ร้อง ผบ.ตร. ปลดโซ่เเรงงานข้ามชาติที่ป่วยหนัก-ถูกอายัดตัวไว้ รพ.ตำรวจ

(3 ก.พ.54) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเเละการพัฒนา (มสพ.) ยื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ และประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ เรียกร้องให้ปลดโซ่ล่ามนายชาลี หรือ ชาลี ดียู เเรงงานชาวพม่าซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจดบาดเจ็บสาหัสและอยู่ระหว่างเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ


"ชาลี" แรงงานชาวพม่า ผู้ป่วยหลังประสบอุบัติเหตุระหว่างทำงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 54
ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา ถูกโรงพยาลแจ้งตำรวจจับ โดยถูกควบคุมตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
รอการส่งกลับประเทศ (ที่มาของภาพ: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา)

โดยหนังสือระบุว่า เนื่องจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีนายชาลี หรือชาลี ดียู เเรงงานข้ามชาติชาวพม่าซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 โดยที่นายจ้างและกองทุนเงินทดเเทนก็ไม่ยอมรับผิดชอบค่าใช่จ่ายใด และเนื่องจากนายชาลีไม่มีเอกสารเเสดง

อย่างไรก็ตาม นายชาลีได้แจ้งว่าตนเคยขึ้นทะเบียนเเรงงานต่างด้าวไว้แล้วเมื่อเดือนมกราคม 2553 แต่เนื่องจากนับตั้งแต่ประสบอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 ก็พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลมาโดยตลอดและไม่ได้กลับไปที่พักอีก เอกสารประจำตัวต่างๆ ที่เก็บไว้ในที่พักซึ่งเช่าอยู่ก็สูญหายทั้งหมด อีกทั้งยังถูกนายจ้างทอดทิ้ง จึงไม่ได้ต่อใบอนุญาตทำงานในช่วงวันที่ 20 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา

กระทั่งต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 โรงพยาบาลจึงได้เเจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ นายชาลีจึงถูกจับกุมและนำตัวไปควบคุมไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กรุงเทพมหานคร เพื่อรอการส่งกลับไปยังประเทศพม่า อย่างไรก็ตามจากการเรียกร้องของมูลนิธิฯ สตม.จึงได้ส่งตัวนายชาลีไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ และเมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ได้เข้าเยี่ยมนายชาลีเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พบว่านายชาลีถูกอายัดตัวอยู่ภายในห้องขังและถูกล่ามโซ่ไว้กับเตียงผู้ป่วยตลอดเวลา ไม่สามารถลุกจากเตียงได้

จากกรณีดังกล่าว มูลนิธิฯ จึงร้องเรียนไปยังผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจเเห่งชาติและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ เรียกร้องให้ดำเนินการปลดโซ่ล่ามนายชาลี เนื่องจาก

* นายชาลีมิได้กระทำผิดร้ายแรง มิได้อยู่ในสภาพที่จะสามารถหลบหนีได้ และการล่ามโซ่ผู้ป่วยเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีลักษณะเป็นการทรมานซึ่งขัดต่อมาตรา 26 และมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ทั้งนี้ ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 1438/2552 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2552
* การพันธนาการนายชาลี ขัดต่อระเบียบและมาตรการปฏิบัติในการรับตัว ควบคุม ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องกักต่างด้าว ตามคำสั่งกองบังคับอำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ 21 / 2545 ข้อ 4.3 ซึ่งระบุว่า “ห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี หรือหญิง คนชรา คนพิการ และคนเจ็บป่วย ซึ่งไม่สามารถจะหลบหนีได้ด้วยกำลังตนเอง” ซึ่งกรณีของนายชาลี เป็นผู้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจนได้รับบาดเจ็บสาหัสบริเวณหน้าท้องมีเเผลผ่าตัดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อในลักษณะที่ลำใส้ใหญ่ยังอยู่ด้านนอกผนังหน้าท้อง ไม่สามารถขับถ่ายได้อย่างปกติจึงต้องมีถุงรองรับของเสียจากร่างกายอยู่ด้านนอกติดกับลำใส้ใหญ่ กระดูกต้นขาขวาหักไม่สามารถเดินได้ นอกจากนี้ ห้องในโรงพยาบาลตำรวจที่นายชาลีได้รับการรักษายังมีลักษณะเป็นห้องขัง นายชาลีจึงไม่สามารถหลบหนีได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องปฏิบัติตามระเบียบฯ ข้อ 4.3 ข้างต้น กล่าวคือ ห้ามใช้เครื่องพันธนาการกับนายชาลี

ญาดา หัตถธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ฝ่ายโครงการ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเเละการพัฒนา (มสพ.) ซึ่งได้ให้การช่วยเหลือนายชาลีในกรณีนี้ กล่าวว่า ด้วยสภาพร่างกายของนายชาลีที่ไม่สามารถหลบหนีได้ อีกทั้งข้อหาที่มีต่อนายชาลีก็เป็นเพียงความผิดเล็กน้อยเท่านั้น การล่ามโซ่และขังนายชาลีไว้ทั้งที่ยังเจ็บป่วยหนัก โดยอ้างระเบียบและเพื่อป้องกัน การหลบหนี เป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล และเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม และที่สำคัญในกรณีนี้ นายชาลีมิใช่เป็น อาชญากร แต่เป็นเหยื่อของระบบรัฐที่ล้มเหลว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท