโครงการมาจนถึงปัจจุบัน
 
ในปี พ.ศ.2547-2548 ผู้เดือดร้อนจากที่ดินทำกินกรณีสวนป่าคอนสาร เริ่มชุมนุมเรียกร้องให้มีกลไกการแก้ไขปัญหาร่วม โดยมีองค์ประกอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประชาคมตำบลทุ่งพระ นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงการเรียกร้องผ่านองค์กรอิสระ อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
คณะทำงานที่แต่งตั้งเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2548 โดยผู้ว่าราชการจังหวัด และมีหัวหน้าสวนป่าคอนสารเป็นประธานคณะทำงาน ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ชาวบ้านจำนวน 277 ราย ได้รับผลกระทบจากการปลูกสร้างสวนป่าจริง โดยมีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารและนำพื้นที่มาจัดสรรให้กับชาวบ้าน
 
ต่อมาจึงมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อ ประชาคมตำบลทุ่งพระจากทุกหมู่บ้าน ตอกย้ำมติเดิมให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารและให้นำที่ดินจำนวน 1,500 ไร่มาจัดสรรให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ได้
 
แต่คำตอบที่ชัดเจนเหล่านี้ก็ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้เนื่องจากอ้างว่าเรื่องนี้ต้องมีแนวทางการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายของรัฐมนตรีกระทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
 
24 มี.ค.2552 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) คณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีกระบวนการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาที่ดินป่าไม้จนถึงปัจจุบันไปจำนวนทั้งหมด 8 ครั้ง และได้ลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริงที่สวนป่าคอนสาร จำนวน 4 ครั้ง แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่มีแนวทางหรือกระบวนการที่จะทำให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินในพื้นที่พิพาทได้
 
ตลอดระยะเวลา 32 ปีที่ผ่านมาผู้ได้รับผลกระทบจากการปลูกสร้างสวนป่าคอนสารทับที่ดินทำกิน ที่ได้สูญเสียที่ดินไป และยังไม่มีความมั่นใจว่าจะได้ที่ดินกลับคืนมาเมื่อไหร่
 
 
 “โฉนดชุมชน” แนวทางที่ยังรอคำตอบ เมื่อชาวบ้านยังโดนคดี
 
วันที่ 17 ก.ค.2552 ผู้เดือดร้อนจากสวนป่าคอนสารจำนวน 169 ครอบครัวได้เข้าไปปักหลักรอคำตอบจากรัฐบาลในบริเวณพื้นที่พิพาท ตั้งเป็นชุมชนบ่อแก้ว โดยมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด และให้นำที่ดินมาจัดสรรให้ชาวบ้านในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ประกอบกับในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ได้จำนวน 1,500 ไร่ ตามมติประชาคมทุ่งพระ (29 ธ.ค.2551)
 
ปรากฏว่าในเดือนถัดมา เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2552 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้ฟ้องขับไล่ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจำนวน 31 คนให้ออกจากพื้นที่ และได้ขอคุ้มครองชั่วคราว ห้ามไม่ให้ขยายพื้นที่ครอบครองออกจากพื้นที่เดิม ไม่ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น และห้ามขัดขวางโจทก์ในการเข้าตรวจสอบพื้นที่พิพาท
 
ตลอดระยะเวลาร่วม 2 ปีที่ผ่านมา อ.อ.ป.ได้ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือบีบบังคับให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2553 ศาลได้พิพากษาให้ชาวบ้าน 31 คนออกจากพื้นที่และให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรวมถึงต้นไม้ และเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2553 ศาลได้ออกหมายการบังคับคดีให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งทางทนายฝ่ายชาวบ้านได้ยื่นคำร้องของดการบังคดีและศาลจะมีคำพิพากษาในวันที่ 16 ก.พ.2554 นี้
 
การดำเนินคดีกับชาวบ้าน นอกจากจะชี้ให้เห็นว่า อ.อ.ปไม่ยอมรับต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ยังพิสูจน์ว่าปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเพราะความล่าช้าและการไม่กล้าตัดสินใจของหน่วยงานรัฐ จึงเป็นการตอกย้ำที่เพิ่มความทุกข์ทรมานให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาที่ดินทำกิน
 
ทั้งนี้ มาตรการระยะสั้นที่ชาวบ้านเรียกร้องเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของพวกเขา คือ ทาง อ.อ.ป ต้องยกเลิกการดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้ง 31 คน พร้อมยืนยันว่าไม่ได้บุกรุกที่ดินของ ออป.แต่เป็นการเข้าไปเพื่อขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำกินเดิมของชาวบ้าน และผลักดันให้รัฐบาลเร่งจัดสรรที่ดินทำกินในพื้นที่พิพาทจำนวน 1,500 ไร่ ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 32 ปี ในรูปแบบ "โฉนดชุมชน"
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net