Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.54 ที่โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน จ.เชียงใหม่ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดโครงการอบรมวิชาการ หัวข้อ “เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา” (Our Boundaries—Our Asean Neighbors) ครั้งที่ 3 โดยก่อนหน้านี้จัดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 9 ม.ค. 54 และที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 14 ม.ค.54

ในช่วงบ่าย มีการสัมมนาหัวข้อ “กรณีศึกษาเขตแดนระหว่างประเทศ – ไทยกับเพื่อนบ้าน และการแก้ไขปัญหาของมรดกโลก” ในตอนหนึ่งของการสัมมนา ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า แม่น้ำโขง-เทือกเขาพนมดงรักเป็นมรดกโลกข้ามพรมแดนของอาเซียน กรณีเขาและปราสาทพระวิหารที่มีอาณาเขตเพียงไม่กี่ตารางกิโลเมตร ดูเหมือนว่าสภาพปัจจุบัน ทางออกของปัญหาจะเป็นขาวหรือไม่ก็เป็นดำ จะเป็นบวกหรือไม่ก็เป็นลบ ดังสองทัศนะของผู้อาวุโสสองท่านตรงกันข้ามกัน ซึ่งคุณ สาวีตรี สุวรรณสถิต เป็นชุดกรรมการมรดกโลกชองฝ่ายไทย ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในบทความเรื่อง “มรดกโลกสองฟากพรมแดน-กรณีอุทยานแห่งชาติและน้ำตกอีกวาซู ในอาร์เจนตินาและบราซิล” ว่า กรณีมรดกโลกสองฝั่งพรแดนที่อีกวาซู ในประเทศอาร์เจนตินาและบราซิลนั้น น่าจะเป็นกรณีที่ผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการมรดกโลกในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงของไทย ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะอาจจะเป็นบทเรียนที่ให้แนวคิดในเชิงบวก ในกรณีที่ไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านมีมรดกโลก ที่มีปัญหาพรมแดนกัน รวมทั้งการป้องกัน การดำเนินการก่อสร้างถนน หรือเขื่อนในบริเวณที่อาจจะเป็นการคุกคามเชิงลบ ที่มีต่อมรดกโลกได้ คือ การทำมรดกโลกข้ามเขตแดน

ส่วนความเห็นที่ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม เสนอไว้ คือ ปัญหามันแก้ง่าย หนึ่ง ใช้โอกาสตรงนี้ไล่เขมรออกจาก 4.6 ตารางกิโลเมตร ถ้าไม่ไล่ก็ให้ยกเลิกมรดกโลก ประชุมไม่ได้ในคราวหน้า ฮุนเซนก็คลั่งอีก ถ้ามองมุมกลับเราได้เปรียบช และสอง ถอนยูเนสโก แล้วก็ถอน MOU พ.ศ. 2543

ดังนั้น เรามาพิจารณาความเป็นไปได้จากความคิดเห็นทั้งสองคน คือ การแก้ไขปัญหาโดยการเสนอมรดกโลกข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นข้อเสนอในระยะสั้น หรือเฉพาะหน้า  โดยอย่างแรก ปรึกษาหารือและเจรจาตามสันติวิธี โดยแนวทางของบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชา หรือ MOU พ.ศ.2543 ที่ลงนามโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร กับนายวาคิมฮง ในสมัยของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ อย่างที่สอง นำปัญหาข้อพิพาททั้งหมด กลับไปขึ้นศาลโลก หรือสาม ส่งกองกำลังทั้งบก-เรือ-อากาศ-ทำสงครามกับกัมพูชา

ชาญวิทย์กล่าวด้วยว่า ประชามหาชนชาวสยามไทย น่าจะเห็นด้วยที่จะเลือกกับข้อหนึ่ง คือ ปรึกษาหารือและเจรจาตามสันติวิธี และวิธีแก้ไขระยะยาว โดยข้อเสนอในระยะยาวนั้น พิจารณาจากธรรมชาติที่มารวมตัวมาบรรจบกันที่นี่ ที่นี่จึงสมควรเป็นดินแดนสันติสุข ใช้กรอบของสามประเทศ เป็นมรดกข้ามพรมแดน แม่น้ำโขง-พนมดงรัก เป็นมรดกโลกข้ามพรมแดนของอาเซียน 3 ประเทศครอบคลุมจากป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทพระวิหาร ปราสาทวัดพู ถึงน้ำตกคอนพะเพ็งและแก่งลีผี ทำให้เป็นมรดกข้ามพรมแดน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net