Skip to main content
sharethis

ผลการศึกษาผลกระทบของโรงไฟฟ้าแกลบ "บัวสมหมาย" ที่อุบลฯ พบมีผลกระทบต่อชาวบ้านไม่เฉพาะทางสุขภาพและความปลอดภัย แต่ยังจะทำให้ผลผลิตชาวบ้านลด 14 ล้านบาทต่อปี

เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี นายชาตรี ดิเรกศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เป็นประธานการประชุมของคณะทำงานชี้แจงข้อมูลและรับฟังความ คิดเห็นของประชาชนต่อการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า เชื้อเพลิง ชีวมวล (แกลบ) ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด เพื่อรับฟังการรายงานผลการศึกษา การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กรณี โรงไฟฟ้าชีวมวล (แกลบ) ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ที่บ้านคำสร้างไชย อ.สว่างวีระวงศ์ โดยทีมศึกษาจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะและนักวิจัยชุมชน ที่ใช้ระยะเวลาศึกษา 3 เดือน (พ.ย. 2553-ม.ค. 2554)

บุญ โฮม วงศ์สีกุล ผู้ใหญ่บ้าน ม.3 บ้านใหม่สารภี ในฐานะนักวิจัยชุมชน นำเสนอผลการศึกษาทางด้านทางสังคม ว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้าในรัศมี 2 กิโลเมตร มี 546 ครัวเรือน ประชากร 2,257 คน มีความเป็นพี่น้อง-เครือญาติสูง ช่วยเหลือเกื้อกูลและร่วมมือกันพัฒนาหมู่บ้านจนผู้ใหญ่บ้านบ้านคำสร้างไชยได้รับรางวัล "แหนบทองคำ" และ เป็นหมู่บ้านในโครงการหมู่บ้านสายใยรักแห่งครอบครัวในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ 2 หมู่บ้าน คือ บ้านใหม่สารภี ต.ท่าช้าง และบ้านหนองเลิงนา ต.บุ่งมะแลง และมีหน่วยงานราชการ 4 แห่ง วัด 3 แห่ง โรงเรียน 1 แห่ง ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว พบว่า คนในชุมชนเกิดความรำคาญเสียงจากการขุดบ่อน้ำและถมที่ของโรงไฟฟ้า เครียดจากความแตกแยกของคนในชุมชน เด็กๆ ทุกข์ใจเพราะผู้ใหญ่ทะเลาะกัน

นายรุ่งทวี คำแข็ง ผู้ใหญ่บ้าน ม.12 บ้านคำนกเปล้า และนายคูณมิ่ง อนุชาติ นำเสนอด้านเศรษฐกิจชุมชน พบว่า ส่วนใหญ่ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผลผลิตที่สำคัญ ได้แก่ มะม่วงหิมพาน ข้าว ปอและมันสำปะหลัง มีรายได้ 32,899,500 บาท นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงวัว ควาย และเลี้ยงไก่ไข่ รายได้รวม 260 ล้านบาท รวมรายได้ทั้งสิ้น 292 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ไม่รวมเศรษฐกิจที่ไม่ได้นับเป็นตัวเงิน คือการจับสัตว์ตามแหล่งธรรมชาติตลอดปี เช่น แมลง ไข่มดแดง ปู ปลา หอย กบ หนู เป็นต้น หากสร้างโรงไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง การใช้น้ำ และเสียง ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลง 5% หรือ 14.6 ล้านบาทต่อปี และกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ คือ กลุ่มเลี้ยงไก่ไข่จำนวน 39 โรงเรือน ขนาดการผลิต 5,000-22,000 ตัว หากมีผลกระทบเกิดขึ้น บริษัทผู้ผลิตพันธุ์ไก่จะไม่ส่งไก่ให้เลี้ยง จะทำให้ไม่มีอาชีพและต้องเป็นหนี้สินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ประมาณ 70 ล้านบาท เนื่องจากผู้เลี้ยงไก่ต้องเข้าระบบสินเชื่อของ ธกส. โดยจำนองที่ดินเพื่อสร้างโรงเรือนเฉลี่ยเป็นหนี้รายละ 1.8 ล้านบาท

ขณะที่ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนหากโครงการโรงไฟฟ้าเริ่มดำเนินการ ชุมชนจะได้รายได้ประมาณ 12 ล้านบาทต่อปีจาก 4 แหล่ง คือ (1) กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ขายเต็มกำลังคือ 9 เมกะวัตต์ จะคิดเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ 78,840,000 หน่วยต่อปี ดังนั้น จะมีเงินเข้ากองทุนประมาณ 788,400 บาทต่อปี (2) บริษัทจะแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้า 1% ให้กับชุมชน ถ้าบริษัทขายไฟได้ประมาณ 60 ล้านบาทต่อปี จะแบ่งรายได้ให้กับชุมชน 600,000 บาทต่อปี (3) ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้างจะได้รับเงินจากภาษีโรงเรือน ที่ดิน และเครื่องจักร ร้อยละ 12.5 ของเงินได้ เป็นเงินเสียภาษีประมาณ 7.5 ล้านบาทต่อปี (4) คนในชุมชนบางรายอาจมีรายได้จากการจ้างแรงงาน และการค้าขายภายในชุมชน โดยค่าแรงขั้นต่ำที่กระทรวงแรงงาน ถ้ามีการจ้างงานประมาณ 50 คน จะมีรายได้รวม 3,120,750 บาทต่อปี

นายทองคับ มาดาสิทธิ อดีตผู้ใหญ่บ้าน ม. 12 ด้านทรัพยากรธรรมชาติ พบว่า ชุมชนตั้งอยู่ในร่องฝนตกชุก ทำให้สภาพพื้นที่ป่าของชุมชนมีสภาพเป็นป่าเต็งรัง และบริเวณริมห้วยเป็นป่าดิบแล้ง มีพันธุ์พืชหายาก เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง ที่พบในบริเวณคำเสือหล่ม อยู่บ้านคำสร้างไชย ซึ่งสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) บรรจุรายชื่อบัญชีอนุรักษ์ของอนุสัญญาไซเตส ส่วนทรัพยากรน้ำ มีสายน้ำรอบชุมชน 4 สาย และแหล่งน้ำซับ 25 แห่ง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของชุมชน และผลกระทบด้านทรัพยากรที่เกิดขึ้นแล้ว คือ เมื่อบริษัทบัวสมหมายฯ ขุดบ่อน้ำที่มีเนื้อที่ 15 ไร่ เพื่อใช้ในโรงงานประมาณวันละ 1,300 ลูกบาศก์เมตร (460,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี) แม้ยังขุดไม่เสร็จ แต่ได้ทำให้น้ำซับในหมู่บ้านไหลไปรวมกันในบ่อของโรงไฟฟ้า เพราะเป็นบ่อที่มีมีความกว้างและลึกกว่าน้ำซับของหมู่บ้าน ส่งผลให้คุ้มคำหัวงัวของบ้านคำสร้างไชยน้ำไหลค่อยลง ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้ชาวบ้านขาดแคลนน้ำในการเกษตรและการบริโภค

นายศุภกิจ นันทะวรการ และนางสาวยวิษฐา พิทักษ์วัชระ นักวิชาการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ชี้แจงในที่ประชุมว่า ในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ จะเกิดผลกระทบในทุกช่วงของการดำเนินการ ทั้งระยะการก่อสร้าง และช่วงระยะดำเนินการ โดยผลกระทบที่สำคัญหลัก มี 3 ด้าน คือ ด้านฝุ่นละออง ด้านน้ำและด้านการขนส่ง และ การตั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้แกลลเป็นเชื้อเพลงต้องตั้งอยู่ใกล้โรงสีข้าว เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง การตกหล่นของแกลบ เสียงดัง และไม่ควรตั้งอยู่ใกล้บ้านเรือนของประชาชน ชุมชน หรือสถานที่สำคัญที่สำคัญ ควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจโครงการโรงไฟฟ้าตั้งแต่ก่อนการซื้อที่ดินของบริษัท พร้อมเสนอตัวอย่างต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลเฉลิมพระเกียรติที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการ เป็นเจ้าของและบริหารจัดการแบบพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยใช้วัตถุดิบที่เหลือทิ้งจากการเกษตรที่หาได้ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ ทั้งชุมชนก็ได้ใช้ไฟฟ้า และนำความร้อนไปใช้อบผลไม้หรือผลิตผลทางการเกษตร ที่สำคัญ ราคาค่าก่อสร้าง 5 บาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 100 กิโลวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่พร้อมรองรับชุมชนได้ถึง 200 ครัวเรือน

ในช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นายอดุลย์ แสงสุวรรณ ตัวแทนของบริษัทบัวสมหมายไบโอแมสฯ ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า ยอมรับว่าผลกระทบมีจริง แต่ถ้ากังวลและเป็นห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ประเทศชาติคงไม่ต้องพัฒนา อุบัติเหตุที่ไหนก็เกิดได้ไม่จำเป็นต้องมาเกิดที่บริเวณจะสร้างโรงงานเท่านั้น รายงานการศึกษานี้ไม่มีความเป็นกลางและข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง และได้ชี้แจงเรื่องการใช้น้ำว่า ทางโรงงานจะไม่ใช้น้ำมูล แต่จะขุดบ่อบาดาล ซึ่งการใช้น้ำใช้วันละ 1,300 ลูกบาศก์เมตร เป็นการใช้แบบหมุนเวียน ไม่จำเป็นต้องขุดถึง 32 บ่อ ซึ่งทางโรงงานจะขุดบ่อขนาดพื้นที่ 15 ไร่ จำนวน 3 บ่อ สำหรับเก็บน้ำเสีย เก็บแกลบ และบ่อเก็บน้ำ และระยะทางก่อสร้างใช้เวลา 880 วัน ซึ่งระหว่างการก่อสร้างก็จะเก็บสต็อกแกลบไปด้วย เมื่อ เครื่องเดินจะทยอยเอาแกลบป้อนโรงงาน ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ขนส่งแกลบทุกวัน ซึ่งถ้าโรงงานทำผิดเงื่อนไขที่ตั้งไว้ ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ก็สามารถสั่งปิดโรงงานได้ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนชาวบ้านได้มาเสนอให้มีการประชาคมทุกบ้านที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ไม่ควรยึดเพียงหมู่บ้านเดียวเท่านั้น

นางสาวสดใส สร่างโศรก แกนนำชาวบ้านกล่าวว่า ผลการศึกษาชี้ชัดเจนว่าผลกระทบด้านเสียมากกว่าผลด้านดี จึงไม่สมควรที่จะสร้างโรงไฟฟ้ากลางหมู่บ้านคำสร้างไชย และการที่โรงไฟฟ้าบัวสมหมาย จะใช้น้ำบ่อบาดาล ยิ่งเป็นสิ่งที่วิตกกังวลเพราะต้องเกิดการแย่งน้ำจากชาวบ้านแน่นอน เพราะเคยมีปัญหากับบ่อประปาบาดาลของหมู่บ้าน จนต้องย้ายถึง 2 ครั้ง เพราะเกิดดินถล่ม ดังนั้น หากโรงงานมีการใช้บ่อบาดาล หมู่บ้านต้องประสบปัญหาเรื่องดินถล่มอย่างที่เคยเกิดมาแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net